มิตรภาพ…ผู้นำสหรัฐฯและญี่ปุ่น…

ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ของสหรัฐอเมริกา เดินทางถึงญี่ปุ่นค่ำวันที่ 22 พฤษภาคม หลังเสร็จสิ้นการเยือนเกาหลีใต้ในวันเดียวกันนั้น

เช้าวันรุ่งขึ้น นายไบเดน ได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระจักรพรรดินารุฮิโตะ(天皇陛下)ทรงมีปฏิสันถานราว 30 นาที นายไบเดนทูลว่าสหรัฐกับญี่ปุ่นมีสายสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นต่อกัน ญี่ปุ่นเป็นพันธมิตรที่สำคัญยิ่งของสหรัฐในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค สมเด็จพระจักรพรรดิ์ตรัสตอบว่า การมาเยือนญี่ปุ่นของท่าน-ประธานาธิบดีทำให้คาดหวังได้ถึงความสัมพันธ์อันใกล้ชิดยิ่งขึ้นอีกของทั้ง 2 ประเทศ อดีตประธานาธิบดี ทรัมป์เดินทางมาเยือนญี่ปุ่น ในเดือนพฤษภาคม 2019 ก็ได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระจักรพรรดินารุฮิโตะเช่นกัน

หลังจากนั้น เมื่อเข้าพบ นาย คิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น นายไบเดนได้ทักทายอย่างเป็นกันเองว่า…

“You’re good friend !” … แสดงความคุ้นเคยสนิทสนมยิ่ง

ภายใต้สถานการณ์ที่ทั่วโลกได้รับผลกระทบจากการรุกรานยูเครนของรัสเซีย นายคิชิดะ ย้ำว่า

การเยือนญี่ปุ่นครั้งนี้ของนายไบเดนเป็นการแสดงจุดยืนที่ชัดเจนของสหรัฐฯในการมีส่วนร่วมในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิคอย่างเข้มแข็งต่อไป

ผู้นำทั้งสองได้พูดคุยกันเกี่ยวกับสถานการณ์ยูเครน กลุ่มประเทศ G7 กับมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียที่เข้มข้นขึ้น การให้ความช่วยเหลือแก่ยูเครน เป็นต้น

การที่รัสเซียรุกรานยูเครนเป็นการสั่นคลอนระเบียบโลก การใช้กำลังเพียงฝ่ายเดียวเพื่อเปลี่ยนแปลงความปกติสุข ไม่ว่าใครก็ยอมรับไม่ได้อย่างเด็ดขาด ในสถานการณ์เช่นนี้ทั้ง 2 ประเทศจึงมุ่งมั่นให้เกิด “Free and open Indo-Pacific”(自由で開かれたインド太平洋) บนพื้นฐานของกฎหมายและร่วมกันนำพาประชาคมโลก การประชุมร่วมกันของสองผู้นำครั้งนี้จึงมีความหมายยิ่ง

พรรคแอลดีพีของญี่ปุ่นได้เสนอเพิ่มงบประมาณการป้องกันประเทศเพื่อความสามารถในการรับมือกับเกาหลีเหนือที่ยิงขีปนาวุธจรวดนำวิถีระยะไกลหลายครั้งในทะเลญี่ปุ่น ญี่ปุ่นจำเป็นต้องเสริมกำลังความเข้มแข็งในการป้องกันภัยอย่างจริงจัง และยอมรับในกำลังอาวุธนิวเคลียร์ของสหรัฐเพื่อยับยั้งการใช้กำลังอำนาจของประเทศอื่นและเพื่อป้องกันญี่ปุ่นด้วย

ญี่ปุ่นยึดมั่นหลักการ “3 ไม่เกี่ยวกับอาวุธนิวเคลียร์”(非核三原則)อย่างเคร่งครัด คือ “ไม่ครอบครอง ไม่ผลิต และไม่นำเข้ามาใช้” ญี่ปุ่นและสหรัฐฯจะร่วมกันยับยั้งการขยายตัวของการใช้อาวุธนิวเคลียร์ ภายใต้หลักการ “หยุดยั้งการขยายตัว”(拡大抑止) สหรัฐฯซึ่งเป็นพันธมิตรอาจใช้อาวุธนิวเคลียร์ เพื่อยับยั้งการแผ่ขยายอำนาจและป้องกันญี่ปุ่น โดยญี่ปุ่นอยู่ภายใต้ “ร่มเงาอาวุธนิวเคลียร์”(核の傘)ของสหรัฐฯ

ญี่ปุ่นและสหรัฐฯ เป็นพันธมิตร ร่วมมือกันรักษาความสงบเรียบร้อยและความเจริญมั่งคั่ง

ในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิคมาอย่างยาวนาน นายไบเดน จึงให้คำมั่นว่าสหรัฐฯ มีหน้าที่ต้องปกป้องญี่ปุ่นอย่างแน่นอน

เกี่ยวกับการขยายแสนยานุภาพของจีนมายังทะเลจีนตะวันออก ทะเลจีนใต้ และหมู่เกาะ

โซโลมอนในมหาสมุทรแปซิฟิค ผู้นำทั้ง 2 เห็นพ้องกันว่าไม่อาจยอมรับการใช้กำลังอำนาจ จำเป็นต้องใช้กำลังเพื่อหยุดยั้ง นายไบเดน ได้ตอบคำถามของผู้สื่อข่าวว่า จะปกป้องไต้หวันด้วยกำลังทหาร หากจีนรุกรานไต้หวันด้วย หลังจากสื่อเผยแพร่ออกไป จีนก็ออกมาตอบโต้ทันที

