‘ฝีดาษลิง’ โรคเก่าระบาดใหม่ที่ยังเป็นปริศนา/บทความต่างประเทศ

บทความต่างประเทศ

 

‘ฝีดาษลิง’

โรคเก่าระบาดใหม่ที่ยังเป็นปริศนา

 

นับจนถึงเวลานี้ผู้ป่วยโรค “ฝีดาษลิง” (monkeypox) ที่กระจายอยู่ในประเทศเจริญแล้วทั้งในทวีปยุโรป อเมริกาเหนือ รวมถึงภูมิภาคตะวันออกกลาง ก็พุ่งขึ้นไปมากว่า 100 รายใน 18 ประเทศแล้ว

เรียกได้ว่าโควิด-19 ที่สร้างความปั่นป่วนไปทั่วทั้งโลกยังไม่ทันจางหาย ก็เกิดโรค “ฝีดาษลิง” แพร่ระบาดให้หวาดผวากันอีกครั้ง เริ่มต้นจากประเทศอังกฤษ ที่พบผู้ติดเชื้อรอบล่าสุดนี้เป็นชาติแรกเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคมที่ผ่านมา ก่อนจะพบมากขึ้นเรื่อยๆ จนทะลุ 20 รายไปแล้วในเวลานี้

นอกจากนั้นแล้วยังมีประเทศในยุโรปอีกหลายชาติไม่ว่าจะเป็นสเปน โปรตุเกส เบลเยียม เยอรมนี เรื่อยไปถึงประเทศในอเมริกาเหนือ อย่างสหรัฐอเมริกา และแคนาดา

โดยล่าสุดพบผู้ติดเชื้อฝีดาษลิงลามมายังภูมิภาคอาหรับ อย่างสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ด้วยแล้ว

 

โรคฝีดาษลิงไม่ใช่โรคอุบัติใหม่ แต่เป็นโรคที่แพร่ระบาดอยู่ในวงจำกัดในพื้นที่แอฟริกาตะวันตกและแอฟริกาเหนือ ส่วนใหญ่พบระบาดในที่ห่างไกลโดยเป็นการติดเชื้อจากสัตว์เป็นส่วนใหญ่

แต่สิ่งที่สร้างความแปลกใจให้กับนักไวรัสวิทยาและนักระบาดวิทยาก็คือการแพร่ระบาดครั้งใหม่นี้ มีลักษณะที่แตกต่างออกไป นั่นก็คือ พบผู้ติดเชื้อจากคนสู่คนเป็นจำนวนมาก และส่วนใหญ่ยังพบในกลุ่มชายรักชายหรือกลุ่มไบเซ็กช่วล

นั่นจึงทำให้เกิดคำถามว่า ฝีดาษลิงอาจเกิดการกลายพันธุ์แล้วหรือไม่

การแพร่ระบาดที่มีลักษณะพิเศษดังกล่าวส่งผลให้องค์การอนามัยโลกต้องจัดการประชุมฉุกเฉินว่าด้วยเรื่องฝีดาษลิงขึ้นโดยเฉพาะ และมีการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับโรคฝีดาษลิงเพื่อทำความเข้าใจกับสาธารณะชนเพื่อไม่ให้เกิดความตื่นตระหนกกันมากจนเกินไป

 

จุดเริ่มต้นของฝีดาษลิงย้อนไปเมื่อ 40 ปีก่อน ช่วงเวลาที่โลกสามารถกำจัดการแพร่ระบาดของฝีดาษ หรือไข้ทรพิษในคน (smallpox) โรคที่ระบาดในอารยธรรมมนุษย์ยาวนานถึง 3,000 ปีลงได้สำเร็จ

นั่นส่งผลให้การฉีดวัคซีนฝีดาษ หรือการปลูกฝีในกลุ่มประชากรโลกหมดความสำคัญลงไป ทำให้ไม่มีการบังคับฉีดวัคซีนฝีดาษกันตั้งแต่ช่วงปี 1980 หรือปี พ.ศ.2523 เป็นต้นมา

