กำลังทางการเมืองแต่ละพรรค…หลังศึก กทม./หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว มุกดา สุวรรณชาติ

มุกดา สุวรรณชาติ

หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว

มุกดา สุวรรณชาติ

 

กำลังทางการเมืองแต่ละพรรค…หลังศึก กทม.

 

ฉบับที่แล้ววิเคราะห์ว่ายังมีการแบ่งฝ่ายอยู่ แต่ทุกฝ่ายเลือกคน แล้วแต่จะชอบใคร ส่วนใหญ่คิดว่าชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ได้รับคะแนนอย่างท่วมท้น 1.38 ล้านมาจากทุกกลุ่มแม้กระทั่งกลุ่มอนุรักษนิยมก็ได้มาไม่น้อย

มีผู้ยกตัวอย่างคะแนนที่เลือก ส.ก. เมื่อเทียบกับคะแนนที่เลือกผู้ว่าฯ และอนุมานว่าคะแนนที่แตกต่างกันนั้น เลือกชัชชาติ กรณีนี้สามารถใช้ได้เฉพาะพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย แต่คะแนนฝ่ายอนุรักษนิยมลงให้ชัชชาติไม่มากนัก

ลองวิเคราะห์คะแนน และกำลังทางการเมืองของฝ่ายอนุรักษนิยมและขวาจัด

 

ประชาธิปัตย์…ครั้งหน้า

โอกาสมาแต่จะไม่มีปัญญาคว้าไว้

ปัจจุบันพลังประชารัฐใน กทม.ไม่มีใครอยากเลือก แต่ ปชป.ก็เละไปด้วย

ในการเลือกตั้งปี 2562 ปชป.มีฐานเสียงเหลืออยู่ประมาณ 470,000 แต่ครั้งนี้คะแนนเลือกตั้ง ส.ก.เพียงแค่ 348, 852 และเลือกผู้ว่าฯ 254,647

คะแนนของ ส.ก.ที่เกินผู้ว่าฯ คือ 94,205 ทำไมไม่เลือกผู้ว่าฯ จาก ปชป. เอาไปให้ใคร

ดูคะแนนแล้ว สรุปว่าตกต่ำกว่าเดิม แต่การได้ ส.ก. 9 เขต อาจจะทำให้พอฟื้นไปแย่งชิง ส.ส.ในกรุงเทพฯ ได้บ้าง แต่ไม่ได้หมายความว่าจะชนะได้ ส.ส. 9 คน ถ้าส่วนใหญ่ทำคะแนนได้แค่ที่ 2 อาจจะได้ ส.ส.เพียงไม่กี่คน

สิ่งที่ประชาธิปัตย์จะต้องกังวลก็คือจะมีพรรคเกิดใหม่ขึ้นมาแทนเป็นที่ชื่นชอบของกลุ่มอนุรักษนิยม เพราะเมื่อพลังประชารัฐตกต่ำ เสียงฝ่ายอนุรักษนิยมย่อมหาที่ลงคะแนนใหม่ เช่น พรรคกล้า

 

พลังประชารัฐ

จะหายลับจากรุงเทพฯ

การนำในกรุงเทพฯ น่าจะจบลงแล้วแม้คะแนนที่มาเลือก ส.ก.ของพรรคพลังประชารัฐมีจำนวนถึง 274,970 คะแนน แต่ได้ ส.ก.แค่ 2 คน นี่คือคะแนนที่ไปหล่อเลี้ยงผู้ว่าฯ ในสายอนุรักษนิยม เพราะพรรคพลังประชารัฐก็ไม่ได้ส่งผู้สมัครผู้ว่าฯ

ในการเลือกตั้งใหญ่ครั้งหน้า ไม่มีทางได้ ส.ส.มากกว่าประชาธิปัตย์ ถ้าลงทุนลุยสู้ก็ทำได้ คิดว่ายังมีคะแนนทุกเขต แต่ไม่ชนะ

ในต่างจังหวัดยังสามารถเดินหน้าต่อไป จะได้มากน้อยก็ขึ้นอยู่กับว่าพรรคแตกกันไปมากขนาดไหน

การยุบพรรคและเปิดใหม่ น่าจะง่ายกว่า เพราะจะหาเสียงกับของเก่าก็ไม่ได้ มีแต่เรื่องเสีย นโยบายที่ประกาศไว้ก็ไม่เคยปฏิบัติ

ดูนายกฯ ซึ่งเป็นเหมือนตัวแทนของพรรคก็ไม่มีผลงานที่จะมาใช้โฆษณาได้

 

3 พรรคกล้า มีโอกาสเกิด

แม้ไม่ได้ส่งผู้ว่าฯ แต่มีข่าวว่าหนุนสกลธี ภัททิยกุล

คะแนนของ ส.ก.พรรคกล้าคือ 53,332 พรรคกล้าส่งไม่กี่เขตได้คะแนนเท่านี้ เทียบสัดส่วนแล้วพอๆ กับพรรคไทยสร้างไทย การลงการเมืองใหญ่คงไม่ง่าย แต่โอกาสเปิดแล้ว เพราะฝ่ายขวาส่วนหนึ่งไม่อยากเลือก ทั้ง ปชป. และพลังประชารัฐ ช่องว่างนี้แม้ไม่ได้ ส.ส.เขต แต่จะได้คะแนนปาร์ตี้ลิสต์

รวมคะแนนส่วนเกินจากการเลือก ส.ก.ของ 3 พรรคอนุรักษนิยมคือ พรรคประชาธิปัตย์ 94,205 จากพลังประชารัฐ 27,4970 และจากพรรคกล้า 53,332 ได้เท่ากับ 422,507

คะแนนจำนวนนี้ส่วนใหญ่ไปไหน?

