อำนาจอ่อน/นิธิ เอียวศรีวงศ์

นิธิ เอียวศรีวงศ์

นิธิ เอียวศรีวงศ์

 

อำนาจอ่อน

 

การที่คุณมิลลินำเอาข้าวเหนียวมะม่วงขึ้นไปกินเป็นส่วนหนึ่งของฉากแสดงบนเวที นับว่าเธอหรือทีมงานจับประเด็นการนำเสนอได้ชัดเจนมาก

เทศกาลดนตรีและศิลปะ Coachella มีจุดมุ่งหมายนำเสนอพลังสร้างสรรค์ด้านศิลปะจากทุกมุมโลก แม้กระนั้นส่วนใหญ่ของศิลปินที่ได้รับเชิญก็คือคอเคเชียนหรือคนขาวอยู่ดี การแสดงอัตลักษณ์ “ไม่ขาว” (non-Caucasian) ของศิลปินที่ไม่ออกลักษณะ “ท้าทาย” หรือ “ข่ม” ผู้ชม จึงเป็นส่วนหนึ่งของการเน้นความเด่นของตัวศิลปินเอง กินข้าวเหนียวมะม่วงจึงเป็นฉากที่ “ฉลาด” มาก

แต่ไม่ว่าจะฉลาดและเข้าใจคิดสักเพียงไร ข้าวเหนียวมะม่วงก็ไม่ใช่ soft power หรืออำนาจอ่อนอยู่นั่นเอง ไม่ว่าจะโดยตัวของมันเองหรือในฐานะส่วนหนึ่งของการแสดง แม้ว่าวีโอเอภาคภาษาไทยจะรายงานจากร้านขายอาหารไทยในสหรัฐว่า ข้าวเหนียวมะม่วงขายดีขึ้นอีกเท่าตัวหลังจากนั้นก็ตาม

อย่างเดียวกับปาท่องโก๋นะครับ แม้ในสมัยที่จีนถูกรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม กีดกันทางการค้าอย่างออกหน้า ระหว่างสงคราม คนไทยในเขตเมืองจำนวนมากก็ยังกินปาท่องโก๋กับกาแฟเป็นอาหารเช้าประจำทุกวัน มากกว่าคนไทยกินครัวซองต์ในทุกวันนี้ (และถ้าให้คนรุ่นผมเลือกก็จะบอกให้เอาครัวซองต์ไปห่างๆ เลย)

แต่จีนไม่เคยมีอำนาจอ่อนเอาเลย ทั้งๆ ที่ก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 19 อำนาจอ่อนของจีนนั้นระบือลือลั่นไปทั่วโลก และทั้งๆ ที่จีนแสดงอำนาจแข็ง (hard power) แก่เพื่อนบ้านทางใต้น้อยมาก และอย่างสั้นๆ ด้วยกองเรือของเจิ้งเหอเมื่อ 300 ปีมาแล้วเท่านั้น

 

อํานาจอ่อนคืออะไร ในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (อันเป็นต้นกำเนิดของแนวคิดนี้) อำนาจอ่อนหมายถึงสมรรถนะที่จะทำให้คนอื่นคล้อยตาม, เห็นดีเห็นงาม, สนับสนุน ถือเป็นพวก โดยไม่ใช้กำลังบังคับขู่เข็ญอันเป็นลักษณะสำคัญของอำนาจแข็ง

อำนาจอ่อนจึงอาจสถาปนาขึ้นได้ผ่านวัฒนธรรมซึ่งทำให้เกิดความนิยมทำตาม, ระบบคุณค่าซึ่งเป็นที่ยอมรับของคนอื่น หรือนโยบายต่างประเทศ ซึ่งอาจตอบสนองผลประโยชน์ของคนอื่น ในขณะที่อำนาจแข็งคือกำลังทางทหาร, เศรษฐกิจ, อภิสิทธิ์บางอย่างในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (เช่น สิทธิวีโตในคณะมนตรีความมั่นคง) ซึ่งเพียงแต่ขู่จะใช้อำนาจแข็งเหล่านี้ ประเทศอื่นก็อาจต้องคล้อยตามไปแล้ว (เช่น จัดอันดับอยู่ในเทียร์หนึ่ง-สอง-หรือสามในบัญชีการค้ามนุษย์ ประเทศผู้ส่งออกสินค้าบางอย่างก็ตาเหลือกแล้ว)

