สหรัฐ-จีน ไม่จำเป็นต้องทำสงคราม ก็ผงาดได้ทั้งคู่/กาแฟดำ สุทธิชัย หยุ่น

สุทธิชัย หยุ่น

กาแฟดำ

สุทธิชัย หยุ่น

 

สหรัฐ-จีน

ไม่จำเป็นต้องทำสงคราม

ก็ผงาดได้ทั้งคู่

สัปดาห์ก่อน ผมเขียนถึงหนังสือเล่มใหม่ The Avoidable War โดยอดีตนายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย Kevin Rudd ที่นำเสนอทางออกเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดสงครามระหว่างจีนกับสหรัฐ

หนังสือเล่มนี้เป็นแนวทางวิเคราะห์ที่ “ต้องอ่าน” ไม่เฉพาะสำหรับนักวิชาการด้านภูมิรัฐศาสตร์และการทูตเท่านั้น

แต่ยังสำคัญสำหรับผู้นำสหรัฐในทุกระดับ…และใครก็ตามที่จะชนะเลือกตั้งตำแหน่งประธานาธิบดีครั้งต่อไปในปี 2 ข้างหน้า

เพราะไม่ว่าผู้นำสหรัฐจะปรับจะเปลี่ยนหรือไม่ ก็เชื่อกันว่าหากไม่มี “อุบัติเหตุทางการเมือง” ที่คาดไม่ถึงในเมืองจีน สี จิ้นผิง ก็ยังคงจะกุมบังเหียนของประเทศจีนต่อไปอีกยาวนานแน่นอน

สำหรับผู้นำสหรัฐคนต่อไปนั้น ความจำเป็นที่จะต้องหาทาง “หลีกเลี่ยงสงครามกับจีน” เป็นวาระที่มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าการที่จะทำให้สหรัฐยังดำรงตำแหน่งเบอร์หนึ่งในเวทีโลก

เพราะมันคือความท้าทายที่รออยู่ข้างหน้าในการสร้างสมดุลระหว่างความสัมพันธ์ของเรากับจีนและสหรัฐอเมริกาอย่างรอบคอบ

โดยที่ทั้งจีนและสหรัฐยังสามารถบอกกล่าวกับประชาชนของตนว่าตนยังคงรักษาผลประโยชน์ของชาติไว้ได้อย่างครบถ้วน

ผมอ่านหนังสือ “สงครามที่หลีกเลี่ยงได้” โดย Kevin Rudd แล้วก็ได้รับรู้ว่านี่คือความพยายามที่จะวิเคราะห์แนวทางที่ปฏิบัติได้

ไม่เพียงแค่วิเคราะห์แนววิชาการที่ไม่อาจจะหาทางออกที่จับต้องได้อย่างเป็นรูปธรรม

นักวิชาการตะวันหลายสำนักใช้วิธีการวิเคราะห์รายละเอียดที่เกี่ยวกับความซับซ้อนของทั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีนด้านหนึ่ง

และเจาะลึกว่าด้วยความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างจีนกับสหรัฐอีกด้านหนึ่ง

โดยไม่อาจหาข้อสรุปว่าท้ายที่สุดความสัมพันธ์ของสองยักษ์นี้จะนำโลกไปสู่จุดใด

แต่สำหรับหนังสือเล่มนี้ อดีตนายกฯ ออสเตรเลียคนนี้นำเสนอรูปแบบของ “การแข่งขันเชิงกลยุทธ์ที่มีการจัดการ” ที่น่าสนใจ

เพราะมันหมายถึงการยอมรับความจริงว่าหากจะหลีกเลี่ยงสงครามก็ต้องมีการจัดการบริหาร

ภายใต้การยอมรับว่าอย่างไรเสียวอชิงตันกับปักกิ่งก็ต้องเล่นเกมการแข่งขันกันในเกือบทุกๆ ด้าน

แต่ต้องเป็นการแข่งขันที่มีการบริหารไม่ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง “ล้ำเส้น”

คล้ายๆ กับจะเป็นที่ยอมรับของทั้งสองฝ่ายว่ามี “เส้นแดง” (Red Line) ที่ยอมรับกันว่าจะไม่ข้ามเพื่อต่างฝ่ายต่างสามารถรักษาไว้ซึ่งผลประโยชน์ของตนเอง

