ผ่าน!?! ให้มั่นใจ ‘ป้อม’/บทความในประเทศ

บทความในประเทศ

 

ผ่าน!?!

ให้มั่นใจ ‘ป้อม’

 

การที่คณะรัฐมนตรีปรบมือแสดงความยินดีเสียงดังกึกก้อง

หลัง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ประกาศในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ด้วยน้ำเสียงมั่นใจ

“ขอให้มั่นใจว่าเราต้องอยู่ มั่นใจครับว่างบฯ ต้องผ่าน ครม.ต้องอยู่ต่อไป ผมมั่นใจว่าเราเป็น ครม.ต่อไปจนถึงอภิปรายไม่ไว้วางใจ และจะผ่านไปได้ เป้าหมายคือทำงานหลักให้ประเทศจนครบอายุรัฐบาล”

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งนั่งเป็นประธานที่ประชุม ถึงขนาดกล่าวขึ้นว่า “สมพรปากก็แล้วกัน”

สะท้อนให้เห็นว่า คณะรัฐมนตรีให้น้ำหนักกับคำพูดและจุดยืนของ พล.อ.ประวิตร มากเพียงใด

ด้วยต่างทราบดีว่า พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 วงเงิน 3.18 ล้านล้านบาท จะผ่านหรือไม่ผ่าน

บทบาทสำคัญอยู่ที่ พล.อ.ประวิตร

หากไม่ผ่าน แน่นอน รัฐบาลย่อมอยู่ไม่ได้ นายกฯ ไม่ลาออก ก็ต้องยุบสภา

 

อย่างที่ทราบกัน ขณะนี้เสียงที่จะชี้ชะตารัฐบาล คือเสียงจากพรรคเศรษฐกิจไทย นำโดย ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า และกลุ่มพรรคเล็กในนามกลุ่ม 16

ซึ่งก็เป็นไปตามที่นายประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.นครราชสีมา และเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ประเมินว่า พรรคฝ่ายค้านซึ่งมีมติจะไม่รับหลักการร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ มี ส.ส.อยู่ 206 เสียง ส่วนฝ่ายรัฐบาลมีอยู่ 230 กว่าๆ ไม่เกิน 240 เสียง

มีเสียงต่างกันอยู่ 30 กว่าเสียง

จึงต้องจับตากลุ่มสะวิงโหวตคือ พรรคเศรษฐกิจไทยและพรรคเล็กต่างๆ จะลงมติไปทางใด

กลุ่มนี้ถ้าเทคะแนนไปให้ฝ่ายใด ฝ่ายนั้นก็มีสิทธิชนะ

นี่จึงเป็นคำตอบว่าไฉน ร.อ.ธรรมนัสและกลุ่มพรรคเล็กจึงมีความหมาย

ก่อนหน้านี้ ร.อ.ธรรมนัสได้ส่งสัญญาณเตือนไปยังรัฐบาลและพรรคพลังประชารัฐ ว่าเสียงของพรรคเศรษฐกิจไทยมีทั้งหมด 18 เสียง เป็น ส.ส.อยู่ในสภา 16 เสียง ถือเป็นเสียงที่มีความสำคัญ และไม่ได้มีเพียงแค่ 16 เสียงเท่านั้น หากฟังนายพิเชษฐ สถิรชวาล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะหัวหน้ากลุ่ม 16 ให้สัมภาษณ์ก็จะทราบว่า พวกตนมีเสียงจากที่อื่นอีกเยอะ ดังนั้น รัฐมนตรีแต่ละคน หลายคนก็ทำคุณงามความดีให้กับประเทศชาติบ้านเมืองเยอะ พึงระวังตัวด้วย ยืนยันว่าผมมี

เมื่อถูกผู้สื่อข่าวซักว่ามีเสียงรวมกันแล้วถึง 40 เสียงหรือไม่ ร.อ.ธรรมนัสไม่ปฏิเสธ และย้ำว่า “อย่าลืมว่าผมมีพี่น้องเยอะที่นั่งอยู่ฝ่ายรัฐบาล ส่วนฝ่ายค้านนั้นไม่ต้องพูดถึง”

คำพูดของ ร.อ.ธรรมนัส ที่แฝงด้วยนัยข่มขู่อยู่ตามสมควรดังกล่าว

ทำให้ฝ่ายรัฐบาลคงไม่อาจประมาทได้

ยิ่งเมื่อเกิดปรากฏการณ์ฝ่าย ร.อ.ธรรมนัส “หักดิบ” เอาหัวหน้าพรรคคือ พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา ซึ่งถือเป็นข้อโซ่กลางระหว่าง พล.อ.ประวิตร กับ ร.อ.ธรรมนัส ออกไป