แม้ว่าข้าวเหนียวมะม่วงหรือปาท่องโก๋จัดเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม แต่ความนิยมบริโภคไม่ก่อให้เกิดอำนาจที่จะโน้มนำให้ประเทศอื่นคล้อยตามด้านนโยบายได้ จึงไม่ใช่อำนาจอ่อนอย่างแน่นอน

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ผลผลิตทางวัฒนธรรม, ค่านิยม หรือนโยบายต่างประเทศ โดยตัวของมันเองไม่ใช่อำนาจอ่อน แต่มันอาจเป็นสื่อนำเอาวัฒนธรรม, ค่านิยมหรือนโยบายให้เป็นที่ยอมรับในอีกสังคมหนึ่งได้

 

ที่พูดกันว่าหนังฮอลลีวู้ดคืออำนาจอ่อนของอเมริกันนั้น ที่จริงตัวของหนังเองนั้นไม่ใช่นะครับ แต่หนังฮอลลีวู้ดเป็นสื่อกลางให้แก่วัฒนธรรม, ค่านิยม และนโยบายต่างประเทศอเมริกันที่สื่อได้อย่างทรงพลังมากต่างหาก

ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ที่ตั้งอยู่บนฐานของปัจเจก ความสัมพันธ์ที่เท่าเทียมกันตราบเท่าที่สีผิวยังขาวอยู่ เสรีภาพและระบบศาลแบบอเมริกัน รวมทั้งความช่วยเหลือด้านต่างๆ ของอเมริกันเพื่อช่วยให้ประเทศอื่นสามารถปกป้องเสรีภาพแบบอเมริกันไว้ในดินแดนของตนได้ (ก็หนังบอกแล้วไงว่า เสรีภาพแบบนี้เป็นสมบัติสากลของมวลมนุษย์) ก็ล้วนเผยแพร่ไปผ่านหนังฮอลลีวู้ดทั้งนั้น

หนังเกาหลี, ญี่ปุ่น หรือละตินอเมริกาและอิตาลี ที่มักถูกอ้างว่าเป็นวัฒนธรรมอ่อนก็ไม่ต่างจากกัน คือเป็นสื่อกลางนำเอาอะไรบางอย่างที่มีเสน่ห์สำหรับคนในประเทศอื่นมานำเสนอ เช่น หนังเกาหลีเสนอความเหลื่อมล้ำอย่างสุดโต่งในสังคมที่รวยแล้ว อันเป็นปัญหาที่เกิดในสังคมกำลังพัฒนาอื่นๆ เช่นกัน (ความเหลื่อมล้ำไม่ใช่วัฒนธรรม, ระบบคุณค่า หรือนโยบายต่างประเทศแน่ แต่เป็นปัญหาร่วมกัน ดังนั้น “ปัญหาร่วม” จึงอาจเป็นสารที่นำไปสู่อำนาจอ่อนได้ ซึ่งอยู่นอกตำรา)

คนไทยดูหนังเกาหลีแล้วก็อาจชื่นชมเกาหลี ชื่นชมที่เอาสิ่งน่าเกลียดในสังคมตนเองมาเสนอได้อย่างมีศิลปะ รู้สึกเป็นมิตรกับเกาหลีอย่างไม่ทันรู้สึกตัว

 

ฉะนั้น ผมจึงคิดว่า การเอาศิลปะการแสดงของไทยไปเผยแพร่ต่างประเทศ (ผ่านตลาดหรือไม่ก็ตาม) จึงไม่ได้สร้างอำนาจอ่อนขึ้นโดยอัตโนมัติ แต่กลับขึ้นอย่างมากกับสารที่การแสดงนั้นๆ มุ่งจะสื่อ โขนอาจสื่อสารของสังคมศักดินาไทยเมื่อหลายร้อยปีมาแล้ว จะหวังให้โขนเป็นตัวกลางสื่อวัฒนธรรมไทย, ระบบคุณค่าไทย, นโยบายต่างประเทศไทย ในโลกปัจจุบัน จนสร้างอำนาจอ่อนให้แก่ไทย จึงเป็นสิ่งไม่พึงหวัง

