รามเกียรติ์ไทย เพื่อความจงรักภักดี | สุจิตต์ วงษ์เทศ

รามเกียรติ์ไทยแต่งขึ้นมาเพื่อสรรเสริญและจงรักภักดีพระเจ้าแผ่นดิน ดังนี้

(1.) สรรเสริญพระเกียรติพระเจ้าแผ่นดินเป็นพระมหากษัตริย์ที่สืบวงศ์เทวราชดุจอวตารเป็นพระรามลงมาปราบยุคเข็ญ แล้วสร้างความร่มเย็นเป็นสุขแก่ฝูงอาณาประชาราษฎร และ

(2.) ขณะเดียวกันก็ใช้ครอบงำและกล่อมเกลาเจ้านายเชื้อพระวงศ์กับขุนนางข้าราชการพร้อมด้วยทหาร ตลอดจนไพร่บ้านพลเมืองให้มีความซื่อตรงจงรักภักดี

การครอบงำและกล่อมเกลาเรื่องรามเกียรติ์ ทำโดยผ่านเรื่องเล่า, บทพากย์, บทละคร, ภาพสลัก, ภาพเขียน เป็นต้น

เรื่องเล่า รามเกียรติ์ถูกถ่ายทอดเก่าสุดจากรามายณะสู่ท้องถิ่นอุษาคเนย์ แล้วถูกเล่าซ้ำอย่างต่อเนื่องถึงสมัยหลังจนปัจจุบัน

บทพากย์ สำนวนเก่าสุดพบในการละเล่นหนังใหญ่ แต่ไม่พบต้นฉบับตัวเขียนบนสมุดข่อย หลังจากนั้นใช้งานเล่นโขน

หนังใหญ่เป็นการละเล่นของราชสำนัก พบหลักฐานเก่าสุดในกฎมณเฑียรบาล ตราครั้งแรกสมัยอยุธยาตอนต้น แผ่นดินพระบรมไตรโลกนาถ พ.ศ.2011 บอกว่าพระราชพิธีเดือน 12 จองเปรียง ลดชุดลอยโคมส่งน้ำ เล่นหนังใหญ่สนามหน้าจักรวรรดิในวังหลวงสำหรับขุนนางข้าราชการในเมือง ส่วนนอกเมืองเล่นในวัดพุทไธศวรรย์ซึ่งอยู่นอกเกาะเมืองด้านทิศใต้

ภาพสลัก พบบนปราสาทต่างๆ ทั้งในกัมพูชาและไทยบริเวณลุ่มน้ำมูล (โดยจำลองจากหนังใหญ่) แสดงว่าราชสำนักในกัมพูชาและไทยบริเวณลุ่มน้ำมูลรอบรู้คุ้นเคยรามเกียรติ์นานแล้วก่อนสร้างปราสาทตั้งแต่เรือน พ.ศ.1500 ซึ่งเป็นหลักฐานยืนยันหนักแน่นว่าราชสำนักไทยในกรุงอโยธยาและกรุงศรีอยุธยารับรามเกียรติ์จากราชสำนักกัมพูชาและราชสำนักลุ่มน้ำมูล

บทละคร พบในการละเล่นละครสมัยกรุงศรีอยุธยาตั้งแต่ก่อนแผ่นดินพระนารายณ์ หรือก่อน พ.ศ.2100

ภาพเขียน พบในวัดตามผนังโบสถ์ เช่น จิตรกรรมเรื่องรามเกียรติ์บนฝาผนังกำแพงแก้วรอบโบสถ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) กรุงเทพฯ เลียนแบบภาพสลักบนผนังปราสาทนครวัด

พระรามและพระลักษมณ์ต้องศรนาคบาศของอินทรชิต อายุราวหลัง พ.ศ.1600 ภาพสลักบนทับหลังที่ปราสาทพิมาย จ.นครราชสีมา

ความดี-ความชั่ว

รามเกียรติ์มีหลักการอยู่ที่ความแตกต่างระหว่างความดีกับความชั่ว หมายถึงพระรามเป็นตัวแทนของความดี คือลูกที่ดี, ผัวที่ดี, แม่ทัพที่ดี, กษัตริย์ที่ดี ส่วนทศกัณฐ์เป็นตัวแทนของความชั่ว และชั่วไปทุกสถานะ เมื่ออำนาจของความดีและความชั่วมาปะทะกันอย่างไรเสียความดีก็ต้องได้ชัยชนะ เพราะนี่เป็นหลักการของพระเจ้า ดังนั้น พระเจ้าจึงมีหน้าที่ผดุงหลักการนี้ไว้ด้วยการกระทำของพระองค์เอง คืออวตารลงมาปราบปรามความชั่ว ไม่เฉพาะแต่พระเจ้าสูงสุดเท่านั้น บรรดาพระเจ้าชั้นรองๆ ก็ส่งกำลังลงมาช่วยเป็นคณะ (สรุปจากบทความเรื่อง “รามเกียรติ์ ของ นิธิ เอียวศรีวงศ์ ใน มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับประจำวันที่ 4-10 มีนาคม 2565)

