เจาะ ‘ตั๋วครู’ รูปแบบใหม่ เลิกทดสอบ ‘3 ทักษะ’ ยกวิชาชีพ หรือเอาใจผู้สอบ?!?! / การศึกษา

การศึกษา

 

เจาะ ‘ตั๋วครู’ รูปแบบใหม่

เลิกทดสอบ ‘3 ทักษะ’

ยกวิชาชีพ หรือเอาใจผู้สอบ?!?!

 

ตั้งตารอกันมาพักใหญ่ๆ ว่า “คุรุสภา” จะเคาะ “ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู” รูปแบบใหม่อย่างไร จากเดิมที่ใช้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูใบเดียว และต่ออายุทุกๆ 5 ปี

เบื้องต้นคุรุสภามีแนวทางที่จะแบ่งระดับ และจัดประเภทของใบอนุญาตฯ ให้ชัดเจน และเชื่อมโยงกับการขอมีและเลื่อนวิทยฐานะ ของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ให้เป็นระบบเดียวกัน ตั้งแต่การคัดเลือก บรรจุ การขอมีและเลื่อนวิทยฐานะ และการขอใบอนุญาตฯ

เนื่องจากมองว่าใบอนุญาตฯ แบบเดิม มีความเสี่ยง เพราะใบอนุญาตฯ เดียว แต่สอนได้ทุกวิชา ทุกระดับชั้น และไม่มีการพัฒนาต่อเนื่อง ขณะที่ระบบการสอบเพื่อขอรับใบอนุญาตฯ ในปัจจุบัน ยัง “ไม่” ตอบโจทย์ และสร้างภาระให้ผู้ขอรับใบอนุญาตฯ ที่สำคัญ ไม่ได้คัดกรองคุณภาพของผู้ที่จะได้รับใบอนุญาตฯ อย่างแท้จริง

แต่เรื่องนี้ยังไม่ได้ข้อสรุป เพราะต้องหารือสภาคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย (ส.ค.ศ.ท) และรับฟังความคิดเห็นนิสิต นักศึกษา รวมถึงผู้เกี่ยวข้องก่อน

อย่างไรก็ตาม ที่มาที่ไปของการปรับครั้งนี้ นายประวิต เอราวรรณ์ รักษาการเลขาธิการคุรุสภา ระบุว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) น.ส.ตรีนุช เทียนทอง มีข้อห่วงใย โดยเฉพาะการจัดสอบเพื่อขอรับใบอนุญาตฯ ที่ยังมีปัญหา จึงมอบคุรุสภาไปคิดว่าจะทำอย่างไรให้ใบอนุญาตฯ กลายเป็นส่วนหนึ่งของการยกระดับวิชาชีพครู

ถือเป็นการ “ยกเครื่อง” การขอใบอนุญาตฯ อีกครั้ง ให้สอดคล้องกับระบบการขอมีและเลื่อนวิทยฐานะที่ปรับไปก่อนหน้านี้แล้ว!!

 

ภายหลังคุรุสภารับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งสถาบันผลิตครู นิสิต นักศึกษาระดับปริญญา และประกาศนียบัตรทางการศึกษา เพื่อการประกอบวิชาชีพครู และประชาชนทั่วไป กว่า 5,500 คน

มีถึง 90% ที่ “เห็นด้วย” ให้ปรับวิธีขอใบอนุญาตฯ และการทดสอบเพื่อขอรับใบอนุญาตฯ

แต่ให้ “ลด” วิชาสอบเหลือเพียง 2 วิชา คือ วิชาชีพครู และวิชาที่สอน หรือวิชาเอก ในปัจจุบัน ส่วนทักษะภาษาไทย ทักษะภาษาอังกฤษ และทักษะการใช้เทคโนโลยีดิจิตอล ให้ใช้การรับรองหลักสูตรแทน เพื่อแก้ปัญหาการขอใบอนุญาตฯ

สาเหตุที่ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการยกเลิกการทดสอบใน 3 วิชานี้ นายประวิตอ้างว่า เพราะการทดสอบวิชาภาษาไทย 2 ครั้งที่ผ่านมา ผู้เข้ารับการทดสอบผ่านกว่า 95% ชัดเจนอยู่แล้วว่าทุกคนมีความสามารถด้านนี้ ไม่จำเป็นต้องจัดสอบให้เปลืองงบประมาณ