1. ไปที่อัศวิน 22,770 เพราะคะแนน ส.ก.รักษ์กรุงเทพได้แค่ 1.9 แสน

2. ไหลไปให้กับสกลธี จาก กปปส. 230,455

3. ส่งมาให้รสนา สมัครอิสระ แต่กลุ่มพัธมิตรเสื้อเหลืองหนุน 78,993

ยังเหลือคะแนนอีก 90,289 คะแนนส่วนนี้ไปไหน?

อาจจะถูกกาทิ้ง บางส่วน (จำนวนผู้กาบัตรไม่เลือกผู้ว่าฯ คนไหนเลยจากทุกฝ่ายมีถึง 72,227) เพราะไม่พอใจผู้ว่าฯ ของฝ่ายตนและก็ไม่ลงคะแนนให้ใคร

คะแนนที่เหลือน่าจะกระจายไปหลายคนรวมทั้งชัชชาติ (เพราะมีผู้สมัครอิสระอีก 23 คน มีคะแนนรวมกันประมาณ 74,000)

 

กำลังทางการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย

พรรคเพื่อไทย ยังไม่แลนด์สไลด์

เพราะได้ ส.ก.ไม่ถึงครึ่ง

มีผู้เลือก ส.ก. 620,000 อนุโลมว่าคนกลุ่มนี้ก็เลือกผู้ว่าชัชชาติด้วยเพราะเพื่อไทยไม่ส่งผู้ว่าฯ

คราวนี้ได้ ส.ก. 20 คนมากที่สุด แต่ไม่ถึงครึ่ง แต่จะมีบทบาทในสภา กทม.และมีผลต่อการเลือก ส.ส. ในครั้งหน้า

ปัญหาคือต้องแข่งกับพรรคก้าวไกล การช่วงชิงคะแนนในฝ่ายประชาธิปไตย อาจมีความต่างกันตรงที่มวลชนที่เป็นซ้ายมากหน่อยหนุนก้าวไกล ถ้ากลางซ้ายหนุนเพื่อไทย

ดังนั้น คุณสมบัติของผู้สมัคร ส.ส. จะชี้ขาดคะแนนครั้งหน้า ยังมีโอกาสได้แชมป์ กทม.

 

พรรคก้าวไกล ยังโตต่อได้

มีคะแนนเลือกตั้ง ส.ก. 485,830 แต่เลือกวิโรจน์เพียง 253,851 ตีความว่าเสียงที่หายไป 231,183 ไปเลือกชัชชาติ เพราะกลัวชัชชาติจะแพ้ แต่คงกลับมาที่ก้าวไกลเหมือนเดิมในการเลือกตั้งใหญ่

การได้ ส.ก. 15 คน ถือเป็นเรื่องเสมอตัว ถ้านับจากการที่มี ส.ส.ใน กทม.ถึง 9 คน ถ้าดูจากคะแนน ส.ก.แล้ว 480,000 น้อยไปหน่อยจะกระทบกระเทือนกับการแข่งขันการเลือกตั้ง ส.ส.

การตัดคะแนนกันกับเพื่อไทย อาจจะทำให้ทั้ง 2 พรรคแพ้ผู้สมัคร ส.ส.จาก ปชป.ในบางเขต

 

พรรคไทยสร้างไทย

คะแนนเลือกตั้ง ส.ก. 241,975 แต่เลือกผู้ว่าฯ ศิธา ทิวารี เพียง 73,720 ตีความว่าคะแนนที่เหลือ 168,255 ไปเลือกชัชชาติเพราะฐานคะแนนของไทยสร้างไทยก็มาจากเพื่อไทยเช่นเดียวกัน

แต่ผลการเลือกตั้งกระทบการเกิดใหม่ของพรรคไทยสร้างไทย

สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ทุ่มเต็มที่เพื่อจะหา ส.ก.ให้ได้จำนวนหนึ่ง ดูจากคะแนนที่ได้เกิน 2.4 แสน ก็ถือว่าใช้ได้แม้จะได้เพียงแค่สองคน

แต่ถ้านึกถึงการเลือกตั้งครั้งหน้าที่เป็นการเลือก ส.ส. โอกาสจะได้ ส.ส.แม้เพียงคนเดียวก็ยาก เกิน 2 คนยิ่งยากมาก