รามเกียรติ์ในแนวคิดทางชนชั้น (ซึ่งนิธิ เอียวศรีวงศ์ อ้างถึงมุมมองของณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ) คือเรื่องราวของความได้เปรียบนานัปการของชนชั้นสูงที่กดขี่ปราบปรามชนชั้นล่างถ้าอ่านโดยขาดมุมมองเชิงวิพากษ์ ก็ต้อง (ถูกทำให้) ยอมรับว่าชนชั้นสูงมีศีลธรรมสูงส่ง จึงจำเป็นต้องมีอำนาจเพื่อควบคุมให้โลกสงบสุขด้วยการปราบปรามชนชั้นล่างให้สยบยอมต่อไป กองทัพพระรามเต็มไปด้วยเทวดาซึ่งอวตารลงมาเกิด (หรือเพราะลูกหลานลงมา) ช่วยพระรามปราบชนชั้นล่าง

ดังนั้น (กองทัพพระราม) จึงเต็มไปด้วยนายทหารที่ทรงอิทธิฤทธิ์และอภิสิทธิ์ ในขณะที่ฝ่ายทศกัณฐ์ซึ่งประกอบด้วยคนธรรมดา ถึงบางคนจะมีอิทธิฤทธิ์แต่ก็มีช่องโหว่ในอิทธิฤทธิ์นั้นให้ฝ่ายผู้ดีใช้ประโยชน์ในการฆ่าฟันได้ ซ้ำร้ายยังมีพิเภกซึ่งในที่สุดก็ได้ราชสมบัติจากพี่ชายด้วยข้ออ้างทางศีลธรรม

ราพณ์ (ทศกัณฐ์) ลักพาตัวนางสีดา อายุราวหลัง พ.ศ.1650 ภาพสลักที่ปราสาทพนมรุ้ง จ.บุรีรัมย์

รามเกียรติ์ไทย
ได้จากทมิฬผ่านเขมร

รามเกียรติ์ไทย มีต้นตอจากรามเกียรติ์เขมร (รามเกียรติ์เป็นคำที่ไทยยืมจากเขมรซึ่งเขียนว่ารามเกรฺติ์ (อ่าน เรียม-เกร์) ส่วนรามเกียรติ์เขมรรับมาอีกทอดหนึ่งจากรามายณะฉบับทมิฬของอินเดียใต้ ซึ่งเป็นเรื่องเล่าสู่กันฟังของชาวบ้าน แต่ไม่ใช่รามายณะฉบับที่นับถือเป็นคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ [จากหนังสืออุปกรณ์รามเกียรติ์ ของ เสฐียรโกเศศ (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2495) สำนักพิมพ์ศยาม พิมพ์ครั้งที่สาม พ.ศ.2550 หน้า 85-89]

โดยสรุปแล้วรามเกียรติ์ไทยไม่ได้รับโดยตรงจากรามายณะฉบับวาลมิกิจากอินเดียเหนือ ตามข้อมูลกระแสหลักของทางการไทยใช้ในการเรียนการสอนทั่วประเทศไทยจนถึงทุกวันนี้

แต่หลักฐานหลายด้านจากอินเดียบ่งชัดว่ารามเกียรติ์ไทยมีต้นตอจากรามายณะฉบับ “ทมิฬ” อินเดียใต้ แต่ผ่านกัมพูชา เรื่องนี้เป็นที่รับรู้ในหมู่นักค้นคว้าสมัยก่อน และนักวิชาการบางคนสมัยปัจจุบันซึ่งรวมแล้วมีไม่มากนัก นอกจากนั้นทางการในระบบการศึกษาไทยยังใช้ข้อมูลชุดเดิมและกีดกันข้อมูลใหม่

1. มหากาพย์รามายณะของฤๅษีวาลมิกิ ซึ่งอยู่อินเดียเหนือ เป็นรากเหง้าดั้งเดิมที่รับรู้แพร่หลายทั่วโลก

2. “ทมิฬ” อินเดียใต้ รับมหากาพย์รามายณะของวาลมิกิไปแต่งเติมตามความเชื่อของคนอินเดียใต้ (ซึ่งต่างจากอินเดียเหนือ) โดยกวีชาวทมิฬด้วยการเพิ่มประเพณีสีสันสนุกสนานโลดโผนตามคติทมิฬ

