หนังสือ เด็กหนุ่ม และแมว / เครื่องเคียงข้างจอ : วัชระ แวววุฒินันทน์

เครื่องเคียงข้างจอ

วัชระ แวววุฒินันทน์

 

หนังสือ เด็กหนุ่ม และแมว

 

ผมกำลังเขียนถึงหนังสือพ็อกเก็ตบุ๊กที่ชื่อ “ปาฏิหาริย์ แมวลายส้ม ผู้พิทักษ์หนังสือ” เขียนโดย นัตสึคาวะ โชสุเกะ แปลโดย ฉัตรชัย อดิศัย

หนังสือเล่มนี้เล็งๆ ว่าจะหามาอ่านนานแล้วก็ยังไม่ได้ครอบครองเสียที จนได้ไปหาซื้อมาจากงานหนังสือแห่งหนึ่ง สาบานว่าไม่ได้ซื้อเพราะเขาขายในราคาพิเศษแต่อย่างใด ตั้งใจจะซื้อจริงๆ แต่เผอิญราคามันยั่วยวน…แฮะๆ

ที่สะดุดตาแต่แรกจากที่เห็นในรีวิวก็คือปก ที่แบ่งสีออกเป็นสองส่วนเท่าๆ กัน ฟากหนึ่งเป็นโทนสีน้ำงิน มีแมวลายสีส้มนั่งอยู่ อีกฟากเป็นสีส้ม และมีเด็กหนุ่มที่เป็นตัวเอกของเรื่องนั่งประจันหน้ากันอยู่กับแมว

เรื่องนี้เป็นเรื่องของหนังสือ เด็กหนุ่ม และแมว ตามที่ได้จั่วชื่อตอนไว้ เป็นหนังสือแนวแฟนตาซี ทะลุไปอีกดินแดนหนึ่งได้ประมาณนั้น ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าปาฏิหาริย์

แม้จะรู้อยู่แล้วว่าเป็นแนวแฟนตาซี และก็แฟนตาซีจริงๆ แต่เมื่ออ่านจบแล้ว กลับรู้สึกรับได้ในความแฟนตาซีนั้น และรู้สึกเหมือนจริงอยู่ครามครัน

เหมือนจริงในแง่ของ “ความรู้สึกกับหนังสือ” ที่ต้องยกความดีความชอบให้กับผู้เขียน ที่สามารถเลือกหยิบเอาแง่มุมของคนอ่านหนังสือ คนผลิตหนังสือ สังคมที่มีหนังสือเป็นเปลือก มาทำให้เราขบคิดได้

 

เด็กหนุ่มตัวเอกของเรื่อง เป็นนักเรียนมัธยมปลาย มีชื่อว่า “นัตสึกิ รินทาโร่” อาศัยอยู่กับปู่กันสองคน เปิดเรื่องมา จากสองคนก็เหลือคนเดียวเลย เพราะเปิดเรื่องด้วยงานศพของผู้เป็นปู่

นั่นทำให้รินทาโร่ต้องพลอยรับช่วงต่อร้านหนังสือมือสองที่ปู่รักมากอย่างกะทันหัน

ท่ามกลางความงุนงงว่าจะจัดการกับชีวิตใหม่อย่างไร เจ้าแมวลายส้มก็ปรากฏตัวขึ้นในร้านเล็กๆ นั่นเอง ข้อสำคัญมันพูดได้เสียด้วย

ความน่าสนใจคือการที่ผู้เขียนวางแคแร็กเตอร์ให้เจ้าแมวมีบุคลิกพูดจาตรงไปตรงมา เหน็บแนมกันตรงๆ และเจ้าคารม จึงไม่ใช่แมวน่ารักๆ ทั่วไป

อย่างที่มันมักจะเรียกรินทาโร่แบบเปรียบเปรยว่า “รุ่นที่สอง” อันหมายถึงการเป็นเจ้าของร้านหนังสือรุ่นที่สองต่อจากปู่ของเขานั่นเอง

แต่นั่นก็เป็นสิ่งที่เชิญชวนให้รินทาโร่พลอยมีวิสาสะไปกับมัน จนเดินตามเจ้าแมวทะลุหลังร้านหนังสือไปยังดินแดนลี้ลับ ที่แมวบอกว่าเป็นเขาวงกต

