ปฏิวัติวัฏจักรคาร์บอน/ทะลุกรอบ ป๋วย อุ่นใจ

ดร. ป๋วย อุ่นใจ

ทะลุกรอบ

ป๋วย อุ่นใจ

 

ปฏิวัติวัฏจักรคาร์บอน

 

ในตอนที่ผมยังทำงานอยู่ที่ห้องปฏิบัติการแห่งชาติลอว์เรนซ์ เบิร์กลีย์ (Lawrence Berkeley National Laboratory) กระทรวงพลังงาน ประเทศสหรัฐอเมริกา หรือที่มักจะเรียกกันสั้นๆ ว่าเบิร์กลีย์แล็บ (Berkeley lab) นั้น การเข้าประชุมเพื่อรับฟังวิสัยทัศน์ของผู้บริหารที่เรียกว่าการประชุมทาวน์ฮอลล์ (Town Hall Meeting) ถือเป็นหนึ่งในภารกิจที่สนุกสนานและเปิดหูเปิดตามาก

นอกจากอาหารฟรี (ที่บางทีก็อร่อย) แล้ว ยังได้มุมมองและวิสัยทัศน์ดีๆ ที่บางทีเราก็อาจจะยังไม่เคยคิดถึงมาเป็นอาหารเสริมสมองอีกด้วย

จำได้ว่าหนึ่งในเรื่องที่คุยกันบ่อยที่สุดในการประชุมทาวน์ฮอลล์ ก็คือการบรรเทาปัญหาวิกฤตภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง (climate change) ที่เริ่มเห็นผลชัดขึ้นเรื่อยๆ ในชีวิตประจำวัน

พันธกิจเบอร์หนึ่งสุดอหังการ์ของพอล อลิวิซาทอส (Paul Alivisatos) หนึ่งในบิ๊กช็อต (big shot) แห่งวงการนาโนเทคโนโลยี สมัยยังดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการเบิร์กลีย์แล็บ ในช่วงปี 2552 ก็คือโครงการปรับวัฏจักรคาร์บอนเสียใหม่ เพื่อลดการปลดปล่อยคาร์บอนเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ ที่เรียกว่า Carbon cycle 2.0 หรือวัฏจักรคาร์บอน 2.0 (ปัจจุบัน พอลดำรงตำแหน่งอธิการบดี มหาวิทยาลัยชิคาโก (The University of Chicago))

“ชีวิตประจำวันของพวกเราได้ปลดปล่อยคาร์บอนเข้าสู่ชั้นบรรยากาศอย่างมโหฬารส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อวัฏจักรคาร์บอนในธรรมชาติ เราต้องปรับเปลี่ยนเพื่อรักษาสมดุลแห่งวัฏจักรคาร์บอน” พอลกล่าว

ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิพื้นผิวของประเทศไทยโดยรวมจากอดีตถึงปัจจุบัน (ภาพจาก http://www.BerkeleyEarth.org)

โครงการวัฏจักรคาร์บอน 2.0 นี้ถือเป็นโครงการเมกะโปรเจ็กต์ที่เน้นการวางรากฐานและสร้างระบบนิเวศน์งานวิจัยเพื่อพลิกโฉมวัฏจักรคาร์บอนเสียใหม่ เพื่อรักษาสมดุลคาร์บอนในธรรมชาติ ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างคาร์บอนไดออกไซด์และมีเทนขึ้นไปในชั้นบรรยากาศให้เข้าใกล้ “0” เพื่อชะลอให้โลกของเราไม่ร้อนระอุมากไปกว่านี้

ซึ่งไอเดียเด็ดๆ ในโครงการนี้ ก็มีมากมาย อาทิ เทคโนโลยีสะอาด ลม น้ำ แสงอาทิตย์ หน้าต่างประหยัดพลังงาน ระบบสันดาปทรงประสิทธิภาพ นวัตกรรมเก็บเกี่ยวพลังงานแสงสุริยะ ระบบสังเคราะห์แสงเทียม ฟาร์มแสงสุริยะอัจฉริยะ คลังสำรองพลังงาน ระบบกระจายพลังงาน รวมทั้งระบบสกัดและกักเก็บคาร์บอนออกมาโดยตรงจากอากาศด้วย

