ธงทอง จันทรางศุ | คันไม้คันมือ อยากเลือกตั้ง (อีก)

ธงทอง จันทรางศุ

ในวันเวลาที่ผมกำลังนั่งเขียนหนังสืออยู่นี้ เป็นเช้าวันรุ่งขึ้นหลังจากที่การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเพิ่งผ่านพ้นไปหมาดๆ

ผลการเลือกตั้งเป็นที่ปรากฏชัดแล้วว่า คะแนนเสียงส่วนใหญ่กว่าครึ่งของผู้มาใช้สิทธิลงคะแนนเลือกมอบหมายความไว้วางใจให้อาจารย์ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ทำหน้าที่เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนใหม่

พร้อมกันนั้นผลการเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานครจำนวน 50 คน ก็บ่งบอกความหมายหรือรหัสทางการเมืองในวันข้างหน้าได้ดีพอสมควร

แน่นอนว่าผลการเลือกตั้งที่เป็นอย่างนี้ ย่อมมีทั้งผู้ที่สมหวังและผู้ที่ผิดหวัง

ประโยคข้างต้นนี้ผมไม่ได้หมายความถึงตัวผู้สมัครรับเลือกตั้งแต่ละคนนะครับ

หากแต่ผมหมายถึงบรรดากองเชียร์หรือผู้สนับสนุนตลอดไปจนถึงประชาชนผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งแต่ละคนด้วย

เพราะเป็นธรรมดาอยู่เองที่เมื่อเราไปใช้สิทธิเลือกตั้ง กาบัตรลงคะแนนให้ใคร เราก็ต้องหมายมาดให้ใครคนนั้นได้รับเลือกตั้ง

ถ้าผลคะแนนปรากฏออกมาได้ดั่งใจเราเราก็ยินดีพอใจ

ตรงกันข้าม ถ้าผลนับคะแนนในตอนเย็นปรากฏว่าคนที่เราเลือกสอบตก เราก็ต้องผิดหวังตามวิสัยมนุษย์ปกติเช่นเดียวกัน

เมื่อพูดถึงการเมืองที่มีแพ้มีชนะกันอย่างนี้แล้ว ผมอดไม่ได้ที่จะนึกถึงบทสนทนาระหว่างแม่พลอยและอ๊อดซึ่งเป็นตัวละครเอกในหนังสือเรื่องสี่แผ่นดินของคุณชายคึกฤทธิ์ ปราโมช

จำได้เลาๆ ว่า อ๊อด ลูกชายของพลอยกล่าวปลอบใจแม่พลอยผู้เป็นมารดาที่ทุกข์ตรมเนื่องจากลูกชายสองคนทะเลาะกันเพราะมีความเห็นทางการเมืองแตกต่างกันว่า การเมืองนั้นเป็นเรื่องธรรมชาติที่คนเราจะมีความคิดเห็นต่างกัน แต่ก่อนแต่ไร ถ้าต่างคนต่างอยู่ต่างทำต่างคิดคนละเรื่อง โอกาสจะเห็นแย้งเห็นต่างกันก็ไม่มี แต่เพราะการเมืองนี่เองที่ชักนำให้คนทุกคนได้มาคิดในเรื่องเดียวกัน คราวนี้ก็ยุ่งสิครับ

เพราะเป็นไปไม่ได้อยู่แล้วที่จะให้คนทุกคนคิดเห็นเหมือนกันในเรื่องทางการเมือง

มองในแง่ลบ การเมืองก็เป็นเรื่องน่าหวาดกลัวเพราะทำให้คนเห็นต่างกันและอาจจะลุกลามเป็นเรื่องวิวาทบาดหมางได้

แต่มองในมุมบวก การเมืองก็มีคุณมหาศาล เพราะทำให้มีคนกล้าเสียสละ กล้าพูดกล้าคิดกล้าทำในสิ่งที่เห็นว่าเป็นประโยชน์กับคนหมู่มาก แม้จะต้องเสียเหงื่อ เสียทรัพย์ หรือแม้กระทั่งเสียชีวิตก็ตาม

