มันคือ ‘กฎหมู่’ | เหยี่ยวถลาลม

เหยี่ยวถลาลม

มันคือ ‘กฎหมู่’

การกล่าวหา “ชัชชาติ สุทธิพันธุ์” ซึ่งได้รับเลือกตั้งเป็น “ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร” ต่อ “กกต.” นั้นดูไปก็คล้ายกับว่า “ชอบธรรม” ที่คนซึ่งมีมุมมองแตกต่างจะตั้งข้อสงสัย ไถ่ถาม และต้องการความกระจ่าง

1. ร้องให้ กกต.เอาผิด “ชัชชาติ” ที่เลือกตั้งเสร็จสิ้นแล้วไม่เก็บป้ายหาเสียงย่านหนองจอก ภายใน 3 วัน

2. ร้องให้ กกต.เอาผิดที่ชัชชาติใช้ป้ายไวนิลหาเสียง ทำให้ใครต่อใครก็สามารถนำไปทำเป็นกระเป๋าสะพาย เป็นประโยชน์ใช้สอย เข้าข่าย “จัดทำให้” หรือ “เสนอให้” หรือสัญญาว่าจะให้ที่อาจคำนวณเป็นเงินได้หรือไม่

และ 3. คำพูดจาปราศรัยของชัชชาตินั้นดูถูกระบบราชการหรือไม่

นี่คือไทยแลนด์ในปี พ.ศ.2565

อาจารย์ประจักษ์ ก้องกีรติ ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไม่ทนจนต้องทวีตว่า ป้ายหาเสียงที่รีไซเคิลได้นี่ ถ้าเป็นที่ประเทศอื่น คณะกรรมการการเลือกตั้งคงออกมาชื่นชมไอเดียช่วยลดขยะรักษาสิ่งแวดล้อม เป็นการหาเสียงที่สร้างสรรค์ สะท้อนวิสัยทัศน์ยุค climate crisis ซึ่งคงจะไม่มีใครหาเรื่องไปฟ้องร้อง แต่ที่ประเทศไทย อนิจจา…

นึกเห็นภาพ “น้ำตาแห่งความปีติ” ของนายสุรพล เกียรติไชยากร อดีต ส.ส.เชียงใหม่ 8 สมัย ที่ศาลมีคำสั่งพิพากษาให้ “กกต.” จ่ายค่าเสียหายและเยียวยากว่า 70 ล้านบาท อันเนื่องมาจาก “กกต.” แจกใบส้ม จนต้องมีการเลือกตั้งใหม่ ทำให้ “สุรพล” คนที่ประชาชนเลือก หลุดจากเก้าอี้ “ส.ส.”

การใช้อำนาจชี้ขาดเป็นงานที่ยากจริงๆ

องค์กรหรือบุคคลที่มีอำนาจ “ชี้ขาด” ทุกด้านทุกระดับจำเป็นจะต้องมีความระมัดระวังอย่างมากเพื่อจะทำหน้าที่ด้วยความสัตย์ซื่อ กล้าหาญ และปราศจากอคติ ไม่ใช่ฝ่ายหนึ่ง กลุ่มหนึ่ง พวกหนึ่งทำอะไรก็ไม่มีความผิด ทรัพย์สินงอกออกมาก็ว่าเป็นของเพื่อน ทีคนอื่นแม้จะผิดพลาดเล็กน้อยบี้กันถึงคุกถึงตะราง

ไม่มีความยุติธรรม!

แต่ก็หลายพันปีมาแล้วที่มนุษย์พยายามค้นหา “ความยุติธรรม”

“อริสโตเติล” มนุษย์เจ้าปัญญาบอกว่า คนจะมีคุณธรรมหรือมีความยุติธรรมได้จะต้องฝึก

ต้องลงมือปฏิบัติ ทำซ้ำๆ จนติดเป็นนิสัย

ส่วนสังคมเมื่อพัฒนาขึ้นคนได้สร้าง “กฎหมาย” ขึ้นมาใช้แทน “กฎหมู่” จากนั้นก็สมมุติให้คุณธรรมหรือความยุติธรรมเป็น “หลักการ” สำหรับใช้ชี้วัดตัดสินกับกรณีที่เกิดขึ้น

ในบทบัญญัติของกฎหมายจึงมีสิ่งเรียกว่า “คุณธรรมกฎหมาย” ซ่อนอยู่

รัฐหรือเจ้าพนักงานของรัฐผู้มีอำนาจหน้าที่จะกล่าวโทษ เอาผิดกับใคร หรือจะลิดรอนสิทธิของใครสักคนก็จะต้องใช้หลักคุณธรรมหรือความยุติธรรมในการเพ่งพิสูจน์ จึงว่าไม่ทำตามอำเภอใจ ไม่ลุแก่อำนาจ หรือป่าเถื่อน

จุดประสงค์ “การมี” และ “การใช้” กฎหมายจริงๆ จึงมีไว้เพื่อการคุ้มครอง ไม่ใช่ทำร้าย!