แม้ว่าในตอนนั้น ไอเดียสุดทะเยอทะยานระดับเมกะโปรเจ็กต์อย่าง วัฏจักรคาร์บอน 2.0 นั้นจะมาก่อนกาลไปเล็กน้อย แต่ในเวลาไม่นานหลังจากนั้น กระแส carbon neutral หรือ net zero (ซึ่งก็คือควบคุมการปล่อยคาร์บอนสุทธิเข้าสู่ชั้นบรรยากาศให้เป็น 0 พูดง่ายๆ ก็คือดูดเอาคาร์บอนไดออกไซด์จากบรรยากาศมาใช้ไปเท่าไร ก็ปล่อยไปเท่านั้น ไม่ขาดไม่เกิน เป็น 0 พอดี)

ก็เริ่มเป็นที่สนใจของหลายภาคส่วนทั่วโลก

“ภายในปี 2030 ไมโครซอฟต์จะเข้าสู่ภาวะคาร์บอนเนกาทีฟ (นั่นคือดูดกลับมากกว่าปล่อยออก) และในปี 2050 ไมโครซอฟต์จะดึงเอาคาร์บอนที่บริษัทเคยปล่อยออกไปทั้งหมดออกจากสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ปี 1975 ทั้งทางตรงและทางการใช้พลังงานไฟฟ้า” ไมโครซอฟต์ หนึ่งในผู้นำตลาดไอที ออกมาป่าวประกาศจุดยืนหนักแน่นในต้นปี 2020

ไม่มีใครยอมใคร ในช่วงกลางปี 2020 ทิม คุก (Tim Cook) CEO ของแอปเปิล ก็ได้ออกมาประกาศในทวิตเตอร์ของเขาเช่นกันว่า “ภายในปี 2030 ธุรกิจทั้งหมดของแอปเปิลตั้งแต่สายโซ่อุปทานไปจนถึงพลังงานที่ใช้ในทุกเครื่องมือที่สร้างโดยแอปเปิลจะไม่ปลดปล่อยปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ส่วนเกินออกสู่ชั้นบรรยากาศแม้แต่น้อย โลกที่เราอยู่ร่วมกันนั้นรอไม่ไหวแล้ว และทางแอปเปิลก็ต้องการที่จะเป็นคลื่นลูกหนึ่งในสระน้ำที่พร้อมจะกระเพื่อมและสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่”

เมื่อเดือนมีนาคม 2022 ที่ผ่านมา ไมโครซอฟต์แถลงว่าพวกเขาประสบความสำเร็จได้เป๊ะดังที่คาด พวกเขาได้ทุ่มงบประมาณก้อนยักษ์มากถึง 571 ล้านเหรียญ (หรือราวๆ เกือบๆ สองหมื่นล้านบาท) ลงไปเพื่อจุดมุ่งหมายในการสร้างนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน และหากมองตัวเลขแค่ 2 ปี แค่ 2021 และ2022 ไมโครซอฟต์ก็สามารถลดการปลดปล่อยคาร์บอนออกไปได้แล้วกว่า 2.5 ล้านตัน อีกทั้งยังประหยัดน้ำ และลดการผลิตของเสียได้อีกมากโข

ส่วนแอปเปิลก็ไม่น้อยหน้า เพราะนโยบายเขาก็ไม่ได้มาแค่เล่นๆ เหมือนกัน ในช่วงห้าปีให้หลัง แอปเปิลสามารถลดการปลดปล่อยคาร์บอนเข้าสู่ชั้นบรรยากาศไปได้มากถึงราวๆ 40 เปอร์เซ็นต์ เลยทีเดียว และถ้าให้เทียบเป็นยวดยานที่สัญจรในเมือง ก็ต้องบอกว่าปริมาณคาร์บอนที่ตัดออกไปได้นั้นเทียบๆ ได้กับที่จะปล่อยออกมาโดยรถยนต์ราวๆ 4 ล้านคันต่อปี เรียกว่าไม่น้อยหน้าคู่แข่งอย่างไมโครซอฟต์เช่นกัน

