จาก ‘ภาษากาย 108’ ถึง ‘พระบิดาอาเซียน’/อัญเจียแขฺมร์ อภิญญา ตะวันออก

อภิญญา ตะวันออก

อัญเจียแขฺมร์

อภิญญา ตะวันออก

 

จาก ‘ภาษากาย 108’

ถึง ‘พระบิดาอาเซียน’

 

หลังจากที่ภาวะปฏิสัมพันธ์แบบเก่าที่เฉื่อยชากำลังจะกลายเป็นอื่น บัดนี้ การถึงเวลาที่ “กายวิกา-ภาษาบอกเล่า” ของชาวเวียดนาม จะทำให้เราตื่น! สยอง! ขบขัน! ขวัญหัวลุก! หรือปนความหวาดกลัว?

ใช่ ฉันหมายถึงเรื่องดราม่าของประดาชาวหมู่บ้านอาเซียน ที่หลังๆ มานี้ไม่น่าเชื่อว่า ความคลั่งในกีฬาชนิดหนึ่งจะนำไปสู่ความทะเยอทะยานและการแย่งชิงความเป็นผู้นำโดยมีแต้มต่อของกีฬาชนิดนั้นเป็นเครื่องรับรอง

มันทำให้ฉันนึกไปถึงสมัยชาติอาณานิคมเข้ามาปกครองละแวกนี้เมื่อเกือบสองศตวรรษก่อน พวกเขายังนำกีฬามาสู่แผ่นดินเหล่านั้น น่าอัศจรรย์ไปมากเมื่อกีฬาชนิดนั้นได้พัฒนาไปมากทั้งคริกเก็ตและฟุตบอล

แต่สำหรับฝรั่งเศสแล้ว ฟุตบอลไม่ใช่กีฬารื่นรมย์น่าคลั่งไคล้ แต่เป็นเพียงกีฬาของพวกชนพื้นถิ่นที่ต่ำศักดิ์วัฒนาธรรม แต่กระนั้น พวกเขาก็เป็นนักดูที่ดี โดยเฉพาะท่าทีของภาษากายที่จะแสดงออกถึงความเป็นผู้ชนะที่เคยปรากฏอยู่ในบันทึกฟุตบอลกระชับมิตรระหว่างสยาม-อินโดจีนที่กรุงไซ่ง่อนก่อนปฏิวัติ 2475 ไม่นาน

บันทึกเสด็จประพาสของกษัตริย์ไทยหนนั้น เผยให้เห็นลัทธิชาตินิยมของชาติอันนัมที่มีต่อชนชั้นปกครองผ่านกีฬาฟุตบอลอย่างน่าประหวั่น

มันทำให้ฉันคิดถึงเรื่องราวการแข่งขันฟุตบอลในมหกรรมกีฬาซีเกมส์ของหมู่บ้านอาเซียนที่ยอมกันไม่ได้ จนกลายเป็นสงครามย่อยๆ ในโลกออนไลน์

และนั่นเองที่ภาษากายวิการ้อยแปดของแต่ละชาติก็ห้ำหั่นใส่กันไม่ยั้ง

ถึงตอนนี้ ความร้อนแรงชุมชน 11 หมู่บ้านแห่งอาเซียน กล่าวได้ว่า แทบจะเต็มไปด้วยจริตของความเดือดดาล ซึ่งเมื่อไปถึงจุดหนึ่งกลับพบว่า นี่ไม่ใช่แค่ความเดือดดาลจอมปลอม แต่มันคือความทะเยอทะยานอันฝังแน่นไม่ต่างจากความคลั่งชาติในแบบลัทธิอาณานิคมยุคเก่าที่เป็นเหมือนเงาอดีตที่แฝงไปด้วยจริตครอบงำอันเกิดจากชัยชนะ-พ่ายแพ้, ความสำเร็จ-ล้มเหลว โดยมีกีฬาเป็นมาตรวัด

แม้มาตรฐานหลายชนิดกีฬาจะยกระดับดีขึ้น แต่ก็เห็นได้ว่า ลัทธิคลั่งชาติทางกีฬาได้ก่อให้เกิดวิธีการสนทนาของแต่ละหมู่บ้านในลักษณะตามนิสัยของชาติพันธุ์และข้อดีของความไม่สงบที่ว่านั้น มันทำให้เห็นถึงความแตกต่างในภาษากายร้อยแปดของชาวเวียดนามจากซีเกมส์ครั้งที่ 31

ระหว่างที่รอกัมพูชารับไม้ต่อเป็นเจ้าภาพปีหน้า ฉันหวังว่าสมเด็จฮุน เซน จะผลักดันกีฬาพื้นบ้านอย่างกบัจคุน/คุนแขมร์หรือโบคาตอร์เป็นกีฬาหลักแทนมวยไทย

ต้องขอบคุณเวียดนามที่จัด “คิกบ๊อกซิ่ง” นี่คือวิถีกีฬาประจำหมู่บ้านอันเข้มแข็งที่เราควรให้ความสำคัญ ตราบที่การถวิลหาอดีตและการให้คุณค่าศิลปะของบรรพชนคือการปักธงของทุกหมู่บ้านในแถบนี้!