แมวน้อยโผล่มาก็เพื่อขอความช่วยเหลือจากเขาเพื่อช่วยเหลือหนังสือ

ช่วยหนังสือเรื่องอะไร? เป็นเรื่องที่ผู้เขียนหยิบเอาประเด็นที่น่าสนใจมาท้าทายว่า รินทาโร่จะทำอย่างไร แต่นั่นก็ไม่สำคัญเท่ากับว่า มันท้าทายความคิดของเด็กหนุ่มที่มีต่อหนังสือว่าเขาเองก็คิดอย่างไรด้วย

 

เขาวงกตแรกพาเขาไปพบกับ “นักอ่านตัวยง” ที่มีตู้ใส่หนังสือเรียงเป็นชั้นสูงตระหง่าน เรียงเป็นแถวดุจกำแพงสูงใหญ่ ภายในบรรจุหนังสือมากมาย ทุกแนว ทุกชนิด แต่ทุกตู้ใส่กุญแจล็อกเอาไว้

เจ้าของหนังสือนี้ตะลุยอ่านหนังสือให้ได้เดือนละร้อยเล่ม เขามีภารกิจต้องอ่านหนังสืออีกมาก จึงยุ่งวุ่นวายอยู่แต่กับหน้ากระดาษ เพราะการอ่านเยอะทำให้เขาดูภูมิฐาน เป็นคนมีความรู้น่ายกย่อง จนได้รับเชิญไปเป็นวิทยากรในงานต่างๆ อยู่เสมอ

รินทาโร่ก็เป็นนักอ่านตัวยงเหมือนกัน หนังสือในร้านของปู่เขาอ่านมาแล้วเกือบทุกเล่ม แต่การอ่านของรินทาโร่ต่างจากชายผู้นี้ เขาไม่ได้ตะลุยอ่านอย่างบ้าคลั่ง เขาอ่านด้วยความรักในตัวอักษร เหมือนได้ผจญภัยในโลกใบใหม่

หลายเล่มอ่านแล้วก็ยังหยิบมาอ่านซ้ำในบางโอกาส ผิดกับชายแห่งเขาวงกตที่หนึ่งที่ไม่ยอมเสียเวลาหยิบหนังสือเล่มเก่ามาอ่านซ้ำเลย

“หนังสือมีพลัง” เป็นประโยคที่เขาบอกกับนักอ่านคนนั้น และอะไรทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกับเขาวงกตนี้ในภายหลัง ต้องลองอ่านดูครับ

 

จากเขาวงกตแรก ก็มาถึงเขาวงกตที่สอง คราวนี้รินทาโร่ต้องเจอกับ “นักวิจัยการอ่าน” ที่นี่ดูเหมือนแล็บทดลองขนาดยักษ์มากกว่าจะเป็นสถานที่ที่เกี่ยวกับหนังสือ

คนที่นี่วิจัยอะไรกัน พวกเขาศึกษาพฤติกรรมการอ่านของคนสมัยนี้ และพบว่าอ่านแบบฉาบฉวย คืออ่านแบบเร็วๆ เพื่อให้รู้ใจความสำคัญเท่านั้น บางคนเลือกอ่านบทความที่เป็นข้อสรุปถึงเนื้อหาของหนังสือเล่มนั้นๆ มากกว่าจะอ่านจากหนังสือจริงทั้งเล่ม

หัวหน้าของที่นี่บอกว่า เขาช่วยยืดอายุของหนังสือที่ไม่มีคนอ่าน เพราะที่คนไม่อ่านก็ด้วยมันอ่านยาก มันหนา และหายาก เขาจึงย่นย่อทุกอย่างให้อ่านง่าย เข้าใจเร็ว เข้าถึงได้ไม่ยาก

“ใครๆ ก็อ่านหนังสือร้อยเล่มจบได้ภายในวันเดียว” เขาอวดอย่างภาคภูมิใจ

“นั่นเท่ากับเป็นการตัดหนังสือออกเป็นชิ้นเล็กๆ” รินทาโร่แย้งกับเขาคนนั้น

สำหรับหนังสือที่ดูยาก อ่านจนจบแล้วก็ยังไม่เข้าใจ รินทาโร่คิดว่ามันไม่ใช่ปัญหาตามที่ชายคนนั้นคิด เขาได้ให้คำแนะนำกับเพื่อนสาวคนหนึ่งเมื่ออ่านหนังสือเล่มที่เขาแนะนำแล้วไม่เข้าใจว่า

