สถานการณ์ ของเมืองหลวงแห่งซีรีส์วาย ต้องช่วยกันเป็นทีม ไทยสู้ต่างประเทศ/รายงานพิเศษ

รายงานพิเศษ

 

สถานการณ์

ของเมืองหลวงแห่งซีรีส์วาย

ต้องช่วยกันเป็นทีม

ไทยสู้ต่างประเทศ

 

“เราไม่อยากให้เป็นเรื่องของการสร้างภาพจำ แบบขาดความรับผิดชอบ” ด้วยแนวคิดนี้ ‘จารุพร กำธรนพคุณ’ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานการผลิต บริษัท ทีวี ธันเดอร์ จำกัด (มหาชน) จึงบอกว่า ก่อนที่ ‘งานวาย’ ที่ทำแต่ละชิ้นจะออกมา จึงผ่านการคิดแล้ว ศึกษาอีก เพื่อให้มั่นใจว่า “จะไม่ทำอะไรที่เป็นการไม่เคารพและให้เกียรติ หรือเอาเขามาใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างความบันเทิง”

ในวัย 45 จารุพรซึ่งทำงานกับทีวีธันเดอร์มาราว 25 ปี บอกว่า มีโอกาสได้ทำซีรีส์วายในปี 2558

“สมัยก่อนความหลากหลายทางเพศในสื่อบันเทิง ก็จะเป็นตัวร้าย ตัวตลก เพื่อนตัวเอก ไม่มีอาชีพที่ได้รับการยอมรับ ก็มีความรู้สึกว่ามันส่งผลต่อความกดดันที่มีต่อเด็กรุ่นใหม่ ว่า เฮ้ย! ถ้าเขามีความหลากหลายทางเพศ เขาจะเรียนวิศวะไม่ได้เหรอ เขาจะมีอาชีพไม่ได้เหรอ สิ่งเหล่านี้เราก็ค่อยๆ ซึมซับ”

รายการ ‘Take Guy Out Thailand’ ก็ยิ่งทำให้ได้รู้จักผู้มีความหลากหลายทางเพศเพิ่มขึ้น

“ตอนปี 2559 ก็รู้แหละ ว่าฟรีทีวีอาจจะไม่ยอม แต่เราก็ท้าทายตัวเองเลย ว่าอยากทำรายการเลือกคู่ผู้ชายกับผู้ชายจะได้ไหม คือเปิดพื้นที่ให้ แต่เขาจะกล้ามาสมัครไหม เพราะต้องใช้กลุ่มผู้ชายรักผู้ชายถึง 30 คนบนเวที เขาจะกล้าเปิดตัวไหม”

แล้วก็พบว่ามีทั้งคนเป็นอาจารย์สอนหนังสือ คนเป็นหมอ ที่กล้าสมัครเข้ามาในรายการ

จากนั้นงานวายที่ทำก็ค่อยๆ พัฒนา จนปัจจุบันเรื่องล่าสุดที่อยู่ระหว่างออกอากาศและกำลังเป็นที่พูดถึง คือ ‘ทริอาซ’ ซีรีส์ทางการแพทย์ ที่ยังไม่ทันจะแพร่ภาพทางช่อง 3 HD หมายเลข 33 จบ ก็ได้รับการติดต่อจากผู้สร้างในต่างแดนจะขอซื้อลิขสิทธิ์ไปรีเมก

“ดีใจมากที่ได้รับการยอมรับมากขึ้น และทั้งๆ ที่เป็นซีรีส์วาย แฟนที่ดูก็ยอมรับว่ามันไม่ได้จิ้นเสียทีเดียวนะ แต่สนุกจังเลยกับแฟนตาซีที่ใส่ลงไป ความพยายามที่จะสร้างเมดิคัล ดราม่า”

“รู้สึกว่าเราค่อยๆ เติบโตไปพร้อมๆ กับเขา ค่อยๆ ให้แฟนซีรีส์วายยอมรับ ว่ามันมีหลายๆ แบบนะ ซีรีส์วายก็ถูกพัฒนา เพราะถ้าเราจะบอกว่าเราสร้างความเท่าเทียมได้จริงๆ เราต้องมีโอกาสในการสร้างคอนเทนต์หลายๆ แบบ”

นั่นคือเรื่องจิ้นที่แฟนๆ ซีรีส์วายถูกใจ ก็มี แต่ก็ตั้งใจจะไม่ทำแค่เรื่อง ‘เพื่อจิ้น’ อย่างเดียว

“เราก็ค่อยๆ บอกเหล่านี้กับแฟนๆ”

“คือซีรีส์วายกับ LGBTQ ถูกพูดมาตลอด ว่าใช่เรื่องเดียวกันไหม คือมันอยู่บนความเคารพในความหลากหลายทางเพศเหมือนกัน เพียงแต่ถูกผลิตขึ้นมาเพื่อตอบสนองคนละแบบกัน ซีรีส์วายในยุคแรกๆ คือการสร้างเรื่องราวให้จิ้น ให้มีความสุขกับการจินตนาการ แต่ LGBTQ เหมือนค่อยๆ แทรกซึมความแตกต่างให้สังคมเข้าใจ”

