‘ประจักษ์’ ส่องผลเลือกตั้ง กทม. ‘3 ป.’ หาทางลงได้แล้ว/เปลี่ยนผ่าน ทีมข่าวการเมือง มติชนทีวี

เปลี่ยนผ่าน

ทีมข่าวการเมือง มติชนทีวี

 

‘ประจักษ์’ ส่องผลเลือกตั้ง กทม.

‘3 ป.’ หาทางลงได้แล้ว

 

คํ่าวันที่ 22 พฤษภาคม ทีมข่าวการเมือง มติชนทีวี วิดีโอคอลสนทนากับ “รศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ” อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยผลการเลือกตั้งท้องถิ่นในพื้นที่ กทม.

หลัง “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” คว้าชัยชนะถล่มทลายในสนามผู้ว่าฯ ส่วน “เพื่อไทย-ก้าวไกล” ก็ได้ ส.ก.ไป 20 และ 14 คน ตามลำดับ ถือเป็นการกวาดที่นั่งเกินครึ่งในสภากรุงเทพฯ

จุดแรกสุด อาจารย์ประจักษ์มองว่านี่คือชัยชนะของ “ฝั่งประชาธิปไตย” ซึ่งน่าจะส่งผลสั่นสะเทือนไปถึงผู้มีอำนาจในรัฐบาลปัจจุบัน

“ถ้าผลเป็นอย่างนี้ทั้งผู้ว่าฯ และ ส.ก. โมเมนตัมมันมาทางฝั่งที่เราเรียกหลวมๆ ว่าฝั่งประชาธิปไตย เพราะว่าถ้าเอาคะแนนของคุณวิโรจน์ ลักขณาอดิศร กับอาจารย์ชัชชาติบวกกันมันก็เยอะ แล้วพอไปดู ส.ก.ยิ่งชัด ก็คือ ส.ก.ของเพื่อไทยกับก้าวไกล

“จริงๆ คะแนนที่มันจะสะท้อน ส.ส. คือคะแนนเขต คะแนน ส.ก. ทีนี้มันเห็นชัดเจนว่าฝั่งรัฐบาลเป็นผู้แพ้ คือไม่ใช่แค่ผู้สมัครแต่ละคนแพ้ แต่ว่ามันเป็นสัญญาณส่งไปยังรัฐบาลและ พล.อ.ประยุทธ์”

สําหรับพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาลเอง นักรัฐศาสตร์ผู้นี้มองว่าพรรคที่สามารถพลิกสถานการณ์ได้ คือ ประชาธิปัตย์ ซึ่งเคยพ่ายแพ้ราบคาบระดับ “ศูนย์ที่นั่ง” ในการเลือกตั้งใหญ่ปี 2562 แถมยังมีปัญหารุมเร้าอีกมากมาย

แต่ในการเลือกตั้ง ส.ก. ปี 2565 ผู้สมัครพรรคประชาธิปัตย์กลับประสบชัยชนะถึง 9 คน เป็นจำนวนที่สูงกว่าทีมรักษ์กรุงเทพของ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง และพรรคพลังประชารัฐเสียอีก

ดังนั้น ในการเลือกตั้งใหญ่ครั้งหน้า ประชาธิปัตย์จึงน่าจะทวงเก้าอี้ ส.ส.กทม. กลับมาได้บ้าง ขณะที่พลังประชารัฐจะตกที่นั่งลำบาก เข้าทำนองว่ายิ่งกระแส พปชร. และลุงตู่ ตกต่ำลง คะแนนเสียงของประชากรฝ่ายอนุรักษนิยมจำนวนไม่น้อยก็จะวิ่งไปยังพรรคประชาธิปัตย์

อีกแง่หนึ่ง อาจารย์ประจักษ์วิเคราะห์ว่าต่อให้ผู้สมัครที่ถูกนิยามว่าเป็น “ฝั่งอนุรักษนิยม” เทคะแนนให้กันได้สำเร็จ ดังที่มีบางฝ่ายออกมาเรียกร้อง แต่นั่นก็ยังไม่นำไปสู่ชัยชนะ