ขณะที่วิชาดิจิตอล ผ่านถึง 70% ถือเป็นทักษะที่ครูต้องมี ไม่ต้องจัดทดสอบอีก

ส่วนวิชาภาษาอังกฤษ เป็นหน้าที่ของมหาวิทยาลัย หรือสถาบันผลิตครู ที่ต้องพัฒนาเด็กระหว่างเรียน และทดสอบเด็กอยู่แล้ว

ทั้งหมดนี้ จะนำไปกำหนดในการรับรองหลักสูตรคณะครุศาสตร์ และคณะศึกษาศาสตร์…

ซึ่งก็มีทั้งผู้สนับสนุน และคัดค้าน!!

 

อย่างไรก็ตาม ภายหลังคุรุสภามีแนวโน้มให้ “ยกเลิก” การสอบทักษะภาษาไทย ทักษะภาษาอังกฤษ และทักษะการใช้เทคโนโลยีดิจิตอลในการขอใบอนุญาตฯ และให้ทดสอบเพื่อขอรับใบอนุญาตฯ เพียง 2 วิชา

ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ นักวิชาการด้านการศึกษา ออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยกับแนวทางนี้ทันที พร้อมทั้งฟันธงว่าสาเหตุหลักๆ ที่คุรุสภาต้องการยกเลิกการสอบทั้ง 3 วิชาดังกล่าว เพราะต้องการ “ประหยัด” งบประมาณ มากกว่าเหตุผลที่ระบุว่ามีผู้สอบผ่านจำนวนมาก

นอกจากนี้ ยังตั้งคำถาม และฝากให้คุรุสภากลับไปดูด้วยว่า สาเหตุที่ผู้สอบส่วนใหญ่กว่า 95% สอบผ่านวิชาทักษะภาษาไทย เป็นเพราะข้อสอบมีมาตรฐาน และเชื่อถือได้หรือไม่??

ส่วนวิชาอื่นๆ “ทำไม” ถึงสอบไม่ผ่านจำนวนมาก…

นักวิชาการฝีปากกล้ายังสรุปทิ้งท้ายว่า คุรุสภาถือเป็นองค์กรที่ดูแลวิชาชีพ ดูภาพรวม และส่งเสริมให้ครูมีความสมบูรณ์ในทุกด้าน

ดังนั้น การวัดและประเมินผลเพื่อขอรับใบอนุญาตฯ ต้อง “มีหลักการ” ไม่ควรให้ครูเลือกสอบตามใจของตน!!

 

ขณะที่ ผศ.ดร.อดิศร เนาวนนท์ นักวิชาการด้านการศึกษา กลับคิดเห็นตรงกันข้ามกับ ศ.ดร.สมพงษ์ ทั้งยังสนับสนุนแนวทางของคุรุสภาชัดเจน ที่ลดการสอบเพื่อขอรับใบอนุญาตฯ ให้เหลือแค่วิชาชีพครู และวิชาที่สอน

แต่ ผศ.ดร.อดิศรยังมองไปไกลกว่านั้น โดยเห็นว่าในบริบทปัจจุบัน คุรุสภาควรจัดสอบเฉพาะ “วิชาที่สอน” เพราะต้องวัดสมรรถนะการสอนวิชาเอกของผู้ที่จะมาเป็นครู แม้สถาบันผลิตครูจะสอนบุคลากรเหล่านี้มาแล้ว แต่ปัจจุบันอาจผลิตออกมาได้ไม่เข้มแข็งพอ จึงต้องสอบวิชาที่สอน เพื่อสอบวัดความรู้ของครูเหล่านี้โดยตรง

