‘ฉก. 3 ป.’ ช่วย ‘บิ๊กตู่’ จับตาผ่องถ่ายอำนาจ สู่ ตท.20 ทบ.ฮือฮา ‘บิ๊กปู’ คอแดงคนใหม่ แผนวางทายาท ทัพ 1-ทบ.1-นภา 1/รายงานพิเศษ

รายงานพิเศษ

 

‘ฉก. 3 ป.’ ช่วย ‘บิ๊กตู่’

จับตาผ่องถ่ายอำนาจ สู่ ตท.20

ทบ.ฮือฮา

‘บิ๊กปู’ คอแดงคนใหม่

แผนวางทายาท ทัพ 1-ทบ.1-นภา 1

 

สถานการณ์อำนาจของบิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี 8 ปี 2 สมัย จากยุค คสช. ถึงหลังเลือกตั้ง กำลังถูกจับตามองว่าจะไปต่อได้หรือไม่ เพราะสถานการณ์เปลี่ยน

จากที่เคยแสดงเจตจำนงที่จะเป็นนายกฯ ต่อในสมัยที่ 3 หลังการเลือกตั้งครั้งหน้า

แต่หลังผลการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ และสมาชิกสภากรุงเทพฯ (ส.ก.) ที่พรรคพลังประชารัฐได้แค่ 2 ที่นั่ง แถมนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ชนะเป็นผู้ว่าฯ กทม.แบบถล่มทลาย ปลุกกระแสหวาดหวั่นจะเกิดแลนด์สไลด์ในสนามเลือกตั้งใหญ่ปีหน้า เช่นที่พรรคเพื่อไทยประกาศหรือไม่

และ พล.อ.ประยุทธ์จะไม่ยอมรับความจริง มองว่าเป็นแค่จังหวัดเดียว ไม่ใช่ทั้งประเทศไทย แต่ก็ถูกมองว่ากระแสความนิยมทั้งในตัว พล.อ.ประยุทธ์และพรรคพลังประชารัฐตกต่ำ

จนเกิดคำถามว่า บิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พี่ใหญ่บูรพาพยัคฆ์ ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ จะตัดสินใจอย่างไรต่ออนาคตทางการเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์ น้องรัก จะไปต่อไหวหรือไม่

แม้ พล.อ.ประวิตรจะยืนยันในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี และพูดผ่านสื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์และรัฐบาลจะอยู่จนครบเทอม และผ่านทั้งการอภิปราย พ.ร.บ.งบประมาณ 2566 และการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ที่จะมีขึ้น อย่างแน่นอนก็ตาม

แต่ก็ยังไม่มีสัญญาณว่า สมัยหน้า พล.อ.ประวิตรยังจะหนุน พล.อ. ประยุทธ์ ต่อหรือไม่ เพราะพี่ใหญ่เองก็รู้ดีว่ากระแสความนิยมในตัวน้องตู่ลดลงไปมาก

เพราะ พล.อ.ประวิตรเองก็ต้องยอมเสียแผน เสียน้องรักไปถึง 2 คน เพื่อที่จะประคอง พล.อ.ประยุทธ์ จนทำให้บิ๊กน้อย พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา ต้องแตกหัก แยกทางเดินกับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า หลังจากเกิดปัญหาคาใจกันขึ้นในการเดินหน้าพรรคเศรษฐกิจไทย

จนเกิดปฏิบัติการ 15 กรรมการบริหารพรรคสาย ร.อ.ธรรมนัส พากันลาออกเพื่อบีบให้ พล.อ.วิชญ์ลาออก นำมาซึ่งความขัดแย้ง แตกหักแบบที่ พล.อ.ประวิตรไม่สามารถจะเคลียร์ใจหรือสมานรอยร้าวได้

เพราะ พล.อ.วิชญ์ก็มองว่า ร.อ.ธรรมนัสไม่ให้เกียรติรุ่นพี่ สายเลือดทหาร

ขณะที่ฝั่ง ร.อ.ธรรมนัส ก็ไม่แฮปปี้กับบทบาทการเป็นหัวหน้าพรรคของ พล.อ.วิชญ์ ที่ไม่ค่อยสันทัดนักการเมือง และมีปัญหากับ ส.ส.บางคน ในเรื่องการจัดวางตัวผู้สมัคร ส.ส.

