การทูตป้องกันยุคใหม่ ของญี่ปุ่นต่ออาเซียน/โลกทรรศน์ อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

โลกทรรศน์

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

 

การทูตป้องกันยุคใหม่

ของญี่ปุ่นต่ออาเซียน

 

หากยังไม่ลืม ต้นพฤษภาคมนี่เอง นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น นายฟุมิโอะ คิชิดะ เดินทางเยือนอาเซียนครั้งที่สองหลังรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นายคิชิดะเยือนอินโดนีเซีย เวียดนาม ไทย แล้วเดินทางต่อไปเยือนอิตาลีและสหราชอาณาจักร

บนเส้นทางเยือนชาติอาเซียนและชาติยุโรปสำคัญดังกล่าว เป็นเส้นทางการทูตป้องกันหรือการทูตทางทหาร (Defense/Military Diplomacy) ของญี่ปุ่นในยุคใหม่ ภายใต้ภัยคุกคามจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน โดยญี่ปุ่นมีปฏิกิริยาต่อการรุกรานยูเครนของรัสเซียหลายด้าน ได้แก่ ประณามการรุกรานของรัสเซีย มีมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจที่เข้มงวด ให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม เศรษฐกิจ และที่สำคัญให้ความช่วยเหลือทางการทหารฯ

การทูตป้องกันของญี่ปุ่นนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ การทูตป้องกันของญี่ปุ่นดั้งเดิมเป็นเพียงใช้กองกำลังทหารเพื่อสันติ ไม่ใช้ความรุนแรง (non violence) และทำงานด้านมนุษยธรรม ช่วยเหลือด้านบรรเทาภัยพิบัติจากธรรมชาติ

การทูตป้องกันของญี่ปุ่นช่วงดังกล่าว อย่างมากก็ใช้กำลังทหาร อาวุธและยุทโธปกรณ์เพื่อสันติภาพ ในนามของกองกำลังรักษาสันติภาพในพื้นที่ความขัดแย้งต่างๆ หลายแห่งในโลก

กิจการต่างๆ แห่งการทูตป้องกันของญี่ปุ่นที่ผ่านมา อาจกล่าวได้ว่า เป็นกิจการต่างๆ เพื่อแสดงเป้าหมายด้านการทูตและการต่างประเทศของญี่ปุ่นในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ

พูดภาษาชาวบ้านคือ ญี่ปุ่นแสดงตนเป็น ชาติมหาอำนาจระดับโลก มานานแล้ว อันเป็นทั้งเกียรติภูมิและตอบสนองผลประโยชน์แห่งชาติ (National Interest) ของญี่ปุ่นไปพร้อมกันด้วย

อย่างไรก็ตาม สำหรับผม เมื่อรัสเซียรุกรานยูเครน ซึ่งแท้จริงแล้วคือ ภัยคุกคาม (threat) โลกและต่อญี่ปุ่นโดยตรง ผมยังไม่กล้าเรียกพัฒนาการนี้ว่า สงครามเย็นยุคใหม่ (New Cold War) เอาเป็นว่า โลกก้าวเข้าสู่ภัยคุกคามที่ยังไม่มีชื่อเรียกก็แล้วกัน

แต่การทูตป้องกันของญี่ปุ่นที่กำลังสำแดงในอาเซียนตอนนี้และคาดว่าจะเป็นแนวทางการทูตป้องกันของญี่ปุ่นในภูมิภาคในอนาคตด้วยนั้น เราควรทำความเข้าใจพัฒนาการอันสำคัญยิ่งของการทูตป้องกันของญี่ปุ่น เพราะพัฒนาการนี้จะก่อการเปลี่ยนแปลงอันสำคัญด้านการทหาร ความมั่นคงและยุทธศาสตร์ในภูมิภาคนี้ อันส่งผลถึงไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ไทม์ไลน์ การทูตป้องกันยุคใหม่ของญี่ปุ่น

ขอกล่าวโดยย่อเป็นเบื้องต้นก่อน ดังนี้

ปี 2015 ญี่ปุ่น-มาเลเซีย ลงนาม Japan-Malaysia Joint Statement on Strategic Partnership 25 พฤษภาคม1

