ทำไม ‘ข้อริเริ่ม’ ของสหรัฐ ถึง ‘ขายยาก’ ในอาเซียน/เทศมองไทย

เทศมองไทย

 

ทำไม ‘ข้อริเริ่ม’ ของสหรัฐ

ถึง ‘ขายยาก’ ในอาเซียน

หลังการประชุมระดับรัฐมนตรีของกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรือเอเปค ในกรุงเทพฯ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐอเมริกา ออกตระเวนเยือนเกาหลีใต้ กับญี่ปุ่น เป็นกรณีพิเศษ

เป้าหมายก็เพื่อโปรโมตกรอบความร่วมมือใหม่ ที่เป็นแนวคิดริเริ่มของรัฐบาลอเมริกัน เรียกกันว่า “กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจแห่งอินโด-แปซิฟิก” หรือ “ไอพีอีเอฟ”

เป้าหมายก็เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ของสหรัฐอเมริกากับบรรดาประเทศในภูมิภาคเอเชียให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม

ทั้งยังเป็นการตอบสนองต่อข้อกังวลที่ว่า สหรัฐอเมริกาไม่มี “รูปธรรม” ที่จริงจังในการบริหารจัดการความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้ากับบรรดาประเทศทั้งหลายในภูมิภาคนี้

 

แอนดรูว์ แฮฟฟ์เนอร์ แห่ง อัลจาซีรา เขียนบทความแสดงความคิดเห็นต่อข้อเสนอใหม่นี้ไว้เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยยกความคิดเห็นของผู้สันทัดกรณีหลายคนมาประกอบเพื่อแสดงให้เห็นว่า ถึงที่สุดแล้วข้อเสนอใหม่ของสหรัฐอเมริกาก็มีทีท่าว่าจะ “ขายยาก” เต็มทีสำหรับมิตรประเทศในเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับบรรดาประเทศในกลุ่มอาเซียนทั้งหลาย

แฮฟฟ์เนอร์ชี้ให้เห็นว่า ในขณะที่ยังคงมีรายละเอียดอีกมากที่ยังไม่เป็นที่รับรู้กันเกี่ยวกับไอพีอีเอฟ แต่ฝ่ายบริหารของสหรัฐอเมริกาก็แสดงให้เห็นชัดในประเด็นหนึ่ง นั่นคือ ไอพีอีเอฟจะไม่ใช่ความตกลงทางการค้า ซึ่งมักมีขึ้นเพื่อลดพิกัดอัตราภาษีศุลกากรระหว่างกัน หรือไม่ก็เพื่อเปิดตลาดอเมริกันให้เข้าถึงได้มากขึ้น เหมือนกรอบความร่วมมืออื่นๆ ทั่วไป

แต่การเป็นส่วนหนึ่งของไอพีอีเอฟ คือ ความเป็นหุ้นส่วนในการดำเนินการเพื่อส่งเสริมและสร้างสรรค์ “มาตรฐานทางเศรษฐกิจ” ระหว่างกันขึ้นมามากกว่า

 

แคลวิน เฉิง นักวิเคราะห์อาวุโสด้านเศรษฐกิจ, การค้าและบูรณาการในภูมิภาค จากสถาบันศึกษายุทธศาสตร์และการต่างประเทศ (ไอเอสไอเอส) ในมาเลเซีย ตั้งข้อสังเกตไว้กับอัลจาซีราไว้อย่างนี้ครับ

“ความสัมพันธ์กับเอเชียถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงเสมอ แต่แนวคิดเรื่องนี้จริงๆ แล้วคืออะไรกันแน่? อะไรคือแรงจูงใจสำหรับประเทศกำลังพัฒนาให้ยอมรับเอาระดับมาตรฐานที่ประเทศพัฒนาแล้วซึ่งมั่งคั่งกว่า ยกเอามาบังคับใช้กับประเทศตัวเอง?”