แม้สายสัมพันธ์กับ พล.อ.วิชญ์จะขาดสะบั้น แต่ ร.อ.ธรรมนัสยังคงให้ความเคารพ พล.อ.ประวิตรอยู่จึงยอมที่จะไม่ล้ม พ.ร.บ.งบประมาณในวาระแรกนี้

แต่ในวาระต่อไป และการอภิปรายไม่ไว้วางใจนั้น ไม่มีอะไรแน่นอน เพราะการเมืองเป็นเรื่องของการต่อรองและสถานการณ์ในขณะนั้น

ทําให้ พล.อ.ประวิตรต้องเปลี่ยนแผนจากที่หมายมั่นให้พรรคเศรษฐกิจไทยเป็นพรรคสำรอง พรรคสาขาแยกของพรรคพลังประชารัฐ แต่ก็ต้องยอมปล่อยมือให้ ร.อ.ธรรมนัสบริหารจัดการไป

จึงมีกระแสข่าวว่า พล.อ.ประวิตรอาจจะให้ พล.อ.วิชญ์ไปอยู่พรรคใหม่ อาจเป็นพรรครวมไทยสร้างชาติของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ตอนนี้ไม่มีความเคลื่อนไหว หลังทั้ง พล.อ.ประวิตร และ พล.อ.วิชญ์ หันมาสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ หันมารวมการเฉพาะกิจ เพื่อช่วยกันประคอง พล.อ.ประยุทธ์ให้อยู่ครบเทอม หรือผ่านพ้นการอภิปรายไม่ไว้วางใจไปให้ได้

จนเกิดกระแสข่าวว่า พล.อ.ประวิตรงัดแผน 3 มาใช้ในการสู้ศึกเลือกตั้งสมัยหน้า แต่ยังไม่มีการยืนยันว่าจะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ต่อหรือไม่ หรือ พล.อ.ประยุทธ์อาจใช้เวลาที่เหลืออยู่ในการตัดสินใจว่าจะไปต่อ หรือพอแค่นี้

โดยมีข่าวว่า พี่น้อง 3 ป. เตรียมแผนสำรองในการผ่องถ่ายอำนาจให้กับนายทหารรุ่นน้องที่เกษียณราชการแล้ว โดยเฉพาะแผงเตรียมทหารรุ่น 20 ที่ทำงานใกล้ชิดทั้ง พล.อ.ประวิตร และ พล.อ.ประยุทธ์

ทีมของ พล.อ.ประวิตร ก็มีรุ่นน้องเตรียมทหาร 20 ที่ช่วยงานมายาวนานตั้งแต่ยังอยู่หน่วยบูรพาพยัคฆ์ หลายคน นำโดย พล.อ.ณัฐ อินทรเจริญ อดีตปลัดกลาโหม ที่เป็นเสมือนเลขานุการส่วนตัวของ พล.อ.ประวิตร และจะเป็นทายาททางการเมืองของ พล.อ.ประวิตร

และบิ๊กตู่เล็ก พล.อ.กู้เกียรติ ศรีนาคา อดีตแม่ทัพภาคที่ 1 และผู้ช่วย ผบ.ทบ. น้องรักสายบูรพาพยัคฆ์ของ พล.อ.ประวิตร และบิ๊กป้ำ พล.อ.นภนต์ สร้างสมวงษ์ อดีตรองปลัดกลาโหม

รวมทั้งบิ๊กแป๊ะ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ลูกรักที่ พล.อ.ประวิตรดูแลมาตั้งแต่ ดันให้ขึ้นเป็น ผบ.ตร. นั่งยาว 5 ปีในยุค คสช. และทุกวันนี้ยังไปมาหาสู่ ทั้งลงพื้นที่ เวลาไปต่างประเทศก็จะมี พล.ต.อ.จักรทิพย์ไปด้วยเสมอ รวมถึงความเคลื่อนไหวของ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ที่เตรียมพร้อมจะลงสู่สนามการเมืองสนามใหญ่ หลังพ้นเว้นวรรคทางการเมืองจากการเป็น ส.ว.ใน 30 กันยายน 2565 นี้แล้ว