ผู้เชี่ยวชาญมองว่านั่นอาจเป็นส่วนหนึ่งทำให้ “โรคฝีดาษลิง” สามารถกลับมาแพร่ระบาดได้อีกครั้งโดยเฉพาะในทวีปแอฟริกา ที่มักเป็นจุดเริ่มต้นของโรคระบาดร้ายแรงที่แพร่ระบาดจากสัตว์สู่คนได้

“ฝีดาษลิง” เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งซึ่งใกล้ชิดกับเชื้อไวรัสที่ก่อโรคฝีดาษ หรือไข้ทรพิษ และนั่นทำให้โรค “ฝีดาษลิง” มีชื่อเรียกอีกชื่อว่า “ไข้ทรพิษลิง” ด้วย

“ไวรัสฝีดาษลิง” ถูกค้นพบครั้งแรกใน “ลิงทดลอง” ที่เลี้ยงไว้สำหรับการวิจัยในปี 1958 ก่อนจะพบมนุษย์ติดเชื้อครั้งแรกเป็นเด็กชายวัย 9 ขวบในประเทศคองโก ในปี 1970

หลังจากนั้นก็พบผู้ติดเชื้ออยู่ในแถบตะวันตกและตอนกลางของแอฟริกามาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในประเทศไนจีเรีย ที่พบระบาดหนักในปี 2017 มีผู้ติดเชื้อยืนยันมากถึง 200 ราย มีอัตราส่วนการเสียชีวิตอยู่ที่ราว 3 เปอร์เซ็นต์

สำหรับการแพร่ระบาดนอกทวีปแอฟริกาพบครั้งแรกที่สหรัฐอเมริกาในปี 2003 พบผู้ติดเชื้อมากถึง 70 ราย และจากการสืบสวนโรคพบว่ามีความเชื่อมโยงกับสัตว์ฟันแทะอย่าง “แพรี่ด๊อก” ซึ่งติดเชื้อจากหนูที่นำเข้าจากประเทศแกมเบียอีกทอดหนึ่ง

หลังจากนั้นมีการพบผู้ติดเชื้ออยู่บ้างในอิสราเอล อังกฤษ สิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา ระหว่างปี 2018 จนถึงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา โดยส่วนใหญ่จะเป็นผู้ติดเชื้อที่เดินทางมาจากแอฟริกาทั้งสิ้น แต่ไม่เคยเกิดการแพร่ระบาดที่ลุกลามกันเป็นจำนวนมากเหมือนในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา

 

องค์การอนามัยโลกระบุว่า ฝีดาษลิงมีอยู่ 2 สายพันธุ์ คือสายพันธุ์ “แอฟริกากลาง” และ “แอฟริกาตะวันตก” และโชคดีที่สายพันธุ์ที่แพร่ระบาดในยุโรปและอเมริกาเหนือในเวลานี้นั้นเป็นสายพันธุ์แอฟริกาตะวันตกที่อันตรายน้อยกว่า มีอัตราเสียชีวิตเพียงแค่ 1 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

เทียบกับสายพันธุ์แอฟริกากลางที่อัตราการเสียชีวิตสูงถึง 10 เปอร์เซ็นต์ แต่หากเทียบกับฝีดาษ หรือไข้ทรพิษแล้วนับว่ายังน้อยกว่า เนื่องจากอัตราเสียชีวิตของโรคฝีดาษสูงถึง 30 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว

องค์การอนามัยโลกระบุว่า ฝีดาษลิงสามารถแพร่เชื้อจากสัตว์สู่คนด้วยการสัมผัสโดยตรงกับเลือด สารคัดหลั่ง หรือตุ่มหนองของสัตว์ที่ติดเชื้อ หรือจากการถูกสัตว์ที่มีเชื้อกัด ข่วน การประกอบอาหารจากเนื้อสัตว์ป่า หรือกินเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุกไม่เพียงพอ หรืออาจติดทางอ้อมจากการสัมผัสที่นอนของสัตว์ป่วย

