พู่ระหงและชบาหนู (ชบาตอนที่ 2) / สมุนไพรเพื่อสุขภาพ

สมุนไพรเพื่อสุขภาพ

โครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งพาตนเอง

มูลนิธิสุขภาพไทย

www.thaihof.org

 

พู่ระหงและชบาหนู

(ชบาตอนที่ 2)

 

ชบา มีดีมากกว่าไม้ประดับ

เป็นเนื้อหาความรู้ในตอนที่ผ่านมา ที่แสดงให้เห็นว่าชบาเป็นไม้สมุนไพรที่มีการใช้ประโยชน์หลายอย่างในหลายประเทศ

แต่ในภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยไม่นิยมมากนัก มีแต่ความรู้ของหมอพื้นบ้านที่ได้รวบรวมเก็บไว้ และสัญญาว่าจะเล่าถึงตำรับยาของหมอพื้นบ้านภาคใต้ในฉบับนี้ ซึ่งเป็นตำรับยาของนายสวัสดิ์ จิตพรหม เจ้าของตำรับยาแก้ไข้ทับระดู

ประกอบด้วยตัวยา ดังนี้

1) หญ้าใต้ใบทั้ง 5 หนัก 2 บาท

2) หญ้าครุนทั้ง 5 หนัก 2 บาท

3) ใบชบาดอกแดง หนัก 2 บาท

นำสมุนไพรทั้งหมดตากแห้ง แล้วนำมาต้มน้ำ 3 ส่วนเอา 1 ส่วน สามารถต้มซ้ำกินจนยาจืด กินครั้งละ 1-2 แก้วเป๊ก

หรือนำสมุนไพรแห้งทั้งหมดบดเป็นผงมาผสมน้ำอุ่นกิน โดยใช้ผงยา 1-2 ช้อนชา ผสมน้ำอุ่น 1 แก้ว

ทั้งยาต้มและยาผงให้กินวันละ 3 เวลาก่อนอาหาร

 

คราวนี้มาเรื่องต่อว่า ชบายังมีอีก 2 ชนิด คือ พู่ระหง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Hibiscus schizopetalus (Mast.) Hook.f. และชบาหนู ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Malvaviscus arboreus Dill. ex Cav.

หากพิจารณาจากชื่อวิทยาศาสตร์ก็พบว่าพู่ระหงอยู่ในสกุลเดียวกับชบา ซึ่งมีชื่อว่า Hibiscus rosa-sinensis L.

ดังนั้น แต่เดิมจึงเกิดความเข้าใจผิดคิดว่าเป็นชนิดเดียวกับชบา ซึ่งมีรูปร่างต่างกันไป แต่เมื่อศึกษาเชิงลึกในระดับกายวิภาคและดีเอ็นเอพบว่า ทั้งชบาและพู่ระหงเป็นไม้คนละชนิด ส่วนชบาหนูมีสกุลที่แตกต่างออกไปจากชบา และถิ่นกำเนิดของไม้ทั้ง 3 ชนิดนั้นอยู่คนละที่

ชบามีถิ่นกำเนิดอยู่ในแถบเอเชีย

พู่ระหงมีถิ่นกำเนิดในแอฟริกา

ส่วนชบาหนูมีถิ่นกำเนิดอยู่ในอเมริกาใต้ ลักษณะโครงสร้างของดอกไม้ทั้ง 3 ชนิดแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดเจน

พู่ระหง มีชื่อสามัญว่า Fringed hibiscus, Coral Hibiscus, Japanese Lantern, Spider gumamela ส่วนที่มาเลเซียเรียกว่า Bunga Raya ชื่อท้องถิ่นอื่นๆของไทยมีหลายชื่อ เช่น ชุบบาห้อย (ปัตตานี) พู่ระหง (กรุงเทพฯ) หางหงส์ (พายัพ) พู่ระโหง พู่เรือหงส์ หางหงส์ (ภาคกลาง) เป็นต้น

มีรายงานในเอกสารบางชิ้นกล่าวว่า แต่เดิมเราจะเรียกว่า “พู่เรือหงส์” ทั้งนี้ เนื่องจากลักษณะของดอกมีเกสรยื่นห้อยออกมาเหมือนพู่ที่ยื่นออกมาจากปากของเรือหงส์ แล้วเพี้ยนมาเป็น “พู่ระหง”

 