เช่นเดียวกับบิ๊กแดง พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ อดีตผู้บัญชาการทหารบก ที่แม้ว่าโดยตำแหน่ง รองราชเลขาธิการ อาจจะไม่สามารถออกมาเดินบนเส้นทางสายการเมืองได้ก็ตาม แต่ก็ยังทำหน้าที่เป็นกองหนุนให้ทั้ง พล.อ.ประยุทธ์และผองเพื่อน ตท.20 และถูกจับตามองเช่นกัน รวมทั้งอีกคนที่จะเกษียณคือบิ๊กหน่อย พล.อ.วรเกียรติ รัตนานนท์ ปลัดกลาโหม

 

ในเมื่อสมการอำนาจของพี่น้อง 3 ป.อยู่บนทางสามแพร่งที่ไม่แน่นอน ดังนั้น ก่อนที่จะสิ้นรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ก็จะต้องจัดกองทัพวางตัวทายาทให้มั่นใจสำหรับการคัมแบ๊ก

ที่น่าจับตาคือ การจัดวางตัวแม่ทัพภาคที่ 1 คนใหม่ คุมขุมกำลังรบสำคัญของ ทบ. เพราะบิ๊กโต พล.ท.สุขสรรค์ หนองบัวล่าง จะต้องขยับขึ้น 5 เสือ ทบ. คาดนั่งเป็น ผช.ผบ.ทบ.

โดยมีรองหนุ่ย พล.ท.ธราพงษ์ มะละคำ ที่เป็นแม่ทัพน้อยที่ 1 จ่ออยู่แล้ว เพราะในระยะหลังดูจะกลายเป็นเทรดดิชั่นแล้วว่า แม่ทัพภาคที่ 1 จะมาจากแม่ทัพน้อยที่ 1 หรือหากใครจะขึ้นแม่ทัพภาคที่ 1 จะต้องเป็นพลโทในตำแหน่งแม่ทัพน้อยที่ 1 เสียก่อน

พล.ท.ธราพงษ์ ซึ่งเป็นเตรียมทหาร 24 และมีอายุราชการถึงกันยายน 2569 ถูกจับตามองว่าจะเป็นนายทหารในสาย “บูรพาพยัคฆ์คอแดง” อีกคน ที่จะขึ้นถึงเก้าอี้ ผบ.ทบ.

เพราะหากมองการวางทายาท ที่พี่น้อง 3 ป.บูรพาพยัคฆ์จัดไว้ ต่อจากบิ๊กบี้ พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผบ.ทบ. (ตท.22) ที่จะเกษียณกันยายน 2566 ก็คือบิ๊กต่อ พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์ ผช.ผบ.ทบ. แกนนำ ตท.23 น้องรัก สายทหารเสือราชินี โดยจะเกษียณกันยายน 2567 นั่นหมายถึง หากได้เป็น ผบ.ทบ.ตามสถานการณ์ปกติ ก็จะได้นั่งแค่ 1 ปี

แต่หากสถานการณ์ไม่ปกติ พล.อ.ประยุทธ์อาจจะดัน พล.อ.เจริญชัยขึ้นมาเป็น ผบ.ทบ.ในโยกย้ายกันยายนนี้ ทิ้งทวน ส่งท้ายรัฐบาลก่อนพ้นเก้าอี้ และไม่แน่นอนว่าจะได้กลับมาเป็นนายกฯ อีกสมัยหนึ่ง ตามที่เคยวางแผนไว้หรือไม่

เพราะหากเปลี่ยนรัฐบาล อาจมีผลต่อการแต่งตั้ง ผบ.เหล่าทัพ โดยเฉพาะ ผบ.ทบ. แม้ปกติฝ่ายการเมืองจะไม่กล้าแตะโผทหารก็ตาม แต่อาจมีปัจจัยแทรกซ้อนอื่นได้

แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ พล.อ.ประยุทธ์จะย้าย พล.อ.ณรงค์พันธ์ไปเป็น ผบ.ทหารสูงสุด หรือปลัดกลาโหม ตามสูตรแล้วสไลด์บิ๊กแก้ว พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผบ.ทหารสูงสุด ไปเป็นปลัดกลาโหม ที่ว่าง เพราะบิ๊กหน่อย พล.อ.วรเกียรติ รัตนานนท์ เกษียณ หรือแม้แต่ไปตำแหน่งพิเศษอื่น เพราะแบ๊กอัพของ พล.อ.ณรงค์พันธ์ ก็ไม่ธรรมดา

 

ดังนั้น การโยกย้ายทหารกันยายนนี้ส่งท้าย พล.อ.ประยุทธ์อาจโยกย้ายแบบปกติ ไม่แตะต้องเก้าอี้ ผบ.ทบ. พล.อ.เจริญชัยนั้นก็รอได้ เพราะเจ้าตัวก็ไม่อยากมีปัญหาทางใจกับ พล.อ.ณรงค์พันธ์

แม้จะมีการปล่อยกระแสข่าวลือว่า หาก พล.อ.ณรงค์พันธ์ยังเหนียว นั่งเป็น ผบ.ทบ.ต่อจนเกษียณ จะส่ง พล.อ.เจริญชัยไปเป็นปลัดกลาโหมคอแดงคนแรกก็อาจเกิดขึ้นเช่นกัน แต่การโยกย้ายเช่นนี้ จะทำให้กองทัพเกิดรอยร้าว ความขัดแย้งภายในได้

ดังนั้น หาก พล.อ.เจริญชัยได้ขึ้นเป็น ผบ.ทบ. แล้วคาดว่า พล.ท.ธราพงษ์จะขึ้นเป็น ผบ.ทบ.ต่ออีก 2 ปี เพราะเกษียณกันยายน 2569

และหากไม่มีสถานการณ์พลิกผันจนถึงขั้นที่ พล.ท.สุขสรรค์ แม่ทัพภาคที่ 1 สายบูรพาพยัคฆ์คอแดง ที่จะขึ้น 5 เสือ ทบ.ในโยกย้ายกันยายนนี้ มาเป็นแคนดิเดต ผบ.ทบ.ในกันยายน 2566 ขึ้นเป็น ผบ.ทบ. แทน พล.อ.เจริญชัย เพื่อนร่วมรุ่น ตท.23 ที่เกษียณกันยายน 2567 พร้อมกัน จึงจะมีแค่คนใดคนหนี่งเท่านั้นที่ได้เป็น ผบ.ทบ.

พล.ต.พนา แคล้วปลอดทุกข์

แต่ที่ต้องจับตาเขม็งคือ คนที่จะขึ้นมาเป็นแม่ทัพน้อยที่ 1ในโยกย้ายกันยายนนี้ คือคนที่ถูกวางตัวให้เป็นแม่ทัพภาคที่ 1 และเป็นแคนดิเดต ผบ.ทบ.ในอนาคตเลยทีเดียว

ซึ่งเป็นที่รู้กันภายในแล้วว่า จะมีการดันบิ๊กปู พล.ต.พนา แคล้วปลอดทุกข์ รองแม่ทัพภาคที่ 1 (ตท.26) ขึ้นมาเป็นพลโท แม่ทัพน้อยที่ 1 หลังจากมีสัญญาณชัด เพราะ พล.ต.พนาได้เข้าไปรับการฝึกหลักสูตรทหารรักษาพระองค์ ของกรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ (ทม.รอ.) หรือที่เรียกว่าหลักสูตรทหารคอแดง แล้วตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา แม้ในช่วงโควิดจะงดการฝึกมา 2 ปี แต่จะมีการฝึกเฉพาะตัวเป็นรายบุคคล

พล.ต.พนา เคยเป็น ผบ.พล.ร.11 คุมกองพลสไตรเกอร์ ในยุคบิ๊กแดง พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ เป็น ผบ.ทบ. เพราะถือเป็นกองพลที่มี พล.อ.อภิรัชต์เป็นเสมือนผู้ให้กำเนิด ตั้งแต่การปรับโครงสร้างหน่วย เปลี่ยนสถานะเป็นกองพลรบหลักของกองทัพภาคที่ 1 และการจัดหารถเกราะ สไตรเกอร์ ด้วยความสัมพันธ์พิเศษกับกองทัพบกสหรัฐอเมริกา มาประจำการ

และเติบโตมาจากกรมทหารราบที่ 31 รักษาพระองค์ (ร.31 รอ.) เช่นเดียวกับ พล.อ.ณรงค์พันธ์ และถือเป็นสายบู๊ คอมแมนเดอร์จากหน่วยพร้อมรบเคลื่อนที่เร็ว RDF จึงถือเป็นวงศ์เทวัญ และเป็นนายพลคอแดงคนล่าสุดของ ทบ.