“ต่อให้เลือกตั้งเชิงยุทธศาสตร์สำเร็จมันก็ไม่เท่าคุณ

ทั้งเพราะฝั่งดังกล่าวมีแคนดิเดตที่เยอะเกินไป ยิ่งกว่านั้น หากพิจารณาเป็นรายบุคคล ผู้สมัครแต่ละคนก็ไม่มีคุณสมบัติโดดเด่นเท่าชัชชาติ

จึงไม่แปลกที่โหวตเตอร์ ซึ่งอาจเคยลงคะแนนเลือกพรรคประชาธิปัตย์หรือพลังประชารัฐ จะพลิกกลับมาโหวตชัชชาติเป็นผู้ว่าฯ กทม. และมองว่าแนวคิด “ไม่เลือกเราเขามาแน่” เป็นกลยุทธ์การเมืองที่ไม่สร้างสรรค์

 

เมื่อถามต่อว่า ผลเลือกตั้งล่าสุดเป็นการตอกย้ำว่าภูมิทัศน์ของการเมืองกรุงเทพฯ เปลี่ยนแปลงไปแล้วใช่หรือไม่? นักรัฐศาสตร์หนุ่มให้คำตอบในสองแง่มุม

“มันทั้งเปลี่ยนและไม่เปลี่ยน อันหนึ่ง มันเปลี่ยนในแง่ที่ว่ามันไม่ใช่การแข่งกันระหว่างสองพรรค ประชาธิปัตย์กับเพื่อไทย ตอนนี้มันหลากหลายมากขึ้น คือ คน กทม. ออกจากสองขั้วของพรรคการเมืองสองพรรคนี้แล้ว

“ฝั่งเพื่อไทยเองปฏิเสธไม่ได้แล้วว่าคุณมีก้าวไกลเป็นคู่แข่งอยู่ และจริงๆ มันดีด้วย คนมีทางเลือกมากขึ้น มันไม่ใช่ว่าในขั้วเดียวกัน แล้วมีตัวเลือกเดียว ผมว่าแบบเดิมคนรู้สึกว่าถูกมัดมือชก ถ้าไม่ชอบอีกฝั่งหนึ่ง ก็ต้องเลือกคนนี้เท่านั้น แต่ตอนนี้ แต่ละฝั่งมีทางเลือกมากขึ้น ตอนนี้ มันเป็น 4-5 กลุ่ม คนกรุงเทพฯ แตกออกเป็น 4-5 กลุ่มย่อย

“ฝั่งอนุรักษนิยมก็มีตั้งแต่เหลืองพันธมิตร เหลือง กปปส. เหลืองรักลุงตู่ เหลืองประชาธิปัตย์ มันค่อนข้างกระจัดกระจายมากขึ้น

“แต่ว่าถ้าเราไปดูเลือกตั้ง ส.ส. ปี 2562 คน กทม. ครั้งนั้น ถ้าเราเอาเสียงอนาคตใหม่กับเพื่อไทยมารวมกัน ทั้งป๊อปปูลาร์โหวตและที่นั่ง ส.ส. ก็ชัดเจนว่าเสียงข้างมากอยู่กับฝั่งประชาธิปไตยตั้งแต่เลือกตั้งปี 2562 แล้ว เพราะประชาธิปัตย์ได้ 0 ส่วนพลังประชารัฐก็ได้มาบ้าง ฉะนั้น มันทั้งเปลี่ยนและไม่เปลี่ยนในแง่นี้”

ขยับไปยังภูมิทัศน์การเมืองใหญ่ระดับชาติ อาจารย์ประจักษ์ชี้ว่าบริบทการเมืองไทยในปี 2565 นั้นแตกต่างจากเมื่อปี 2562 ลิบลับ

เมื่อคนจำนวนไม่น้อยมองไม่เห็น “ความสำเร็จ” ของผู้นำประเทศชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และแกนนำรัฐบาลอย่างพรรคพลังประชารัฐ