เพราะหากฝ่ายใดข้ามเส้นแดงก็เท่ากับเป็นการยั่วยุให้เกิดศึกสงคราม

ซึ่งจะไม่มีฝ่ายใด “ชนะ”

เพราะสงครามใหญ่ระดับโลกครั้งหน้า จะมีแต่ “ผู้แพ้” เท่านั้น

 

ข้อเสนอของหนังสือเล่มนี้ตอกย้ำว่าการที่จะบริหารจัดการการแข่งขันไม่ให้ข้ามไปเป็นความขัดแย้งนั้นต้องมี “ความไว้วางใจในระดับสูง”

ซึ่งมาพร้อมกับการที่ทั้งสองฝ่ายพร้อมจะให้มีการตรวจสอบกันและกันได้

บางทีอาจจะเป็นเพราะพื้นภูมิของคนเขียนที่เป็นอดีตนายกรัฐมนตรีของออสเตรเลียที่มีมุมมองไม่เหมือนนักวิชาการหรือนักการเมืองอื่น

เพราะความเข้าใจ “วิธีคิด” และ “ทัศนคติ” หรือที่เรียกรวมๆ กันว่า Mindset อย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับจีน

เพราะเควิน รัดด์ สันทัดภาษาจีนกลางและร่ำเรียนเรื่องของจีนในฐานะ Sinologist ที่มีโอกาสได้ทำงานในตำแหน่งทางการทูตที่จีนหลายครั้งและแม้อยู่ในประเทศก็มีความรับผิดชอบในการติดตามความเคลื่อนไหวของจีนตลอดเวลา

อีกทั้งยังได้ทำงานในฐานะนักวิเคราะห์และนักการทูตว่าด้วยกิจการอเมริกาอย่างรอบด้านอีกด้วย

 

หนังสือเล่มนี้เริ่มต้นด้วยการเล่าเบื้องหลังความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับจีนที่ไม่เพียงแต่ครอบคลุมถึงสิ่งที่เกิดขึ้นจากภาพข้างนอกเท่านั้น

แต่ยังรวมถึงการนำเสนอว่ามุมมองจากปักกิ่งในแต่ละเรื่องนั้นเป็นเช่นไร

เป็นข้อพิจารณาสำคัญที่นักวิเคราะห์ตะวันตกมักจะละเลยหรือมองข้ามในการเจาะลึกถึงความสัมพันธ์ทวิภาคี

ภายใต้ภาพบนผิวน้ำของความสัมพันธ์นั้น คนเขียนย้อนไปให้เข้าใจถึงความสัมพันธ์ระหว่างวอชิงตันกับปักกิ่งในศตวรรษที่ 20

อันหมายถึงการทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ของลัทธิมาร์กซิสต์ของชาวตะวันตก ที่อาจจะแตกต่างไปจากมุมมองจากจีน

และศึกษาถึงที่มาที่ไปของผู้กำหนดนโยบายและสมาชิกสภานิติบัญญัติในวอชิงตัน (และกองเชียร์ของชุมชนนักธุรกิจ)

มุมมองตะวันตกเชื่อว่าการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจจะนำไปสู่การสร้างชนชั้นกลางที่กำลังเติบโต ซึ่งจะนำไปสู่การเรียกร้องเสรีภาพทางการเมืองมากขึ้น

และนั่นจะส่งผลให้ต้องเปลี่ยนจากภายในประเทศจีน

ผู้วางนโยบายสหรัฐมักจะสรุปเอาเองว่าจีนที่เสรีทางเศรษฐกิจจะกลายเป็นจีนที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น

เมื่อถึงจุดนั้น จีนก็จะเข้าร่วมสังฆกรรมในประชาคมโลกที่โน้มเอียงไปทางตะวันตก

แต่หากมองจากแง่มุมของจีน เควิน รัดด์ เชื่อว่าปักกิ่งไม่เคยมีเจตนาที่จะปล่อยให้สายบังเหียนของอำนาจหลุดจากมือไปเลย

จีนอาจจะพร้อมเปิดเศรษฐกิจเพื่อทำให้ประเทศทันสมัยและยุติ “ศตวรรษแห่งความอัปยศอดสู” แต่ผู้นำจีนไม่เคยแม้แต่จะพิจารณานำเอาประชาธิปไตยรูปแบบ “เจฟเฟอร์โซเนียน” อันเป็นพื้นฐานของ “เสรีนิยมตะวันตก” มาใช้เลย

