จาก ‘ศูนย์พัฒนาเด็ก Gifted’ ถึง ‘มหาวิทยาลัย Sirius’ การก้าวสู่ ‘ยุคใหม่’ ของ Russia/บทความพิเศษ จักรกฤษณ์ สิริริน

บทความพิเศษ

จักรกฤษณ์ สิริริน

 

จาก ‘ศูนย์พัฒนาเด็ก Gifted’

ถึง ‘มหาวิทยาลัย Sirius’

การก้าวสู่ ‘ยุคใหม่’ ของ Russia

 

การศึกษาในศตวรรษที่ 21 ต่างจากการศึกษาในศตวรรษที่ 20 ตรงที่ในศตวรรษที่ 20 ครูจะยืนพูดคนเดียวหน้าชั้นเรียน (Traditional Classroom) ซึ่งเป็นรูปแบบการเรียนรู้โดยการฟังบรรยาย (Lecture-Based Learning)

นักเรียนมีหน้าที่ฟัง และจด อาจจะมีนักเรียนถามบ้างนิดหน่อย แต่ก็ไม่มาก

ขณะที่ในศตวรรษที่ 21 เป็นการศึกษาแบบลงมือทำ หรือ Active Learning ที่ทุกคนในชั้นเรียนมีส่วนร่วม

โดยทั้งครูและนักเรียนจะช่วยกันสอน ช่วยกันเรียน ผ่านการทำกิจกรรม (Activities-Based Learning) ทำให้นักเรียนได้ประสบการณ์ตรง

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การศึกษาในศตวรรษที่ 21 เป็นการจัดการเรียนการสอนที่คำนึงถึงธรรมชาติ ความสนใจ ความแตกต่างระหว่างบุคคล และศักยภาพของผู้เรียน

รูปแบบการศึกษาในศตวรรษที่ 20 จึงมองข้ามเด็กปัญญาเลิศ (Gifted Child) ที่มีความสามารถพิเศษ และศักยภาพในการเรียนรู้ไปเป็นจำนวนมาก

มีสถิติที่ชี้ว่า ทั่วโลกมีเด็กปัญญาเลิศ หรือเด็กอัจฉริยะ ประมาณร้อยละ 5 ของเด็กนักเรียนทั้งหมด โดยเด็กเหล่านี้มีพฤติกรรมแตกต่างจากเด็กทั่วไปอย่างเห็นได้ชัด

เพราะเด็กอัจฉริยะในการศึกษาในศตวรรษที่ 20 อยู่รวมกับเด็กปกติ และกระจายอยู่ตามโรงเรียนต่างๆ ซึ่งการค้นหาทำได้ยาก และบางครั้งกว่าจะค้นพบเด็กปัญญาเลิศ ก็มักจะสายเกินไปเสมอ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับเด็กอัจฉริยะในหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ และออสเตรเลีย พบว่าเด็กปัญญาเลิศจำนวนมากจำเป็นต้องเลิกเรียนกลางคัน

เนื่องจากไม่สามารถอยู่ในชั้นเรียนปกติ เพื่อเรียนในสิ่งที่ตนรู้ และเข้าใจแล้วล่วงหน้า

ดังนั้น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ และออสเตรเลีย จึงมีการจัดการศึกษาสำหรับเด็กปัญญาเลิศ เพราะเขามองว่าเป็นการลงทุนที่ได้รับผลตอบแทนสูง และจะช่วยยกระดับคุณภาพการศึกษาของประเทศได้ต่อไปในอนาคต

นอกจากสหรัฐอเมริกา อังกฤษ แคนาดา และออสเตรเลียแล้ว ประเทศที่มีการจัดการเรียนการสอนให้แก่เด็กปัญญาเลิศยังมีเยอรมนี สิงคโปร์ เกาหลีใต้ จีน ไต้หวัน กระทั่งเวียดนาม

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมือง Sochi ของ “รัสเซีย” ได้มีการจัดตั้ง “ต้นแบบศูนย์พัฒนาปัญญาเลิศ” (Gifted Center) ขึ้น

ภายใต้ชื่อ “ศูนย์พัฒนาเด็กผู้มีความสามารถพิเศษ” หรือ Sirius Educational Center เพื่อคัดกรอง พัฒนา และสนับสนุนเด็กที่มีความสามารถพิเศษใน 3 ด้าน คือ

