ปริศนาอุบัติใหม่แห่ง ‘ไวรัสฝีดาษลิง’/ทะลุกรอบ ป๋วย อุ่นใจ

ดร. ป๋วย อุ่นใจ

ทะลุกรอบ

ป๋วย อุ่นใจ

 

ปริศนาอุบัติใหม่แห่ง ‘ไวรัสฝีดาษลิง’

 

สุภาษิตที่ว่า “ความวัวยังไม่ทันหาย ความควายก็เข้ามาแทรก” ช่างสอดคล้องกับสถานการณ์ในเวลานี้จริงๆ

วิกฤตโควิดยังไม่ทันจะหมดไป เชื้อโรค (หน้าเก่า) อุบัติใหม่อย่างไวรัสฝีดาษลิงก็เริ่มโผล่ขึ้นมาให้เห็นอีกแล้ว

ข่าวการระบาดของไวรัสฝีดาษลิง (Monkeypox virus) ที่เริ่มแพร่สะพัดไปแล้วในสิบห้าประเทศจากสี่ทวีป กำลังเป็นที่จับตามองของบุคลากรในวงการสาธารณสุขทั่วโลก

เพราะติดเชื้อไปแล้วเป็นร้อย แถมยังกระจายไปทั่ว นี่ถือเป็นสถิติใหม่ของโรคนี้

และยังไม่รู้ว่าจะกระจายไปได้อีกมากแค่ไหน

ภาพไวรัสฝีดาษลิงปรับแต่งมาจาก Meyer H et al. 2002

“มันช่างเป็นการเปิดหูเปิดตามากเลยที่ได้เห็นการระบาดแบบนี้” แอนน์ ริโมอิน (Anne Rimoin) นักระบาดวิทยาจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแองเจลิส (University of California Los Angeles) ผู้ติดตามการระบาดของไวรัสฝีดาษลิงมานานนับสิบปี กล่าว

ไวรัสฝีดาษลิง เป็นไวรัสตระกูลเดียวกับไวรัสฝีดาษ (smallpox virus) เจอครั้งแรกในลิงในห้องแล็บตั้งแต่ปี 1958 ก็เลยถูกเรียกว่าไวรัสฝีดาษลิงมาเนิ่นนานตั้งแต่ตอนที่ค้นพบ พวกมันก่อให้เกิดอาการป่วยคล้ายๆ กับไวรัสฝีดาษ แต่อาการจะไม่หนักเท่า

เช่นเดียวกับโควิด ไวรัสฝีดาษลิงสามารถติดเชื้อแบบกระโดดข้ามสายพันธุ์จากสัตว์สู่คน (zoonosis) และจากรายงานการติดเชื้อที่มี ตัวพาหะที่เป็นตัวกระจายไวรัสฝีดาษลิงอาจจะไม่ใช่ลิงแค่เพียงอย่างเดียว

แต่เป็นพวกสัตว์ในตระกูลไพรเมตทั้งหมด รวมทั้งมนุษย์ด้วย และพวกสัตว์ฟันแทะ (rodent) ตัวเล็กๆ อย่างเช่น กระรอกต้นไม้ หนูดอร์เมาส์ (dormice) และแพรี่ด๊อก (prairies dog)

 

โดยปกติแล้ว ไวรัสฝีดาษลิงนั้นเป็นโรคที่พบได้ยากมาก และมักจะระบาดตีวงอยู่แค่แคบๆ ประจำถิ่นในแถบตอนกลางและตะวันตกของทวีปแอฟริกา อย่างเช่นในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (The Democratic Republic of Congo) และในประเทศไนจีเรีย (Nigeria)

เท่าที่มีรายงาน การกระจายตัวออกมาติดเชื้อสร้างปัญหาออกมานอกทวีปที่เป็นถิ่นที่อยู่หลักของมันนั้นพบได้น้อยมาก

ต้องขอบคุณแคมเปญรณรงค์ระดมฉีดวัคซีนกันฝีดาษทั่วโลก ตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1970s ที่นอกจากจะช่วยกำจัดไวรัสฝีดาษที่ร้ายกาจลงไปจนสิ้นซากได้แล้ว ยังช่วยกำราบไวรัสในกลุ่มเครือญาติที่หน้าตาคล้ายๆ กัน รวมทั้งฝีดาษลิงลงไปด้วย แม้จะไม่ถึงกับหมดแต่ก็ไม่สร้างปัญหาอะไรเท่าไร

และถ้าหากหลุดรอดระบาดออกมา เส้นทางการระบาดก็ค่อนข้างที่จะชัดเจน ทำให้การควบคุมการระบาดทำได้อย่างทันท่วงที