“พวกเราเร่งร้อนจริงจังมาก และพวกเราก็ช่วยกันผลักดัน ทว่าเวลานั้นไม่ใช่ทรัพยากรที่เรียกใหม่ได้ เราจึงต้องจัดการลงทุนอย่างเร่งด่วนเพื่ออนาคตที่สะอาดและเท่าเทียม” ทิมกล่าว

 

แต่แม้ว่าเอกชนใหญ่ๆ อย่างไมโครซอฟต์และแอปเปิลจะพยายามเร่งผลักดันแค่ไหน เทคโนโลยีก็ยังไปได้ไวไม่ทัน ยิ่งเจอวิกฤตโควิด-19 ซ้ำเติมเข้าไปด้วยแล้ว แผนเพื่อความยั่งยืนในหลายประเทศก็ล่มสลาย หรือไม่ก็ดีเลย์ไปอย่างน่าเสียดาย

กระนั้น ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (United Nations Framework Convention on Climate Change Conference of the Parties : UNFCCC COP, COP26) เมื่อช่วงเดือนพฤศจิกายน 2021 ทางที่ประชุมก็ยังคงมีมติเห็นชอบให้ทำตามข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) ในการควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยบนผิวโลกไว้ไม่ให้สูงขึ้นกว่ายุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรมเกิน 1.5 องศาเซลเซียส

วิทยาศาสตร์นั้นชัดเจน เราต้องจำกัดไม่ให้อุณหภูมิเฉลี่ยที่ผิวโลกนั้นเพิ่มเกิน 1.5 องศา เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ประสบกับภัยพิบัติทางธรรมชาติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นคลื่นความร้อน (heat wave) น้ำแข็งขั้วโลกละลาย (permafrost melting) ระบบนิเวศน์ทางทะเลถูกทำลาย และอื่นๆ

ซึ่งก็เป็นสิ่งดีที่หลายประเทศเริ่มกลับมาตื่นตัวอีกครั้งในเรื่องการบรรเทาวิกฤตโลกร้อนและการพัฒนาสู่ความยั่งยืน แม้แต่ในประเทศที่เพิ่งจะเริ่มฟื้นตัวจากระบบเศรษฐกิจที่ม่อยกระรอกไปตั้งแต่ตอนช่วงโควิดก็ยังเริ่มประกาศเป้าหมายระยะยาวในการควบคุมการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทั้งคาร์บอนไดออกไซด์ และมีเทน ออกสู่ชั้นบรรยากาศให้สุทธิแล้ว เป็นศูนย์ ไม่บวก ไม่ลบ

คำถามคือ แล้วสถานการณ์ปัจจุบันเป็นเช่นไร?

 

ถ้าดูจากฐานข้อมูลอุณหภูมิพื้นผิวโลกที่รวบรวมโดยองค์กรไม่หวังผลกำไรเบิร์กลีย์เอิร์ธ (Berkeley Earth Surface Temperature Dataset) อุณหภูมิของโลกของเราโดยเฉลี่ยนั้นได้พุ่งสูงขึ้นไปแล้วมากถึง 1.3 องศาเซลเซียส ตั้งแต่ปี 2020 และมีเเนวโน้มจะค่อยๆ พุ่งสูงขึ้นไปเรื่อยๆ

และถ้าย้อนกลับมามองแค่ประเทศไทย ก็อาจจะไม่น่าแปลกใจหากเดินออกไปนอกบ้านแล้วจะร้อนเร่าราวกับโดนเผาด้วยไฟโลกันตร์ เพราะตั้งแต่ปี 2020 อุณหภูมิโดยรวมของประเทศเราก็พุ่งเหนือระดับยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรมทะยานขึ้นไปแตะขอบที่กำหนดไว้ที่ 1.5 องศาเซลเซียสเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งก็คงต้องรอดูต่อไปว่าจะเราจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร หรือจะตั้งเป้าอะไร ยังไงต่อ

