อสังหาฯ รายใหญ่ขยับตัว / ก่อสร้างและที่ดิน : นาย ต.

โครงการ CENTRO วงแหวน-จตุโชติ จาก AP Thai

ก่อสร้างและที่ดิน

นาย ต.

 

อสังหาฯ รายใหญ่ขยับตัว

 

ผลประกอบการบริษัทอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ที่รายงานตลาดหลักทรัพย์ไตรมาสแรกปี 2565 นี้ และการแถลงนโยบายแผนงานปีนี้ บอกอะไรหลายอย่าง

เรื่องแรก บริษัทอสังหาฯ ในตลาดหลักทรัพย์ถูกผลประกอบการแยกเป็นกลุ่มบริษัทที่มีผลกำไรสูงและเติบโต

กลุ่มบริษัทที่มีผลกำไรกลางๆ

และกลุ่มบริษัทที่มีผลประกอบการขาดทุน

ประเด็นนี้เป็นอย่างที่ว่ากันในทฤษฎีการฟื้นตัวครั้งนี้ คือเป็น K shape มีขาตัวเคที่พุ่งขึ้น และที่พุ่งลง

 

เรื่องที่สอง อันดับแชมป์ยอดขายสูงสุดเปลี่ยนแปลง เดิมผู้ครองแชมป์ยอดขายสูงสุดในรอบ 10 ปีหลัง ได้แก่ บมจ.พฤกษาเรียลเอสเตท (PS)

แต่ไตรมาสแรกปี 2565 แชมป์ยอดขายสูงสุดตกเป็นของ บมจ.เอพีไทยแลนด์ (AP) รายได้ 10,857 ล้านบาท รองอันดับสอง บมจ.แลนด์แอนด์เฮ้าส์ (LH) 7,942 ล้านบาท รองอันดับสาม บมจ.พฤกษาเรียลเอสเตท (PS) 5,980 ล้านบาท

ส่วนผลกำไรสุทธิสูงสุด ยังเป็นรายเดิมที่ครองแชมป์ตำแหน่งนี้มายาวนานหลายสิบปี คือ บมจ.แลนด์แอนด์เฮ้าส์ (LH) ไตรมาส 1 ปีนี้กำไรสุทธิ 1,932 ล้านบาท

อันดับสอง แทรกตัวขึ้นมาใหม่คือ บมจ.เอพี.ไทยแลนด์ กำไรสุทธิ 1,729 ล้านบาท

และอันดับสาม บมจ.ศุภาลัย 1,193 ล้านบาท

 

เรื่องที่สาม การปรับโครงสร้างธุรกิจ ที่แถลงชัดเจนปีนี้ ได้แก่ บมจ.ออริจิ้น ที่แถลงโครงสร้างธุรกิจใหม่เป็น Multiverse of Happiness ซึ่งจากเดิมที่มีธุรกิจอสังหาฯ แนวสูง แนวราบ อสังหาฯ ให้เช่า บริการอสังหาฯ แล้ว ยังเพิ่มกลุ่มธุรกิจบริหารสินทรัพย์ สุขภาพ พลังงาน เทคโนโลยี

ปีก่อนหน้านี้ พฤกษาก็ปรับโครงสร้างเป็นโฮลดิ้งคอมปานี ขยายไปสู่กลุ่มธุรกิจโรงพยาบาล ธุรกิจสุขภาพ แสนสิริก็ปรับไปสู่กลุ่มธุรกิจเทคโนโลยี

และกว่า 10 ปีก่อนหน้านี้ บริษัทอสังหาฯ ที่นำทางขยายไปสู่ธุรกิจอื่นๆ คือ แลนด์แอนด์เฮ้าส์ โดยขยายไปสู่ค้าปลีกวัสดุก่อสร้าง ตกแต่ง และเครื่องใช้ในบ้าน “โฮมโปร” ธุรกิจห้างสรรพสินค้า “เทอร์มินอล 21” ธุรกิจโรงแรม “เซนเตอร์ พอยต์” และธนาคารแลนด์แอนด์เฮ้าส์

ทำให้ได้รับเงินปันผลจากธุรกิจต่างๆ ปีละไม่น้อย ส่งผลให้แลนด์แอนด์เฮ้าส์เป็นกลุ่มที่มีกำไรสูงสุดและสม่ำเสมอมาตลอด

 

วิเคราะห์กันว่า ธรรมชาติการเติบโตของบริษัทอสังหาฯ ที่เริ่มจากความถนัดในการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งแล้ว ก็จะขยายไปสู่ทุกรูปแบบทุกระดับราคา ระยะต่อมาเมื่อพบแรงกดดันความไม่สม่ำเสมอของรายได้และกำไรจากความผันผวนขึ้นลงเศรษฐกิจ ก็จะสร้างรายได้จากการให้เช่าหรือ Recurring income ได้แก่ โรงแรม คลังสินค้า สำนักงาน

เมื่อยอดรายได้รวมถึงประมาณ 2-3 หมื่นล้านบาทต่อปี มักจะรักษาอัตราการเติบโตในอัตราเดิมกับธุรกิจอสังหาฯ ต่อไปได้ยาก ก็จะมีการขยายไปสู่ธุรกิจอื่นๆ ตามโอกาสในสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจแต่ละช่วง

ระยะหลังๆ บริษัทอสังหาฯ ในตลาดหลักทรัพย์พบว่า อัตราค่า P/E (price to earning) ของธุรกิจอสังหาฯ ในตลาดหลักทรัพย์ต่ำกว่าธุรกิจอื่นๆ แม้จะมีกำไรและปันผลมากกว่าก็ตาม จึงทำให้มีการขยายธุรกิจไปสู่ธุรกิจที่มีการเติบโตเร็วและมีอัตราค่า P/E สูง อาทิ พลังงาน เทคโนโลยี

ต่อสู้กันไป ปรับตัวกันไป พัฒนาธุรกิจกันไป ฝ่าคลื่นเศรษฐกิจไปได้แต่ละระลอกก็เติบโตไปอีกขั้นหนึ่งเสมอ •