วรศักดิ์ มหัทธโนบล : จักรวรรดิในกำแพง : โหมโรง (1)

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

ท่ามกลางซากปรักหักพังของบ้านเมืองอันเนื่องมาแต่สงครามที่ยาวนานหลายร้อยปี รัฐฉินผู้มีชัยเหนือรัฐทรงอิทธิพลทั้งหมดได้สถาปนาราชวงศ์ฉินขึ้น พร้อมกันนั้นกษัตริย์ของรัฐนี้ก็ตั้งตนขึ้นเป็นปฐมจักรพรรดิแห่งฉิน (ฉินสื่อฮว๋างตี้) เมื่อราว 2,200 ปีก่อน

และเป็นปฐมบทที่นำจีนไปสู่การเป็นจักรวรรดิแรกของประวัติศาสตร์จีน หลังจากที่ปล่อยให้ความคิดเรื่องจักรวรรดิก่อตัวขึ้นมานานหลายร้อยปีก่อนหน้านั้น

ควรกล่าวด้วยว่า แม้ความคิดเรื่องจักรวรรดิจะก่อตัวมานานแล้วก็จริง แต่โดยสารัตถะที่ผู้นำรัฐต่างๆ คิดกันเป็นเบื้องต้นแล้วกลับคือ จะทำอย่างไรให้ตนสามารถรวบรวมจีนเป็นแผ่นดินเดียวกันได้สำเร็จ แต่ความคิดที่ว่าหากรวบรวมได้แล้วจะทำอย่างไรต่อไปนั้น กลับมิได้ปรากฏชัดเจนในเชิงนโยบายมากนัก

ข้อสังเกตนี้นับเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เพราะแผ่นดินอันกว้างใหญ่ไพศาลที่ปกคลุมไปด้วยพลังทางการเมืองของรัฐต่างๆ นั้น ลำพังเพียงคิดที่จะรวมเอาพลังเหล่านั้นให้มาอยู่ภายใต้อำนาจของรัฐรัฐเดียว ย่อมมิใช่เรื่องง่ายอยู่แล้ว

ดังนั้น ที่จะคิดไปถึงการประกาศนโยบายให้ชัดเจนจึงย่อมเป็นเรื่องที่เร็วเกินไป โดยเฉพาะเมื่อแต่ละรัฐต่างก็ต้องเผชิญศึกในระหว่างกันเองแทบจะตลอดเวลา

จากเหตุดังกล่าว เมื่อรัฐฉินเป็นผู้กำชัยชนะจนตั้งจักรวรรดิได้แล้ว สิ่งที่จักรวรรดิฉินให้ความสำคัญเป็นเรื่องแรกๆ จึงคือ จะทำอย่างไรจึงจะปกป้องจักรวรรดิให้อยู่รอดได้ยาวนานเป็นหมื่นปี ให้สมกับเจตนารมณ์ของผู้เป็นปฐมจักรพรรดิ ที่ว่าเมื่อมีปฐมจักรพรรดิแล้วก็ย่อมต้องมีจักรพรรดิองค์ต่อๆ ไป และจักเป็นเช่นนี้ระเรื่อยไปนานนับหมื่นปี

ด้วยเหตุนี้ สิ่งที่จักรวรรดิฉินทำเป็นเรื่องแรกๆ จึงคือ กำแพง

 

กําแพงที่จักรวรรดิฉินสร้างขึ้นนั้น ส่วนหนึ่งคือสร้างต่อจากกำแพงเดิมของรัฐต่างๆ ที่มีอยู่ก่อนหน้านี้ อีกส่วนหนึ่งเป็นกำแพงที่สร้างขึ้นมาใหม่ จนเมื่อสร้างแล้วเสร็จกำแพงนี้จึงมีความยาวนับเป็นหมื่นหลี่ (ลี้) หรือหลายพันกิโลเมตร

แน่นอนว่า ระหว่างที่กำแพงถูกสร้างขึ้นนั้น สิ่งที่จักรวรรดิฉินดำเนินควบคู่กันไปจึงคือนโยบายต่างๆ ที่ทยอยกันออกมา ด้วยคาดหวังว่านั่นคือสิ่งที่จะทำให้จักรวรรดิเสถียรสถาพรยั่งยืนต่อไป

แต่ความคาดหวังนี้กลับมีลมหายใจที่แสนสั้นเพียงกว่าสิบปี จักรวรรดิฉินก็มีอันต้องล่มสลายไปโดยมีราชวงศ์ฮั่นเข้ามาเป็นจักรวรรดิแทน