3. บ้านเมืองในอุษาคเนย์โบราณใกล้ชิดวัฒนธรรม “ทมิฬ” อินเดียใต้ ผ่านการค้าระยะไกลทางทะเลสมุทรกับสุวรรณภูมิ จึงรับรามายณะฉบับ “ทมิฬ” อินเดียใต้คล้ายคลึงกัน แล้วต่างดัดแปลงแต่งเติมตัดต่อตามต้องการของท้องถิ่นตน พร้อมกันนั้นมีการแลกเปลี่ยนกันเองด้วย รามเกียรติ์ไทยก็มีที่มาอย่างเดียวกับบ้านเมืองอุษาคเนย์อื่นๆ คือ มีต้นตอจาก “ทมิฬ” อินเดียใต้ โดยเข้าถึงกัมพูชาก่อน แล้วตกทอดถึงไทยในสมัยหลัง

มีสิ่งบ่งชี้ว่ารามเกียรติ์ของไทยเกี่ยวข้องกับรามายณะฉบับอินเดียใต้ ดังเห็นจากชื่อตัวละคร, ชื่อสถานที่ และเรื่องราวเฉพาะบางตอนในรามเกียรติ์ของไทย ที่ต่างไปจากรามายณะฉบับวาลมิกิ (จากบทความเรื่อง Thai Rãmakien : Its Close Link with South India by Chirapat Prapandvidya พิมพ์ในหนังสือ 65 ปีโบราณคดี โดยสมาคมนักศึกษาเก่าคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2564 หน้า 31-74 แปลเก็บความและอธิบายความเพิ่มเติมโดย ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ พิมพ์ในมติชน ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 26 สิงหาคม 2564 หน้า 13)

1. รามเกียรติ์ของไทย พระราชนิพนธ์ในแผ่นดิน ร.1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ คงโครงเรื่องเดิมของรามายณะฉบับวาลมิกิเอาไว้ แต่มีรายละเอียดแตกต่างออกไปมากมาย

2. ยกย่องพระศิวะเป็นเทพสูงสุด แสดงให้เห็นว่ารามเกียรติ์ของไทยมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับอินเดียใต้ที่นับถือพระศิวะในฐานะเดียวกันนี้มาอย่างยาวนานจวบจนกระทั่งปัจจุบัน

3. หนุมานในรามเกียรติ์ของไทยเกิดจากน้ำกามของพระศิวะที่ฤๅษี 7 ตนรวบรวมจากยอดใบไม้, การมีตรีเป็นอาวุธ, มีขนสีขาว แสดงให้เห็นถึงความเอนเอียงไปทางศาสนาพราหมณ์-ฮินดู แบบไศวนิกาย ในอินเดียใต้

4. ชื่อตัวละครและสถานที่ในรามเกียรติ์ของไทย มีลักษณะใกล้เคียงกับภาษาทมิฬ ในอินเดียใต้

5. รายละเอียดต่างๆ ในรามเกียรติ์ของไทย แสดงให้เห็นว่าถูกสร้างขึ้นจากคำถ่ายทอดของผู้มีถิ่นกำเนิดหรือสืบทอดเชื้อสายมาจากอินเดียใต้ สอดคล้องกับกลุ่มพราหมณ์ในไทยที่มีถิ่นกำเนิดมาจากทางตอนใต้ของอินเดีย

 

ชื่อตัวละคร

รามเกียรติ์ไทยมีชื่อของตัวละครและสถานที่อื่นๆ ที่เป็นร่องรอยของภาษาทมิฬอยู่มาก เช่น ท้าวอโนมาตัน (ปฐมกษัตริย์เมืองอยุธยา), อสูรตรีบูรัม, ท้าวกุเรปัน, ฤๅษีกไลโกฏ (ฉบับวาลมิกิเรียก ริษยศริงคะ), สุมันตัน (ฉบับวาลมิกิเรียก สุมันตระ), เมืองขุขันธ์ (คูหะ), สหมลิวัน (มาลยวาน) รวมไปถึงชื่อเมืองมายัน

เป็นต้น

 

อ่าน “พระราม ‘ญาติ’ ทศกัณฐ์ ‘อารยัน’ จากชมพูทวีป” / สุจิตต์ วงษ์เทศ ได้ที่นี่

พระราม ‘ญาติ’ ทศกัณฐ์ ‘อารยัน’ จากชมพูทวีป | สุจิตต์ วงษ์เทศ