การหาเสียงไปทั่วทั้ง กทม. ต่อให้ได้คะแนน ส.ส.รวมกัน 3-4 แสนก็ไม่ใช่ว่าจะได้ ส.ส.หลายคนเพราะอาจจะได้ที่ 2 ที่ 3 เกือบทุกเขต

การเปิดตัวโดยผ่านการเลือกผู้ว่าฯ และ ส.ก.ใน กทม. ที่จริงก็ถือว่าเป็นจุดแข็งของสุดารัตน์อยู่แล้ว แต่คะแนนผู้ว่าฯ ที่ได้เพียง 73,000 แพ้แม้กระทั่งรสนา ทำให้ภาพของไทยสร้างไทยไม่โดดเด่น ถ้ายืนยันจะลุยต่อไปในแบบการเลือกตั้งบัตร 2 ใบ ก็คงทำได้ แต่จะได้ ส.ส.น้อยมาก จะคุ้มที่ลงทุนลงแรงและระดมคนมาร่วมหรือไม่ คนจํานวนหนึ่งจะเสียโอกาสไปหรือไม่ เดือนหน้าจะมีใครถอนตัว

ทั้ง 3 พรรคคะแนนรวมกันประมาณ 1.347 ล้าน ใกล้เคียงคะแนนเลือก ส.ส. 2562 เมื่อแบ่งให้วิโรจน์และศิธาแล้ว ถือว่าชัชชาติได้คะแนนจากการเทคะแนนของมวลชนประชาธิปไตย ประมาณ 1,020,000

 

คะแนนซึ่งที่มาทางการเมืองไม่ชัดเจน กว่า 400,000

ทุกพรรคมีโอกาสช่วงชิง

1.คะแนนที่ลงให้ผู้สมัคร ส.ก.อิสระและพรรคเล็กอื่นๆ ประมาณ 104,000 กลุ่มนี้ไม่ส่งผู้ว่าฯ

2. มาจากกลุ่มคนที่ลงคะแนนผู้ว่าฯ อย่างเดียว แต่ไม่มีสิทธิ์ลงคะแนน ส.ก. 38,000 คน

เพราะผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งลงคะแนนผู้ว่าฯ มี 2.673 ล้าน แต่ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง ส.ก.มีเพียง 2.635 ล้าน เนื่องจากกฎหมายกำหนดระยะเวลาที่ต้องอยู่ในเขตปกครอง แสดงว่ามีผู้ที่มีสิทธิ์เลือกผู้ว่าฯ อย่างเดียว มีมากถึง 38,000 ฐานตัวเลขนี้จึงไม่ปรากฏในการเลือกตั้ง ส.ก.ของฝ่ายใดเลย

3. พวกมีสิทธิ์ แต่กาช่องไม่เลือกผู้ใดเป็น ส.ก. มีถึง 200,493 คน ตีความได้ว่าคนกลุ่มนี้ตั้งใจเลือกผู้ว่าฯ เท่านั้น หรือมีความเป็นไปได้ว่าอาจจะจำเบอร์ ส.ก.ไม่ได้เพราะสับสนมาก หรือไม่พอใจตัวบุคคลก็เลยไม่เลือก เลือกแต่เฉพาะผู้ว่าฯ

เป็นผู้มีสิทธิ์ แต่ทำบัตร ส.ก.เสีย มีมากถึง 113,945 ส่วนบัตรเสียของผู้ว่าฯ มีเพียง 40,022

อาจจะจำเบอร์ ส.ก.ไม่ได้ หรือไม่พอใจตัวบุคคลก็เลยไม่เลือก แต่ใช้วิธีทำให้บัตรเสีย แล้วเลือกแต่เฉพาะผู้ว่าฯ 73,923

เมื่อรวมส่วนที่เลือกผู้ว่าฯ อย่างเดียว ได้ประมาณ 312,400 บวกกับคะแนนจากผู้เลือก ส.ก.อิสระและพรรคเล็ก 104,000 จะได้ประมาณ 416,400

4 แสนกว่าไม่มีใครรู้ว่ามาจากฝ่ายไหน แต่ยอมรับผู้ว่าฯ ชัชชาติ

เมื่อรวมคะแนนที่เหลือจากกลุ่มอนุรักษนิยม 90,289 จะได้ 506,600

คะแนนส่วนนี้กระจายไปลงให้ผู้ว่าฯ อีก 23 คนเพียง 74,000 คะแนน แสดงว่าชัชชาติสามารถดึงคะแนนส่วนนี้มาได้ประมาณ 366,000 เมื่อเอาคะแนนพรรคแนวร่วม 1,020,000 ไปรวม ก็จะกลายเป็น 1.386 ล้าน

ไม่มีใครตอบได้ว่าฝ่ายอนุรักษนิยมมาลงคะแนนให้ชัชชาติเท่าไร แต่คงอยู่ระหว่าง 1-3 แสน

การเลือกตั้งครั้งหน้าจะมีคนประมาณ 4-5 แสน เป็นตัวแปรกำลังทางการเมืองในเขต กทม.