ยิ่งทำให้ระยะห่างของพรรคเศรษฐกิจไทยกับรัฐบาลยิ่งมีมากขึ้น

และถูกตีความว่านี่เป็นสัญลักษณ์ของการ “แตกหัก” ระหว่าง ร.อ.ธรรมนัส กับ พล.อ.ประยุทธ์ หรือไม่

ประกอบกับพรรคเพื่อไทยเดินเกมดึงเอาพรรคเล็กและพรรคของ ร.อ.ธรรมนัสมาเป็นพวก โดยนัดรับประทานอาหารหลายครั้ง และพยายามที่จะดึงเอา ร.อ.ธรรมนัสมาร่วม แต่ ร.อ.ธรรมนัสสงวนท่าที หลังจากที่ พล.อ.ประวิตรต้องออกแรงออกมาชี้แจงว่า จะไม่มีการรับประทานอาหารดังกล่าว และยืนยันว่าเศรษฐกิจไทยยังคงสนับสนุนรัฐบาล

ทำให้ ร.อ.ธรรมนัสอ้างเหตุมีภารกิจเดินทางไปสิงคโปร์ จึงไปร่วมรับประทานอาหารกับพรรคเพื่อไทยที่นัดหมายไว้เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคมไม่ได้

ถือเป็นการประคองความสัมพันธ์กับ พล.อ.ประวิตรเอาไว้

แต่กระนั้น ภาวะความไม่แน่นอน หรือ “สะวิงโหวต” อาจจะเกิดขึ้นกับพรรคเศรษฐกิจไทยและกลุ่ม 16 ได้ตลอดเวลา

จึงทำให้ฝั่งฟากรัฐบาลตื่นตัวและหาทางรับมือ โดยไม่ประมาท

 

แน่นอน ผู้ที่ถูกมองว่าจะมีส่วนสำคัญที่ทำให้ความหวั่นวิตกลดลง คงไม่พ้นคนที่ชื่อ พล.อ.ประวิตรไปได้

แต่กระนั้น ด้วยสัมพันธ์อันไม่ปกติระหว่าง 2 ป. คือ พล.อ.ประยุทธ์ กับ พล.อ.ประวิตร ที่ถูกมองว่า สถานการณ์ทำให้แต่ละฝ่ายอยู่ในภาวะสร้างดาวคนละดวง

พล.อ.ประวิตร มิได้อยู่ในสถานะเสาค้ำยันให้ พล.อ.ประยุทธ์ เหมือนเช่นเดิม

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ก็จำเป็นที่จะต้องมีฐานทางการเมืองของตนเอง จะยืมจมูกคนอื่นหายใจตลอดไปไม่ได้

ความโน้มเอียงของสถานการณ์เช่นนี้ ทำให้ 2 ป.ถูกมองว่ามีความสัมพันธ์ไม่เหมือนเดิม

และยิ่งจะ “อุ้ม” กันต่อไป ก็อาจเกิดสภาพเตี้ยอุ้มค่อม เพราะเรตติ้งทางการเมืองตกต่ำลงอย่างมาก โดยเฉพาะหลังทราบผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.และ ส.ก. ที่ฝั่งฟากรัฐบาลตกต่ำ และตัวผู้นำไม่สามารถเป็นจุดขายได้อีก

นี่จึงทำให้ 2 ป.ถูกมองว่า จะแยกกันเดินหรือไม่

 

แนวโน้มเช่นนี้เอง ทำให้แม้แต่คนในฝั่งฟากรัฐบาล เกิดคำถามว่าพี่ป้อมยังเต็มร้อยกับน้องประยุทธ์เช่นเดิมหรือไม่

เพราะในอีกด้านหนึ่ง แม้ ร.อ.ธรรมนัสดูจะมีปัญหากับผู้นำรัฐบาลอย่าง พล.อ.ประยุทธ์อย่างมาก และไม่อยู่ในเป้าหมายที่จะผลักดันให้เป็นผู้นำต่อไป

แต่กับ พล.อ.ประวิตรแล้วยังมีไมตรีต่อกัน ส่วน ร.อ.ธรรมนัสก็ยืนยันว่ายังให้ความเคารพนับถือ และพร้อมให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่

จึงถือว่า มีเยื่อใยทางการเมืองต่อกันอย่างลึกซึ้ง แม้ในตอนนี้จะมีปัญหาแตกหักกับ พล.อ.วิชญ์ ซึ่งเป็นคนของ พล.อ.ประวิตร แต่จำกัดวงไว้แค่นั้น ไม่ลามไปกระทบความสัมพันธ์กับ พล.อ.ประวิตร

นอกจากไม่ลามไปถึงแล้ว ร.อ.ธรรมนัสยังดูจะฟัง พล.อ.ประวิตรอยู่ไม่น้อย

เช่น พล.อ.ประวิตรบอกว่า ร.อ.ธรรมนัสคงไม่ไปรับประทานอาหารกับฝ่ายค้าน ปรากฏว่า ร.อ.ธรรมนัสก็มีเหตุติดธุระไม่ได้ไปตามนัดหมาย

