ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 3 - 9 มิถุนายน 2565 |
---|---|
เผยแพร่ |
บทความพิเศษ
อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ)
คนชายแดนใต้
อยากเลือกตั้งเหมือนคน กทม.
ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญมอบแด่อัลลอฮฺผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและผู้อ่านทุกท่าน
วันที่ 22 พฤษภาคม 2565 ดีใจแทนคนกรุงเทพมหานครได้มีโอกาสเลือกผู้นำของตนเองคือเลือก “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ผู้สมัครอิสระ เบอร์ 8 เป็นว่าที่ผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ ทำให้กระแสคนชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะในโลกโซเชียล ติด # ประมาณว่าคนชายแดนใต้ก็อยากเลือกตั้ง “ผู้นำ” เหมือนคน กทม.เช่นกัน
อาจารย์รอมฎอน ปันจอร์ โพสต์ Facebook ว่า “เมื่อสิบปีที่แล้ว (2555) วงพูดคุยที่เปิดให้เถียงกันถึงหน้าตาของรูปแบบการปกครอง ที่ควรจะเป็นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยอาศัยตัวแบบ 6 แนวทางเป็นเครื่องมือให้คนถกกัน แต่ก็เปิดช่องให้มีการนำเสนอทางเลือกใหม่ๆ (ทางเลือกที่ 7) หนึ่งในนั้นมีคนเสนอให้เลือกตั้งเลขาธิการ ศอ.บต. ด้วย
ตอนนั้น ศอ.บต.เพิ่งปรับโฉมใหม่ภายใต้กฎหมายฉบับใหม่ในปี 2553 การทำงานของเลขาธิการในตอนนั้น (ทวี สอดส่อง) ก็พีกมาก คนตอบรับกันอย่างกว้างขวาง และแกก็ดุลกับอำนาจของฝ่ายความมั่นคงอย่างถึงน้ำถึงเนื้อ แต่ก็ยังมีคนเสนอวัดใจให้คืนอำนาจในการเลือกผู้นำองค์กรบริหารพิเศษเฉพาะพื้นที่นี้เอาไว้ในมือของผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง
ถ้าคนในพื้นที่เลือกตั้งมา เขาคนนั้นก็ไม่ต้องรับผิดชอบกับนายที่ไหน แต่กับประชาชนในพื้นที่นั้นๆ นั่นแหละครับ ทำอะไรไม่เข้าตา ก็ไม่ต้องเลือก ไม่จำเป็นต้องจำใจอยู่กับคนที่คนอื่นจิ้มเลือกให้มาดูแลชีวิตเรา
ที่น่าสนใจกว่านั้นก็คือ มีเสนอให้เลือกตั้งสมาชิกสภาที่ปรึกษาการบริหารและพัฒนา จชต.โดยตรงด้วย ข้อเสนอน่าจะคล้าย ส.ก.ของ กทม.นั่นแหละ เดิมทีสภาที่ว่านี้เป็นของใหม่ใน พ.ร.บ.บริหารราชการ จชต. (2553) แต่สรรหากันภายในกลุ่มอาชีพ มีอำนาจหลักๆ คือให้คำแนะนำเลขาฯ และอื่นๆ แต่หลังรัฐประหารเมื่อ 8 ปีที่แล้ว โดนทำหมันและตัดตอนจนไม่ค่อยเหลือเค้าอะไรให้นึกถึง ทหารไม่ค่อยวางใจในประชาชนเท่าไหร่”
กระแสคนชายแดนใต้อยากเลือกผู้นำของตนเองมิได้มีเฉพาะโลกโซเชียล แต่ได้ถูกสะท้อนในเวทีเวทีสัญจร “พรรคการเมืองฟังเสียงคนจน” ครั้งที่ 4 “สันติภาพชายแดนใต้” วันเสาร์ที่ 21 พฤษภาคม 2565 ณ ห้องประชุมศรีวังสา คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ซึ่งผู้เขียนและคนทำงานภาคประชาชนหลากหลายองค์กรที่ชายแดนใต้ประมาณ 200 คนได้เข้าร่วม
ผศ.ดร.ชลิตา บัณฑุวงศ์ นักวิชาการได้สรุปข้อเสนอว่า
“ลดอำนาจรัฐ เพราะรัฐธรรมนูญนี้ลดทอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน ลิดรอนสิทธิการมีส่วนร่วมของประชาชน ลิดรอนสิทธิชุมชน รวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลาง ยากที่จะกระจายอำนาจซึ่งไม่สามารถแก้ปัญหาให้กับประชาชนในภาพรวมและปัญหาชายแดนใต้โดยเฉพาะ”