อย่างน้อย เราก็มีเรื่องที่แข่งขันและผลักดันความทะเยอทะยานออกมาได้ แม้ว่าในบางครั้ง กีฬาท้องถิ่นที่ฝ่ายหนึ่งชำนาญจะถูกพรากไปด้วยการไม่จัดก็ตาม กระนั้น มหกรรมกีฬาแห่งหมู่บ้านอาเซียนก็ยังเต็มไปด้วยสีสันว่าด้วยการเอาคืนในแบบบ้านๆ ซึ่งล้วนแต่ให้จดจำ

กระนั้น ฉันก็ยังรู้สึกเสียดายเสมอ ถ้าเราจะเอาแต่พัฒนากีฬาสากล โดยทิ้งทุกอย่าง “บ้านๆ” นี้ไป

คุณว่าอย่างนั้นไหม? นี่มันคือทางลัดเดียวของการพัฒนาประชาธิปไตยในหมู่บ้านอาเซียน ไม่ว่าจะเป็นจริตภาษาวาทกรรม ความหมกมุ่นรุนแรงในลัทธินิยมชาติหรือเสรีนิยมมาก ล้วนแต่เป็นเหมือนเงาสะท้อนของแต่ละอดีตตน

โดยทั่วไปแล้วในอาเซียนเกือบทั้งหมด เว้นแต่สิงคโปร์แล้ว การเสนอความรุ่งเรืองของการสร้างชาติบรรพชน ดูจะเป็นความภาคภูมิใจสูงสุดจนเกือบจะทะลุขอบเพดานแห่งความพยายามเหนี่ยวรั้ง “วิถีดั้งเดิม” ไว้เลยทีเดียว

ตานี้ ฉันจึงเริ่มเข้าใจว่า ทำไมมิตรสหายชาวเวียดบางคนจึงพยายามตามรอยค่านิยมลื่นไหลแบบไทยๆ ในหมู่คนรุ่นใหม่ ที่ถูกเบ้าหลอมโฮจิมินห์นิยมแบบเดียวกับรุ่นพ่อและแม่ ที่ให้คุณค่าต่ออุดมการณ์สูงสุดแบบพรรคคอมมิวนิสต์ที่นับวันจะถูกท้าทายจากกระแสโลกใหม่

การหยัดยืนท้าทายในมาดมั่นที่บางครั้งความทะเยอทะยานแบบนั้นจะนำไปล้อเลียนในโลกออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นฉายา “พระบิดาแห่งอาเซียน” “ผู้ไปสู่โลกอื่น…” “เจ้าจักรวาล” ฯลฯ

โดยเฉพาะประโยคที่ว่า “เวียดนามจะเป็นคู่แข่งทุกด้านกับประเทศไทย ทั้งในด้านฟุตบอล กีฬาและเศรษฐกิจ” ที่ล้วนบ่งบอกว่า นี่คือภาษากายที่ดำดิ่ง ทะเยอทะยานและกล้าฝันของชาวเวียด

ต่อบทบาทความเป็นพลเมืองและค่านิยมเดิมที่เกิดมาเพื่อรับใช้ระบอบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์

 

เพราะภาษากาย 108 ของเวียดนามจากรอบนี้หรือไม่ ความสนใจของฉันจึงพุ่งไปหากายวิกาของยุคอาณานิคมบารังและสหราชอาณาจักร ตลอดจนดีเอ็นเอภาษากายในฐานะผู้พิชิต จากอดีตที่ตกทอดมาถึงปัจจุบันและดีเอ็นเอแบบนั้นว่า

ในหมู่ผู้นำรุ่นหลัง อย่างท่านบอริส จอห์นสัน กับท่านเอ็มมานูแอล มาครง แล้ว พวกเขามีอะไรเบิกเนตรใหม่ให้เราฝัน และถวิลหากายวิกาแบบนั้น?

เพราะเหตุที่ทั้งสองคนช่างมีแนวคิดอันมั่นคง โดยเฉพาะปฏิกิริยาต่อปัญหายูเครน ด้วยภาษากายร้อยแปดที่ต่างกัน

อ้าว ทำไมจู่ๆ ฉันจึงกล่าวเช่นนั้น? ก็เพราะว่า เคยมีหลักฐานที่ถกกันระหว่างสองเจ้าอาณานิคมที่ต่าง “โอ้อวด” และยกความความสำเร็จของตนว่ายิ่งใหญ่กว่าอีกฝ่ายหนึ่งต่อกลุ่มประเทศในปกครอง อย่างเห็นได้ประมาณหนึ่งที่อังกฤษเคยยั่วล้อฝรั่งเศสประเด็นที่เมื่อให้เอกราชแก่นิคมประเทศของตนแล้ว ก็ทิ้งความผิดชอบในการดูแลพื้นฐานแก่ประเทศเหล่านั้น