เล่าด้วยว่าช่วงแรกๆ ที่ทำ ในซีรีส์มักจะมีตอนที่ตัวละคร ‘สอบถามกัน’ แต่ช่วงหลังๆ รู้สึกว่าไม่จำเป็นแล้ว

“ไม่ต้องให้เขามาพูดแล้ว ว่าคุณเป็น หรือ เอ๊ะ! คุณใช่หรือเปล่า คุณชอบเหมือนผมเหรอ ไม่มีแล้ว แต่คุยเลย เฮ้ย! มึงเป็นแฟนไอ้นี่เหรอ เหมือนเป็นการยอมรับของตัวละครทั้งหมด เหมือนสร้างการยอมรับในโลกของซีรีส์ที่เราสร้าง”

ในฐานะคนที่ทำทั้งซีรีส์ของตัวละครชาย-หญิง, ชาย-ชาย และล่าสุดก้าวไปถึงเรื่องของหญิงกับหญิงในซีรีส์ ‘เสน่หาสตอรี่’ จารุพรบอกว่า ส่วนหนึ่งที่ทำอย่างนี้ได้เป็นเพราะตอนนี้มีแพลตฟอร์มใหม่ๆ เกิดขึ้น จึงสามารถเลือกนำเสนองานแต่ละประเภทให้ตรงกับกลุ่มผู้ชม

“ช่องทางของคนดูละคร เราก็ไม่ควรหักอกเขา คนกลุ่มใหญ่ชมแบบไหน เราต้องแน่นตรงนั้น ถ้าตรงนั้นคนกลุ่มใหญ่ยังเป็นคุณพ่อ คุณแม่ คุณอา เราก็ทำตรงนั้นตอบสนองเขาให้ดีที่สุด แต่ช่องทางที่ทำเพื่อคนรุ่นใหม่ เราก็เต็มที่”

 

นอกจากตลาดผู้ชมในบ้านเราที่ต้อนรับงานแนวนี้อย่างอบอุ่น เธอยังว่าซีรีส์วายของบ้านเรายังได้รับความนิยมในตลาดต่างประเทศ โดยแหล่งส่งออกหลักๆ คือประเทศในแถบเซาธ์อีสต์เอเชีย ขณะเดียวกันก็ยังมีกลุ่มยุโรป และกลุ่มอเมริกา โดยเฉพาะละตินอเมริกาที่เป็นฐานใหญ่ของซีรีส์วายและ LGBTQ

“ส่วนตัวคิดว่าละตินอเมริกาการเสพคอนเทนต์ของเขา ดราม่าที่เขาเสพมีความใกล้เคียงกับดราม่าแบบไทย มีความทัชชิ่งบางอย่างที่ใกล้เคียงกัน”

ขณะเดียวกันที่ปฏิเสธไม่ได้คือ เสน่ห์ของนักแสดงไทยกับคุณภาพของเนื้องานมีความดึงดูด

“เสน่ห์ของนักแสดงไทยขายได้นะ ความเป็นคนไทย ความอ่อนน้อม รอยยิ้ม แล้วไปอยู่ในซีรีส์ ขณะที่โลกในชีวิตจริง นักแสดงไทยก็ใกล้ชิดแฟนคลับ มีความอ่อนโยน มีความเซอร์วิส มีความรักในแฟนคลับ เขาก็ชื่นชอบ”

ในช่วงแรกของพัฒนาการมันเป็นเรื่องนั้นก่อน จากนั้นเรื่องคุณภาพของโปรดักชั่นและคุณภาพของเนื้อหา ก็ค่อยๆ ถูกพัฒนาจนโดนใจ

 

สําหรับประเทศเกาหลีที่เริ่มหันมาทำซีรีส์วายเหมือนกัน เธอก็ว่า “เท่าที่ทราบ ในประเทศเขาการยอมรับอาจจะยังไม่เท่าเรา แต่เขารู้ว่าตลาดข้างนอกดี”

ด้วยเหตุนี้ “เราก็ต้องอาศัยจังหวะตรงนี้รีบพัฒนาแวลู่ด้านต่างๆ ให้แข็งแรงจริงๆ” เพื่อรักษาฐานที่มั่นไว้

“ของบ้านเรา ช่วงหลังก็มีรายใหม่ๆ เข้ามาในตลาดเยอะค่ะ”

และนั่นน่าจะทำให้ได้เห็นงานที่น่าสนใจจากฝีมือผู้กำกับการแสดงรุ่นใหม่ นักแสดงรุ่นใหม่

“ซึ่งยินดีมาก พูดเสมอว่าเราไม่ได้แข่งกันเอง แต่เรากำลังช่วยกันเป็นทีมชาติไทยสู้ต่างประเทศ”

“ตอนนี้ไทยยังเป็นเมืองหลวงของซีรีส์วาย ไทยเราส่งออกเยอะสุด แต่สิ่งที่ต้องช่วยกันคือทุกคนต้องทำให้ดี”

“เพราะเอาจริงๆ มันเป็นซอฟต์เพาเวอร์ ให้ไทยได้แบบจริงๆ จังๆ เลยนะ”