คำ ผกา | อย่าพรากการเลือกตั้งไปจากเราอีก

คำ ผกา

วันที่ 22 พฤษภาคม ซึ่งเป็นวันครบรอบการทำรัฐประหาร

ยึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

พรากอำนาจที่พึงเป็นของประชาชนไปอย่างปราศจากความรู้สึกผิด

แถมยังมีความสามารถพิเศษทวงบุญคุณประชาชนอยู่ทุกวันที่อุตส่าห์ลุกขึ้นมา “ยึดอำนาจ” สร้างความสงบให้แก่บ้านเมือง

8 ปีผ่านไป 22 พฤษภาคม ได้กลายเป็นวันประวัติศาสตร์ เพราะอดีตรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯ กทม. และชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายเป็นตัวเลขประวัติศาสตร์ นั่นคือได้มาถึงเกือบหนึ่งล้านสี่แสนเสียง

วันเดียวกันนี้ที่เขาได้รับความไว้วางใจจากประชาชนให้มาทำงานเป็นผู้ว่าฯ กทม. เมื่อ 8 ปีที่แล้วเขาถูกคณะรัฐประหารจับตัว เอาถุงคลุมหัว เอาตัวไปขัง

หลายคนบอกว่านี่คือชัยชนะของฝ่ายประชาธิปไตย

แต่ฉันเห็นว่าถูกแค่ครึ่งเดียว เคสของชัชชาติ สิทธิพันธุ์ กับหนึ่งล้านสามแสนกว่าเสียงกับการชนะในทุกเขตไม่มีข้อยกเว้น เป็นกรณีศึกษาที่โรแมนติกมากสำหรับฉัน

นั่นคือมันได้พิสูจน์ว่ารางวัลแห่งการทำงานหนัก ทุ่มเท และการแสดงออกอย่างจริงใจถึงแรงปรารถนาที่อยากจะมาทำงานให้ชาว กทม.นั้นมีจริง

เพื่อนของฉันคนหนึ่งที่ไม่มี “ติ่ง” ชัชชาติ ถึงกับออกปากว่า “ถ้าจะมีใครสักคนแสดงให้เราเห็นถึงความอยากเป็นผู้ว่าฯ อยากทำงานขนาดนี้ เราก็ต้องยอมใจเขา ให้โอกาสเขาทำ”

ชัชชาติคือเคสของคนที่ “ไม่เลือกข้าง” แต่เลือกยืนอยู่ข้างความถูกต้องอย่างไม่ตอแหลที่สุดในบรรดาไม่กี่คนในประเทศไทยจริง เพราะคน “ไม่เลือกข้าง” เกือบทุกคนที่ฉันได้เห็น โดยมากจะเป็นการ “ไม่เลือกข้าง” ในแบบที่กลัวมากถึงมากที่สุดที่จะต้องมาข้องแวะ เกี่ยวข้องกับอะไรก็ตามที่เป็นชินวัตร และเพื่อไทย

แต่ในจุดยืนของคุณชัชาติที่ไม่มีความสุดโต่งทางการเมืองแม้แต่น้อย (สนับสนุนประชาธิปไตย ไม่เอารัฐประหาร)

และมีความเป็น “ไทย” ในขนบอยู่ประมาณหนึ่ง กลับมีความกล้าหาญพอที่จะเอาตัวเองมา affiliate หรือมีส่วนร่วมอย่างเป็นทางการกับพรรคเพื่อไทย

นั่นคือกล้าเข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรี ร่วมหัวจมท้าย ผลักดันนโยบาย Thailand 2020 จนจวนเจียนสำเร็จ หากไม่เจอคำวินิจฉัย “ถนนลูกรังยังไม่หมด” รวมไปถึง “ภาระหนี้สินชั่วลูกชั่วหลาน” จากอภินิหารองค์กรอิสระ

จนวาระสุดท้ายคือถูกรัฐประหาร

และจนมีการเลือกตั้งปี 2562 ฉันก็ทึ่งกับคุณชัชชาติอีกครั้งที่ยอมมาเป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคเพื่อไทย