อย่างการระบาดนอกถิ่นครั้งแรกที่เกิดขึ้นในปี 2003 ในสหรัฐอเมริกา ก็เกิดจากการสัมผัสแพรี่ด๊อกที่ติดเชื้อ คาดว่าน่าจะติดมาจากตอนที่เลี้ยงไว้ในที่เดียวกันกับพวกสัตว์เลี้ยง exotic อย่างพวกหนูดอร์เมาส์ และหนูยักษ์แกมเบีย (Gambian pouched rat) ที่อิมพอร์ตเข้ามาจากประเทศกานา (Ghana)

การระบาดครั้งนี้เล่นเอาเจ้าของและผู้ใกล้ชิดกับพวกแพรี่ด๊อกซ์กว่า 70 คนในรัฐอิลลินอยด์ (Illinois) ติดเชื้อฝีดาษลิงกันไปถ้วนหน้า นี่น่าจะเป็นการระบาดที่หนักที่สุดนอกถิ่นของพวกมัน

เพราะนอกนั้น การระบาดส่วนใหญ่ก็มักจะติดมาจากนักท่องเที่ยวที่เดินทางออกจากประเทศในถิ่นที่ระบาด อย่างเช่น รายงานการติดเชื้อในเดือนกันยายน 2018 ในอิสราเอลและในสหราชอาณาจักร พฤษภาคม 2019 ในสิงคโปร์ และอีกหลายครั้ง ทั้งในสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกาที่มีต้นตอมาจากนักเดินทางจากประเทศไนจีเรีย

แต่การระบาดครั้งล่าสุดนี้ คือ นอกจากจะกระจายไปกว้างและไกลที่สุดนอกถิ่นประจำของพวกมันแล้ว ยังไม่รู้อีกว่ามาจากไหน

 

“เราตรวจเจอเคสใหม่ๆ เรื่อยๆ ทุกวัน” ซูซาน ฮอปกินส์ (Susan Hopkins) หัวหน้าทีมที่ปรึกษาทางการแพทย์ของสำนักงานความมั่นคงด้านสุขภาพแห่งสหราชอาณาจักร (The UK Health Security Agency : UKHSA) เปิดเผย

“มีเคสคนป่วยที่ตรวจเจอไวรัสทั้งที่ไม่มีประวัติสัมผัสกับใครเลยที่เคยไปเที่ยวในแถบแอฟริกาตะวันตกที่เป็นแหล่งระบาดของโรค นั่นคือการระบาดนั้นเกิดขึ้นแล้วในชุมชน (ในสหราชอาณาจักร)”

“หมอในโปรตุเกสก็ไม่รู้ว่ารอยแผลของคนป่วยพวกนี้เกิดจากอะไร แล้วก็ไม่มีใครคิดจะตรวจตัวอย่างพวกนี้ จึงถึงตอนที่รู้ว่ามีคลัสเตอร์แปลกๆ เกิดขึ้นในอังกฤษถึงได้เช็ก” ชาอาว เปาโล โกเมซ (Jo?o Paulo Gomes) จากสถาบันสาธารณสุขแห่งชาติ ประเทศโปรตุเกส (Portugal’s National Institute of Health) กล่าว “ไม่มีใครจินตนาการเลยว่าจะเป็นฝีดาษลิง”

เพื่อความชัวร์ ชาอาวเก็บตัวอย่างจากคนป่วยแล้วส่งหาจีโนมของไวรัส เขาพบว่าจีโนมของไวรัสที่เจอในโปรตุเกสนั้น ไม่สัมพันธ์กับสายพันธุ์ที่ระบาดติดเชื้อเป็นเคสแรกในสหราชอาณาจักร แต่กลับไปใกล้เคียงกับไวรัสที่เจอติดเชื้อในสิงคโปร์เมื่อปี 2019 จากไนจีเรีย

งานเข้าสิครับ นอกจากจะแอบซุ่มเข้ามาแบบเงียบๆ แถมอาจจะมีหลายตัวอีก คำถามที่จำเป็นต้องตอบให้ได้ในเวลานี้คือมีอะไรเกิดขึ้นกันแน่ ถึงทำให้พวกมันระบาดกระจายเป็นวงกว้างโดยไม่รู้สาเหตุ และกลไกการแพร่กระจายที่แท้จริงคืออะไร แล้วเราจะหาวิธีควบคุมและยุติการระบาดของพวกมันกันได้ด้วยวิธีไหน

