เทศมองไทย : ไทย-ฟิลิปปินส์ กับความมั่นคงของอาเซียน

เมื่อต้นเดือนกันยายน ข้อเขียนของ ประสันธ์ พาราเมสวารัน แห่ง “เดอะ ดิโพลแมต” ตั้งข้อสังเกตเรื่องความเคลื่อนไหวทางด้านการทหารที่เกี่ยวเนื่องระหว่างไทยกับฟิลิปปินส์ไว้น่าสนใจ

โดยเฉพาะในเรื่องการจัดรูปแบบความสัมพันธ์ใหม่ ที่ทำให้การประสานงานด้านความมั่นคงทวิภาคียกระดับขึ้นอย่างชัดเจน

จุดเริ่มต้นของความร่วมมือดังกล่าว มาจากเมื่อครั้งที่ โรดริโก ดูแตร์เต ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์พบปะกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทยที่กรุงเทพฯ เมื่อเดือนมีนาคม

และมีการประกาศ “กระชับความร่วมมือ” ด้านความมั่นคงระหว่างกันให้สูงขึ้นผ่านมาตรการหลายๆ ประการ ที่รวมถึงการ “แบ่งปันข้อมูลข่าวสาร” และ “แลกเปลี่ยนข่าวกรอง” ซึ่งกันและกันที่จะเป็นไปได้โดยมีประสิทธิภาพก็ต่อเมื่อมีการจัดตั้ง “คณะกรรมการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทางทหาร” หรือ “เจซีเอ็มซี” ขึ้นมาอย่างเป็นรูปธรรม

“เจซีเอ็มซี” ที่ว่านี้มีการพูดถึงกันมานานหลายปี ตั้งแต่ก่อนยุคสมัยของดูแตร์เตด้วยซ้ำไป แต่ถึงจะชะลอช้ามาไม่น้อย ประสันธ์ชี้ว่าในที่สุด ทั้ง 2 ประเทศก็ตกลง “ลงนาม” ใน “พิธีสารอ้างอิง” เพื่อการจัดตั้ง “เจซีเอ็มซี” กันขึ้นเมื่อวันที่ 17 เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

ผู้ที่ลงนามในเอกสารดังกล่าวคือ คาร์โดโซ เอ็ม. ลูนา ปลัดกระทรวงกลาโหมฟิลิปปินส์ และ พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล ปลัดกระทรวงกลาโหมของไทย มี เดลฟิน ลอเรนซานา รัฐมนตรีกลาโหมฟิลิปปินส์ กับ ธนาธิป อุปัติศฤงค์ เอกอัครราชทูตไทยประจำฟิลิปปินส์เป็นสักขีพยาน

 

ประสันธ์ชี้ว่า “เจซีเอ็มซี” ถือเป็นความเคลื่อนไหวที่ “มีนัยสำคัญ” อย่างยิ่ง

เนื่องจากเป็นการทำให้ความร่วมมือทางด้านการทหารและความมั่นคงที่เคยรุดหน้ามาเป็นขั้นเป็นตอน “แล้วเสร็จสมบูรณ์” ลงสำหรับทั้งสองประเทศ

โดยไทยกับฟิลิปปินส์เคยลงนามความร่วมมือระหว่างกองทัพเรือของทั้ง 2 ประเทศในปี 2012

พอถึงปี 2015 ก็ทำความตกลงเดียวกันระหว่างกองทัพบกของทั้ง 2 ประเทศ และเมื่อปี 2016 ที่ผ่านมาก็มีความตกลงความร่วมมือระหว่างกองทัพอากาศของไทยกับฟิลิปปินส์ขึ้นตามมา

ในการประชุมคณะกรรมการเจซีเอ็มซี เป็นนัดปฐมฤกษ์หลังพิธีลงนามนั้น ทั้งสองฝ่ายถกกันถึงความร่วมมือด้านกลาโหมทวิภาคีเท่าที่มีอยู่ หารือกันต่อเนื่องไปในเรื่องการก่อการร้าย, ความมั่นคงทางทะเล การให้ความช่วยเหลือเพื่อมนุษยธรรม และการบรรเทาหายนภัย

ก่อนที่จะถกกันถึงแนวทางที่จะกระชับความสัมพันธ์ให้ต่อเนื่องและแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น ทั้งยังแตะไปถึงเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการทหาร อาทิ เรื่องการวิจัยและพัฒนา กับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอีกด้วย

ไม่มี “เรื่องที่ต้องปฏิบัติ” แถลงเป็นรูปธรรมตามมา ซึ่งก็ไม่แปลก เพราะเป็นเพียงการประชุมร่วมกันนัดแรก

ประเด็นน่าสนใจอยู่ตรงที่ว่า ไทยกับฟิลิปปินส์ทำงานร่วมกันด้านความมั่นคงและการทหารในภูมิภาคมานานและมีความร่วมมือด้วยกันอยู่ในหลายระดับอยู่ก่อนแล้ว

 

ในระดับภูมิภาค ไทยกับฟิลิปปินส์ก็เป็นสมาชิกของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน และมีส่วนร่วมอยู่ในความร่วมมือด้านความมั่นคงน้อยใหญ่ในอาเซียนอยู่ก่อนแล้ว ตัวอย่างเช่น ไทยเองก็เป็นผู้ผลักดันให้มีการจัดตั้ง “ศูนย์เพื่อการแพทย์ทหารแห่งอาเซียน” หรือ “เอซีเอ็มเอ็ม” ขึ้นเมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้ว

ในขณะที่ฟิลิปปินส์เองก็เป็นผู้นำในการเรียกร้องให้จัดตั้ง “คณะทำงานด้านความมั่นคงทางไซเบอร์” ขึ้นไว้เป็นส่วนหนึ่งของการประชุมระดับรัฐมนตรีกลาโหมของอาเซียนบวกคู่เจรจา (เอดีเอ็มเอ็มพลัส) ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากสมาชิกในเดือนมิถุนายนปีที่ผ่านมาเช่นกัน

ในระดับโลก ไทยกับฟิลิปปินส์ก็เป็น “พันธมิตรตามสนธิสัญญา” ของสหรัฐอเมริกาด้วยกันทั้ง 2 ประเทศ มี “ความกังวลร่วม” อยู่เหมือนๆ กันหลายอย่าง ตั้งแต่เรื่องการต่อต้านการก่อการร้าย และเรื่องอาชญากรรมข้ามชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การค้ายาเสพติดและการลักลอบค้ามนุษย์

ในความเห็นของผู้เขียน ความท้าทายด้านความมั่นคงและการทหารในหลายปีมานี้ไม่เพียงขยายตัวมากขึ้นยังหลากหลายมากขึ้นด้วยอีกต่างหาก ความจำเป็นในการต้องเพิ่มเติมความร่วมมือระหว่างกันย่อมขยายขึ้นเป็นเงาตามตัว โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศที่ “คิดไปในทางเดียวกัน” เพื่อให้เกิด “พลัง” ในยามที่สถานการณ์ต้องการ

ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ ขอให้ “เลือกข้าง” ถูกเมื่อสถานการณ์วิกฤตเช่นนั้นมาถึงก็แล้วกัน!