ในการแบ่งกลุ่มย่อยเพื่อระดมปัญหาและความคิดเห็นจากประชาชนที่มาร่วมเวทีสัญจร “พรรคการเมืองฟังเสียงคนจน” ครั้งที่ 4 หัวข้อ “สันติภาพชายแดนใต้” ในวันเสาร์ที่ 21 พฤษภาคม 2565 ณ ห้องประชุมศรีวังสา คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี พบว่ามีประเด็นสำคัญ ดังนี้
– ด้านทรัพยากรธรรมชาติ : รัฐมีอำนาจรวมศูนย์ในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ขณะที่การมีส่วนร่วมของชุมชน สิทธิของชุมชน ถูกลิดรอน และละเลย
– ด้านเศรษฐกิจ : รัฐล้มเหลวในการสร้างเศรษฐกิจที่เข้มแข็งของพื้นที่ นำมาสู่ความยากจน การไม่มีอาชีพในท้องถิ่น และการอพยพแรงงาน ทั้งนี้ รัฐควรทำหน้าที่ในการช่วยเหลือ เยียวยา และคุ้มครองแรงงานที่รวมถึงแรงงานในประเทศเพื่อนบ้าน
– ด้านวัฒนธรรม การศึกษา ศาสนา : รัฐบริหารจัดการการศึกษาและศาสนาในพื้นที่จนสถาบันทั้งสองอ่อนแอ รัฐควรส่งเสริมการศึกษาและศาสนาให้สอดคล้องวิถีชีวิต วัฒนธรรมของพื้นที่ ลดการกลืนกลาย การเน้นควบคุม แทรกแซง และควรส่งเสริมให้คนพื้นที่บริหารจัดการกันเอง
– ด้านการเมือง การกระจายอำนาจ และกระบวนสันติภาพ : การกระจายอำนาจเป็นสิ่งสำคัญยิ่งในการแก้ปัญหาชายแดนใต้ ตลอดจนการมีรูปแบบการเมืองการปกครองที่เหมาะสม และการเจรจาสันติภาพที่ยึดโยงกับกลไกประชาธิปไตย (รัฐสภา) แทนที่จะให้กองทัพมีบทบาทหลักดังเช่นที่เป็นอยู่
– ด้านกฎหมาย ความยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน : มีปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนภายใต้กฎหมายพิเศษ ประชาชนเข้าไม่ถึงความช่วยเหลือและการคุ้มครองทางกฎหมาย
ขณะที่อำนาจของทหารมีมากจนอยู่เหนือทุกหน่วยงาน
ส่วนมุมมองต่อรัฐธรรมนูญในบริบทชายแดนภาคใต้ ประเด็นปัญหาที่พี่น้องชายแดนใต้ประสบมีความเชื่อมโยงกับรัฐธรรมนูญอย่างแนบแน่น เพราะการจะแก้ปัญหาจำต้องมีรัฐธรรมนูญที่ดี เพราะรัฐธรรมนูญคือกติกาที่กำหนดการจัดสรรอำนาจและความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างสถาบันต่างๆ ในประเทศ บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญจำเป็นต้องมีเนื้อหาที่เอื้อต่อการแก้ปัญหาเหล่านี้ เช่น การยืนยันว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย การเพิ่มเติมสิทธิเสรีภาพของประชาชน สิทธิเกษตรกร สิทธิแรงงาน สิทธิชุมชน รัฐสวัสดิการ
ในปัจจุบันมุมมองต่อรัฐธรรมนูญในบริบทปัญหาชายแดนภาคใต้มีสองแนวทาง
แนวทางแรก มองว่าแม้รัฐธรรมนูญปี 2560 จะมีปัญหา แต่ก็ยังมีส่วนที่ดีหรือมีการเปิดช่องที่สามารถเอามาใช้ประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาชายแดนใต้ได้ เช่น รัฐธรรมนูญปี 2560 เปิดช่องเรื่องการกระจายอำนาจและระบุเรื่องการปฎิรูปกฎหมายเอาไว้ สิ่งที่ยังขาดคือการผลักดันอย่างจริงจังให้เกิดผลในทางปฏิบัติ แนวทางนี้มักถูกนำเสนอโดยนักการเมืองในพรรคฝ่ายรัฐบาล
ส่วนแนวทางที่สอง เน้นถึงปัญหาความไม่ชอบธรรมของรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ไม่มีความเป็นประชาธิปไตย เนื่องจากมีที่มาจากระบอบรัฐประหาร มีกระบวนการลงประชามติที่คุกคามผู้เห็นต่าง และมีเนื้อหาที่ลดทอนอำนาจของประชาชน แนวทางนี้มองว่ารัฐธรรมนูญที่ไม่มีความเป็นประชาธิปไตยนี้จะไม่สามารถแก้ปัญหาชายแดนใต้ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องร่างรัฐธรรมใหม่ที่มาจากประชาชนอย่างแท้จริง