แม้คำตอบจะยังไม่ชัด แต่ซูซานก็ยังยืนยันว่ายังไม่ต้องตื่นตระหนก เพราะว่าการติดเชื้อฝีดาษลิงนั้นไม่ได้เกิดขึ้นได้ง่ายๆ เหมือนโควิด การติดโรคจะต้องมาจากการสัมผัสกับเลือด สารคัดหลั่ง แผล หนอง ไอจามโดยตรง (คราบบนเสื้อผ้าหรือผ้าปูต่างๆ ก็นับด้วย) เท่านั้น นั่นหมายความว่าความเสี่ยงที่จะระบาดทั่วจนเป็นปัญหาใหญ่แบบโควิดนั้นยังถือว่าอยู่ในเกณฑ์ “ต่ำมากๆ”

นอกจากนี้ อานิสงส์พฤติกรรมแบบนิวนอร์มอลจากช่วงโควิดเวลาไปที่ไหน ก็ล้างมือบ่อยๆ พกเจล พ่นแอลกอฮอล์ไว้ก่อน ก็ช่วยได้ เพราะไวรัสพวกนี้ก็ไม่ได้อึด ถึก ทนไปกว่าไวรัสโควิดเสียเท่าไร เจอสบู่ เจอแอลกอฮอล์เข้าไปก็ไม่รอดมาติดได้เหมือนกัน

และที่สำคัญ อาการบ่งชี้ของโรคก็เห็นได้เด่นชัดสุดๆ คือ หลังจากมีไข้ เจ็บคอ ปวดเนื้อ ปวดตัวแล้ว อาการก็จะออกเป็นตุ่มหนองพุพองไปทั้งตัว เช่นเดียวกับฝีดาษ และอาการพวกนี้ก็มักจะหายไปได้เองในราวๆ 2-4 สัปดาห์

ที่สำคัญ การติดเชื้อก็ยังค่อนข้างจำกัดอยู่แค่ในกลุ่มเล็กๆ โดยส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มชายรักชาย (MSM) แม้จะยังไม่ชัดเจนว่าทำไมถึงติดเยอะในกลุ่มนี้ แต่ก็เป็นไปได้ว่าการสัมผัสและการใกล้ชิดกันอาจจะเป็นต้นเหตุของการระบาดโรค

และในเวลานี้ ก็มีการสั่งกักตัวบ้างแล้ว โอกาสในการกระจายจึงอาจจะไม่น่ากลัวมากนัก

 

แต่ก็ใช่ว่าเราจะประมาทได้ เพราะถ้าโควิดจะสอนอะไรเราได้บ้าง สิ่งหนึ่งก็คือวิวัฒนาการคือสิ่งที่ประมาทไม่ได้ เพราะยิ่งมนุษย์หายุทธวิธีที่จะควบคุมโรคที่แอดวานซ์มากเพียงไร เชื้อก่อโรคก็จะวิวัฒนาการยุทธวิธีสู้กลับอย่างสมน้ำสมเนื้อเสมอ และยิ่งถ้าระบาดไปได้ไวและไกล โอกาสในการวิวัฒน์ก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

แล้วเป็นไปได้หรือไม่ว่าการระบาดแบบเงียบๆ แบบนี้ อาจจะเกิดจากการกลายพันธุ์แบบแปลกๆ ที่พวกเราไม่รู้ และกว่าที่เราจะรู้ตัวมันก็กระจายไปไกลไปแล้ว

“นี่คือสิ่งที่ทุกคนควรกังวล ถ้าไวรัสมันกระจายเป็นวงกว้างมากไปกว่านี้ ก็อาจจะส่งผลกระทบตามมาก็ได้” โจ ไบเดน (Joe Biden) ประธานาธิบดีแห่งประเทศสหรัฐอเมริกากล่าว แต่สำหรับโจเรื่องนี้ไม่น่ากังวลเท่ากับโควิด เขายืนยันว่าสหรัฐอเมริกาเองค่อนข้างมีความพร้อมในการจัดการโรค และจะสามารถหาวัคซีนได้เพียงพอหากมีการระบาดใหญ่เกิดขึ้นจริง

ในตอนนี้ ยังไม่มีวัคซีนที่ถูกพัฒนาขึ้นมาสำหรับสร้างภูมิต้านไวรัสฝีดาษลิงโดยตรง แต่จากข้อมูลงานวิจัยที่มีอยู่จนถึงปัจจุบันบ่งชี้ว่าวัคซีนต้านไวรัสฝีดาษที่เคยใช้ๆ กันอยู่ก็น่าจะมีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อได้มากถึงราวๆ 85 เปอร์เซ็นต์

 

