คุยกับทูต : โลเรนโซ กาลันตี เตรียมโบกมืออำลาประเทศไทย (2)

รายงานพิเศษ

ชนัดดา ชินะโยธิน

[email protected]

 

คุยกับทูต : โลเรนโซ กาลันตี

เตรียมโบกมืออำลาประเทศไทย (2)

 

“ช่วงแรกของผมในราชอาณาจักรไทย มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พระราชพิธีราชาภิเษกสมรส และพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ต่อมา มีรัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภาไทยและคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ถวายสัตย์ปฏิญาณตน เป็นช่วงที่ผมปฏิบัติหน้าที่ที่นี่ครบ 1 ปีพอดี”

นายโลเรนโซ กาลันตี (His Excellency Mr. Lorenzo Galanti) เอกอัครราชทูตอิตาลีประจำประเทศไทย กล่าวถึงเหตุการณ์สำคัญที่ผ่านมา

ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไปเมื่อวันอาทิตย์ที่ 24 มีนาคม พ.ศ.2562 (2019) เพื่อเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 500 คน เป็นการเลือกตั้งครั้งที่ 28 นับเป็นการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกหลังรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ.2557 (2014) ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 (2017)

ต่อมาในวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ.2562 (2019) สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส กับ พล.อ.หญิง สุทิดา วชิราลงกรณ์ ณ อยุธยา และมีพระราชโองการให้สถาปนา พล.อ.หญิง สุทิดา วชิราลงกรณ์ ณ อยุธยา พระอัครมเหสี เป็นสมเด็จพระราชินีสุทิดา

ในระหว่างวันที่ 4-6 พฤษภาคม พ.ศ.2562 (2019) มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ถือเป็นพระราชพิธีครั้งที่ 12 นับตั้งแต่มีการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์มา 237 ปี

นายโลเรนโซ กาลันตี (His Excellency Mr. Lorenzo Galanti) เอกอัครราชทูตอิตาลีประจำประเทศไทย

เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ.2562 (2019) พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ทรงเปิดประชุมรัฐสภา ณ ห้องประชุมวิเทศสโมสร กระทรวงการต่างประเทศ และได้พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ ครม. ชุดใหม่เข้าเฝ้าฯ เพื่อถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ในวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ.2562 (2019) ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน

“จากนั้นไทยเป็นประธานอาเซียนภายใต้หัวข้อ ‘Advancing Partnership for Sustainability’ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป และความยั่งยืนในทุกมิติ คือหัวข้อสำคัญ โดยผมเป็นผู้สังเกตการณ์ถาวรของอิตาลีในคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมสำหรับเอเชียแปซิฟิกแห่งสหประชาชาติ (UN ESCAP)”

รัชกาลที่ 10 ทรงเปิดประชุมรัฐสภา

การรับเป็นประธานอาเซียนนั้น ประเทศไทยได้ประกาศแนวคิดหลัก (theme) ในการเป็นประธานอาเซียนของไทย คือ “Advancing Partnership for Sustainability” หรือ “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน” ซึ่งแต่ละคำมีความหมายที่โยงถึงยุทธศาสตร์ของไทยในการดำรงตำแหน่งประธานอาเซียน และบ่งบอกถึงทิศทางการขับเคลื่อนอาเซียนที่สำคัญ คือ ความยั่งยืน ความเชื่อมโยง และการมองไปสู่อนาคต

ซึ่งหมายถึงการที่อาเซียนจะต้องร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดในทุกภาคส่วนบนพื้นฐานของผลประโยชน์ร่วมกันทั้งภาคีภายนอกภูมิภาคและประชาคมโลก เพื่อก้าวไปข้างหน้าด้วยกันอย่างมีพลวัต สู่อนาคตที่มีความยั่งยืนในทุกมิติ อันจะนำมาซึ่งความกินดีอยู่ดีและสันติสุขของประชาชนอาเซียน

มิวเซียมสยามฉลองครบรอบ 100 ปี นับตั้งแต่ก่อตั้งโดยสถาปนิกชาวอิตาลี Mario Tamagno ในปี 1922 พิพิธภัณฑ์สยามประดับไฟด้วยสีธงชาติอิตาลี ตั้งแต่วันนี้ถึงวันชาติอิตาลี 2 มิถุนายน 2565

“ในการประชุมหารือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งเอเชีย-แปซิฟิก (Asia Pacific Forum on Sustainable Development) ของ ESCAP ซึ่งจัดโดยอิตาลีและ UNESCO เราได้เน้นย้ำถึงบทบาทอันทรงพลังของวัฒนธรรมในการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)”

การพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) คือการพัฒนาที่สมดุลกันใน 3 เสาหลักของมิติความยั่งยืน (Three Pillars of Sustainability) นั่นคือ สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม

“Jobel Art for Earth เป็นองค์กรด้านศิลปะการแสดงจากอิตาลี พร้อมที่จะพิสูจน์ด้วยการออกแบบท่าเต้นที่น่าทึ่งและเข้มข้นเกี่ยวกับความท้าทายระดับโลกและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ”