เครือข่ายองค์กรภาคีคนจน มีเป้าหมายในผลักดันให้เกิดรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (หรือเป็นแนวทางที่สอง) ซึ่งนอกเหนือจากการจัดทำร่างเนื้อหาของรัฐธรรมนูญแล้ว จะต้องมีการผลักดันกระบวนการที่จะทำให้รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนเกิดขึ้นมาได้จริง ผ่านการทำประชามติเพื่อให้เกิดสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มาจาการเลือกตั้งของประชาชนอย่างแท้จริง
อนึ่ง การทำประชามติจะเกิดขึ้นจริงได้ ทุกฝ่ายทั้งภาคประชาชนและพรรคการเมืองก็ต้องช่วยกันผลักดันในเรื่องนี้
ประเด็นปัญหาชายแดนภาคใต้สามารถมีพื้นที่ในร่างรัฐธรรมนูญคนจนหรือรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนได้ใน 2 ลักษณะ คือ
1) การผสานอยู่ในหมวดหรือในมาตราต่างๆ ในรัฐธรรมนูญ หมายความว่า หลายๆ ปัญหาที่ผู้คนชายแดนภาคใต้ประสบนั้นเป็นปัญหาร่วมกันกับปัญหาของพี่น้องประชาชนในภูมิภาคอื่นๆ ทั่วประเทศด้วย เช่น การไม่มีรัฐสวัสดิการ ปัญหาจากกระบวนการยุติธรรม การถูกจำกัดสิทธิในการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง การประกาศเขตอนุรักษ์ทับที่ทำกินของชาวบ้าน ฯลฯ ถ้าหากเนื้อหาในรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับปัญหาเหล่านี้ได้รับการแก้ไขหรือร่างใหม่ให้เอื้อต่อการแก้ปัญหา ความเดือดร้อนของประชาชนทั้งประเทศและของคนชายแดนใต้ก็จะได้รับการแก้ไขไปด้วยกัน
2) การมีบทเฉพาะกาลเพื่อการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นการเฉพาะ เนื่องด้วยปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีความเรื้อรังยาวนานและส่งผลกระทบต่อชีวิตผู้คนจำนวนมาก จึงจำเป็นต้องกำหนดให้เป็นวาระเร่งด่วนแห่งชาติที่รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการ โดยมีองค์กรอิสระที่มีอำนาจในการดำเนินการ และมีกรอบเวลาที่ชัดเจน
ในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนในบริบทของการแก้ปัญหาชายแดนใต้หรือการสร้างสันติภาพชายแดนใต้ มีสิ่งที่ต้องคำนึงอยู่ 2 ประการ คือ
ประการแรก ในพื้นที่ชายแดนใต้มีความหลากหลายของผู้คน ซึ่งมีสถานะทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน คนละกลุ่มก็จะมีจุดยืนและมีความคิด มุมมอง ต่อการแก้ปัญหาชายแดนใต้ที่แตกต่างกันไปด้วย
ดังนั้น ในกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญจึงต้องรวบรวมความเห็นจากกลุ่มคนที่หลากหลายให้ได้ในน้ำหนักที่เท่ากัน ความเห็นจากทุกกลุ่มจะต้องได้รับความสำคัญเท่าๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นใคร ผู้ชาย ผู้หญิง ผู้มีความหลากหลายทางเพศ คนพุทธ คนมุสลิม คนที่ไม่นับถือศาสนา ผู้ใหญ่ เยาวชน นักการศาสนา ชาวบ้าน นักการเมือง ฯลฯ
ประการที่สอง ในกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนในบริบทชายแดนใต้ จะต้องทำให้เป็นพื้นที่ที่เปิดกว้าง เป็นการสร้างพื้นที่ปลอดภัยในการที่ผู้คนจะสามารถพูดถึงความใฝ่ฝัน ความปรารถนาของตนในด้านต่างๆ ได้ ต้องไม่มีคำต้องห้าม จะปฏิรูปสถาบันใดก็ต้องพูดได้ จะเสนอรูปแบบรัฐแบบไหน ก็ต้องสามารถหยิบมาแลกเปลี่ยนได้ ต้องไม่มีมาตราใด หมวดใดที่แตะต้องไม่ได้หรือเสนอแก้ไขไม่ได้