จะไม่มีการใช้กฎหมายทำร้ายกันในสังคมที่เจริญแล้ว

ประชาชนจะไม่กังวลหรือหวาดระแวงว่า รัฐหรือเจ้าพนักงานของรัฐ หรือองค์กรกลางใดๆ จะใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือข่มเหงกลั่นแกลงรังแกทำให้สูญเสียอิสรภาพ

แต่ก็นั่นแหละ “รัฐ” หนึ่งก็เหมือน 1 ชีวิตของมนุษย์

ถ้าจะตีความตามความหมายของอริสโตเติล “รัฐ” จะเป็น “นิติรัฐ” หรือไม่ก็ต้องผ่านการฝึกฝน ลงมือปฏิบัติ และทำซ้ำๆ จนเกิดเป็นจารีตวัฒนธรรม ทั่วทั้งสังคมจึงจะมากไปด้วยคนที่เคารพ “กฎหมาย” ไม่ใช่เต็มไปด้วยพวกศรีธนญชัย หรือนักกฎหมายปลอมๆ อาจารย์กฎหมายเจ้าเล่ห์ หรือคนมีหน้าที่ “ชี้ขาด” ที่ขาดความเที่ยงธรรม คนกลางที่เอนเอียงเกื้อกูลส่งเสริมการใช้ “กฎหมาย” ทำร้ายคนเห็นต่างและทำลายคู่แข่งทางการเมือง

ที่จริงแล้ว “รัฐประหาร” คือกฎหมู่!

รัฐที่เป็นนิติรัฐมีกฎหมายมุ่งคุ้มครอง “ฝ่ายบริหาร” หรือรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน การเปลี่ยนถ่ายอำนาจทุกระบบทุกองค์กรในรัฐที่เป็น “นิติรัฐ” ก็ต้องเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ

ยกตัวอย่างว่า “ชัชชาติ” ได้รับเลือกตั้งจากคน กทม.ให้เป็น “ผู้ว่าฯ กทม.” แล้วต่อมาข้าราชการ กทม.ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือหลายฝ่ายรวมหัวกันสมคบคิดวางแผนใช้กำลังคนและอาวุธปืนเข้าแย่งชิงอำนาจจาก “ผู้ว่าฯ กทม.” โทษทัณฑ์จะเป็นอย่างไร

ความเป็น “นิติรัฐ” สะบั้นลงทันทีที่ข้าราชการจำนวนหยิบมือคบคิดวางแผนซ่องสุมกำลัง และออกคำสั่ง เคลื่อนกำลังพล กำลังอาวุธเข้าก่อ “รัฐประหาร” แย่งชิงอำนาจบริหาร

รัฐประหาร คือกฎหมู่!

รัฐประหารผิดกฎหมาย การก่อรัฐประหารมีโทษร้ายแรงถึงขั้นจำคุกตลอดชีวิตหรือประหารชีวิต แต่ในประเทศที่ “อุปนิสัยเคารพกฎหมาย” ยังไม่ลงรากฝังลึก ย่อมมีการประทุษร้าย ทำอันตรายต่อร่างกาย ชีวิต สิทธิ เสรีภาพ ทรัพย์สิน และผู้คนก็มักจะ “จำนน”

เสียงจะเงียบลงเมื่อเห็น “ปากกระบอกปืน”!

อุปนิสัยอำนาจจึงครอบงำ

คุณธรรม หรือความยุติธรรม เป็นเพียงอุดมคติหรือคำหรูมีเอาไว้อวดอ้างเท่านั้น นักกฎหมายมากมายเพ่นพ่าน ไม่เข้าใจ ไม่รู้ความยุติธรรม

ในสังคมแบบนี้ถึงกฎหมายจะบัญญัติเอาไว้ชัดเจนแน่นอนอย่างไร กำหนดโทษรุนแรงผู้คน “ฝ่ายหนึ่ง” ก็ไม่เกรงขาม

ยังมีคนที่เชื่อในกฎหมู่ ใช้พวกใช้ปืนเข้าก่อการแล้วสถาปนาอำนาจ จากนั้นจึงใช้กฎหมู่แต่งตั้งพวกพ้องบริวารเข้าแก้ไขกติกา เขียนกฎหมายใหม่ ปรับเปลี่ยนดัดแปลงหลักการที่เกื้อกูลแก่ “หมู่คณะ” ผู้ก่อการ

และภายใต้คณะผู้มีอำนาจที่มาจากการใช้ “กฎหมู่” นั้น “กฎหมาย” ก็จะกลายเป็นเพียง “เครื่องมือ” ชิ้นหนึ่งเท่านั้นที่ถูกใช้ไปเพื่อประโยชน์ของกลุ่มบุคคลที่ก่อการ

เมื่อการบังคับใช้กฎหมายเลือกปฏิบัติ มีเจตนาไม่สุจริต ก็เป็นการทำลายคุณธรรมของกฎหมาย ทำลายความยุติธรรม ป่วยการที่จะคุยโตโออ้วดว่าเป็นรัฐที่ปกครองด้วยกฎหมาย!?!!!