ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 3 - 9 มิถุนายน 2565 |
---|---|
คอลัมน์ | ต่างประเทศ |
เผยแพร่ |
บทความต่างประเทศ
เสรีภาพและความกลัว
รากฐานวัฒนธรรมปืนในสหรัฐ
ประเด็นเรื่องกฎหมายการครอบครองอาวุธปืนในสหรัฐอเมริกา มักจะถูกหยิบยกขึ้นมาทุกครั้งที่เกิดเหตุโศกนาฏกรรมกราดยิงขึ้น
ครั้งนี้ก็เช่นกัน สหรัฐอเมริกาเจอกับเหตุกราดยิงสุดสะเทือนใจอีกครั้ง ภายในโรงเรียนประถม ในรัฐเท็กซัส ทำให้นักเรียนเสียชีวิต 19 ราย และครูอีก 2 ราย เหตุกราดยิงที่เกิดขึ้นบ่อย จนทำให้ทั่วโลกเริ่มแปลกใจว่า ทำไมสหรัฐอเมริกาจึงเจอกับเหตุกราดยิงบ่อยครั้งนัก
สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานไว้ว่า คำตอบที่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนพอจะสรุปได้ เริ่มต้นมาตั้งแต่การที่สหรัฐอเมริกาได้รับชัยชนะจากการได้เสรีภาพจากสหราชอาณาจักร เมื่อปี ค.ศ.1776 และมาจากความเชื่อของผู้คนที่เชื่อว่า พวกเขาต้องการ “ปืน” เพื่อความปลอดภัยของตัวเอง!!
เอเอฟพีรายงานว่า ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับอุตสาหกรรมปืน ได้ให้นิยามไว้ว่า ตอนนี้สหรัฐได้เปลี่ยนจากยุค “วัฒนธรรมปืน 1.0” ที่มีปืนเพื่อการกีฬาและการล่าสัตว์ ไปสู่ยุค “วัฒนธรรมปืน 2.0” ที่ชาวอเมริกันเห็นว่าเป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องมีปืนเพื่อปกป้องบ้านและครอบครัวของตนเอง
ไรอัน บัสส์ อดีตผู้บริหารในแวดวงอุตสาหกรรมปืน เขียนบทความไว้บนนิตยสารออนไลน์ เดอะบัลวอร์ก ว่า การเปลี่ยนผ่านนี้ ถูกผลักดันอย่างหนักจากอุตสาหกรรมโฆษณาที่ใช้เงินเกือบ 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่ทำให้ผู้คนหวาดกลัวการก่ออาชญากรรมและความวุ่นวายเรื่องเกี่ยวกับการเหยียดเชื้อชาติ และเหตุกราดยิงล่าสุด ถือเป็นผลิตผลพลอยได้ของรูปแบบธุรกิจอุตสาหกรรมปืน ที่ออกแบบมาเพื่อให้ได้กำไรจากการเพิ่มขึ้นของความเกลียดชัง ความกลัวและการสมคบคิด
ย้อนกลับไปเมื่อครั้งที่สหรัฐได้รับอิสรภาพจากสหราชอาณาจักร กลุ่มคนที่ออกแบบประเทศสหรัฐอเมริกาขึ้นมาใหม่ในช่วงทศวรรษ 1770 และ 1789 คนเหล่านี้ไม่มีข้อกังขาอะไรเกี่ยวกับเรื่องการครอบครองปืน เพราะว่า ในยุคที่ถูกปกครองโดยสหราชอาณาจักร ชาวอเมริกันยุคนั้นถูกกดขี่อย่างมาก และไม่มีสิทธิครอบครองอาวุธปืน เพราะการครอบครองปืนแบบผูกขาดอยู่ที่ราชวงศ์ในยุโรปและกองทัพยุโรป
เจมส์ เมดิสัน ประธานาธิบดีสหรัฐคนที่ 4 และบิดาแห่งรัฐธรรมนูญของสหรัฐ อ้างอิงถึง “ข้อดี” ของการมีอาวุธอยู่ในครอบครอง โดยเมดิสันและคนอื่นๆ ที่ร่วมก่อตั้งประเทศสหรัฐอเมริกา ก็เข้าใจว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ซับซ้อน รัฐใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นจะยังไม่มีความเชื่อมั่นในรัฐบาลกลางที่เพิ่งเกิดขึ้น และต่างต้องการจะมีกฎหมายของตัวเอง มีอาวุธของตัวเอง
พวกเขาตระหนักดีว่า ผู้คนยังต้องล่าสัตว์ และปกป้องตัวเองจากสัตว์ป่าและคนร้าย แต่บางคนก็ยังเป็นห่วงว่า การที่แต่ละคนมีปืนเป็นของตัวเองได้ อาจจะทำให้เกิดความไร้ระเบียบขึ้นมาในสังคมได้