ส่วนการที่จะยอมรับหรือไม่ยอมรับข้อเสนอนั้นๆ ก็ขอให้ตัดสินกันด้วยกระบวนการประชาธิปไตยผ่านทางการโหวตหรือการลงประชามติ และผ่านทางกระบวนการทางรัฐสภา
เนื่องด้วยปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีความเรื้อรังยาวนานและส่งผลกระทบต่อชีวิตผู้คนจำนวนมากนั้น จึงให้กำหนดเป็นวาระเร่งด่วนแห่งชาติที่รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการโดยมีองค์กรอิสระที่มีอำนาจในการดำเนิน ในมาตรการต่างๆ ดังนี้
1) ต้องทำให้การแก้ปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องอยู่ภายใต้กลไกและอำนาจทางการเมืองที่ยึดโยงกับประชาชนที่ผ่านระบบการเลือกตั้ง (รัฐสภาและรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งที่ถูกต้อง) มิใช่อยู่กับการควบคุมและกำกับดูแลของกองทัพ/ทหารดังในปัจจุบัน และห้ามมิให้ทหารขยายอำนาจและบทบาทการดำเนินงานไปยังปริมณฑลอื่นๆ เช่น สังคม การศึกษา วัฒนธรรม
2) ต้องส่งเสริมให้เกิดสันติภาพที่แท้จริงในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดให้ใช้การเจรจาอย่างสันติเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาชายแดนใต้ การให้หน่วยงานรัฐยุติการติดอาวุธให้พลเรือน (ประชาชน) อันจะทำให้เกิดการต่อสู้กันด้วยความรุนแรงที่ไม่รู้จบ
3) ห้ามมิให้มีการใช้กฎหมายที่ว่าด้วยความมั่นคงของรัฐในลักษณะที่เหนือกว่าหรือในลักษณะที่ขัดต่อหลักการของรัฐธรรมนูญว่าด้วยความมั่นคงของประชาชน
4) ต้องให้ความสำคัญการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในทุกด้าน ด้วยการจำกัดการใช้กฎหมายพิเศษ ตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจของทหารและกฎหมายพิเศษด้วยกระบวนการยุติธรรม
5) ต้องรับรองสิทธิและเสรีภาพในการสื่อสาร การชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกถึงเจตจำนงทางการเมืองและจินตนาการต่อรูปแบบทางการเมืองการปกครองที่เปิดกว้าง และการแสดงตัวตน/อัตลักษณ์ในทางภาษา ศาสนา และวัฒนธรรมของแต่ละคนแต่ละกลุ่ม
6) มีการกระจายอำนาจ ในการบริหาร การปกครอง และการจัดการตนเองในระดับต่างๆ บนฐานของแนวคิดเรื่องอำนาจอธิปไตยและรูปแบบของรัฐที่มีความแยกย่อยและยืดหยุ่นเพียงพอ ที่จะโอบรับความแตกต่างหลากหลายทางศาสนาและชาติพันธุ์และความเห็นต่างทางการเมืองได้ โดยผ่านทางการกำหนดและการมีส่วนร่วมทั้งทางตรงและทางอ้อม (อาทิ ระบบชูรอ) ของประชาชน
7) คุ้มครองดูแลให้คนทุกกลุ่มได้รับการดูแลจากรัฐในด้านศึกษา โครงสร้างพื้นฐาน และสวัสดิการต่างๆ อย่างเท่าเทียมกัน ไม่เว้นแม้แต่ผู้เห็นต่างจากรัฐและสมาชิกในครอบครัวของพวกเขา
8) ต้องรับรองสิทธิของชุมชนและประชาชนในการปกป้องและจัดการทรัพยากรธรรมชาติ โดยการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติโดยประชาชนต้องไม่ถูกมองว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงหรือเป็นการต่อต้านรัฐ
การดำเนินการ ควรทำดังนี้
– ตั้งองค์กรอิสระที่มีอำนาจในการดำเนินการ
– ที่มาของคณะกรรมการองค์กรอิสระ อำนาจหน้าที่ และโครงสร้างในการทำงาน ต้องผ่านความเห็นชอบจากประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้
– กำหนดเป็นวาระเร่งด่วนแห่งชาติให้แล้วเสร็จภายใน 6 ปี