 

หากมีการวางตัว พล.ต.พนาไว้เป็นแม่ทัพภาคที่ 1 ในโยกย้ายตุลาคม 2566 ก็มีโอกาสสูงที่จะขึ้นเป็น 5 เสือ ทบ. และ ผบ.ทบ. โดยมีอายุราชการถึงกันยายน 2570 และมีสถานะเป็นทหารคอแดงแล้ว

เท่ากับว่า สูตรอำนาจการวางตัวแม่ทัพภาคที่ 1 และ ผบ.ทบ. จากนี้คือ พล.ท.ธราพงษ์ ตท.24 – พล.ต.พนา ตท.26

จากนั้นก็เป็นห้วงเวลาของ ตท.27 และ ตท.28 ที่กำลังขยับขึ้นมาคุมกำลังในกองทัพ

โดยโยกย้ายกันยายนนี้ คาดกันว่า ในระดับรองแม่ทัพภาคที่ 1 จะมีแกนนำ ตท.27 ทั้งบิ๊กใหญ่ พล.ต.อมฤต บุญสุยา ผบ.พล.ร.2 รอ. น้องรักสายทหารเสือราชินีคอแดง ของ พล.อ.ประยุทธ์ขยับขึ้นมา หลังจากที่ถูกชะลอในช่วงโยกย้ายเมษายนที่ผ่านมา เพราะจะเกิดการได้เปรียบเสียเปรียบกันในเรื่องอาวุโส ในระดับ ผบ.พล. ที่จะขึ้นรองแม่ทัพ

ที่น่าจับตามองคือ ในแนวระนาบ ระดับรองแม่ทัพภาคที่ 1 ที่มี 3 เก้าอี้นั้น ระหว่าง ตท.27 และ ตท.28 จะได้สัดส่วนแค่ไหน เพราะ ตท.27 ยังมีบิ๊กตั้ง พล.ต.ธวัชขัย ตั้งพิทักษ์กุล ผบ.พล.ร.11 วงษ์เทวัญคอแดง ที่จะต้องขยับขึ้นมา เช่นเดียวกับ พล.ต.บรรยงค์ ทองน่วม ผบ.พล.ร.9 ที่อาวุโส แต่ด้วยเพราะไม่ได้เป็นทหารคอแดง จึงอาจมีผลไม่ได้เข้าไลน์ แม้ผลงานดูแลชายแดนจะเป็นที่ประจักษ์

คาดกันว่า ตท.28 อาจมีชื่อบิ๊กไก่ พล.ต.วรยส เหลืองสุวรรณ ผบ.พล.1 รอ. ขึ้นมาชิงรองแม่ทัพภาคที่ 1 ด้วย เพราะถือเป็นดาวรุ่งของรุ่น และอยู่ในตำแหน่งสำคัญของสายทหารคอแดง ในขณะที่เพื่อนร่วมรุ่นที่ล้วนเป็นคนเก่ง แกนนำรุ่น ก็จ่อขยับคุมหลายกองพล ตามจังหวะการรับราชการพอดี

การแต่งตั้งโยกย้ายทหารชั้นนายพลในเดือนสิงหาคม-กันยายนนี้ จึงมีนัยยะสำคัญกับอำนาจของพี่น้อง 3 ป. ไม่ว่าจะได้รีเทิร์นกลับมาหรือไม่ แต่อย่างน้อยก็มั่นใจว่าน้องๆ ที่ไว้วางใจได้ จะดูแลกองทัพให้เป็นหลักประกันความมั่นคงของประเทศ ไม่ว่าสถานการณ์ทางการเมืองจะพลิกผันไปอย่างไรก็ตาม