ปี 2016 ญี่ปุ่น-ไทย มีการเจรจาโดยทางการญี่ปุ่นขายระบบเรดาร์ให้ไทย

ปี 2018 ญี่ปุ่นตกลงกับมาเลเซีย ขายอุปกรณ์ทางทหาร แลกเปลี่ยนทางเทคโนโลยีและการแลกเปลี่ยนในรูปแบบอื่นๆ ด้านความรู้และพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มาเลเซีย กันยายน 2018

ปี 2021 ญี่ปุ่น-อินโดนีเซีย ลงนามความร่วมมือด้านความมั่นคง ญี่ปุ่นขายเรือรบขนาดใหญ่กองกำลังป้องกันตนเอง (Japanese Self Defense Force Vessel-DOD Nobuo Kishi) แก่อินโดนีเซีย มีนาคม 2021

ญี่ปุ่นตกลงขายอุปกรณ์ป้องกันประเทศและเทคโนโลยี เนื่องจากมีกองกำลังติดอาวุธของจีนเข้ามาในบริเวณหมู่เกาะ นาทูน่า (Natuna Islands) อินโดนีเซีย

อินโดนีเซียมีโครงการร่วมกันและมีระบบการจัดซื้อ เรือรบขนาดกลาง Japan’s 30 FFM Mogami Class Frigate

อินโดนีเซียร่วมมือกับญี่ปุ่นใช้เครื่องบินประจัญบานแบบพลางตัว Latter’ s F-X stealth fighter

ปี 2021 ญี่ปุ่น-เวียดนาม ลงนามความร่วมมือด้านความมั่นคง การส่งออกอุปกรณ์ด้านการป้องกันประเทศของญี่ปุ่นให้แก่เวียดนาม 2 กันยายน 2021

ปี 2022 ผู้แทนด้านความมั่นคงฟิลิปปินส์และญี่ปุ่น ประชุม Two plus Two ที่โตเกียว ญี่ปุ่น เมษายน 2022

ปี 2022 พฤษภาคม 2022 ญี่ปุ่น-ไทย ลงนามความร่วมมือด้านความมั่นคง 2 ฉบับ3

1. ความตกลงว่าด้วยการมอบยุทโธปกรณ์และเทคโนโลยีป้องกันประเทศระหว่างรัฐบาลญี่ปุ่นกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย

2. ความตกลง A New Japan-Thailand Acquisition and Cross Servicing Agreement-ACSAs

อาจกล่าวได้ว่า ไทม์ไลน์การทูตป้องกันของญี่ปุ่นก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ ยุคใหม่ของภัยคุกคามต่อญี่ปุ่น เป็นภัยคุกคามด้านการทหาร ความมั่นคงและยุทธศาสตร์ต่อญี่ปุ่น และต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ค่อยๆ ทวีความรุนแรงด้านการทหารและยุทธศาสตร์

นับจากปี 2015 Japan-Malaysia Joint Statement on Strategic Partnership อันเป็นความตกลงระหว่างนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ชินโซะ อาเบะ (Shinzo Abe) กับนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย นาจิบ ราซัก (Najib Razak) แม้เป็นความตกลงหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ (Strategic partnership) ที่ครอบคลุมหลายด้านทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง สิ่งแวดล้อมประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็ตาม

แต่หากพิจารณารายละเอียดความตกลงในข้อ I. Cooperation for Peace and Stability แม้กล่าวถึงหลักการกว้างๆ ด้านความร่วมมือของทั้งสองประเทศเพื่อให้เกิดสันติภาพ (peace) และเสถียรภาพ (stability) โดยรวม (ข้อ 8 ของข้อตกลงนี้)

แต่เมื่อพิจารณาข้อ 9 มีการระบุว่า ผู้นำทั้งสองประเทศยินดีให้มีการพัฒนาในด้านการป้องกันหรือ Defense …มีการยืนยันกระชับความร่วมมือทวิภาคีด้านการป้องกันและแลกเปลี่ยนเจ้าหน้าที่ด้านความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม การกอบกู้เหตุการณ์จากพิบัติภัย มีการริเริ่มใหม่ของความร่วมมือ ผู้นำทั้งสองตัดสินใจเริ่มเจรจากรอบความร่วมมือการแลกเปลี่ยนอุปกรณ์ป้องกันประเทศและเทคโนโลยี