Jobel เป็นองค์กรสร้างสรรค์ระดับนานาชาติ ก่อตั้งขึ้นในอิตาลีในปี 1998 โดย Lorenzo Cognatti ศิลปินอิสระชาวอิตาลี วิสัยทัศน์ที่เป็นนวัตกรรมและเป็นแรงบันดาลใจของเขา ได้สร้างรูปแบบใหม่สำหรับการออกแบบและสื่อสารเนื้อหาทางสังคมและสิ่งแวดล้อมผ่าน “แบบจำลองศิลปะผสมผสาน” (arts-fusion model) ศิลปะการแสดง ทัศนศิลป์ ดิจิตอลอาร์ต

อันเป็นสะพานเชื่อมที่ช่วยเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและสิ่งแวดล้อม

สถานทูตอิตาลี จัดเสวนาออนไลน์ งานดีไซน์ สไตล์อิตาเลียนเพื่ออนาคตและความยั่งยืน “RE-GENERATION, DESIGN AND NEW TECHNOLOGIES FOR A SUSTAINABLE FUTURE’’ เปิดงาน อิตาเลียน ดีไซน์ วีค 2022 ที่กรุงเทพฯ

“มีความท้าทายระดับโลกอย่างหนึ่ง ซึ่งจัดอยู่ในระหว่างสิบอันดับแรกและไม่สูงมากนัก แต่จู่ๆ ก็กลายเป็นพลังที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตของเราอย่างมาก นั่นคือไวรัสโคโรนาที่เข้าโจมตีเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน หลังจากนั้น เริ่มมีผู้ป่วยรายหนึ่งในประเทศไทย ก่อนเกิดการระบาดใหญ่ในอิตาลี ราวกับพายุทอร์นาโด”

“ไม่นานนัก ชาวอิตาลีที่มาอยู่ในประเทศไทย กัมพูชา และลาวก็เริ่มคิดว่า พวกเขาควรจะกลับบ้านหรือไม่ ซึ่งในเวลานั้นเที่ยวบินพาณิชย์ส่วนใหญ่ได้ถูกระงับไปแล้ว กลายเป็นเพิ่มความกดดันมากขึ้นแก่เพื่อนร่วมชาติของผมที่ต้องถูกส่งตัวกลับประเทศ โดยเราจัดเที่ยวบินส่งกลับประเทศสามเที่ยวบิน หนึ่งในนั้นคือการบินไทย และในเที่ยวบินขากลับก็ได้ส่งพลเมืองไทยจากอิตาลีกลับสู่ประเทศไทยด้วย”

“ส่วนการสัญจรไปมาระหว่างประเทศนั้นได้หยุดชะงักลงอย่างสิ้นเชิง เนื่องจากไวรัสร้ายแรงได้แพร่กระจายไปทั่วทวีป ซึ่งพิสูจน์ว่า อิตาลีเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบเป็นอันดับต้นๆ และโควิด-19 ก็ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงในประเทศอิตาลีเท่านั้น ซึ่งทำให้งานทางด้านกงสุลลดน้อยลง หากแต่สลับซับซ้อนมากขึ้น เรื่องการจัดการส่งตัวผู้รอดชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนกลับไปรักษาพยาบาลนั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย แต่เราก็ยังต้องทำต่อไปอีกในหลายกรณี”

“เมื่อการเดินทางต้องยุติลง ชุมชนชาวอิตาลีในกัมพูชาและลาวจึงไม่สามารถเข้าถึงสถานทูตในกรุงเทพฯ ได้ กลายเป็นเรื่องเร่งด่วนในการจัดตั้งสถานกงสุลกิตติมศักดิ์ที่เหมาะสมในดินแดนของทั้งสองประเทศ เพื่อให้แน่ใจว่าจะสามารถให้บริการพื้นฐานบางอย่างแก่ชุมชนของเรา”

“เราเริ่มหมุนเวียน ผลัดเปลี่ยนกันทำงานโดยมีสองทีม สลับกันทำงานจากที่บ้าน และที่สถานทูต การปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนในสังคมและกิจกรรมทางสังคมทุกอย่างหยุดชะงัก สำหรับผมในฐานะเอกอัครราชทูตได้ค้นพบแก่นแท้ของหน้าที่ในการพบปะผู้คน แต่กลับต้องมาใช้ชีวิตอย่างว่างเปล่า – และในบ้านหลังใหญ่ ซึ่งมีไว้เพื่อจัดงานเลี้ยงรับรองแขกเหรื่อจำนวนมากนั้น – ได้กลายเป็นเรื่องเหนือจริง”

มหกรรมแสดงสินค้าอาหารระดับโลก
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์. รองนายกฯ และ รมว. พาณิชย์ ขณะสนทนากับเอกอัครราชทูตอิตาลี หลังพิธีเปิดงานมหกรรมแสดงสินค้าอาหารระดับโลก