เพราะสำหรับแบ๊กกราวด์ และทุนสังคม วัฒนธรรมของชัชชาติ ไม่มีความจำเป็นอะไรในชีวิตแม้แต่น้อยที่จะเปลืองตัวมาเป็นแคนดิเดตเลย

พูดง่ายๆ ชัชชาติเป็นเทคโนแครต “ไม่เลือกข้าง” แบบเทคโนแครตตอแหลคนอื่นๆ ในประเทศ จะเป็นคุณต่อชีวิตมากกว่าด้วยซ้ำ

เพราะฉะนั้น นี่เป็นกรณีที่หายากมากๆ ในบริบทของประเทศไทยที่การเมืองแบ่งขั้วแบ่งข้างชัดเจน และผู้คนซึ่งมี “ทุน” ในชีวิตให้ยืนอยู่ข้าง “ทุนสถาปนา” แล้วชีวิตจะง่ายกว่า ได้เลือกที่จะมาทำงานให้พรรคเพื่อไทยอย่างเปิดหน้า และทำอย่างเต็มตัว ทุ่มเทเต็มที่ เพียงเพราะ “อยากทำงาน”

โดยไม่กลัวที่จะ “แปดเปื้อน” อย่างที่ “ปัญญาชน/เทคโนแครต/ปัญญาชนสาธารณะ” จำนวนมาก กลัวการที่จะต้อง affiliate กับพรรคเพื่อไทยจนขึ้นสมอง (เขียนในฐานะที่ทำงานที่ VoiceTV บางคนแค่มาให้สัมภาษณ์ใน Voice ยังกลัวว่าจะถูกเอาไปโยงกับ “ชินวัตร” แบบนี้ก็มี)

และเมื่อตัดสินใจอยากเป็นผู้ว่าฯ กทม. อันเป็น “วาระ” ของชัชชาติเอง ไม่เกี่ยวกับพรรคเพื่อไทย ชัชชาติก็กล้าหาญพอที่จะลงสมัครเองในนามอิสระ และเริ่มแคมเปญเลือกตั้งผู้ว่าฯ ของตนเอง โดยที่ยังไม่รู้เสียด้วยซ้ำว่าการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. จะมีจริงหรือไม่

ดังนั้น ชัชชาติจึงเป็นแคนดิเดตคนเดียวที่ได้ทำงานลงพื้นที่ต่อเนื่องมายาวนานกว่าแคนดิเดตคนอื่น

จากการสังเกตอยู่ห่างๆ ฉันพบว่าการลงพื้นที่ของชัชชาติ ไม่ได้ลงแค่ไปเคาะประตูบ้านแนะนำตัว บำบัดทุกข์ บำรุงสุข แต่เป็นการลงพื้นที่กึ่งทำงานวิจัย กับทีมงานที่ถักทอผ่านระบบอาสาสมัครและกลุ่ม active citizen ทั้งหลาย (ความฝันของหมอประเวศ เรื่องกัมมันตพลเมือง)

การทำงานแบบนี้ทำให้ชัชชาติและทีมงานมีฐานข้อมูลที่สามารถทำมาวิเคราห์ และสังเคราะห์เป็นนโยบายที่ชัดเจน 213 นโยบาย

นโยบายที่ชัดเจนเหล่านี้ก็ทำให้ประชาชนตัดสินใจได้ง่ายขึ้น

ขณะเดียวกันชัชชาติก็ได้พันธมิตรเพิ่มขึ้นมหาศาลผ่านการทำงานในระบบเครือข่าย อาสาสมัครสร้างมิตรไปเรื่อยๆ

เพราะฉะนั้น เราจะเห็นว่า ชัชชาติมีการสื่อสารที่ constructive มากกว่า จะ destructive (ในแง่นี้ ต้องไม่ลืมว่า การหาเสียงแรงๆ โจมตีคนอื่น แม้จะ destructive ก็ทำให้ได้คะแนนิยมอย่างรวดเร็วในเวลาอันสั้นด้วยเช่นกัน อารมณ์คนชอบบุคลิก ใจถึงพึ่งได้)