ขณะที่กองทัพอากาศมีความเคลื่อนไหวสำคัญที่ถูกจับตามอง ทั้งโครงการจัดซื้อเอฟ 35 และ ผบ.ทอ.คนใหม่

เมื่อสภากลาโหมอนุมัติการปรับปรุงโครงสร้างหน่วยกำลังรบของกองทัพอากาศ จาก “กรมควบคุมการปฏิบัติทางอากาศ” (คปอ.) ยกระดับขึ้นเป็น “กองบัญชาการควบคุมการปฏิบัติทางอากาศ” โดยให้แก้ไขในพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการฯ

ที่ถือเป็นอีกความพยายามของบิ๊กป้อง พล.อ.อ.นภาเดช ธูปะเตมีย์ ผบ.ทอ. ที่จะยกระดับ คปอ. ให้เป็นกองบัญชาการ ในฐานะที่เคยเป็น ผบ.คปอ.มาก่อน

ด้วยเพราะที่ผ่านมา ทอ.มีการปรับโครงสร้างครั้งใหญ่มาแล้ว ด้วยการตั้งเป็น 3 กองบัญชาการ คือ กองบัญชาการหน่วยบัญชาการยุทธทางอากาศ (บยอ.) กองบัญชาการหน่วยบัญชาการสนับสนุนทหารอากาศ (ผบน.) กองบัญชาการหน่วยบัญชาการฝึกศึกษาทหารอากาศ (บศอ.) โดยให้เทียบเท่า 5 เสืออากาศ

แต่ก็ไม่เวิร์ก จนต้องมีการยุบไปในปี 2552 แล้วกลับมามี ผช.ผบ.ทอ. 2 ตำแหน่งตามเดิม

โดยยุบรวมกองบัญชาการหน่วยบัญชาการยุทธทางอากาศ และกรมควบคุมการปฏิบัติทางอากาศ (คปอ.) เป็นหน่วยบัญชาการควบคุมการปฏิบัติทางอากาศ โดยให้ ผบ.คปอ. เป็นพลอากาศเอก พร้อมยุบตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายเสนาธิการประจำผู้บังคับบัญชา

จึงทำให้ ผบ.คปอ. แม้จะเป็นพลอากาศเอก แต่ก็ไม่ได้นับรวมในระดับ 5 เสืออากาศ แม้ว่าในอดีต บิ๊กต๋อย พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุข อดีต ผบ.ทอ. จะขยับจากรองเสนาธิการทหารอากาศ ขึ้นมาเป็นผู้บัญชาการกองบัญชาการยุทธทางอากาศ (ผบ.บยอ.) ก็ตาม แต่ในเวลานั้น ก็เกิดการถกเถียงใน ทอ.ว่า ผบ.บยอ. เทียบเท่า 5 เสืออากาศ หรือไม่

ความสำคัญของการนับว่า เทียบเท่า 5 เสืออากาศ หรือไม่ เพราะหากเป็น 5 เสืออากาศ ก็จะขึ้นเป็น ผบ.ทอ.ได้เลย

ที่ผ่านมา แม้ใน ทอ.จะนับว่า ผบ.คปอ. คือระดับ 5 เสืออากาศ แต่ก็ยังติดภาพของ ผบ.บยอ.เดิมอยู่

ดังนั้น การปรับโครงสร้าง คปอ.ครั้งนี้ จึงมีนัยสำคัญ ทั้งในแง่การทำให้สายการบังคับบัญชา หน่วยกำลังรบทางอากาศของ ทอ. มีความชัดเจน และรวมศูนย์ และรวมถึงสถานภาพของ ผบ.คปอ. ที่ยกระดับเป็นกองบัญชาการแล้ว คือ เสืออากาศคนที่ 7 ของ ทอ. หากนับ ผบ.ทอ.-รอง ผบ.ทอ.-ผช.ผบ.ทอ.2 คน-เสธ.ทอ. และประธานที่ปรึกษา ทอ. เทียบเป็นเสืออากาศคนที่ 6 เพราะเป็นอัตราพลอากาศเอกพิเศษ เช่นเดียวกับ ผบ.ทอ. และรอง ผบ.ทอ.