นอกจากนี้ ความตกลงญี่ปุ่น-มาเลเซีย ในข้อ II. Achieving Free, Open and Stable sea ยังมีการเน้นความปลอดภัยและความมั่นคงเขตมหาสมุทร โดยเฉพาะ Sea Lanes of Communication-SLOC ในช่องแคบมะละกา (Malaca) และทะเลจีนใต้

นี่สำคัญมาก เอกสารดูเหมือนกล่าวเป็นหลักการ แต่มีการระบุเขตและพื้นที่ที่ทั้งญี่ปุ่นและมาเลเซียให้เป็นจุดยุทธศาสตร์ทางทหารอันเกี่ยวพันกับด้านเศรษฐกิจด้วยคือ ช่องแคบมะละกาและทะเลจีนใต้

อย่างไรก็ตาม ปีต่อมา จุดเริ่มต้นของจุดเปลี่ยนด้านการทูตป้องกันของญี่ปุ่นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็หาใช่การทูตป้องกัน ในยุคสิ้นสุดสงครามเย็นใหม่คือ ช่วงต้นทศวรรษ 1990 ซึ่งการทูตป้องกันที่ใช้กันในประเทศในยุโรปและเอเชียตะวันออกคือ ในคาบสมุทรเกาหลีเป็นส่วนใหญ่ ที่เน้นการใช้กองกำลังทหารและอาวุธยุทโธปกรณ์และเทคโนโลยีด้านการทหาร เพื่อสันติ เพื่อป้องกันพิบัติภัยจากธรรมชาติและด้านมนุษยธรรม

มาเป็นการทูตป้องกันเชิงการเมือง การทหารและยุทธศาสตร์ อันเริ่มตั้งแต่ต้นทศวรรษ 2000 เป็นต้นมา

 

การทูตป้องกันยุคใหม่ของญี่ปุ่น

น่าสนใจมาก ปี 2016 หลังการทำความตกลงญี่ปุ่น-มาเลเซียดังที่กล่าวแล้ว การทูตป้องกันญี่ปุ่นเชิงการทหารก็เริ่มต้นที่ไทยเป็นแห่งแรก ด้วยการขายระบบเรดาร์เพื่อป้องกันประเทศให้แก่ทางการไทย หลังจากนั้นญี่ปุ่นก็ขายอาวุธและอุปกรณ์ทางทหารให้แก่มาเลเซีย เวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ตามลำดับ มีทั้งเรือรบขนาดใหญ่ เรือรบขนาดกลาง เครื่องบินเจ๊ตต่อสู้

จุดเปลี่ยนการทูตป้องกัน ที่เน้นการขายอาวุธและเทคโนโลยีของญี่ปุ่นแก่ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถูกกระตุ้นด้วย ภัยคุกคามจากเกาหลีเหนือ ที่ทำการยิงจรวดขีปนาวุธเพิ่มมากขึ้น การเพิ่มทั้งกำลังทหาร ศักยภาพในการรบ การพัฒนาอาวุธอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการขยายอิทธิพลทางการเมืองและการทหารของจีนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งอิทธิพลจีนในมหาสมุทรแปซิฟิก

แต่ที่แน่ๆ การรุกรานยูเครนได้เร่งรัด4 การทูตป้องกัน อันหมายถึง การขายอาวุธ การขายเทคโนโลยีด้านการป้องกันประเทศ การซ้อมรบร่วมกัน การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวกรอง การพัฒนาอาวุธ

สำหรับการทูตป้องกันญี่ปุ่น การลงทุนอุตสาหกรรมทางทหารในประเทศพันธมิตรเป็นสิ่งที่เป็นไปแล้ว รวมทั้งในไทย

1 Japan-Malaysia Joint Statement on Strategic Partner, Ministry of Foreign Affairs, Malaysia

2 ในความตกลงนี้มีการฝึกร่วมและการเยือนแลกเปลี่ยนกัน (joint exercise and reciprocal visit)

3 อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ “จากโตเกียวถึงกรุงเทพฯ” มติชนสุดสัปดาห์ 27 พฤษภาคม-2 มิถุนายน 2565 : 88.

4 “Kishida wants to boost defense spending, but how to fund it remains a question” The Japan Times, 26 May 2022, : 1.