ที่อาศัยแห่งคาถาทั้งหลาย / เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

 

ที่อาศัยแห่งคาถาทั้งหลาย

 

คุณไมเคิล ไรท ผู้ล่วงลับ ปราชญ์ภาษาไทย ชาวอังกฤษ ผู้มีชื่อไทยว่า เมฆ มณีวาจา เคยยื่นแผ่นกระดาษเขียนลายมือภาษาอินเดียโบราณลักษณะคล้าย “ตัวขอม” บอกว่า

“นี่คืออักษรปัลลวะว่าเป็นต้นเค้าของอักษรไทย”

จริงด้วย เพราะรูปแบบเหมือนตัวอักษรทั้งพม่า มอญ เขมร ลาว ไทย คุณไมเคิล ไรทบอกว่า อักษรนี้กำเนิดจากอินเดียใต้ เก่าแก่ที่สุดก่อนจะมีตัวหนังสือใช้กันในประเทศพื้นถิ่นนี้

ดูแล้วคล้ายตัวอักษรในศิลาจารึก

 

นั่นคือความสำคัญชิ้นหนึ่งแล้ว สำคัญต่อมาคือใจความของอักษรปัลลวะนั้นอ่านว่า

เย ธัมมา เหตุปภวา

เตสังเหตุม ตถาคะโต

เตสัญจะโย นิโรโธจะ

เอวังวาที มหาสะมะโณ

แปลตามลำดับบรรทัดว่า

สิ่งใดเกิดแก่เหตุ

พระองค์ตรัสเหตุนั้น

พร้อมทั้งความดับซึ่งเหตุนั้นด้วย

พระองค์กล่าวเพียงเท่านี้

ศักดิ์สิทธิ์ของทั้งอักษรและความหมายนี้นี่คือ “คาถาพระอัสสชิ” หนึ่งในพระเบญจวัคคีย์ผู้ฟังธรรมแรกของพระพุทธองค์ เป็นคำกล่าวของพระอัสสชิ

เล่าว่ามีผู้ถามพระอัสสชิเป็นใจความทำนองว่า ผู้ใดเป็นอาจารย์ท่านและอาจารย์ของท่าน มีใจความแห่งธรรมที่สอนว่าอย่างไร พระอัสสชิจึงกล่าวถ้อยคำที่เป็นดังถาคานี้ขึ้น

ซึ่งรวมไว้ซึ่งหัวใจของการปฏิบัติธรรมไว้ด้วยพร้อมสรรพโดยนัยนี้

สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ยกเว้นอะไรเลย ล้วนเกิดจากเหตุ หรือที่เรียกว่า มีเหตุเป็นแดนเกิดนี่แหละ สำคัญสุด ด้วยมันล้วนส่งผลขึ้นเป็นสรรพสิ่งนั้นๆ เพราะฉะนั้น การเข้าไปเกี่ยวข้องกับมันจึงต้องรู้จักและทำความเข้าใจให้ถึงพร้อมคือทั้งเหตุและผลอันประกอบอยู่

สัจธรรมสูงสุดของพุทธศาสนาคือความ “ดับทุกข์” โดยเฉพาะคือทุกข์ที่จิต ฉะนั้น ต้นเหตุแห่งทุกข์จึงเป็นการดับทุกข์ได้แท้จริงดังธรรมในพระอริยสัจ 4 นั้น

พระองค์ผู้เป็นสมณะกล่าวไว้เพียงเท่านี้ นี่คือวรรคท้ายแห่งคาถาคือ

เอวังวาที มหาสะมะโณ

 

ศักดิ์สิทธิ์และเสน่ห์สำคัญของพระคาถานี้นอกจากอักษรปัลลวะต้นเค้าอักษรไทยและใจความที่เป็นดั่งหัวใจแห่งแนวทางปฏิบัติธรรมในพุทธศาสนาแล้ว