ลักษณะที่ไม่ Overpromised ไม่ขายฝัน อะไรทำได้ก็บอกว่าทำได้ อะไรที่ทำไม่ได้ ก็บอกตรงๆ ว่า ทำไม่ได้ ลักษณะที่เปิดกว้าง พร้อมทำงานกับทุกฝ่าย ให้เกียรติทุกคนอย่างจริงใจ คือกุญแจสำคัญที่ทำให้ชัชชาติ ได้คะแนนมาจากทุกสีเสื้อ

และคะแนนไม่น้อยก็มาจากฝั่งอนุรักษนิยมด้วย เช่น ฝ่ายลิเบอรัล ก็เห็นชัชชาติชูสามนิ้ว ฝ่ายอนุรักษนิยมก็ไปดูประวัติครอบครัวคุณชัชชาติ และชื่อพระราชทาน

ดังนั้น ชัยชนะของชัชชาติจึงต้องบอกว่ามันคือความลงตัวในหลายมิติ ปัจจัย ถูกที่ถูกเวลาทั้งหมด

แต่ที่สำคัญที่สุดมันเป็น “คุณ” ต่อประชาธิปไตย

เพราะคือตัวแบบสาธิตให้เราเห็นว่า หากเรายืนหยัดอยู่กับการเลือกตั้ง กติกาที่เป็นธรรม มันไม่ทางที่จะมีใครชนะอยู่คนเดียว หรือแพ้อยู่คนเดียว

ท้ายที่สุด สังคม หรือประชาชนจะสามารถหาตำแหน่งสักที่หนึ่งที่ “ทุกคน” อยู่ร่วมกันและแชร์ผลประโยชน์ร่วมกัน

โดยไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลังจริงๆ ไม่ว่าคุณจะเป็นเสรีนิยมจ๋า หรืออนุรักษนิยมจ๋า

ขอเพียงแค่คุณให้โอกาสกับการเลือกตั้ง ให้เสรีภาพแก่ผู้สมัครและพรรคการเมืองในการหาเสียงโดยไม่มีการกลั่นแกล้ง ผิดปาก ยัดคดี หรือมาสอยเขาร่วงทีหลัง เพียงเพราะคุณไม่พอใจที่ตัวเองไม่ชนะ

ในการเลือกตั้งระดับประเทศที่กำลังจะมาถึง

ฉันเตือนไว้ล่วงหน้าเลยว่าผลการเลือกตั้งอาจจะไม่หอมหวานเหมือนการเลือกตั้งในสนาม กทม.ครั้งนี้

เพราะจะมีตัวแปรที่ซับซ้อนกว่ามาก และเราอาจจะยังไม่มีแคนดิเดตนายกฯ ที่เป็นที่รับได้ทั้งฝั่งเสรีนิยมและอนุรักษนิยมแบบชัชชาติ

หรือนายกฯ ที่เราได้มาจากเสียงข้างมากอาจจะเป็นคนที่ “เต็มกลืน” ที่สุดในสายตาของเรา เช่น คนที่เต็มกลืนที่สุดในฝ่ายอนุรักษนิยมคือ เพื่อไทย คนที่เต็มกลืนที่สุดในฝ่ายประชาธิปไตย หรือธรรมนัส พรหมเผ่า หรือประวิตร วงษ์สุวรรณ

ฉันแค่อยากเตือนว่า ถ้ามันเป็นเช่นนั้น สิ่งที่เราต้องผ่านมันไปให้ได้คืออยู่กับภาวะเต็มกลืนโดยไม่โดนหลักการประชาธิปไตย การเลือกตั้ง เสียงข้างมากและระบบรัฐสภาทิ้ง โดยเด็ดขาด

เราต้องผ่านมันไปสู่การเลือกตั้ง การเลือกตั้งและการเลือกตั้ง เท่านั้น

ถ้าเราทำได้ เราจะมีชัชชาติอีกเป็นร้อยเป็นพันคน ขออย่างเดียว อย่าพรากการเลือกตั้งไปจากเราอีก