การเข้ามาแทนที่ของจักรวรรดิฮั่นยังคงอยู่ในราว 2,200 ปีก่อน แต่ที่ต่างไปจากฉินก็คือจักรวรรดิฮั่นสามารถตั้งตนอยู่ได้ยาวนานกว่า 400 ปี การตั้งตนได้ยาวนานเช่นนี้ย่อมหมายถึงว่าจักรวรรดิฮั่นต้องวางรากฐานเอาไว้ได้ดี และรากฐานนี้เองที่ต่อมาได้กลายเป็นสดมภ์หลักให้กับจักรวรรดิจีนที่มาจากราชวงศ์ในชั้นหลังๆ

หากจะมีการเปลี่ยนแปลงอันใดที่ต่างไปจากสดมภ์นี้ก็คงเป็นเรื่องของรายละเอียด แต่ที่เปลี่ยนจนต่างจากสดมภ์นี้อย่างหน้ามือเป็นหลังมือก็มีอยู่ด้วยเช่นกัน ชั่วอยู่แต่ว่าเป็นช่วงเวลาสั้นๆ เท่านั้น และมิได้สั่นคลอนสดมภ์เดิมจนมอดสลายไป

 

รากฐานที่มั่นคงจนกลายเป็นสดมภ์ดังกล่าวย่อมมิใช่หลักนโยบายแต่เพียงเรื่องเดียว แต่ยังหมายรวมไปถึงหลักการทางการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม ตลอดจนหลักคิดในเชิงปรัชญาที่สำคัญและอยู่ในกระแสหลัก

อย่างไรก็ตาม สดมภ์ที่ทำให้จักรวรรดิดำรงไปได้ย่อมอยู่นอกเหนือเงื่อนปัจจัยอื่นๆ ที่มีผลอย่างมากต่อการล่มสลายของจักรวรรดิเอง เงื่อนปัจจัยที่ว่านี้โดยหลักแล้วมักมาจากพฤติกรรมของตัวชนชั้นนำเองประการหนึ่ง และจากภัยคุกคามที่เป็นบรรดาชนชาติต่างๆ ที่มิใช่ชนชาติฮั่น (จีน) อีกประการหนึ่ง

กล่าวโดยสรุปแล้ว รากฐานที่มั่นคงจนกลายเป็นสดมภ์ให้แต่ละราชวงศ์ยึดเหนี่ยวเพื่อให้จักรวรรดิดำรงอยู่ได้นั้น แท้จริงแล้วก็คือ กระบวนการต่างๆ ที่ทำให้ราชวงศ์หนึ่งๆ สามารถตั้งตนเป็นจักรวรรดิขึ้นมาได้ และเมื่อเป็นแล้วจะทำอย่างไรให้จักรวรรดิมีความมั่นคงได้ยาวนาน

หรือที่งานศึกษานี้เรียกว่า “จักรวรรติยาภิวัตน์” (imperialization)

ส่วนเงื่อนปัจจัยที่ทำให้จักรวรรดิของแต่ละราชวงศ์ต้องล่มสลายลง จากนั้นก็มีราชวงศ์ใหม่ก้าวขึ้นมาเป็นจักรวรรดิแทนก็ดี หรือนำจีนไปสู่ความขัดแย้งและสงครามที่กินเวลายาวนานหลายสิบหรือหลายร้อยปี จนกว่ารัฐใดจะได้รับชัยชนะและตั้งราชวงศ์ของตนขึ้นมาเป็นจักรวรรดิใหม่ก็ดี ล้วนคือเงื่อนปัจจัยที่ซ้ำรอยอยู่ในประวัติศาสตร์จีนเป็นวงจร

ซึ่งในที่นี้จะเรียกสภาพวงจรเช่นนี้ว่า “วัฏจักรวรรดิ” (imperial cycle)

พัฒนาการที่มีลักษณะวัฏจักรวรรดินี้ดำรงอยู่ในสังคมจีนจนยากที่จะไถ่ถอนให้เป็นอื่น กระทั่งกล่าวได้ว่า วัฏจักรวรรดิแทบจะเป็นความจริงสำหรับจักรวรรดิจีนก็ว่าได้

จักรวรรติยาภิวัตน์และวัฏจักรวรรดิของจีนย่อมมีรายละเอียดและความสลับซับซ้อนโดยตัวของมันเอง และคงไม่มีผิดนักหากจะกล่าวว่านี่คือ บุคลิกลักษณะของจักรวรรดิจีน

ดังนั้น ไม่ว่าจีนจะตกอยู่ในภาวะใด ภาวะนั้นก็ยังคงเกิดขึ้นและดับไปภายในกำแพงที่จีนสร้างขึ้น หามีชนกลุ่มใดที่อยู่โพ้นทะเลไกลออกไปเข้ามาก้าวก่ายไม่ ตราบจนเมื่อจีนต้องเผชิญกับยุคสมัยใหม่นั่นแล้ว ชนจากโพ้นทะเลที่ไกลออกไปจึงได้ปรากฏตัวขึ้น