1. ศิลปะ ประกอบด้วย การวาดภาพ การเล่นดนตรี ได้แก่ เปียโน เครื่องสาย เครื่องเป่า เครื่องเคาะ รวมถึงการออกแบบและกำกับท่าทาง ได้แก่ บัลเล่ต์ นาฏศิลป์

2. กีฬา ประกอบด้วย ฟิกเกอร์สเก๊ต ฮอกกี้น้ำแข็ง และหมากรุก

3. วิทยาศาสตร์ ประกอบด้วย คณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี และชีววิทยา

 

Sirius Educational Center จัดตั้งขึ้นจากงบประมาณสนับสนุนของ “กองทุนการศึกษาสำหรับผู้มีความสามารถพิเศษ” หรือ Talented and Success Educational Fund

ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ.2014 ภายใต้ความร่วมมือของนักวิทยาศาสตร์ นักกีฬา และศิลปินชั้นนำสาขาต่างๆ ของรัสเซีย โดยมีประธานาธิบดี Vladimir Putin เป็นประธาน

โดยคัดเลือกเด็กปัญญาเลิศ อายุระหว่าง 10-17 ปี จากทั่วประเทศ จำนวนรุ่นละ 600 คน แบ่งเป็นด้านศิลปะ 200 คน กีฬา 200 คน และวิทยาศาสตร์ 200 คน

เพื่อเข้ารับการพัฒนาศักยภาพเป็นเวลา 24 วัน โดยครู โค้ช และผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขา ทั้งในประเทศ และจากต่างประเทศ จำนวน 100 คน

ภายใน 24 วัน เด็ก และเยาวชนในค่าย Sirius ไม่เพียงได้รับการพัฒนาศักยภาพตามสาขาที่แต่ละคนถนัด แต่ยังได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้ และฝึกฝนทักษะในอีกสองสาขาที่เหลือจนครบทั้ง 3 ด้าน

รวมทั้งยังได้รับการสนับสนุนด้านการเรียนรู้นอกห้องเรียน และการอำนวยความสะดวกเรื่องความเป็นอยู่ในค่ายอย่างเต็มที่

 

ภายใน Sirius Educational Center ประกอบด้วย ที่พักหรูระดับโรงแรม 5 ดาว ห้องพยาบาล ห้องสมุด ศูนย์ ICT โรงอาหาร โรงภาพยนตร์ โต๊ะปิงปอง โต๊ะบิลเลียด

สระว่ายน้ำ สนามฟุตบอล สนามวอลเลย์บอล สนามบาสเกตบอล สนามเทนนิส สนามแบดมินตัน สนามฮอกกี้น้ำแข็ง ลานสเก๊ตน้ำแข็ง ห้องบัลเล่ต์ ห้องหมากรุก

ไปจนถึงร้านกาแฟ ไนต์คลับ สปา และโปรแกรมทัวร์เที่ยวชมเมือง

Sirius Educational Center และ Talented and Success Educational Fund จึงเป็นการฉายภาพวิสัยทัศน์ของ Vladimir Putin ที่เล็งเห็นประโยชน์ที่ “รัสเซีย” จะได้รับจากเด็กปัญญาเลิศ รุ่นละ 600 คน ต่อไปในอนาคต

หลังจาก Sirius Educational Center เปิดการเรียนการสอนมาได้ 5 ปี Talented and Success Educational Fund หรือ “กองทุนการศึกษาสำหรับผู้มีความสามารถพิเศษ” ก็ได้ยกระดับขึ้นเป็น “มูลนิธิ” หรือ Talent and Success Educational Foundation

เปิด “มหาวิทยาลัย Sirius” เพื่อต่อยอดเด็กปัญญาเลิศในระดับอุดมศึกษา

ซึ่งมีทั้งบุคลากรดั้งเดิมของ Sirius Educational Center และทีมงานใหม่ ร่วมก่อตั้ง “มหาวิทยาลัย Sirius” จัดการเรียนการสอนระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก แบบครบวงจร

ภายใต้ชื่อ The Sirius Science and Technology University หรือ “มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี Sirius”

ที่เน้นการจัดการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี เพื่อผลิต “นวัตกร” ไม่เน้นด้านสังคมศาสตร์

ซึ่งถือเป็นจุดแข็งของ “รัสเซีย”

 

หากพิจารณาจากบทความใน “มติชนสุดสัปดาห์” เมื่อสัปดาห์ก่อน

ชื่อตอนว่า “นวัตกรรมรัสเซีย” ไม่แพ้ชาติใดในโลก

ที่ฉายภาพการเป็นผู้นำด้าน “นวัตกรรม” ของ “รัสเซีย” ที่หลายคนอาจมองข้ามไป เนื่องจากสื่อกระแสหลักในบ้านเรามักนำเสนอเรื่องราวของสหรัฐ และพันธมิตรของอเมริกาเป็นส่วนใหญ่