นับตั้งแต่ประกาศแนวคิดริเริ่มว่าด้วยไอพีอีเอฟเมื่อเดือนตุลาคมปีที่ผ่านมา รัฐบาลอเมริกันก็พยายามสร้าง “บุคลิก” ให้กับแนวคิดริเริ่มใหม่นี้ว่า เป็นแนวทางเพื่อส่งเสริม “มาตรฐานร่วม” ภายใต้สาม “เสาหลัก” คือ

หนึ่งคือ การค้าขาย และระบบห่วงโซ่อุปทานที่เป็นธรรมและยั่งยืน

สองคือ การเสริมสร้างความแข็งแกร่งในเชิงโครงสร้าง, ส่งเสริมพลังงานสะอาด กับการลดการปล่อยคาร์บอน

และสามคือ การจัดเก็บภาษีและการต่อต้านคอร์รัปชั่นที่เป็นธรรมและยั่งยืน

สิ่งที่ขาดหายไปอย่างชัดเจน แตกต่างแม้แต่กระทั่งกับข้อตกลงความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจในภูมิภาคแปซิฟิก หรือทีพีพี ที่เป็นข้อริเริ่มของรัฐบาลอเมริกันก่อนหน้านี้ก็คือ ไอพีอีเอฟไม่มีส่วนที่เป็นผลประโยชน์ซึ่งจะทำให้การค้าระหว่างกันขยายตัวเพิ่มมากขึ้นนั่นเอง

แอนดรูว์ เฉิง ชี้ว่า ไอพีอีเอฟแทบไม่ต่างอะไรจากทีพีพี เพียงแต่ไม่มีส่วนที่เป็นเรื่องการค้า หลงเหลือแค่ส่วนที่เป็น “มาตรฐาน” เท่านั้น

 

แฮฟฟ์เนอร์แสดงความคิดเห็นไว้ว่า บางประเทศ อาทิ ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้ เรื่อยไปจนถึงสิงคโปร์และฟิลิปปินส์ แสดงปฏิกิริยา “เบื้องต้น” ต่อแนวคิดริเริ่มใหม่นี้ไปในทางบวก

แต่อีกหลายประเทศ โดยเฉพาะเวียดนาม ซึ่งนายกรัฐมนตรี ฟาม มินห์ ชินห์ กลับแสดงท่าทีไว้ชัดเจน ด้วยการบอกว่า เวียดนาม “ต้องการเวลาอีกระยะหนึ่งเพื่อศึกษากรอบความร่วมมือนี้” และเพื่อให้ได้เห็น “รายละเอียดที่แน่ชัด” ให้มากขึ้นกว่าเดิม

ไทยนั้น แฮฟฟ์เนอร์บอกว่า แสดงความสนใจออกมาเท่านั้น ในขณะที่ผู้นำของอินโดนีเซียและอินเดียยังไม่แสดงจุดยืนใดๆ ออกมา

 

ฮยุน ทัม ซาง ศาสตราจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ของมหาวิทยาลัยสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ในโฮจิมินห์ซิตี้ บอกว่า อาเซียนหลายประเทศมีจุดยืนร่วมกัน นั่นคือพยายามดึงตัวเองออกห่างจากการขับเคี่ยวอิทธิพลของมหาอำนาจในภูมิภาค พร้อมๆ กันนั้นก็ไม่ต้องการให้ใครฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเข้ามาครอบงำตนเอง

แม้จะเห็นว่ามีประโยชน์ แต่ประเทศเหล่านี้รวมทั้งเวียดนามก็ไม่ต้องการให้สหรัฐอเมริกา “เข้ามาแทรกแซงการเมืองภายใน” ของตนเช่นกัน

นายกรัฐมนตรี อิสมาอิล ซาบรี ยาคอบ และอัซมิน อาลี รัฐมนตรีการค้าระหว่างประเทศของมาเลเซีย บอกตรงไปตรงมาว่า สหรัฐควรใช้วิธีการที่ครอบคลุมทั่วถึงมากกว่านี้

แต่ที่ตรงไปตรงมาที่สุด เห็นจะเป็นความคิดเห็นของทาโร โคโนะ อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศญี่ปุ่น ที่แสดงไว้ในงานสัมมนาว่าด้วยวิสัยทัศน์เรื่องกรอบความร่วมมือใหม่นี้ในวอชิงตัน เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นว่า ไอพีอีเอฟไม่มีข้อกำหนดถึงพันธะผูกพันที่ชัดเจน และไม่แน่นักว่ารัฐบาลอเมริกันต่อๆ ไปจะยึดถือตามข้อผูกพันนี้ต่อไปหรือไม่

ดังนั้น ถ้าลืมได้ ก็ลืมไปเสียตั้งแต่ตอนนี้เถอะ