ภูมิภาคแปซิฟิกตอนใต้ เป้าหมายใหม่ขยายอิทธิพลจีน/บทความต่างประเทศ

Chinese Foreign Minister Wang Yi (C) leaves after a joint press conference with Fijian Prime Minister Frank Bainimarama (R) in Fiji's capital city Suva. (Photo by Leon LORD / AFP)

บทความต่างประเทศ

 

ภูมิภาคแปซิฟิกตอนใต้

เป้าหมายใหม่ขยายอิทธิพลจีน

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาความเคลื่อนไหวในเวทีทางการทูตระดับโลกที่ถูกจับจ้องมากที่สุดเหตุการณ์หนึ่ง คือการเดินทางเยือนภูมิภาคประเทศหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิกของนายหวัง อี้ รัฐมนตรีต่างประเทศจีน

การเดินทางเยือน 8 ประเทศในช่วงระยะเวลา 10 วันพร้อมกับตัวแทนระดับสูงอีก 20 คนของจีนในครั้งนี้ถูกมองว่าเป็นความพยายามของจีนในการขยายพื้นที่อิทธิพลออกไปจากพื้นที่ทะเลจีนใต้ออกไปทางตอนใต้ของมหาสมุทรแปซิฟิก โดยเฉพาะกับ 10 ประเทศหมู่เกาะในภูมิภาค ซึ่งเป็นพื้นที่อิทธิพลเดิมของสหรัฐอเมริกา และพันธมิตรของสหรัฐอย่างออสเตรเลีย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา จีนเพิ่งร่วมทำข้อตกลงกับ “หมู่เกาะโซโลมอน” หมู่เกาะที่อยู่ห่างจากชายแดนออสเตรเลียไปไม่ถึง 2,000 กิโลเมตร

โดยข้อตกลงดังกล่าวเปิดทางให้จีนสามารถส่งเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงเข้าสู่พื้นที่ได้ตามการร้องขอของรัฐบาลหมู่เกาะโซโลมอน ในภารกิจ “รักษาสันติภาพ”

นอกจากนี้ ยังเปิดทางให้เรือของกองทัพเรือจีนสามารถเข้าเทียบท่าเพื่อเติมสเบียงสนับสนุนกิจกรรมสันทนาการสำหรับทหารเรือได้

 

ข้อตกลงดังกล่าวสร้างแรงกระเพื่อมทางการเมืองระหว่างประเทศไปทั่วโลก โดยชาติตะวันตกต่างมองว่าอาจนำไปสู่การนำกำลังทหารจีนเข้าสู่พื้นที่โดยถาวรก็เป็นได้ ส่งผลให้สหรัฐอเมริกาถึงกับต้องแสดงท่าทีคัดค้าน ระบุว่าพร้อมที่จะ “ดำเนินการ” กับหมู่เกาะโซโลมอน หากข้อตกลงระหว่างหมู่เกาะโซโลมอนกับสหรัฐเป็นภัยคุกคามต่อผลประโยชน์ของสหรัฐและพันธมิตร

ด้านออสเตรเลียเองส่งสัญญาณห่วงกังวลกับท่าทีของจีนเช่นกัน

โดยนางเพนนี หวัง รัฐมนตรีต่างประเทศคนใหม่ ที่เพิ่งได้รับการแต่งตั้งไม่ถึงสัปดาห์ต้องเดินทางเยือนประเทศ “ฟิจิ” หนึ่งในประเทศภูมิภาคแปซิฟิกใต้ในทันที

เบื้องหลังการหันหน้าเข้าหาประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกในครั้งนี้สืบเนื่องมาจากการขยายอิทธิพลด้านเศรษฐกิจและการทูตของจีนผ่าน “ข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” (Belt and Road Initiative) เชื่อมต่อเอเชียตะวันออกและทวีปยุโรปด้วยโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ท่าเรือ ทางรถไฟ โรงงานไฟฟ้า และโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ

อย่างไรก็ตาม ข้อริเริ่มดังกล่าวเกิดปัญหาติดขัดขึ้นหลายประการไม่ว่าจะเป็นชาติที่จะมีส่วนร่วมอย่างศรีลังกา และปากีสถานที่ตกอยู่ในสภาวะเป็นหนี้สิน ขณะที่ชาติพัฒนาแล้วอ้างเรื่องความมั่นคงกีดกันบริษัทจีน โดยเฉพาะบริษัทโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่อย่างหัวเว่ย

นั่นจึงส่งผลนักวิเคราะห์มองว่า ภูมิภาคแปซิฟิกใต้ ดูเป็นภูมิภาคที่เปิดกว้างให้กับรัฐบาลจีนในการขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจและการทูตด้วยต้นทุนต่ำและอาจได้ผลตอบแทนสูงในเวลาเดียวกัน

นอกจากนี้ จีนถูกมองว่ากำลังพยายามตัดความสัมพันธ์ระหว่าง “ไต้หวัน” กับ 4 ชาติในภูมิภาคอย่างหมู่เกาะมาร์แชล, หมู่เกาะโซโลมอน ตูวาลู และปาเลา ที่ยังคงเป็นชาติที่มีความสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวันอยู่ในเวลานี้

ขณะที่ความสำเร็จในเวทีการทูตในครั้งนี้จะเป็นเครื่องยืนยันความสำเร็จของสี จิ้น ผิง ประธานาธิบดีจีนที่เตรียมจะรับตำแหน่งเลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีน ต่อเป็นสมัยที่ 3 ในเร็วๆ นี้ด้วย หลังจากก่อนหน้านี้จีนเผชิญกับปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 และปัญหาทางเศรษฐกิจที่หนักหนาในช่วงเวลาที่ผ่านมา

