เจาะปมตุรกีแตกแถว ค้าน ‘สวีเดน-ฟินแลนด์’ เข้านาโต/บทความต่างประเทศ

บทความต่างประเทศ

 

เจาะปมตุรกีแตกแถว

ค้าน ‘สวีเดน-ฟินแลนด์’ เข้านาโต

สวีเดนและฟินแลนด์ สองชาติในกลุ่มนอร์ดิก ละทิ้งสถานะ “ความเป็นกลางทางทหาร” ที่ธำรงมานานหลายทศวรรษเอาไว้เบื้องหลัง และได้ยื่นใบสมัครเข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต) อย่างเป็นทางการไปเป็นที่เรียบร้อย ในความพยายามจะหาหลักประกันด้านความมั่นคงที่เข้มแข็งให้กับตนเองในยามเผชิญภัยคุกคามอันน่าพรั่นพรึงที่อาจจะมาถึงตัวในภายภาคหน้าอย่างที่ยูเครนกำลังเป็นตัวอย่างให้เห็นอยู่ในเวลานี้

เป็นที่รับรู้ว่าการทำสงครามบุกยูเครนของรัสเซีย เป็นแรงขับที่ทำให้สวีเดนและฟินแลนด์ตัดสินใจปรับเปลี่ยนนโยบายสำคัญครั้งประวัติศาสตร์

โดยเฉพาะฟินแลนด์ที่มีพรมแดนติดต่อกับรัสเซียเป็นระยะทางมากถึงกว่า 1,300 กิโลเมตร และยังเคยมีข้อพิพาทกระทบกระทั่งกับรัสเซียมาในอดีต ทำให้ต้องเร่งหาพันธมิตรที่แข็งแกร่งเอาไว้เป็นเกราะป้องกันให้อุ่นใจ

นาโต กลุ่มพันธมิตรความมั่นคงทางทหารข้ามแอตแลนติก ที่ปัจจุบันมีประเทศสมาชิกรวมแล้วทั้งสิ้น 30 ชาติ นำโดยสหรัฐอเมริกา เป็นสิ่งตอบโจทย์ที่สุดสำหรับทั้งสองชาตินอร์ดิกนี้

 

ไม่ใช่เรื่องแปลกหากการเคลื่อนไหวที่จะเข้าร่วมเป็นสมาชิกนาโตของสวีเดนและฟินแลนด์ จะถูกต่อต้านจากรัสเซีย เพราะการทำสงครามบุกยูเครนซึ่งล่วงเข้าสู่เดือนที่ 4 แล้วนั้น ก็มีชนวนเหตุสำคัญมาจากความกระตือรือร้นของยูเครนในการจะเข้าร่วมอยู่ใต้องคาพยพนาโต ซึ่งรัสเซียมองว่าเป็นภัยคุกคามต่อผลประโยชน์ด้านความมั่นคงและอธิปไตยของตนเอง

แต่ที่น่าแปลกคือ ตุรกี หนึ่งในสมาชิกนาโต ได้ลุกขึ้นมาออกโรงต่อต้านอย่างแข็งขันต่อการจะขอเข้าร่วมนาโตของสวีเดนและฟินแลนด์ ทั้งๆ ที่การเข้าร่วมของทั้งสองชาติจะเป็นการผนึกกำลังให้กลุ่มพันธมิตรความมั่นคงทางทหารแห่งนี้มีอิทธิพลแข็งแกร่งยิ่งขึ้น

โดยประธานาธิบดีเรเจพ เทยิพ แอร์โดอาน ของตุรกี ประกาศกร้าวในทันทีว่าจะไม่ให้ความเห็นชอบในการเข้าร่วมเป็นสมาชิกนาโตของทั้งสวีเดนและฟินแลนด์ พร้อมกล่าวย้ำหนักแน่นให้สมาชิกนาโตอื่นๆ เคารพในข้อห่วงกังวลของตุรกีที่มีต่อเรื่องนี้ด้วย

คำถามคืออะไรที่เป็นข้อห่วงกังวล ที่ทำให้ตุรกีค้านหัวชนฝาที่จะไม่ยอมรับสวีเดนและฟินแลนด์ เข้าเป็นสมาชิกนาโต ที่โดยหลักปฏิบัติแล้วนั้นจะต้องได้รับมติเห็นชอบเป็นเอกฉันท์จากสมาชิกนาโตทั้ง 30 ชาติ

 

ประเด็นหลักใหญ่ที่เป็นข้อห่วงกังวลสำคัญของตุรกี ก็คือ กลุ่มติดอาวุธชาวเคิร์ด โดยเฉพาะกลุ่มที่เรียกตนเองว่า พรรคแรงงานเคอร์ดิสถาน (พีเคเค) ซึ่งเป็นองค์กรติดอาวุธที่สู้รบต่อต้านรัฐบาลตุรกีมายาวนานตั้งแต่ปี 1984 และถูกตุรกีรวมถึงชาติพันธมิตรตะวันตก เช่น สหภาพยุโรป รวมถึงฟินแลนด์และสวีเดน ขึ้นบัญชีดำเป็นองค์กรก่อการร้าย