เมื่อครั้งที่ พล.อ.อ.นภาเดชเป็น ผบ.คปอ. และถือเป็นแคนดิเดต ผบ.ทอ.คนหนึ่ง ก็ถูกวิจารณ์ว่าเป็น ผบ.คปอ. จะขึ้นเป็น ผบ.ทอ.ได้เลยหรือ จนที่สุด ก็ต้องขยับขึ้นประธานที่ปรึกษา ทอ. เป็นเสืออากาศคนที่ 6 ก่อน แล้วชิง ผบ.ทอ.อีกครั้ง แล้วที่สุด ก็ขึ้นเป็น ผบ.ทอ.ในปีสุดท้ายก่อนจะเกษียณกันยายน 2565 นี้

จึงทำให้ถูกจับตามองว่า การปรับโครงสร้าง คปอ.เป็นกองบัญชาการในครั้งนี้ จะทำให้บิ๊กต้น พล.อ.อ.คงศักดิ์ จันทรโสภา ผบ.คปอ. ปัจจุบันที่เป็นแคนดิเดต ผบ.ทอ.คนต่อไปด้วย กลายเป็นเสืออากาศคนที่ 7 อย่างเต็มภาคภูมิ สามารถที่จะขึ้นเป็น ผบ.ทอ.ได้เลย

ประกอบกับการที่ พล.อ.อ.คงศักดิ์เป็นน้องรัก นักบินเอฟ 16 ตท.22 ของ พล.อ.อ.นภาเดช แบบที่เรียกว่าซี้ปึ้ก และรู้ใจ จึงทำให้ถูกจับตามองว่า อาจเป็นตัวเลือกของ พล.อ.อ.นภาเดชก็เป็นได้ แม้ว่า พล.อ.อ.คงศักดิ์จะเหลืออายุราชการแค่ปีเดียว จะเกษียณกันยายน 2566 ก็ตาม

เมื่อเทียบกับแคนดิเดต ผบ.ทอ.ที่มีอยู่ ทั้งบิ๊กป้อม พล.อ.อ.ธนศักดิ์ เมตะนันท์ รอง ผบ.ทอ. ตท.22 ที่ถูกมองว่าเป็นตัวเต็ง และอาวุโสสูงสุด และบิ๊กหนึ่ง พล.อ.อ.ชานนท์ มุ่งธัญญา ผช.ผบ.ทอ. ตท.23 ที่เกษียณกันยายน 2567 และบิ๊กไก่ พล.อ.อ.พันธ์ภักดี พัฒนกุล เสธ.ทอ. ตท.24 ที่เกษียณกันยายน 2568 และมีบิ๊กตุ๊ด พล.อ.อ.อลงกรณ์ วัณณรถ ผช.ผบ.ทอ. ตท.22 อีกคนที่เกษียณกันยายน 2566

หรือแม้แต่บิ๊กนะ พล.อ.อ.ณรงค์ อินทรชาติ ที่ปรึกษาพิเศษกองทัพอากาศ ตท.23 เกษียณ 2567 ที่เพิ่งติดยศพลอากาศเอกเมื่อโยกย้ายเมษายนที่ผ่านมา ก็เป็นแคนดิเดต ผบ.ทอ.อีกคน แต่ทว่า ถูกจับตามองว่าจะมาเป็น ผบ.คปอ.ในโยกย้ายตุลาคมนี้มากกว่า

แต่การปรับโครงสร้าง คปอ.ครั้งนี้ ก็ทำให้ พล.อ.อ.คงศักดิ์ น้องรักของ พล.อ.อ.นภาเดช ถูกจับตามองอีกครั้ง ในขณะที่นับถอยหลังสู่การแต่งตั้งโยกย้ายนายพล ที่จะงวดเข้ามาในเดือนกรกฎาคม-สิงหาคมนี้

 

นอกจากนั้น การยกระดับ คปอ.เป็นกองบัญชาการควบคุมการปฏิบัติทางอากาศ ก็จะทำให้ ผบ.คปอ.มีบทบาทในเรื่องเอฟ 35 ด้วย จากเดิมที่มี พล.อ.อ.ธนศักดิ์ เมตะนันท์ เป็นประธานคณะกรรมการศึกษาเครื่องบินรบ ยุคที่ 5 และบิ๊กไก่ พล.อ.อ.พันธ์ภักดี และ พล.อ.อ.อลงกรณ์ เป็นคณะกรรมการโครงการจัดหาเครื่องบินรบในเจเนอเรชั่นที่ 5 หรือเอฟ 35 นั่นเองแล้ว