แต่โขนก็ไม่จำเป็นต้องสื่อสารโบราณอย่างนั้นเสมอไป อันที่จริงรามายณะหรือรามเกียรติ์นั้น นับตั้งแต่วาลมิกิมาจนถึงที่กระจายไปตามประเทศต่างๆ ทั่วเอเชียตะวันออกนั้น ถูกตีความใหม่ให้เหมาะกับแต่ละสังคมหรือเหมาะแก่ชนชั้นที่สนับสนุนรามเกียรติ์ในแต่ละสังคม พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ เกิด “สาร” ใหม่ในทุกสังคมที่รามายณะแพร่ไปถึง ถ้าไม่มีอำนาจดิบอะไรในแต่ละสังคมที่จับรามเกียรติ์ให้ “หยุด” อยู่ที่เดิม รามเกียรติ์ก็อาจนำสารที่สอดรับกับอารมณ์ความรู้สึกและความคิดของคนในโลกปัจจุบันได้นับเรื่องไม่ถ้วน

เช่น ความสงสัยของทศกัณฐ์ว่าพระรามไม่ใช่อวตารของพระเจ้าจริงนั้นเป็นความสงสัยที่เป็นเหตุเป็นผลแก่คนปัจจุบันมาก คุณสมบัติของพระเจ้าคือแผลงศรได้ระเบิดระเบ้อเท่านั้นหรือ ถ้าอย่างนั้นใครมีระเบิดนิวเคลียร์ในมือก็ล้วนเป็นพระเจ้าหมด รวมทั้งเกาหลีเหนือด้วย พระเจ้าในจินตนาการของคนในโลกปัจจุบันไม่ใช่อำนาจระเบิดระเบ้อแน่ และมีคนจำนวนไม่น้อยที่ยอมตายอย่างเดียวกับทศกัณฐ์ เพราะไม่เชื่อว่าอำนาจระเบิดระเบ้อคือพระเจ้า ดังเช่นวีรชนจำนวนมากในยูเครนทุกวันนี้ เป็นต้น

ผมขอยืนยันนะครับว่า ที่พูดทั้งหมดนี้ไม่ได้หมายความว่าเราไม่ควรเอาโขนโบราณไปแสดงในต่างประเทศนะครับ มันเป็นศิลปะการแสดงที่พัฒนามาจนถึงจุดสูงสุดอันหนึ่ง ที่ควรอวดแก่ชาวโลกได้ แต่นั่นไม่เกี่ยวอะไรกับอำนาจอ่อนของไทย

 

ยังมีข้อสังเกตของนักวิชาการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอีกมากว่า อำนาจอ่อนกับอำนาจแข็งเป็นอำนาจสองด้านที่แยกออกจากกันไม่ได้ (ไม่นับคนที่บอกว่าอำนาจอ่อนไม่มีอยู่จริงเลยก็มีเหมือนกัน) แต่ผมคิดว่ามันพอจะแยกได้ อาจจะอย่างคลุมเครือสักหน่อย

ลัทธิเหมาเคยระบาดไปทั่วโลก ในแง่อำนาจอ่อน ลัทธิเหมาให้คำตอบที่เหมาะเหม็งแก่หลายสังคมในเอเชีย, แอฟริกา และละตินอเมริกา คนจนเต็มเมือง มีคนพอจะกินอยู่จำนวนน้อยซึ่งสัมพันธ์โดยตรงหรือโดยอ้อมกับศักดินา (อำนาจกดหัวตามระบอบเดิม) หรือจักรวรรดินิยม (ทุนข้ามชาติ) ถึงปฏิวัติขับไล่อำนาจตะวันตกออกไปแล้ว ก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ลัทธิเหมาเสนอการปฏิวัติแบบเหมา คือสร้างฐานในชนบท อยู่รอดในมวลมหาประชาชนซึ่งเป็นเหมือนน้ำอันเป็นที่อยู่ของปลา ทำสงครามยืดเยื้อโดยใช้ชนบทล้อมเมือง ปลดปล่อยไปพร้อมกับการรุกคืบเข้าสู่ศูนย์กลางอำนาจ สมานสามัคคีไปกับประชาชนผู้ถูกกดขี่ทั้งโลก