ทุกวรรคของพระคาถายังคงวลีแปดคำ ดังพระคาถาอันเป็นพุทธภาษิตทั้งหลายอีกด้วย เช่น

สุขาสังฆัสสะสามัคคี สุวิชาโน ภวังโหตุ กัมมุนาวัตตะตีโลโก กะวิคาถานะมาสะโย ฯลฯ

คาถาพระอัสสชิก็เช่นเดียวกัน ยกเว้นวรรคท้ายคือ เอวังวาทีมหาสะมะโณ ซึ่งอนุโลมอยู่ใน “จังหวะแปด”

จังหวะแปดนี้ดูจะเป็นหัวใจสำคัญของ “กลอนไทย” เอาเลยทีเดียว

ไม่ว่าจะเป็นกลอนโบราณดังกลอนเพลงยาว กลอนนิราศ กลอนบทละคร จนถึงกลอนสุนทรภู่ ล้วนเป็นกลอน “จังหวะแปด” ด้วยกันสิ้น

จังหวะแปดไม่ได้หมายถึง วรรคละแปดคำ หากหมายถึงจังหวะทางดนตรีที่นับเอาช่วงจังหวะตกเป็นสำคัญ แต่ละช่วงจะมีจังหวะสม่ำเสมอเท่ากัน โดยแต่ละวรรคแบ่งเป็นแปดจังหวะ เท่ากับแปดคำกลอนพอดี

แต่คำกลอนอาจไม่จำเป็นต้องใช้คำแปดคำให้ครบ เช่น อาจใช้แค่เจ็ดคำ บางทีถึงเก้าคำ แค่หกคำก็มี เช่น กลอนเสภาขุนช้างขุนแผนตอนฟันม่านว่า

ห้ำหั่นฟันม่านผลาญสับ

ในทางดนตรีแล้วผู้ขับเสภาจะใช้ทำนองเอื้อนเข้าจังหวะช่วงแปดได้พอดีเสมอ

จึงเป็นข้อสังเกตว่าจังหวะของดนตรีนี้เองที่กำหนดจังหวะทั้งของพระคาถาและจังหวะกลอนให้เข้าเป็นจังหวะเดียวกันคือ “จังหวะแปด”

 

พิเศษอีกคือสำเนียงของคำท้ายวรรคซึ่งมีเฉพาะคำกลอนแปดเท่านั้นที่บังคับเสียงสูงต่ำท้ายวรรค ดังนี้คือ

ท้ายวรรคแรกได้ทุกเสียง

ท้ายวรรคสองห้ามสามัญ-ตรี

ท้ายวรรคสาม-สี่ ต้องสามัญ-ตรี

อ่านกลอนท่านสุนทรภู่ดูเถิด เป็นต้นแบบฉบับทั้งจังหวะแปด และเสียงท้ายวรรคที่สมบูรณ์สมควรที่ผู้สนใจจะต้องใส่ใจยิ่ง

น่าสนใจคือ ภาษาไทยมาตรฐานนั้นกำหนดเสียงไว้จำเพาะห้าเสียงเท่านั้นคือ สามัญ-เอก-โท-ตรี-จัตวา ทั้งกำหนดรูปวรรณยุกต์กำกับไว้ด้วย

ดังนั้น ทุกครั้งเมื่ออ่านกลอนให้ชาวต่างชาติฟัง เขามักชมว่าไพเราะเหมือนบทเพลงด้วยสำเนียงสูงต่ำเหลื่อมล้ำที่ลงตัวกับจังหวะบังคับด้วยสัมผัสทั้งนอกในวรรค จึงประกอบเป็นลีลาดังบทเพลงไพเราะ

เป็นเอกลักษณ์แตกต่างจากทุกชาติในโลก

นี่กระมังคืออัจฉริยะของภาษาไทย อันทรงไว้ซึ่งเสน่ห์สำเนียงดนตรี ภูมิกวีเป็นที่อาศัยแห่งคาถาทั้งหลายดังพระคาถาที่ว่านั้นคือ

กวิคาถานะมาสะโย •