ดูเหมือนพลอยจะถามอ๊อดว่าในเมื่อการเมืองมีข้อเสียน่ากังวลอย่างนี้แล้ว เราไปหาการเมืองมาใส่บ้านเมืองเราทำไม

อ๊อดบอกว่า เรื่องของการเมืองนั้นไม่มีใครไปพามาหรือห้ามไม่ให้มาถึงตัวเราได้ ธรรมชาติของการเมืองกับมนุษย์เป็นอย่างนั้น

ถ้าเราย้อนกลับมาดูการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคราวนี้ เราจะได้เห็นอะไรน่าสนใจหลายอย่าง ที่พูดกันมากก็คือการแบ่งจำนวนผู้สมัครออกเป็นสองฟาก จะเรียกว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตยข้างหนึ่ง กับฝ่ายอนุรักษนิยมข้างหนึ่งก็เห็นจะพอได้

นี่ว่ากันตามที่เขาพูดกันในสื่อต่างๆ นะครับ

บางกระแสก็เห็นเขาพูดกันอีกอย่างหนึ่งว่า ฝ่ายไม่เอาลุงตู่กับฝ่ายเอาลุงตู่ ฮา!

เอาเถิดครับ จะเรียกว่าอะไรก็เห็นจะพอเข้าใจกันอยู่แล้วว่าอะไรเป็นอะไร

ทั้งสองฝ่ายต่างมีผู้สนับสนุนและกองเชียร์จำนวนไม่น้อย ผู้สมัครแต่ละคนได้นำเสนอนโยบายและวิสัยทัศน์ว่าถ้าเข้ามาเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครแล้วคิดจะทำอะไรอย่างไรบ้าง

ผมเชื่อว่าระหว่างการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งตลอดเวลาประมาณ 60 วันที่ผ่านมา ปัญหาทั้งใหญ่และน้อยของคนกรุงเทพมหานครได้ถูกหยิบยกขึ้นมาวางกลางแจ้งเพื่อให้ทุกคนได้เห็นปัญหาเหล่านั้นและช่วยกันระดมสมอง ว่าเราจะทำอย่างไรกันดีปัญหาเหล่านั้นจึงจะหมดไปหรือมีขนาดเล็กน้อยถอยลงก็ยังดี

ประเด็นใหม่ๆ ที่หลายคนมองไม่เห็นหรือมองข้ามไป กลายเป็นประเด็นสาธารณะที่ผู้สมัครถูกตั้งคำถามในเวทีดีเบต คนตัวเล็กตัวน้อยที่ไม่เคยมีพื้นที่อยู่ในสื่อมาก่อนได้พูดปัญหาของเขาให้ชาวกรุงเทพมหานครไปร่วมกันรับฟังและรับรู้

เรื่องหนึ่งที่เป็นจุดแข็งสำคัญของอาจารย์ชัชชาติผู้ได้รับเลือกตั้งครั้งนี้ เท่าที่ผมสดับตรับฟังจากหลายแหล่งรวมทั้งได้พบเห็นด้วยตัวเองด้วย คืออาจารย์รับฟังปัญหาต่างๆ ด้วยความจริงใจ ฟังแล้วอาจารย์ก็นำไปคิดตรึกตรองเกิดเป็นนโยบายเรื่องโน้นเรื่องนี้ขึ้น

เมื่อเกิดเป็นนโยบายอย่างใดขึ้น อาจารย์ก็นำมาบอกให้คนอื่นได้รับรู้และช่วยติชม

ถ้าคำแนะนำเรื่องใดเป็นประโยชน์อาจารย์ก็น้อมรับโดยดุษณีเพื่อนำไปปรับนโยบายหรือแผนงานให้มีความครบถ้วนสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

และผมเชื่อมั่นด้วยว่า การทำงานทุกขั้นตอนจากวันนี้ไป ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนใหม่ก็พร้อมจะรายงานผลความก้าวหน้าของการทำงาน ตอบคำถามประชาชนและพร้อมรับการตรวจสอบเพื่อความโปร่งใสและความมีประสิทธิภาพในการทำงาน