แต่ในแง่อำนาจแข็ง ลัทธิเหมาให้การสนับสนุนฝ่ายปฏิวัติในประเทศต่างๆ ด้วยอาวุธบ้าง, ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจบ้าง, ทุนการศึกษาในจีนบ้าง, คลื่นวิทยุนอกกำกับของรัฐบ้าง ฯลฯ ทั้งๆ ที่ในขณะนั้น (ปลายทศวรรษ 1950 ถึงกลางทศวรรษ 1970) จีนเองก็ยากจนสาหัสเหมือนกัน กำลังทหารของจีนแม้ใหญ่มหึมาแต่ก็ปราศจากความก้าวหน้าด้านอาวุธยุทธภัณฑ์ด้วยประการทั้งปวง (อ่านรายละเอียดเกี่ยวกับอิทธิพลและบทบาทของลัทธิเหมาในระดับโลกใน Julia Lovell, Maoism, A Global History)

จีนซึ่งโดยอำนาจแข็งจริงๆ ก็ไม่สู้จะแข็งเท่าไรนัก (เมื่อเทียบกับสหรัฐหรือสหภาพโซเวียต ซึ่งเป็นศัตรูของจีนทั้งคู่) แต่กลับมีอิทธิพลและบทบาทในระดับโลกผ่านลัทธิเหมาในระดับเดียวกับที่สหรัฐและสหภาพโซเวียตมี หรืออาจจะมากกว่าเสียซ้ำ

ดังนั้น จึงคลุมเครืออยู่ทีเดียวว่าจะจัดลัทธิเหมาเป็นอำนาจอ่อนหรืออำนาจแข็งกันแน่

และดังที่ทราบกันอยู่แล้ว ลัทธิเหมากลายเป็นภาระอันหนักของจีนในปัจจุบัน ซึ่งกลายเป็นมหาอำนาจระดับหนึ่งของโลก พรั่งพร้อมด้วยอำนาจแข็งทั้งทางเศรษฐกิจและกำลังทหารที่แทบไม่เป็นรองใครเลย แต่ส่วนหนึ่งของอำนาจแข็งของจีนเกิดขึ้นจากการหยุดบทบาทผู้นำการปฏิวัติโลกแบบลัทธิเหมา แต่ในขณะเดียวกันลัทธิเหมาก็สัมพันธ์อย่างแยกไม่ออกจากอำนาจนำของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ปัญหาจึงเป็นว่าจะรักษาลัทธิเหมาให้ไม่เป็นลัทธิเหมาต่อไปได้อย่างไร หรือ “เหมา” อย่างไรจึงจะไม่ “เหมา”

ในขณะเดียวกัน จีนก็สูญเสียอำนาจอ่อนที่เคยมีอย่างมหาศาลผ่านลัทธิเหมาไปพร้อมกัน ทำให้เหลือทางเลือกในการรักษาผลประโยชน์ของตนในการเมืองระหว่างประเทศน้อยลง ผมขอยกตัวอย่างกรณีทะเลจีนใต้

 

หยุดคิดเรื่องเกาะปะการังโน้นนี้เป็นของใครไปก่อน ทุกประเทศมีเอกสารประวัติศาสตร์มาอ้างได้ทั้งนั้นแหละครับ ไม่ว่าจะอย่างไรก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ทะเลจีนใต้เป็นเส้นทางเดินเรือที่สำคัญของจีน พลังงานที่ขาดไม่ได้จำนวนหนึ่งต้องอาศัยทะเลจีนใต้ไหลผ่านไปถึงแหล่งอุตสาหกรรมในชายฝั่งด้านตะวันออกของจีน ทะเลจีนใต้เป็นช่องทางเดินเรือที่นำเอาวัตถุดิบและสินค้าสำเร็จรูปเข้าสู่และออกจากแหล่งผลิตใหญ่ของจีนเช่นกัน ใครก็ตามที่เป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอยู่ชายฝั่งตะวันออกจีน ย่อมต้องการความปลอดภัยมั่นคงของตนเองในทะเลจีนใต้อย่างแน่นอน (ยังไม่พูดถึงทรัพยากรทะเลอีกหลายอย่างที่มีอยู่ในแถบนี้ ไม่ว่าเป็นแหล่งประมงขนาดใหญ่, ก๊าซและน้ำมันดิบซึ่งคาดว่าอาจมีสำรองมหาศาล)