การแพร่เชื้อจากคนสู่คนแม้มีโอกาสน้อย แต่อาจเกิดขึ้นได้จากการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยผ่านทางสารคัดหลั่งจากทางเดินหายใจ ผิวหนังที่เป็นตุ่มหนอง หรืออุปกรณ์ที่ปนเปื้อนเชื้อ โดยเชื้อจะเข้าสู่ร่างกายได้ทางผิวหนังที่แห้งแตก หรือทางเดินหายใจ เยื่อเมือกในตา จมูก หรือทางปากได้

ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (ซีดีซี) สหรัฐอเมริการะบุว่า เมื่อรับเชื้อสู่ร่างกายจะมีระยะฟักตัวอยู่ที่ 7-14 วัน ผู้ที่ได้รับเชื้อฝีดาษลิงมักแสดงอาการเริ่มต้นด้วยการมีไข้, หนาวสั่น, เหนื่อยล้า, ปวดกล้ามเนื้อและปวดหัว หรืออาจมีอาการต่อมน้ำเหลืองบวมโตร่วมด้วย

เมื่อครบ 1-3 วันหลังจากมีไข้ก็จะเกิดผื่นขึ้นตามมา เริ่มจากบริเวณใบหน้า จากนั้นก็ลามออกไปทั่วตัว ในตอนแรกจะเกิดเป็นจุดแต้มสีน้ำตาลขึ้นก่อน หลังจากนั้นจุดสีน้ำตาลดังกล่าวจะเริ่มบวมพองเป็นตุ่มน้ำ เมื่อแห้งหรือตกสะเก็ดก็จะหลุดล่อนออกไป

กระบวนการทั้งหมดจะกินเวลาระหว่าง 2 ถึง 4 สัปดาห์ ส่วนใหญ่สามารถหายได้เอง

 

องค์การอนามัยโลกระบุว่า ปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาโรคฝีดาษลิงโดยเฉพาะ เพียงแต่เป็นการรักษาตามอาการ แต่ “วัคซีนฝีดาษ” ที่ปัจจุบันมีใช้กันในกลุ่มเจ้าหน้าที่ห้องแล็บที่ต้องทำงานกับไวรัสฝีดาษนั้น สามารถป้องกันการติดเชื้อได้มากถึง 85 เปอร์เซ็นต์

ปัจจุบันมีหลายประเทศที่เริ่มสั่งซื้อวัคซีนฝีดาษเอาไว้ใช้แล้วในกรณีฉุกเฉิน โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาที่ทุ่มงบฯ ถึง 4,000 ล้านบาท สั่งซื้อวัคซีน “Jynneos” วัคซีนป้องกันโรคฝีดาษเอาไว้แล้ว ขณะที่เบลเยียมก็เป็นประเทศแรกที่วางมาตรการบังคับกักตัวผู้ป่วยฝีดาษลิง เป็นเวลา 21 วันไปแล้วก่อนหน้านี้

เวลานี้คงต้องติดตามกันต่อไปว่า การตรวจสอบลำดับพันธุกรรมของเชื้อไวรัสที่แพร่ระบาดในยุโรปและอเมริกาเหนือในเวลานี้นั้นพบความแตกต่างจากเชื้อไวรัสฝีดาษลิงที่เคยแพร่ระบาดในแอฟริกาหรือไม่

จะเกิดการ “กลายพันธุ์” ที่ทำให้เกิดการแพร่ระบาดในกลุ่มประชากรได้ง่ายและเกิดอาการป่วยรุนแรงได้มากขึ้นกว่าเดิมหรือไม่คงต้องลุ้นกันต่อไป