นาย ไบเดนได้ประกาศจัดตั้ง กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิค (IPEF)(アイペフ)ที่ได้คิดริเริ่มตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว มาเปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันที่ 23 พฤษภาคม จุดประสงค์เพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้แก่ประเทศในภูมิภาคและประโยชน์ของคนในภูมิภาค โดยมี สหรัฐฯ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย อินเดีย นิวซีแลนด์ ไทย และสมาชิกอาเซียนอื่นเข้าร่วม รวมสมาชิกทั้งหมด 13 ประเทศ

ในงานเลี้ยงอาหารค่ำซึ่งไม่ใช่แบบเป็นทางการ ได้ปรากฏภาพน่าประทับใจ นาง ยูโกะ คิชิดะ(岸田裕子)ภริยานายกรัฐมนตรี สตรีหมายเลขหนึ่งในชุดกิโมโนสีเขียวอ่อน สง่างาม ต้อนรับนาย ไบเดน และเสิร์ฟมัทฉะ ชาญี่ปุ่นในพิธีชงน้ำชา(茶道)ให้แก่นาย ไบเดน ด้วยตนเองอย่างอ่อนน้อม ให้เกียรติแขกอย่างยิ่งตามมารยาทญี่ปุ่น

นอกจากนี้ ในการดื่มฉลองร่วมกัน เนื่องจากนาย ไบเดน ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ เจ้าภาพจึงจัด เลมอน ไซเดอร์ (lemon cider) ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ของจังหวัดฮิโรชิมา ภูมิลำเนาของนาย คิชิดะมาดื่ม เจ้าหน้าที่กระทรวงต่างประเทศไปเหมาซื้อมาจำนวนมาก ทำให้ขาดจากชั้นวางไปชั่วคราว และกลายเป็นเครื่องดื่มที่ทุกคนถามหา อีกทั้งอาหารที่รับรองก็มีเมนูเนื้อจากจังหวัดฮิโรชิมาด้วย ท่ามกลางบรรยากาศอบอุ่นเป็นกันเอง

วันรุ่งขึ้น นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย นาย แอนโทนี อัลบานีส ที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งหมาดๆ และ นาย นเรนทระ โมที นายกรัฐมนตรีอินเดีย ได้ร่วมประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจและความมั่นคง (QUAD)(クアッド)อันมี 4 ประเทศสมาชิก ร่วมกับสหรัฐฯ และญี่ปุ่น

นาย ไบเดน ย้ำว่าเราต่างเป็นประเทศใหญ่ที่มีพื้นที่ติดกับมหาสมุทรแปซิฟิค จึงควรถือเป็นหน้าที่ในการรักษาระเบียบ และความมั่นคงในภูมิภาคจากการที่จีนพยายามขยายอำนาจมาในภูมิภาคมากขึ้น นอกจากนี้ยังกดดันอินเดียทางอ้อม ที่ไม่แสดงท่าทีชัดเจนต่อต้านรัสเซียกรณีรุกรานยูเครน อินเดียเพียงแสดงความเห็นด้วยว่าการรุกรานเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง

การเยือนญี่ปุ่นของประธานาธิบดี ไบเดน แสดงถึงการมีส่วนร่วมอย่างจริงจังและเข้ามามีบทบาทเป็นผู้นำในภูมิภาคนี้ของสหรัฐฯ ร่วมกับพันธมิตรญี่ปุ่น มหาอำนาจในเอเชีย รักษากฎระเบียบและความมั่นคงของโลก

ญี่ปุ่นจะเป็นเจ้าภาพจัดประชุมสุดยอดกลุ่ม G7 ประจำปี 2023 ที่ฮิโรชิมา ฮิโรชิมานอกจาก

จะเป็นภูมิลำเนาของครอบครัวคิชิดะและเป็นเขตเลือกตั้งของนาย คิชิดะแล้ว ยังเป็นสัญญลักษณ์ของการต่อต้านอาวุธนิวเคลียร์ด้วย

เมื่อมหามิตรฝ่ายหนึ่งรวมตัวกันอย่างกลมเกลียว อีกฝ่ายย่อมไม่อยู่นิ่งเฉย ต้องตอบโต้ใน ทันที จีนและรัสเซียส่งเครื่องบินรบ 4 ลำ บินเฉียดมาข่มขวัญญี่ปุ่นเมื่อเสร็จสิ้นการประชุม และเช้าตรู่วันที่ 25 เกาหลีเหนือซึ่งน่าจะกำลังวุ่นอยู่กับการรับมือการแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็มิวายแสดงแสนยานุภาพให้ปรากฏ ได้ยิงขีปนาวุธวิถีไกลและใกล้เข้ามาในทะเลญี่ปุ่นอีก 3 ครั้งติดๆกัน

ความหวังที่จะเห็นความสงบสุขในภูมิภาคนี้ยังมีแน่นอน…

…“ขอบคุณ ฟุมิโอะ(文雄)ที่ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น” …

นายไบเดนเรียกชื่อนาย คิชิดะ อย่างสนิทสนม