“เพราะเป็นเรื่องใหม่สำหรับเธอไงล่ะ ถ้าเป็นเรื่องที่เธอเคยรู้แล้วก็จะเข้าใจง่าย”

สำหรับเรื่องนี้ รินทาโร่ใช้มุมมองเรื่องหนังสืออย่างไรมาโต้กลับนักวิจัย จนทำให้เขาวงกตแห่งนี้เกิดการเปลี่ยนแปลง ลองอ่านดูครับ

“ปาฏิหาริย์ แมวลายส้ม ผู้พิทักษ์หนังสือ”

ส่วนเขาวงกตที่สาม เขาได้พบกับ “นักผลิตหนังสือ” ที่นี่ระหว่างที่เขาเดินไปตามทาง เขาจะเห็นหนังสือจำนวนมากลอยละลิ่วตกลงมาจากเบื้องบนลงสู่เบื้องล่าง เหมือนกับปุยหิมะที่ตกลงมาเป็นสายไม่หยุดหย่อน

นั่นเกิดจากการผลิตหนังสือของผู้ผลิตที่มีมุมมองว่า หนังสือไหนที่คนนิยมอ่าน ต้องผลิตออกมามากๆ ยิ่งผลิตมากคนก็จะได้อ่านมาก กำไรจากการขายหนังสือก็จะมากตามไปด้วย โดยไม่สนใจว่าจะเป็นหนังสือแนวไหน มีคุณค่าหรือไม่

ตรงข้ามกับหนังสือที่คนอ่านน้อย เขาก็จะระงับการผลิตทันที เพราะไม่มีประโยชน์ในทางธุรกิจ

“ในยุคปัจจุบันนี้ เงินคือตัววัดคุณค่าทุกอย่าง คนที่ลืมกฎข้อนั้นและวิ่งเข้าหาอุดมคติจำต้องออกจากสังคม” ชายเจ้าของสำนักพิมพ์ยักษ์ใหญ่บอกกับเด็กหนุ่ม

“มีทางเดียวคือหนังสือต้องกลายเป็นของที่เข้าใจง่าย ราคาถูก ตื่นเต้นเร้าใจ และเป็นสิ่งที่นักอ่านพวกนั้นต้องการ”

เป็นเหตุผลที่ทำให้รินทาโร่สับสน และหาทางไปไม่ถูกเหมือนกัน แต่อย่างไรก็ตาม เขาก็ต้องพยายามหาทางช่วยเหลือหนังสือตามที่แมวลายสีส้มขอร้องจนได้

 

จากการผจญภัยในเขาวงกตทั้งหมดนี้ ทำให้เด็กหนุ่มได้รู้จักตัวตนของตนเองมากขึ้น จากเดิมทีที่เขารู้จักแต่การหมกตัวเพื่ออ่านหนังสืออย่างเดียวดายเท่านั้น แต่จากปาฏิหาริย์นี้ทำให้เขาพบว่า เขาก็สามารถทำอะไรที่เข้าท่าได้เหมือนกัน และเป็นการทำเพื่อคนอื่นด้วย

ปู่เคยบอกกับเขาว่า “อ่านหนังสือก็ดีอยู่หรอก แต่อ่านจบแล้วก็ได้เวลาออกไปเดิน”

ปู่กำลังสอนหลานชายว่า คนเราถ้ามัวแต่สะสมความรู้ แต่ไม่เคยนำไปใช้ในชีวิตจริงก็จะมีประโยชน์อะไร

และรินทาโร่ก็ได้นำไปใช้จริงๆ จากการท่องไปในเขาวงกตเหล่านี้

สุดท้ายสิ่งที่เขาได้ก็คือคำตอบของคำถามที่ว่า พลังของหนังสือคืออะไร?

“หนังสือสอนให้เรารู้จักความห่วงใยต่อผู้อื่น”

นั่นเป็นสิ่งที่เด็กหนุ่มค้นพบ และเขาก็พบว่าชีวิตที่รู้จักห่วงใยคนอื่นๆ นั้น มันสวยงามและมีคุณค่าเพียงใด

ต้องขอบคุณเจ้าแมวลายเสือสีส้มตัวนั้นจริงๆ นี่คือเรื่องของหนังสือ เด็กหนุ่ม และแมว ที่ชวนอ่านไม่น้อยครับผม •