การเมืองบนวิถีประชาธิปไตยเป็นอย่างนี้แหละครับ

นโยบายของฝ่ายการเมืองต้องตอบโจทย์หรือคำถามของประชาชน นักการเมืองต้องมีใจกว้างที่จะรับทั้งคำติและคำชมจากชาวบ้านเพื่อนำไปปรับปรุงการทำงานให้ดียิ่งขึ้น ขณะเดียวกันก็พร้อมรับการตรวจสอบตามกระบวนการที่มีคุณภาพ

ตรงกันข้าม ถ้าเป็นการเมืองที่ไม่ยึดโยงกับประชาชน ไม่สามารถตอบโจทย์หรือตอบคำถามของประชาชนหมู่มากได้ ถ้าเป็นนักการเมืองที่จิตใจคับแคบ ยินดีรับฟังแต่คำชมหรือกองเชียร์ ไม่ปรารถนาจะฟังคำติ ไม่พร้อมจะปรับปรุงการทำงานให้ดียิ่งขึ้นเพราะเห็นว่าตัวเองทำดีที่สุดแล้ว ขณะเดียวกันกับที่ไม่พร้อมรับการตรวจสอบ เพราะเห็นว่าตัวเองดีเกินการตรวจสอบใดๆ ทั้งสิ้น

การเมืองแบบที่ว่านี้ก็มีแต่จะถอยหลังลงคลองและหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์เท่านั้น

สิ่งที่น่ายินดีอีกเรื่องหนึ่งของการเลือกตั้งครั้งนี้ คือเมื่อผลการเลือกตั้งปรากฏออกมาชัดเจนแล้วแม้(ตอนนั้น)จะยังไม่เป็นทางการก็ตาม การที่ผู้ไม่ได้รับการเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหลายคนโทรศัพท์ไปแสดงความยินดีกับอาจารย์ชัชชาติ

อาจารย์ชัชชาติบอกว่าพร้อมจะทำงานร่วมกันกับทุกท่าน รวมถึงสมาชิกสภากรุงเทพมหานครไม่ว่าจะสังกัดพรรคการเมืองใดหรือกลุ่มใดก็ไม่เกี่ยง ความคิดของผู้สมัครรับเลือกตั้งบางรายน่าสนใจ อาจารย์ก็พร้อมจะปรึกษาหารือร่วมกันเพื่อใช้ความคิดนั้นให้เป็นประโยชน์ต่อไป

ในมุมมองของผมแล้วนี่ก็เป็นวิถีประชาธิปไตยที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งเหมือนกัน

ในสนามเลือกตั้ง ทุกคนทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุดเพื่อนำเสนอนโยบายและข้อมูลประกอบการตัดสินใจของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง แต่ไม่ได้แปลว่าผู้สมัครแต่ละคนต้องกลายเป็นศัตรูกันไปตลอดชีวิต

เลือกตั้งจบแล้วก็เป็นมิตรกันได้ ทำงานร่วมกันได้

การเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครก็ไม่ได้เป็นผู้ว่าฯ ของคนที่ลงคะแนนสนับสนุนเท่านั้น หากแต่เป็นผู้ว่าฯ ของชาวกรุงเทพมหานครทุกคน

การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา จึงเป็นบทเรียนสำคัญและเป็นตัวอย่างของวิถีประชาธิปไตยที่เห็นได้ในภาคปฏิบัติ ไม่ใช่เป็นแต่เพียงคำพูดสวยหรูในตำรารัฐศาสตร์

การเลือกตั้งสนามใหญ่คือการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไปทั้งประเทศที่จะมาถึงในวันข้างหน้า อย่างช้าก็ต้นปี 2566 หรืออาจจะเร็วกว่านั้นแล้วแต่เหตุการณ์ทางการเมืองบันดาลให้เป็นไป

ผมคันไม้คันมืออยากจะกาบัตรเลือกตั้งแล้วล่ะ

จะให้ใช้ปากกาหมึกสีอะไร ผมไม่เกี่ยงทั้งนั้น

ขอให้ กกต.บัญชามาให้ชัดเจนเถิด แล้วบอกกันล่วงหน้าหน่อยนะครับ

จะได้ไม่ต้องอลหม่านเวียนหัวแบบเช้าวันเลือกตั้งครั้งนี้อีก

ไหว้ล่ะพ่อคู้ณ