คนจำนวนมากไม่ได้อยากเลือก “ความสงบ” หรือ “คนดี” อีกต่อไป แต่อยากเห็นความเปลี่ยนแปลง และอยากลงคะแนนให้นักการเมืองผู้มีวิสัยทัศน์

นี่ส่งผลให้ พล.อ.ประยุทธ์ และพรรคพลังประชารัฐ กลายสภาพเป็นสินค้าที่ “ขายไม่ได้แล้ว” ในตลาดการเมืองไทย

“พลังประชารัฐครั้งนี้เป็นผู้แพ้ที่สุด เพราะผู้ว่าฯ กทม. ก็ไม่ส่ง ไม่มีคนของตัวเอง แล้ว ส.ก.ถ้าดูตอนนี้ได้มา 4-5 ที่นั่ง (หมายเหตุ พลังประชารัฐ 2 ที่นั่ง และกลุ่มรักษ์กรุงเทพ 3 ที่นั่ง) อันนี้จะหนักเลยในการเลือกตั้ง ส.ส.”

เมื่อให้วิเคราะห์สถานการณ์ต่อไปของนายกฯ ประยุทธ์ อาจารย์ ม.ธรรมศาสตร์ ประเมินว่า

“ผมคิดว่าคนอัดอั้น คือไปหยุดยั้งไม่ให้เลือกตั้งนานจนเกินไป มันก็เกิดกระแสว่า 9 ปีไม่ได้เลือกตั้ง (ผู้ว่าฯ กทม.) คนออกไปเลือกตั้งด้วยความรู้สึกอัดอั้นหลายคน แล้วรู้สึกว่าออกไปกาครั้งนี้เพื่อเปลี่ยนแปลง อยากเปลี่ยนกรุงเทพฯ แล้วมันไม่ใช่แค่เปลี่ยนกรุงเทพฯ ครั้งนี้มันเหมือนลงประชามติกลายๆ ต่อรัฐบาลด้วย

“แม้คนกรุงเทพฯ จะแค่จังหวัดเดียว ไม่ใช่คนทั้งหมดของประเทศ แต่มันเสียงดังที่สุดอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น กระแสที่ส่งมาจากคนกรุงเทพฯ มันสะเทือนแน่ มันเหมือนส่งสัญญาณให้รัฐบาล ลงประชามติกลายๆ ว่าไม่แฮปปี้ แล้วอยากเห็นความเปลี่ยนแปลง”

เป้าหมายที่หลายคนเพ่งเล็งมากที่สุด ท่ามกลางกระแสแห่งความเปลี่ยนแปลงระลอกนี้ ก็คือ “กลุ่มอำนาจ 3 ป.”

“ถ้าผมเป็น 3 ป. ก็คือหาทางลงดีกว่า เตรียมหาทางลงให้ตัวเองแล้ว อย่าฝืนกระแส วันนี้มันครบรอบ 8 ปี (รัฐประหาร) คสช. ด้วย มันเหมือนคนกำลังส่งสัญญาณบอกว่าพอแล้ว คนอยากได้ความเปลี่ยนแปลง

“ฉะนั้น ไม่ว่า พล.อ.ประยุทธ์-ประวิตร จะมาส่งสัญญาณอย่างไร ให้เลือกใคร มันไม่มีผลเลยครั้งนี้ กระแสมันไม่ขึ้นเลย พลังประชารัฐเอง กระทั่งหาแคนดิเดตของตัวเองมาลงผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ก็ยังไม่ได้ อันนี้มันสะท้อนขาลงอย่างชัดเจน

“คือถ้านักการเมืองในต่างประเทศที่ฉลาด เขารู้แล้ว เขารู้สัญญาณ เขาต้องหาทางลงแล้ว หรือส่งไม้ต่อให้คนอื่น ถ้ายืมคำของอาจารย์ชัชชาติก็คือว่าทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตรควรจะคิดว่าตัวเองไม่ได้สำคัญขนาดนั้น โลกขาดคุณได้ คุณไม่ต้องมาแบกประเทศเอาไว้ เพราะทำมา 8 ปี และมันล้มเหลว แล้วตอนนี้ ประชาชนก็ส่งสัญญาณแล้ว”