เพราะ คปอ.จะเป็นหน่วยคุมกำลังรบสายตรง และเตรียมรองรับการปฏิบัติการของเครื่องบินรบ ยุคที่ 5 ที่ ทอ.วางแผนจะจัดหาเอฟ 35 ในอนาคตอันใกล้ และครอบคลุม 3 มิติ ทางอากาศ ทางอวกาศ และทางไซเบอร์ Multi-Domain Organization ให้มีความกระชับ มีประสิทธิภาพ ทันสมัย คุณภาพเหนือปริมาณ

โดยมีการปรับเกลี่ยอัตรา และจัดกลุ่มงานใหม่ภายในหน่วย ไม่เพิ่มงบประมาณ โดยจัดโครงสร้าง คปอ.เป็น 4 ศูนย์ คือ ศูนย์ป้องกันทางอากาศ, ศูนย์การปฏิบัติทางอากาศ, ศูนย์ข่าวกรองการเฝ้าตรวจและลาดตระเวน และศูนย์ค้นหาและช่วยชีวิต

และปรับตำแหน่งใน คปอ.ใหม่ มี 6 นายพล เป็น 6 เสือ คปอ. โดยมี ผบ.คปอ. ยศพลอากาศเอก และมีรอง ผบ.คปอ. 2 คน ยศพลอากาศโท และเสธ.คปอ. ยศพลอากาศโท และมีรอง เสธ.คปอ. อีก 2 คน ยศพลอากาศตรี โดยเริ่มทดลองใช้งานเพื่อพลางตั้งแต่ 1 เมษายน 2565 ที่ผ่านมา

ท่ามกลางการจับตามองว่า การปรับโครงสร้าง คปอ.ครั้งนี้ เป็นการเสริมเขี้ยวเล็บให้ ผบ.คปอ. ในฐานะ ผบ.หน่วยคุมกำลังรบทางอากาศ คล้ายๆ กองทัพเรือ ที่มีผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ (ผบ.กร.) ที่คุมกำลังรบทางเรือ คุมทั้งเรือรบ และเครื่องบิน เฮลิคอปเตอร์ ของ ทร.

แต่ที่ ผบ.คปอ. ยังไม่คุมเบ็ดเสร็จเหมือน ผบ.กร. เพราะกองบินต่างๆ ทั่วประเทศ ที่เป็นหน่วยกำลังรบนั้น ยังคงขึ้นตรงกับ ผบ.ทอ.เช่นเดิม ท่ามกลางการจับตามองว่า ในอนาคต การปรับโครงสร้าง คปอ. จะนำไปสู่การนำกองบินต่างๆ มาขึ้นตรงกับศูนย์ป้องกันทางอากาศ หรือศูนย์การปฏิบัติทางอากาศ ของ คปอ. หรือไม่ เพราะจะเป็นการติดดาบให้ ผบ.คปอ. แบบเต็มร้อย และเป็นการลดอำนาจ ผบ.ทอ.ลง

แต่อย่างไรก็ตาม ก็ทำให้ พล.อ.อ.คงศักดิ์ จันทรโสภา Rocket นักบินเอฟ 16 ที่เคยเป็นทั้งผู้บังคับฝูงบิน 101 กองบิน 1 โคราช และเป็น ผบ.กองบิน 1 และ ผช.ทูต ทอ.ที่สิงคโปร์ เจ้ากรมข่าว ทอ. และรองเสธ.ทอ. ก่อนขึ้น ผบ.คปอ. ถูกโฟกัสอีกครั้ง พร้อมๆ กับการเดาทางและเดาใจ พล.อ.อ.นภาเดช ว่าจะเลือกใครจาก 7 แคนดิเดตที่มีอยู่

โดยคาดกันว่า แคนดิเดตที่เกี่ยวข้องกับโครงการ F 35 น่าจะเป็นตัวเลือกของ พล.อ.อ.นภาเดช เพื่อสานต่อภารกิจให้สำเร็จนั่นเอง