การที่ “นวัตกรรมรัสเซีย” ไม่แพ้ชาติใดในโลกนั้น มีจุดกำเนิดสำคัญคือบุคลากรของ “รัสเซีย” รุ่นแล้วรุ่นเล่า ที่มีความเป็น “นวัตกร”

ที่แม้ในอดีตจะไม่มีสถาบันการศึกษาที่ผลิต “นวัตกร” เหมือน “มหาวิทยาลัย Sirius” ในปัจจุบัน เพราะความเป็น “นวัตกร” ของ “คนรัสเซีย” นั้น “เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ”

และเป็น “หัวใจสำคัญ” ของ “รัสเซีย” ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ดังที่หนังสือ Innovation is a State of Mind : Simple Strategies to be More Innovative in Everything You Do เขียนโดย James O’loghlin

ได้กล่าวไว้ว่า ก่อนจะสร้าง “นวัตกร” ต้องสร้าง “นิสัยนวัตกรรม” ให้เกิดขึ้นใน “หัวใจ” ของทุกคนเสียก่อน

หลักสูตรในระดับปริญญาตรีของ “มหาวิทยาลัย Sirius” จึงเน้นการสร้าง “นวัตกร” ด้าน “เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร” ซึ่งถือเป็น “หัวใจสำคัญ” ของ “โลกยุค Digital”

ขณะที่หลักสูตรในระดับปริญญาโท และปริญญาเอก เน้นไปที่การสร้าง “นวัตกร” สาขาใหม่ๆ ซึ่งมีความจำเป็นในโลกอนาคต

พระเอกของระดับปริญญาโท ประกอบด้วย “เทคโนโลยีสุขภาพ” สาขาต่างๆ อาทิ “พันธุศาสตร์สมัยใหม่” ทั้ง “พันธุศาสตร์พืชและสัตว์” “พันธุศาสตร์มนุษย์” และ “เทคโนโลยีพันธุศาสตร์”

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สาขา “ภูมิคุ้มกันวิทยา” “ชีวการแพทย์” “เทคโนโลยีชีวภาพ” “ชีวสารสนเทศศาสตร์” “อณูชีววิทยา”

สาขา “เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร” เช่น “คณิตศาสตร์หุ่นยนต์” “ปัญญาประดิษฐ์” “เทคโนโลยีการเงิน” “คณิตศาสตร์การเงิน” “เวชศาสตร์ปริวรรต” “เคมีการแพทย์” “คณิตศาสตร์ชีววิทยา”

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “วิศวกรรมพลังงาน” ซึ่งถือเป็นจุดแข็งของ “รัสเซีย” ในปัจจุบัน

 

ขณะเดียวกัน ในระดับปริญญาเอก เน้นไปที่การสร้าง “นวัตกร” ในระดับ “นักวิจัย” ในสาขา “เทคโนโลยีการแพทย์ขั้นสูง” ในลักษณะของ “สหวิทยาการ”

ไม่ว่าจะเป็น “การวิจัยสมองแบบสหวิทยาการ” “ประสาทชีววิทยา” “ชีววิทยาของเซลล์” “อณูชีววิทยาขั้นสูง” “เคมีกายภาพ” “พันธุศาสตร์ขั้นสูง”

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “สหวิทยาการสมัยใหม่” หลากหลายสาขา เป็นต้นว่า “สมการเชิงอนุพันธ์” “ฟิสิกส์คณิตศาสตร์ขั้นสูง” “การสร้างแบบจำลองทางคณิตศาสตร์” “วิทยาการตัวเลข” “วิศวกรรมซอฟต์แวร์ขั้นสูง”

และสาขาวิทยาศาสตร์สังคมขั้นสูง เช่น “จิตวิทยาขั้นสูง” “จิตวิทยาบุคลิกภาพ” “รากฐานทางจิตวิทยา”

จากสาขาวิชาทั้งหมดของ “มหาวิทยาลัย Sirius” จะเห็นได้ว่า “รัสเซีย” ได้ก้าวข้ามศาสตร์ในศตวรรษที่ 20 มาไกลมาก

“รัสเซีย” มาไกล จนไม่อาจจะย้อนกลับไปได้อีก!