ซึ่งต้องบอกว่าน่ากังวลมาก หากว่ากันตามข้อตกลงปารีส เพราะดูแล้ว ก็เดาได้ไม่ยากว่าเป้าที่ตั้งไว้นั้นน่าจะรุ่งหรือน่าจะร่วง

 

แต่ที่ชัดเจนที่สุดก็คือนโยบายคาร์บอนเป็น 0 ทั้ง carbon neutral ทั้ง net zero นั้นไม่ทันการแล้ว เพราะแค่ในเวลานี้ เป้าที่ตั้งไว้ก็ดูเหมือนจะทำได้แค่ในฝัน และในสถานการณ์ที่ปริมาณก๊าซเรือนกระจกก็มีล้นจนเกินพอ ต่อให้เราไม่ปล่อยมีเทนหรือคาร์บอนไดออกไซด์อะไรออกไปเพิ่ม โลกทั้งโลกก็เปรียบเสมือนห้องเซาน่าขนาดยักษ์ที่อุณหภูมิจะสูงขึ้นไปเรื่อยๆ ไปแล้ว เพราะด้วยอุณหภูมิที่ร้อนระอุเหมือนในปัจจุบัน น้ำแข็งขั้วโลกที่เรียกว่าเพอร์มาฟรอสต์ (permafrost) นั้นก็ได้เริ่มละลายหายไปจนอยู่ในเกณฑ์ที่น่าเป็นห่วงแล้ว

และการละลายของน้ำแข็งขั้วโลกนั้นจะปลดปล่อยพวกเชื้อจุลินทรีย์แปลกๆ ที่เคยถูกแช่แข็งอยู่ในนั้นตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์ออกมา

และหนึ่งในเชื้อที่ถูกปล่อยออกมานั้น ก็คือพวกอาร์เคีย (Archaea) ในกลุ่มเมทาโนเจน (methanogen) ซึ่งเป็นเชื้อที่จะปลดปล่อยก๊าซมีเทนซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกออกมาสู่สิ่งแวดล้อม

วัฏจักรแบบนี้เป็นเหมือนเป็นวงจรร้ายที่ไม่จบไม่สิ้น ก๊าซเรือนกระจกทำให้โลกร้อน ส่งผลให้น้ำแข็งขั้วโลกละลาย ปล่อยเมทาโนเจนออกมา เมทาโนเจนผลิตก๊าซมีเทน ซึ่งจะลอยขึ้นไปในชั้นบรรยากาศ ซ้ำเติมชั้นก๊าซเรือนกระจกให้สะท้อนความร้อนลงมาได้มากกว่าเดิน เกิดปัญหาโลกร้อน น้ำแข็งขั้วโลกละลาย ปล่อยเมทาโนเจนออกมา เป็นเช่นนี้ วนไปเรื่อยๆ เหมือนงูกินหาง

คงต้องเริ่มคิดใหม่ ทำใหม่ ลุยใหม่ ไม่แน่ว่าเราอาจจะต้องเริ่มคิดถึงวัฏจักรคาร์บอนเวอร์ชั่นปรับปรุงใหม่กันอีกรอบ เพราะในกรณีนี้ แค่ “0” อาจจะยังไม่พอ อาจจะต้องหาวิธีที่จะทำให้ได้ค่าปลดปล่อยคาร์บอนสุทธิติดลบไปเยอะๆ เพราะหากเราไม่เริ่มทำอะไรจริงจังเสียแต่ตอนนี้ อีกไม่นานระบบนิเวศที่เปราะบางก็อาจจะภินท์พังเพราะความร้อน

และวลีที่ว่า “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” นั้น ก็อาจจะเป็นได้แค่คำพูดลอยลมเท่านั้น