โดยตุรกีกล่าวหาทั้งสวีเดนและฟินแลนด์ โดยเฉพาะสวีเดนว่าได้ให้การปกป้องและที่หลบภัยพักพิงแก่สมาชิกกลุ่มพีเคเค ที่เข้าไปหลบอยู่ที่นั่น และยังปฏิเสธคำขอส่งตัวสมาชิกพีเคเคกลับมาให้กับตุรกี

ไม่กี่ปีที่ผ่านมายังมีประเด็นร้อนที่สร้างความโกรธเกรี้ยวให้กับตุรกีอย่างมาก จากกรณีที่ตุรกีกล่าวหาสวีเดนว่ายังให้การสนับสนุนกลุ่มติดอาวุธชาวเคิร์ดในซีเรียที่เรียกตนเองว่า หน่วยพิทักษ์ประชาชน (ยูพีจี) ซึ่งตุรกีมองว่าแตกหน่อมาจากกลุ่มพีเคเคอีกด้วย

อีกปมขัดแย้งที่สั่นคลอนความสัมพันธ์ระหว่างตุรกีกับชาติตะวันตกให้ถดถอยลงเป็นในปี 2019 เมื่อฟินแลนด์และสวีเดน รวมถึงชาติอื่นในยุโรป ได้ห้ามการส่งออกอาวุธไปยังตุรกี เพื่อตอบโต้ที่ตุรกีบุกโจมตีพื้นที่ชาวเคิร์ดทางตอนเหนือของซีเรีย

 

ตอนนี้พันธมิตรในกลุ่มก้อนนาโต รวมถึงสหรัฐอเมริกา ที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ประกาศสนับสนุนอย่างเต็มที่ให้สองชาตินอร์ดิกได้เข้าเป็นสมาชิกนาโต กำลังหาทางเกลี้ยกล่อมให้ตุรกียอมโอนอ่อนเปิดทางให้ในเรื่องนี้

ในความเห็นของนักวิเคราะห์มองว่า ปัญหาความขัดแย้งนี้สามารถคลี่คลายลงได้ผ่านการประนีประนอมและการกดดันตุรกีไปพร้อมกัน

โดยพอล เลวิน ผู้อำนวยการสถาบันตุรกีศึกษา แห่งมหาวิทยาลัยสตอกโฮล์ม บอกว่า เขายังคงเชื่อว่าเรื่องนี้ยังอาจตกลงกันได้ โดยสวีเดนอาจจะต้องยอมโอนอ่อนผ่อนตามให้กับตุรกีบ้างในบางเรื่อง และสมาชิกนาโตอื่นๆ เข้ามามีส่วนช่วยกันทั้งด้วยการกดดันและการให้สิ่งที่ดึงดูดใจตุรกีไปพร้อมกัน

แต่เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่าตุรกีจะคัดค้านและสกัดกั้นการเข้าเป็นสมาชิกนาโต เพราะปัญหากลุ่มติดอาวุธชาวเคิร์ด เป็นประเด็นที่มีความอ่อนไหวยิ่งสำหรับตุรกี

 

นักวิเคราะห์อีกรายมองว่า แอร์โดอาน ประธานาธิบดีตุรกี ที่ยังเป็นผู้นำในระยะเปลี่ยนผ่านที่ตุรกีจะมีการเลือกตั้งสำคัญในปีหน้า ก็อาจจะหาประโยชน์จากเรื่องนี้ โดยอาจใช้กลยุทธ์ยิงปืนนัดเดียวได้นกหลายตัว

โดยไม่เพียงบังคับให้สวีเดนเข้าใกล้จุดยืนของตุรกีในประเด็นของกองกำลังติดอาวุธชาวเคิร์ดเท่านั้น

แต่ยังรวมถึงผลประโยชน์อื่นๆ เพื่อแลกกับการสนับสนุนของตุรกี

ซึ่งการปลดล็อกการห้ามส่งออกอาวุธ เช่น เครื่องบินรบของสหรัฐให้กับตุรกี ที่มีการกล่าวถึงบ่อยครั้ง ก็อาจเป็นหนึ่งในหนทางจูงใจตุรกีได้

สุดท้ายแล้วคงต้องจับตาดูพัฒนาการในเรื่องนี้ต่อไป ที่ล่าสุดมีรายงานว่า สวีเดนและฟินแลนด์กำลังส่งคณะผู้แทนไปกรุงอังการาเพื่อเกลี้ยกล่อมตุรกีโดยตรงแล้ว