เนื่องจากลักษณะของต้นพู่ระหงจะคล้ายต้นชบามาก การนำไปใช้ประโยชน์ทางยาจึงเข้าใจว่าน่าจะเป็นแบบเดียวกัน ดังจะเห็นว่าเอกสารหลายฉบับรายงานว่า ใบและรากพู่ระหงใช้เป็นยารักษาอาการไข้ในเด็กและใช้เป็นยารักษาอาการเจ็บคอ และอาการไอ

คนพื้นเมืองในแอฟริกาใช้ส่วนของใบมาตำพอแหลกใช้ใส่แผล ฝี

คนไทยสมัยก่อนนิยมนำดอกพู่ระหงมาใช้สระผม เช่นเดียวกับการใช้ดอกอัญชันและผลมะกรูดย่างไฟ โดยเชื่อว่าจะช่วยทำให้ผมดกดำ ผมไม่ร่วงและแตกปลาย รากของต้นพู่ระหงนิยมนำมาเผาไฟใช้ในการทำน้ำตาลเมาหรือเหล้า โดยเชื่อว่าจะได้น้ำตาลเมาหรือเหล้าที่มีคุณภาพสูงและแรงขึ้น

ชาวไทยถือว่าต้นพู่ระหงเป็นไม้มงคลเหมือนเรือสุพรรณหงส์ หากปลูกเป็นรั้วบ้านก็จะนำแต่สิ่งที่เป็นมงคลและให้บ้านนั้นมีฐานะดีดั่งเศรษฐี

สำหรับงานวิจัยเชิงลึกจากประเทศมาเลเซียแสดงให้เห็นว่า สารสกัดจากพู่ระหงมีคุณสมบัติคล้ายกับสารสกัดจากชบา โดยช่วยต้านการอักเสบ ลดความปวดและลดน้ำตาลในเลือด

มีรายงานจากมหาวิทยาลัยไคโร อียิปต์พบคุณสมบัติใหม่ของพู่ระหงว่ามีคุณสมบัติในการต้านไวรัสและแบคทีเรียด้วย

ในกลุ่มของชบาหนูในประเทศไทยมี 2 ชนิด คือ

1) ชบาหนู (Malvaviscus arboreus Dill. ex Cav.) ที่มีชื่อสามัญว่า Wax mallow, Turk’s cap (mallow), Turk’s turban, sleeping hibiscus, manzanilla, manzanita (de pollo), ladies’ teardrop และ Scotchman’s purse มีชื่อท้องถิ่นในไทยว่า ชบาแคระ

และ 2) ชบาหนู อีกชนิดเรียกว่าชบาร่มหรือชบาหลอด ชื่อสามัญคือ Sleeping Hibicus, Turk’s cap มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Malvaviscus penduliflorus Moc. & Sess? ex DC. ในการใช้ประโยชน์นั้นพบว่ามีการกินผลดิบของชบาหนูโดยคนพื้นเมืองในอเมริกาใต้ดื่มน้ำคั้นจากผลดิบ มีรสเปรี้ยวอมหวาน เด็กๆ ชอบมาก แต่ผู้ใหญ่ไม่ชอบเพราะมีลักษณะเป็นเมือกๆ

ประโยชน์ทางยาสมุนไพร โคนต้นนำมาบดทารักษาแผลไฟไหม้ ในเม็กซิโกใช้ดอกเป็นยาต้มรักษาโรคหลอดลมอักเสบ ลดไข้ แก้การอักเสบทางเดินอาหาร เป็นยาระบายและใช้เป็นน้ำยากลั้วคอแก้เจ็บคอ ในกัวเตมาลา นำใบมาต้มแก้โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ ท้องร่วง โรคกระเพาะ และเจ็บคอ

นอกจากนี้ยังมีการนำเอาใบมาต้มหรือหมักกับผมทำให้นุ่มและเป็นมัน

ส่วนในเม็กซิโกนิยมนำเปลือกจากลำต้นมาฟั่นเป็นเชือก เพราะมีความเหนียวและแข็งแรงทนทาน สำหรับการใช้ประโยชน์จากชบาร่มหรือชบาหลอด มีรายงานเพียงใช้เป็นไม้ประดับและใช้เป็นอาหารสัตว์เท่านั้น

ไม่น่าเชื่อก็ต้องเชื่อกันว่าทั้งชบา พู่ระหง และชบาหนู ที่เป็นไม้ต่างถิ่นแต่เข้ามาอยู่ในเมืองไทยจนกลายเป็นไม้ที่เราคุ้นเคยนี้ เป็นไม้ที่ขยายพันธุ์ง่าย สวยงามและมีศักยภาพพัฒนาเพื่อประโยชน์สุขภาพคนไทย •