นี่คือสาเหตุหลักที่ทำให้เห็นว่าทำไมสหรัฐจึงไม่เคยเข้าใจจีนอย่างแท้จริง

 

รัดด์นำเสนอกรอบความคิดที่ชัดเจนที่ทำให้เข้าใจ “ความคิดของสี จิ้นผิง” ที่กลายเป็นแนวทางหลักของจีนวันนี้

วาระที่สำคัญที่สุดสำหรับผู้นำสูงสุดของจีนวันนี้คือการให้พรรคคอมมิวนิสต์จีนยังคงมีอำนาจในประเทศโดยมีตัวในฐานะผู้กำหนดทิศทางของทั้งสังคม

ความเป็นสากลของ “ความคิดสี จิ้นผิง” (Xi Jinping Thought) ถูกจับวางเคียงข้าง Marx และ Mao

นั่นไม่ได้หมายความว่าความคิดของ Xi Jinping นั้นมุ่งเข้มงวดในอุดมคติเดิมของเหมาเจ๋อตุง

เพราะ “ความคิดของ Xi Jinping” ได้รับการออกแบบให้มีความยืดหยุ่นทางการเมืองพอสมควรโดยมีเป้าหมายสำคัญคือ

การปูพื้นสำหรับการขับเคลื่อนทางการเมืองและนโยบายใหม่ๆ ที่สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของโลกที่มีผลกระทบต่อจีนในยุคสมัยใหม่

 

เควิน รัดด์ ชี้ให้เห็นว่าจุดแข็งของสี จิ้นผิง ไม่ใช่เรื่องเศรษฐศาสตร์

แต่มีความคล่องแคล่วปราดเปรียวทางความคิดในเวทีระหว่างประเทศและวางกลยุทธ์ระดับสากล

ความร้อนแรงในการรณรงค์ต่อต้านการทุจริตของสี จิ้นผิง เปรียบได้กับเป็นความร้อนรุ่มของลัทธิเหมาในการกวาดล้างฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองในช่วง “ปฏิวัติวัฒนธรรม”

แต่สีดำเนินเรื่องนี้ในกรอบกฎหมายอาญาเพื่อป้องกันการแก้แค้นและขจัดภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้นในวันข้างหน้าได้

แน่นอนว่า สี จิ้นผิง ไม่ได้ยืนตระหง่านโดยปราศจากการต่อต้านจากอดีตประธานาธิบดีบางคนเพราะนโยบายหลายด้านของเขากวาดล้างมรดกตกทอดของหลายๆ คนทีเดียว

เช่นนายทหารกองทัพจีนบางคนถูกไล่ออกจากตำแหน่งโดยไม่มีเงินบำนาญ

และบรรดาผู้นำทางธุรกิจในหลายแวดวงก็ถูกเบียดตกจากลำดับความสำคัญของพรรค

ใคร “แหลม” ออกมาก็ถูกสี จิ้นผิง เขี่ยทิ้งไป

แต่เควิน รัดด์ ก็ไม่ได้ยืนยันว่าสถานภาพทางการเมืองของสี จิ้นผิง จะมั่นคงดั่งภูผา

หากจีนเผชิญกับการล่มสลายทางเศรษฐกิจ ภัยพิบัติด้านสิ่งแวดล้อม หรือสงคราม บัลลังก์ของสี จิ้นผิง ก็อาจจะคลอนแคลนได้เช่นกัน

 

หนังสือเล่มนี้วิเคราะห์สถานภาพของแกนนำพรรคคอมมิวนิสต์ได้อย่างน่าสนใจว่าก่อนการประชุมใหญ่ของพรรคปลายปีนี้ มีสัญญาณอะไรที่น่าจับตาบ้าง

สรุปว่า “The Avoidable War” เป็นหนังสือที่ให้มุมมองและเสนอแนะที่สองยักษ์ใหญ่ไม่จำเป็นต้องวิ่งเข้าหาลู่ที่ต้องประหัตประหารแบบเอาเป็นเอาตายเสมอไป

หากผู้นำระดับโลกมีสติ, วิสัยทัศน์และความสามารถในการบริหารความเสี่ยงจากการที่ต้องแข่งขันกันก็ย่อมจะยืนตระหง่านในเวทีโลกได้อย่างสง่างามพอๆ กัน