จนในปี ค.ศ.1791 จึงสามารถหาข้อยุติเกี่ยวกับเป็นรัฐธรรมนูญ ตามมาตราที่ 2 ของสหรัฐอเมริกา ว่าด้วยเรื่องสิทธิในการครอบครองอาวุธ ที่ออกมาว่า “พลเรือนติดอาวุธที่ได้รับการควบคุมอย่างดี มีความจำเป็นต่อความมั่นคงของรัฐที่มีเสรีภาพ สิทธิของประชาชนในการถือครองและพกพาอาวุธ ไม่ควรถูกละเมิด”
ศาสตราจารย์เดวิด ยาเมน บอกว่า วัฒนธรรมปืน 1.0 เป็นช่วงเวลาที่ปืนถูกใช้เป็นเครื่องมือในการล่าสัตว์ รวมไปถึงการใช้เพื่อควบคุมทาส
โดยในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ชาวเมืองใหญ่ในสหรัฐ ต่างพากันมีอาวุธปืนมากขึ้น จนทำให้สหรัฐอเมริกามีการใช้อาวุธปืนในการก่ออาชญากรรมมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ
ตั้งแต่ปี 1900 ถึง 1964 สหรัฐอเมริกามีการใช้ปืนก่อเหตุฆาตกรรมมากถึงกว่า 265,000 ครั้ง ใช้ฆ่าตัวตายอีก 330,000 ครั้ง และอุบัติเหตุจากปืนอีก 139,000 ครั้ง
เพื่อเป็นการตอบสนองต่อการก่อเหตุรุนแรงที่เพิ่มมากขึ้น ในปี 1934 รัฐบาลกลางสหรัฐประกาศแบนปืนกลทั้งหมด และให้ปืนทุกกระบอกต้องมีการลงทะเบียนและเสียภาษี ทำให้แต่ละรัฐออกมาประกาศควบคุมอาวุธปืนของตัวเอง อย่างการห้ามการถือปืนในที่สาธารณะ เป็นต้น
ขณะที่ประชาชนเริ่มออกมาสนับสนุนให้ประกาศแบนการใช้ปืนของคนทั่วไปทั้งหมด กระทั่งเกิดการลอบสังหารจอห์น เอฟ. เคนเนดี้, โรเบิร์ต เอฟ. เคนเนดี้ และมาร์ติน ลูเธอร์ คิง ทำให้มีการเดินหน้าผลักดันการควบคุมการครอบครองปืนมากขึ้น
แต่สมาคมปืนไรเฟิลแห่งชาติ (เอ็นอาร์เอ) ก็หยิบยกมาตรา 2 ของรัฐธรรมนูญ ขึ้นมากล่าวอ้าง เพื่อป้องกันไม่ให้มีการจำกัดการซื้อขายปืนในสหรัฐ และว่า มาตรา 2 นี้ เป็นการปกป้องสิทธิในการครอบครองปืนอย่างสมบูรณ์
ไรอัน บัสส์ ระบุว่า เมื่อการขายปืนในสหรัฐเริ่มหยุดนิ่ง ในช่วงทศวรรษ 1990 เนื่องจากการล่าสัตว์หรือกีฬายิงปืนที่ลดน้อยลง ก็นำไปสู่ช่วงยุคของวัฒนธรรมปืน 2.0 เมื่อเอ็นอาร์เอ และอุตสาหกรรมปืน เริ่มออกมาบอกกับผู้คนว่า “พวกเขาต้องการปืนไว้เป็นของส่วนตัวเพื่อปกป้องตัวเอง”
ผู้ผลิตปืนเริ่มแสดงให้ผู้คนเห็นว่า พวกเขากำลังถูกโจมตีจากการก่อจลาจล การปล้นจี้ลักขโมย และพยายามโฆษณาชวนเชื่อบอกผู้คนว่า “พวกเขาต้องการอุปกรณ์ส่วนตัวที่มีความฉลาด”
ในขณะที่หลายรัฐในสหรัฐ ที่มีความห่วงกังวลเกี่ยวเรื่องการก่ออาชญากรรม ก็จะเปิดทางให้ผู้คนในรัฐสามารถพกปืนในที่สาธารณะได้โดยไม่ต้องขออนุญาต
ตอนนี้ ปืนได้กลายเป็นส่วนสำคัญในชีวิตประจำวันของชาวอเมริกันไปแล้ว และกำลังกลายเป็นปัญหาถกเถียงถึงความเหมาะสมของกฎหมายการครอบครองอาวุธปืน อันเนื่องมาจากการเกิดปัญหาการกราดยิงขึ้นหลายต่อหลายครั้ง
ซีเอ็นเอ็นเปิดเผยรายงานขององค์กรสำรวจอาวุธเบา หรือเอสเอเอสของสวิตเซอร์แลนด์ ที่ระบุว่า ชาวอเมริกันมีจำนวนปืนที่มากกว่าจำนวนประชากรในประเทศ โดยประชากรอเมริกันตอนนี้มีอยู่ราว 329.5 ล้านคน ขณะที่มีปืนอยู่ทั้งหมด 393 ล้านกระบอก
ขณะที่ในปี 2019 ประชากรในสหรัฐอเมริกา 4 ใน 100,000 คน ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงจากปืน และในช่วง 22 ปีที่ผ่านมา เกิดเหตุการณ์ใช้อาวุธปืนยิงกันขึ้นในสหรัฐอเมริกามากกว่า 100 ครั้ง โดยมีคนตกเป็นเหยื่อจากความรุนแรงจากปืนเหล่านี้มากว่า 2,000 คน
ตราบที่ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เกี่ยวกับกฎหมายครอบครองปืน คำถามที่ว่า ทำไมสหรัฐมีการกราดยิงบ่อยเหลือเกิน ก็ยังคงต้องมีต่อไป