โดยเฉพาะ “ความมั่นคงที่มาจากธรรมนูญการปกครองตนเอง” ที่อังกฤษคิดว่าตนนั้นรอบคอบกว่า…สำเร็จกว่า… ฝรั่งเศสในแง่นั้น

หรือกรณีพม่า ที่อังกฤษก็ยังเชื่อเสมอว่า ถ้าไม่มีเหตุการณ์ข้อตกลงปางหลวงที่เกิดการหักหลังกันเองแล้ว เชื่อว่าพม่าจะก้าวไปอย่างมั่นคงไม่ต่างจากสิงคโปร์ มาเลเซีย หรืออินเดียทุกวันนี้

แต่นั่นก็เพราะว่า ที่กล่าวว่า จริตวิสัยทัศน์ของอังกฤษ-ฝรั่งเศสนั้นต่างกัน ดังนั้น การวิเคราะห์ จัดการตลอดจนการรับมือกับปัญหาทางการเมือง

กับวิธีปลดเปลื้องและแก้ปัญหาความยุ่งเหยิง จึง “ต่างกัน!”

 

เฉกเดียวกับที่เห็นจากภาษากายของนายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน กับประธานาธิบดีเอ็มมานูแอล มาครง ต่อประเด็นยูเครนนั่น

ในยามวิกฤต ใครคนหนึ่งที่มีทรงผมยุ่งเหยิง หน้าตาแดงก่ำเหมือนนักร่ำสุราปาร์ตี้ แต่ทว่า การตัดสินใจแต่ละครั้งของนายกฯ จอห์นสันในประเด็นสงครามยูเครน กลับชัดเจนมั่นคงและให้คุณค่าของการปกป้องเกียรติภูมิประเทศหนึ่ง

ซึ่งแตกต่างจากอีกฝ่าย-มาครง ผู้มีรูปลักษณ์งามทุกกระเบียดนิ้ว ทว่า กลับมีภาษาวาทกรรมอันคลุมเครือ ยากต่อการตีความ

และนี่คือมรดกดีเอ็นเอภาษากายร้อยแปดที่พบพานในกลุ่มชาติพันธุ์อินโดจีนด้วยหรือไม่?

ทำไมพื้นฐานค่านิยมแบบสากลที่พึงอยู่ธรรมนูญของประเทศในกลุ่มนี้ จึงมีความเป็นเฉพาะตน? จงอย่าลืมว่า เวียดนามชนะสงครามเดียนเบียนฟู ชนะฝรั่งเศส และพวกเขาก็ไม่คิดจะเอาอะไรมาจากบรรพบุรุษของมาครง นอกจากลัทธิสังคมนิยมที่สะสมและซึมซับมายาวนาน และมันคือ “ธรรมนูญ” เดียวของประเทศที่เป็นความทะเยอทะยาน

ดังนั้น จึงไม่แปลกที่ความทะเยอทะยานของเวียดนามจึงเป็นการเฉพาะตนที่ต่างจากอาเซียนประเทศอื่น ขณะที่ความฝันจะผันตนไปเป็น “บิดาแห่งภูมิภาค” ตามที่ถูกล้อเลียนนั้น ก็ไม่ใช่เรื่องอันน่าอับอาย

แต่เป็นเรื่องจริงที่จุดประกายและไม่มีส่วนผสมของใครมาเป็นแรงบันดาลใจ นอกจากค่านิยมโฮจิมินห์และลัทธิทุนนิยมแบบคอมมิวนิสต์

อนึ่ง ถ้าเช่นนั้นแล้ว ประเด็น “ธรรมนูญ” หลังเอกราชที่ “มั่นคง” และวิถีแบบ “สากล” ในถกเถียงว่าด้วยระบอบนิคมเก่าแบบอังกฤษ-บารังก็เป็นแค่ทฤษฎีสมคบคิดของพวกนอกนิคมบางสร๊ก ที่สนุกสนานวันๆ กับวาทกรรมในออนไลน์

คนพวกนี้ มักขาดความทะเยอทะยาน เตะฟุตบอลก็แพ้ แต่ก็หลงตนเองว่าเหนือกว่า (ซะที่ไหน?) นอกจากความหมกมุ่นกับคุณค่าที่ไม่สร้างสรรค์ก่อแรงบันดาลใจ และด้วยค่านิยมแปลกๆ แบบนั้นหรือไม่? ที่อาจเป็นภัยคุกคาม?

ฉะนั้น การตั้งตนเป็นบิดาแห่งอาเซียนหรือหัวหน้าหมู่บ้าน จึงไม่ใช่เรื่องบ้านๆ แต่เป็นความทะเยอทะยานระดับยุทธศาสตร์รักษาค่านิยมสูงสุด

แด่…ระบอบโฮจิมินห์