ขณะเดียวกันแม้จะมีเหตุกระทบกระทั่งกับคนในพรรคพลังประชารัฐ และรัฐมนตรี จนต้องมาประกาศว่า ตัวเองกุมเสียงอยู่ถึง 40 คน พร้อมที่จะนำไปสู่การเป็นปัญหาทางการเมืองได้ ก็เป็นคนในพรรคหรือคณะรัฐมนตรีที่เป็นฝั่งฟากของ พล.อ.ประยุทธ์เสียมากกว่า

มิได้กระทบไปถึง พล.อ.ประวิตร

 

นี่เอง ทำให้เมื่อวาระชี้เป็นชี้ตายทางการเมืองมาถึง ไม่ว่าการที่ พ.ร.บ.งบประมาณ 2566 จะเข้าสภา รวมถึงจะมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ จึงทำให้มีการจับตามองว่า พล.อ.ประวิตรจะวางท่าทีอย่างไร

จะวางเฉย หรือเข้าไปช่วยคลี่คลายปัญหา ประคับประคองรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ต่อไป

ท่ามกลางการจับตาดังกล่าว ในวันประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อ 30 พฤษภาคม พล.อ.ประวิตรได้ประกาศต่อหน้าผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบ ถึงร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 ว่าต้อง “ผ่าน”

ขณะเดียวกัน พล.อ.ประวิตรยังไปเรียกเสียงปรบมือกึกก้องจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อยืนยันว่า งบฯ ต้องผ่าน การอภิปรายไม่ไว้วางใจก็จะสามารถผ่านไปได้ และจะทำงานให้ประเทศจนครบอายุรัฐบาล

ถือเป็นการให้คำมั่นสัญญาว่า จะยืนหยัดกับรัฐบาลต่อไป นำไปสู่การปรบมือแสดงความยินดีของ ครม.ดังกล่าว

ไม่เพียงเท่านั้น พล.อ.ประวิตรยังได้หารือกับหัวหน้าพรรคขนาดเล็ก รวมถึง ส.ส.พรรคเศรษฐกิจไทย เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับร่าง พ.ร.บ.งบประมาณด้วย

ทำให้ ร.อ.ธรรมนัสมีท่าที “ยืดหยุ่น” ไม่มีแนวโน้มที่จะแตกหัก

โดยระบุว่า พรรคเศรษฐกิจไทยยึดประชาชนเป็นที่ตั้ง โดยยืนยันแนวความคิดเดิมว่างบประมาณส่วนใดทำให้เกิดประโยชน์กับประชาชนและเป็นประโยชน์กับบ้านเมืองก็ยินดีสนับสนุน แต่ถ้างบประมาณส่วนใดเมื่อนำมาพิจารณาในชั้นของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญแล้วไม่เกิดประโยชน์กับประชาชนและบ้านเมือง เราจำเป็นต้องมานั่งคุยกัน

ไม่มีคำว่า “ล้ม” กฎหมายสำคัญออกมาจากปาก

 

นี่จึงเสมือนเป็นการฟังและพร้อมจะเดินตามการชี้นำของ พล.อ.ประวิตร ที่กลับมาเล่นบท “ผู้จัดการ” รัฐบาลโดยตรง

คำยืนยันของ พล.อ.ประวิตร จึงหนักแน่น มั่นคง และมากด้วย “บารมี”

บารมีในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เป็นบารมีที่แผ่คลุมไปถึง ร.อ.ธรรมนัส และ ส.ส. “กลุ่ม 16”

อนาคตของรัฐบาลตอนนี้ จึงขึ้นกับ พล.อ.ประวิตร และย่อมให้ความมั่นใจกับ พล.อ.ประยุทธ์ มากตามสมควร ซึ่งต้องจับตาดูว่าจะต่อเนื่องไปถึงศึกซักฟอก และลากยาวไปถึงรัฐบาลจะครบวาระได้หรือไม่

แต่กระนั้น การเมืองในห้วงสุดท้าย ย่อมมากด้วยความแปรผัน และมีการต่อรองผลประโยชน์เพื่อปูทางไปสู่การเลือกตั้งครั้งหน้าอย่างเข้มข้น

จะรอมชอม ประนีประนอม ได้ยืนยาวขนาดไหน จะต้องติดตามโดยใกล้ชิด

วันนี้ ดูเหมือน พล.อ.ประวิตรจะให้ความมั่นใจได้เป็นอย่างดี

แต่ในอีกไม่กี่พริบตา สถานการณ์ก็อาจแปรเปลี่ยน จนทำให้คำมั่นของ พล.อ.ประวิตร อาจไร้ความหมายก็ได้!