ส่วนการสอบ “วิชาชีพครู” ควร “ตัดออก” เพราะยากที่จะวัดเรื่องเหล่านี้

อย่างไรก็ตาม ที่คุรุสภาต้องจัดสอบวิชาชีพครูด้วย เพราะเป็นองค์กรที่ดูแลเรื่องมาตรฐาน และจรรยาบรรณวิชาชีพครู ซึ่ง ผศ.ดร.อดิศรเห็นว่าโดยหลักการแล้ว เป็นเรื่องดี แต่ในความเป็นจริงแล้ว “ความเป็นครู” ไม่สามารถวัดได้ด้วยข้อสอบ

แต่เมื่อยัง “จำเป็น” ต้องสอบวิชาชีพครู จึงเสนอให้ “เปลี่ยน” รูปแบบการวัดและประเมินผล โดยไม่ใช้ข้อสอบปรนัย และจัดข้อสอบให้มีความแตกต่างในระดับคะแนน เพราะเมื่อครูเจอสถานการณ์จริง จะปฏิบัติต่างกัน จึงต้องให้หน่วยผลิตครูฝึกฝนบุคลากร ก่อนส่งต่อให้หน่วยที่ใช้งาน เป็นผู้กำกับดูแลวิชาชีพครู

ในขณะที่คุรุสภามีหน้าที่ส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม มาตรฐานวิชาชีพครูควบคู่กันไป!!

 

ล่าสุด ที่ประชุมคณะกรรมการคุรุสภา เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม ที่มีรัฐมนตรีว่าการ ศธ.เป็นประธาน เห็นชอบแนวทางการปรับปรุงใบอนุญาตฯ ประกอบด้วย

1. ระบบใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู กำหนดให้มีใบรับรองการปฏิบัติการสอน (Provisional Teaching Certificate) และใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ได้แก่ ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูชั้นต้น (Basic Professional Teaching License : B-license) และใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูชั้นสูง (Advanced Professional Teaching License : A-license)

และ 2. ระบบการทดสอบ และประเมินสมรรถนะทางวิชาชีพ ตามมาตรฐานวิชาชีพครู เพื่อขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูชั้นต้น

ซึ่ง “ใบรับรองการปฏิบัติการสอน” ทุกคนที่จบหลักสูตรครู จะได้รับอัตโนมัติ เพื่อใช้สอบบรรจุครูผู้ช่วย เมื่อได้รับการบรรจุเป็นครูผู้ช่วยแล้ว มีระยะเวลา 2 ปีในการพัฒนาตนเอง เพื่อเลื่อนฐานะจาก “ครูผู้ช่วย” เป็น “ครู”

โดยจะต้องเข้ารับการทดสอบความรู้ฯ เพื่อขอรับ “ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูชั้นต้น” ที่กำหนดให้ทดสอบความรู้ฯ ตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่คณะกรรมการคุรุสภากำหนด ประกอบด้วย วิชาครู (PCK และทักษะวิชาชีพครู) และวิชาที่สอน (Content พื้นฐาน) แบ่งเป็น 5 ประเภท ได้แก่ ปฐมวัย การศึกษาพิเศษ วิชาบูรณาการ วิชาเฉพาะ (ตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน) และอาชีวศึกษา (ตามหลักสูตรการอาชีวศึกษา แยกตามสาขา/แขนง)

เมื่อได้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูชั้นต้น จะต้องพัฒนาตนเองให้สูงขึ้นไปอีก เพื่อให้ได้วิทยฐานะ และ “ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูชั้นสูง”

 

การ “รื้อ” ระบบใบอนุญาตฯ ครั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ระบุ 3 หลักการใหญ่ๆ ได้แก่

1. ยืดหยุ่น ให้คนที่จบสายครูทุกคนมีโอกาสสอบบรรจุเข้ารับราชการครูได้

2. ต้องการปรับระบบให้เทียบเคียงกับนานาชาติ

และ 3. เชื่อมโยงระบบการออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพของคุรุสภา กับระบบวิทยฐานะของสำนักงาน ก.ค.ศ.ให้เป็นระบบเดียวกัน

ทั้งหมดนี้ จะต้องเสนอคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ (กมว.) พิจารณา ก่อนนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการคุรุสภาเห็นชอบอีกครั้ง…

คาดว่าจะประกาศใช้ “ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู” รูปแบบใหม่ ในเดือนกรกฎาคม 2565!! •