 

แน่นอนว่าจีนไม่ได้ต้องการมีข้อตกลงกับหมู่เกาะโซโลมอนเพียงประเทศเดียว แต่ต้องการให้ชาติในภูมิภาคทั้ง 10 ชาติมีข้อตกลงกับจีนในลักษณะเดียวกันนำไปสู่การผลักดันข้อเสนอ “วิสัยทัศน์การพัฒนาร่วม” (Common Development Vision)

โดยนายหวัง อี้ จะใช้เวลา 10 วัน เริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 26 พฤษภาคม-5 มิถุนายน เดินทางเยือน 8 ชาติในพื้นที่ เพื่อโน้มน้าวให้ชาติในภูมิภาคร่วมทำข้อตกลงกับจีนให้ได้

โดยเฉพาะ 10 ชาติแปซิฟิก ไม่ว่าจะเป็นหมู่เกาะโซโลมอน, คิริบาส, ซามัว, ฟิจิ, ตองกา, วานูอาตู, ปาปัวนิวกินี, หมู่เกาะคุก, นิวเว และสาธารณรัฐไมโครนีเซีย

ร่างข้อเสนอของจีนในข้อตกลงดังกล่าวที่หลุดออกมาถึงมือสื่อ ประกอบไปด้วย การช่วยฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ตำรวจ การมีส่วนร่วมในด้านความมั่นคงไซเบอร์ ขยายความสัมพันธ์ทางการเมือง ร่วมทำแผนที่ทางทะเลในพื้นที่อ่อนไหว และการเข้าถึงทรัพยากรทางธรรมชาติทั้งบนแผ่นดินและในน่านน้ำในพื้นที่

โดยทางการจีนเสนอข้อแลกเปลี่ยนเป็นความช่วยเหลือทางการเงินมูลค่าหลายล้านดอลลาร์สหรัฐ การทำข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างจีนเพื่อเปิดทางให้บรรดาประเทศหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิกเข้าถึงตลาดจีนที่มีประชากรมากถึง 1,400 ล้านคน เป็นต้น

 

อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงดังกล่าวเผชิญกับเสียงคัดค้านจากอย่างน้อย 1 ชาติหมู่เกาะแปซิฟิก อย่างสาธารณรัฐไมโครนีเซีย ที่จดหมายจากผู้นำถึงชาติสมาชิกหลุดถึงมือสื่อก่อนหน้านี้ ระบุว่า ข้อตกลงดังกล่าวอาจทำให้เกิดยุคแห่ง “สงครามเย็น” หรืออย่างแย่ที่สุดก็คือเกิด “สงครามโลก” ขึ้นได้อีกครั้ง

ล่าสุด 10 ชาติมหาสมุทรแปซิฟิกก็ไม่สามารถบรรลุฉันทามติในการรับรองข้อตกลงวิสัยทัศน์การพัฒนาร่วมดังกล่าวได้ โดยแฟรงก์ เบนิมารามา นายกรัฐมนตรีฟิจิ ระบุหลังเสร็จสิ้นการหารือระดับรัฐมนตรีต่างประเทศกับนายหวัง อี้ ว่า ทั้ง 10 ชาติมองเรื่องฉันทามติมาเป็นอันดับแรกอย่างที่เคยเป็นมาตลอด และว่า จำเป็นที่จะต้องมีข้อตกลงที่ครอบคลุมร่วมกันก่อนที่จะมีการลงนามในข้อตกลงใหม่เกิดขึ้นในภูมิภาค

อย่างไรก็ตาม นายหวังระบุว่า จีนและ 10 ชาติแปซิฟิก บรรลุข้อตกลงใน 5 หัวข้อ ไม่ว่าจะเป็นการฟื้นฟูจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 การตั้งศูนย์กลางด้านการเกษตร และการตอบสนองกับหายนภัย โดยที่ไม่ได้รวมเรื่องความมั่นคงเข้าไปด้วย

นอกจากนี้ ในแต่ละประเทศที่นายหวังเดินทางเยือนก็สามารถลงนามในข้อตกลงย่อยๆ กับแต่ละประเทศได้อีกหลายต่อหลายฉบับ และจะมีต่อเนื่องในอีกหลายประเทศที่จะเดินทางเยือนด้วยแน่นอน

 

โรเบิร์ต โบห์น ซิโกล อดีต ส.ส.วานูอาตู ระบุว่า ยากที่จะบอกได้ว่าจีนจะประสบความสำเร็จกับความพยายามในครั้งนี้เพียงใด โดยเฉพาะกับชาติเล็กๆ ในมหาสมุทรแปซิฟิกที่คุ้นเคยกับการเดินเกมทางการเมืองกับชาติมหาอำนาจ

“ชาติแปซิฟิกใต้เหล่านี้รู้วิธีการเล่นเกมรับความช่วยเหลือ เงินจากจีนจะถูกรับเอาไว้ แต่ชาติแปซิฟิกใต้จะไม่ถูกซื้อได้ง่ายๆ” โบห์น ซิโกล ระบุ

และว่า หากจีนต้องการจะเปลี่ยนใจชาติเหล่านี้ ไม่สามารถทำได้จากการเยือนเพียงครั้งเดียว