จีนไม่ใช่ยูเครนนี่ครับ ที่จะปล่อยให้ศัตรูเช่นรัสเซียปิดทะเลดำหน้าตาเฉยได้ง่ายๆ อย่างนั้น เพราะฉะนั้น อย่าอ้างว่าทะเลจีนใต้เป็นน่านน้ำสากลที่ไม่มีใครหวงห้ามการเดินเรือเสรีได้ ในความเป็นจริงนอกกฎหมายระหว่างประเทศ เสรีภาพของทะเลหลวงนั้นต้องมีหลักประกันทางทหารรองรับด้วยเสมอ

จีนจะเสนอจุดยืนที่พอเข้าใจได้เช่นนี้แก่คนอื่นได้ก็ด้วยอำนาจอ่อนเท่านั้น แต่ในขณะนี้จีนไม่มีอำนาจอ่อนที่จำเป็นเพียงพอ (แม้ว่ามีสถาบันขงจื่อและการสนับสนุนของชนชั้นนำในบางสังคม) ทางเลือกเดียวที่เหลืออยู่คืออำนาจแข็ง เช่น สร้างสนามบินบนเกาะปะการังที่อ้างกรรมสิทธิ์ เอากองทหารไปประจำการ ส่งเรือรบไปลาดตระเวน หรือขับไล่กองเรือประมงของคนอื่นเพื่อแสดงกรรมสิทธิ์ของตนด้วยกำลัง

แน่นอน ด้วยอำนาจแข็งที่จีนมีอยู่เวลานี้ จีนย่อมได้สิ่งที่ต้องการในทะเลจีนใต้ในวันหนึ่งข้างหน้าอย่างที่ไม่มีใครขวางได้ แต่ราคาที่จีนต้องจ่ายเพื่อบรรลุความประสงค์นี้ก็สูงเหมือนกัน จะออกมาในรูปอะไรบ้างก็ยากจะเดาได้ แต่คงสูงมากกว่าการใช้อำนาจอ่อนอย่างเทียบกันไม่ได้ ทั้งในญี่ปุ่น, เวียดนาม, บรูไน, ฟิลิปปินส์, มาเลเซีย และอินโดนีเซีย

ก็เหมือนอำนาจแข็งในกรณีอื่นๆ ล่ะครับ ถามว่าได้ผลไหม ก็อาจจะได้ผล แต่ราคาสูงเสมอครับ และในบางเรื่องอาจไม่คุ้มด้วย

 

คําอธิบายอีกด้านหนึ่งของอำนาจอ่อน จะช่วยอธิบายกรณีจีนในทะเลจีนใต้ได้หรือไม่ หรือได้แค่ไหน ผมก็ไม่แน่ใจนัก คืออย่างนี้ครับ อำนาจอ่อนที่ทำให้เกิดพลังอย่างมากในการเมืองระหว่างประเทศนั้น มักเกิดจากการกระทำของประชาชน เพราะรัฐไม่ค่อยชอบใช้อำนาจอ่อนมากนัก เนื่องจากอำนาจอ่อนมักอยู่นอกความความควบคุมของรัฐ เช่น ความเท่าเทียมทางสีผิวและความเท่าเทียมทางเพศ กว่ารัฐจะมีกฎหมายออกมารองรับและผลักดันได้ ก็ต้องประท้วงกันมาไม่รู้จะกี่ปี

ทั้งนี้ รวมทั้งการเผยแพร่แนวคิดประเภทนี้ออกไปทั่วโลก จนเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางมากขึ้น (และกลายเป็นอำนาจอ่อนในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้) ก็ล้วนเป็นการกระทำของภาคประชาชนเสียเป็นส่วนใหญ่

นั่นคือเหตุผลที่รัฐเผด็จการมักไม่ค่อยมีอำนาจอ่อนในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เพราะรัฐเผด็จการกลัวและระแวงการเคลื่อนไหวอย่างอิสระของประชาชน โอกาสที่จะเกิดวัฒนธรรม, ระบบคุณค่า หรือนโยบายต่างประเทศ ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางทั่วโลกจึงเกิดขึ้นได้ยาก

นั่นอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ข้าวเหนียวมะม่วงกลายเป็นอำนาจอ่อนในเมืองไทย เพราะจะหาอะไรที่ปลอดภัยแก่เผด็จการยิ่งไปกว่ากินข้าวเหนียวมะม่วงเป็นไม่มี