“อย่างไรก็ตาม กิจกรรมที่เราได้พัฒนาในช่วงเวลานั้นมีความสำคัญมาก เพราะในเดือนกันยายน 2020 อิตาลีกลายเป็นหุ้นส่วนการพัฒนาของอาเซียน โดยผู้สมัครได้รับการยอมรับจากทั้ง 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน บนพื้นฐานของโครงการริเริ่มที่ได้รับการแก้ไขหลังจากการปรึกษาหารืออย่างรอบคอบกับแต่ละประเทศสมาชิก ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศอิตาลีและความร่วมมือระหว่างประเทศ ลุยจี ดี มาโย (Luigi Di Maio) ได้เน้นย้ำว่า – ทั้งประเทศอิตาลีและประเทศสมาชิกอาเซียนเชื่อในคุณธรรมของการร่วมมือ และต่างตอบแทนซึ่งกันและกัน จากสิ่งนี้ ผมจึงมั่นใจในโอกาสที่พันธมิตรใหม่ของเราจะได้รับผลตอบแทนที่ดี อย่างยั่งยืน และในระยะยาว”

“สมรรถนะวิสัยใหม่นั้นทำให้โปรไฟล์ของเราในภูมิภาคสูงขึ้น และทำให้เราพัฒนาความคิดริเริ่มได้หลายอย่าง เช่น หลักสูตรการฝึกอบรมในภาคส่วนต่างๆ ตั้งแต่การต่อสู้กับอาชญากรรมข้ามชาติไปจนถึงการเสริมสร้างขีดความสามารถในภาคสิ่งแวดล้อม การสนับสนุนกองทุนฟื้นฟูอาเซียนสำหรับโควิด-19 การพัฒนากิจกรรมกับศูนย์อาเซียน เช่น ศูนย์ทุ่นระเบิดภูมิภาคอาเซียน (ARMAC) ในพนมเปญและศูนย์อาเซียนเพื่อการศึกษาและการหารือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน (ACSDSD) ในกรุงเทพฯ”

“ปี 2020 อิตาลีได้เป็นประธานการประชุมผู้นำกลุ่มประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ (G20) และการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP26) ร่วมกับสหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นการประชุมสุดยอดประจำปีเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ”

“ด้วยเหตุนี้ วาระการประชุมของผมจึงครอบคลุมประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ โดยดำเนินการเพื่อความยั่งยืน และการสนับสนุน เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ตามวิสัยทัศน์ของวาระการพัฒนา 2030 ของสหประชาชาติ”

นายกรัฐมนตรี กับ นางสาว อมินตา เพิ่มพูนวิวัฒน์ (เอม) และนางสาวพัทธ์ธีญา ยงค์สงวนชัย (เกรซ)

“ก่อนการประชุมสุดยอด COP26 ในเมืองกลาสโกว์นั้น ประเทศอิตาลีเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเยาวชนเพื่อสภาพอากาศ (Youth4Climate) ณ เมืองมิลาน มีผู้แทนรุ่นเยาว์จากทั่วทุกมุมโลก”

กิจกรรมครั้งนี้สำคัญมาก จัดขึ้นระหว่างวันที่ 28-30 กันยายน 2021 ผู้นำเยาวชนทั่วโลกประมาณ 400 คน อายุระหว่าง 18 ถึง 29 ปี จากกว่า 50 ประเทศสมาชิกสหประชาชาติ โดยมีเยาวชนไทยสองคน ได้รับการคัดเลือกเป็นผู้แทนเยาวชนแห่งประเทศไทย เข้าร่วมประชุมด้วย ทั้งนี้ เพื่อผลักดันนโยบายความร่วมมือของผู้นำโลก ร่วมระดมความคิดและสรุปข้อเสนอเป็นกรณีเร่งด่วน หาทางแก้ไขปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

“ผมมีความประทับใจผู้แทนจากประเทศไทยทั้งสองคนเป็นพิเศษ คือ น.ส.อมินตา เพิ่มพูนวิวัฒน์ (เอม) และ น.ส.พัทธ์ธีญา ยงค์สงวนชัย (เกรซ) แม้จะอายุน้อย หรืออาจเป็นเพราะอายุยังน้อย ก็สามารถมีส่วนร่วมในการอภิปรายในมิลานได้อย่างเป็นรูปธรรม และยังมีพัฒนาการที่โดดเด่นเพื่อสร้างความตระหนักเกี่ยวกับปัญหาสภาพภูมิอากาศหลังจากที่พวกเขากลับมาที่ประเทศไทย และได้รับการต้อนรับแสดงความยินดีจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี”

“สถานเอกอัครราชทูตอิตาลีประจำประเทศไทย ยังได้จัดสัมมนาผ่านเว็บเกี่ยวกับเรื่องราวของผู้แทนเยาวชนไทยทั้งสองคนนี้เรื่อง ‘อาหารจากมิลาน'” ท่านทูตเน้นว่า

“การที่ประชาชนชาวไทยให้ความสนใจและเข้ามามีส่วนร่วมด้วยนั้น เป็นที่ประทับใจยิ่ง” •