เวลานั้นจักรวรรดิที่ตั้งอยู่ภายในกำแพงมานานนับพันปีจึงสั่นสะเทือน ก่อนที่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่จะมาถึง

สิ่งอันได้พรรณนามานี้เป็นเพียงภาพโดยกว้าง และงานศึกษานี้ถือเป็นภาระที่จะได้ศึกษาต่อไป แต่กล่าวเฉพาะในบท “โหมโรง” นี้ นอกจากจะอธิบายเค้าโครงการศึกษาดังงานศึกษาทั้งหลายพึงกระทำกันแล้ว

สิ่งที่อยู่นอกเหนือไปจากนี้ก็คือ การให้อรรถาธิบายในประเด็นประเทศจีนกับชนชาติจีน ชนชาติที่มิใช่ฮั่น และภาษาจีนในฐานะองค์ประกอบของจักรวรรดิ เพื่อให้เป็นพื้นฐานที่จะเข้าใจว่า ในยามที่จีนเป็นจักรวรรดิก็ดีหรือไม่เป็นก็ดีนั้น ประเด็นเหล่านี้มีปฏิสัมพันธ์ที่สำคัญอย่างไรบ้าง ก่อนที่จะนำไปสู่รายละเอียดอันพิสดารในชั้นหลังๆ ต่อไป

 

เจตนารมณ์

สิ่งที่พึงกล่าวเป็นเบื้องต้นเกี่ยวกับความมุ่งหมายของงานศึกษานี้ก็คือ งานที่ได้ศึกษาไปก่อนหน้านี้คือ จีนยุคบุราณรัฐ ที่เคยตีพิมพ์เป็นตอนๆ ในมติชนสุดสัปดาห์นั้น เป็นงานที่ศึกษากำเนิดของรัฐจีน และเมื่อถือกำเนิดขึ้นแล้ว รัฐนี้นำพาตนเองก้าวสู่จักรวรรดิเป็นครั้งแรกได้อย่างไร

ดังนั้น งานชิ้นดังกล่าวจึงได้ย้อนกลับไปถึงยุคดึกดำบรรพ์ เพื่อชี้ให้เห็นรอยเชื่อมต่อระหว่างยุคดึกดำบรรพ์กับยุคที่รัฐได้ถือกำเนิดขึ้นแล้ว ว่ามีพัฒนาการมาอย่างไร และด้วยพัฒนาการนี้จะทำให้เข้าใจถึงที่มาที่ไปของจักรวรรดิจีนตามมา

เหตุการณ์ในงานชิ้นนั้นจึงสิ้นสุดลงเมื่อจักรวรรดิจีนได้ถือกำเนิดขึ้นเมื่อกว่า 2,200 ปีก่อนโดยราชวงศ์ฉิน และเมื่อศึกษาเรื่องจักรวรรดิในกำแพง ในขณะนี้ งานชิ้นหลังนี้จึงต่อเนื่องจากงานเรื่อง จีนยุคบุราณรัฐ ที่กลายเป็นงานชิ้นแรกไปโดยปริยาย

หรืออีกนัยหนึ่งคือ จีนยุคบุราณรัฐ ก็คือฐานของจักรวรรดิในกำแพง อันเป็นงานที่ศึกษาประเด็นจักรวรรดิจีนโดยตรง

การศึกษาเกี่ยวกับจักรวรรดิจีนนั้น อาจทำได้หลายทาง แต่จุดร่วมหนึ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือ การศึกษาถึงเรื่องราวความเป็นไปผ่านแต่ละราชวงศ์ ว่าราชวงศ์หนึ่งๆ ของจีนที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงได้สร้างรัฐของตนขึ้นมาอย่างไร และเมื่อสร้างขึ้นมาแล้วราชวงศ์นั้นทำให้รัฐของตนอยู่อย่างมั่นคงได้อย่างไร

แน่นอนว่า ความมั่นคงที่ว่านี้ย่อมมีองค์ประกอบหลายประการด้วยกันไม่ว่าจะเป็นนโยบายทางการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม นโยบายเหล่านี้แม้จะสร้างให้รัฐได้เกิดขึ้นแล้วก็จริง แต่ก็มิแน่ว่าราชวงศ์นั้นๆ จะสามารถตั้งตนให้มั่นคงได้ยาวนานเสมอไป เพราะบางราชวงศ์สามารถตั้งตนได้ยาวนานหลายร้อยปี บางราชวงศ์ก็ตั้งตนอยู่ได้สิบกว่าปีหรือไม่กี่สิบปี

ดังนั้น การตั้งตนอยู่ได้นานหรือไม่นานนี้ ในด้านหนึ่งย่อมฉายให้เห็นภาพที่เป็นจักรวรรดิไปด้วย ว่ามีความชัดเจนมากน้อยเพียงใด