สําหรับประเทศมหาอำนาจอาจจะไม่น่ากังวล เพราะหลายประเทศมีสต๊อกวัคซีนต้านฝีดาษซึ่งสามารถเอามาใช้ต้านไวรัสฝีดาษลิงไปก่อนได้อย่างไม่น่ามีปัญหา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สหรัฐเองก็กักตุนไว้มหาศาล ทั้งวัคซีนเจนใหม่ที่ใช้งานได้ดีมากๆ กับฝีดาษลิงอย่าง Jynneos และวัคซีนเวอร์ชั่นเก่ากว่าที่อาจจะมีผลข้างเคียงไม่พึงประสงค์อยู่บ้างอย่าง ACAM2000

“สำหรับ ACAM2000 สหรัฐมีเก็บไว้ในสต๊อกมากกว่าร้อยล้านโดส ส่วนวัคซีน Jynneos ก็มีแล้วมากกว่า 1,000 โดสและมีเพิ่มมากขึ้นอีกในสัปดาห์ต่อๆ ไป” เจนนิเฟอร์ แม็กคิสตัน (Jennifer McQuiston) จากศูนย์โรคติดเชื้อจากสัตว์และโรคอุบัติใหม่แห่งชาติ (National Center for Emerging and Zoonotic Infectious Diseases) เผย

นอกจากนี้ ยาต้านไวรัสในกลุ่มฝีดาษ ที่คิดว่าน่าจะใช้ได้ดีเช่นกันกับไวรัสฝีดาษลิงนั้นก็มีแล้วหลายขนาน และส่วนใหญ่ก็ได้รับการอนุมัติเรียบร้อยสมบูรณ์หมดแล้วเช่นกัน พร้อมใช้

แต่สำหรับประเทศอื่นๆ จะหาได้มากพอ หรือไม่นั่นอีกเรื่อง เพราะแม้แต่องค์การอนามัยโลกยังออกมาบอกเองเลยว่า “วิธีการต่อต้านไวรัสนั้นมีแล้ว แต่ไม่ใช่ว่าจะพร้อมใช้ในวงกว้าง”

กระนั้น คนที่มีร่องรอยการฉีดวัคซีนต้านโรคฝีดาษ (หรือที่เรียกว่าการปลูกฝี) มาก่อน ก็อาจจะสบายใจได้ไปเปราะหนึ่ง เพราะต่อให้ติดก็ไม่น่าจะหนักหนาสาหัส

แต่ก็อีกนั่นแหละ ตอนนี้ คงจะเร็วไปที่จะมั่นใจและการันตีผลว่าวัคซีนจะมีประสิทธิภาพได้ดังที่คาดเพราะถ้าหากไวรัสฝีดาษลิงที่กำลังระบาดอยู่มีการกลายพันธุ์แปลกๆ ที่อาจจะช่วยให้พวกมันหลีกหนีภูมิคุ้มกันวัคซีนได้เช่นเดียวกับที่โควิดเบต้า และโควิดโอมิครอนทำได้กับวัคซีนโควิด อะไรๆ อาจจะไม่ง่ายอย่างที่คิดก็เป็นได้

แต่ไวรัสอาจจะไม่ได้กลายพันธุ์ไปจนน่ากังวลจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปก็เป็นได้ อาจจะเป็นแค่เพราะเราเลิกฉีดวัคซีนกันฝีดาษไปนานหลายสิบปี เพราะรู้ว่าฝีดาษนั้นสูญพันธุ์ไปแล้วจากธรรมชาติ

 

“การค่อยๆ ลดลงของภูมิคุ้มกันในกลุ่มประชากรที่เกิดจากหยุดการให้วัคซีนป้องกันฝีดาษนั้นได้เปิดพื้นที่สำหรับการอุบัติใหม่ขึ้นมาของฝีดาษลิง” โรเบิร์ต สเตฟเฟน (Robert Steffen) นักระบาดวิทยาจากศูนย์ความร่วมมือด้านสุขภาพนักเดินทางขององค์การอนามัยโลก มหาวิทยาลัยซูริก (WHO Collaborating Center on Travelers’ Health, University of Zurich) และอาจารย์มหาวิทยาลัยเท็กซัส (University of Texas) และทีมสรุปในเปเปอร์งานวิจัยของเขาที่เพิ่งตีพิมพ์ออกมาในวารสาร PLoS Neglected and Tropical Diseases เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปี 2022

อย่างที่บอกไปตอนต้น ตอนนี้คงไม่ต้องกังวลมากนักสำหรับไวรัสชนิดนี้ แม้ว่าอาจจะมีรายงานผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นบ้างเป็นระยะๆ ในอีกหลายประเทศ แต่ด้วยธรรมชาติของมัน การระบาดก็คงจะไม่พุ่งทะยานปานโควิด ตราบใดที่เราไม่ประมาทและคอยติดตามสถานการณ์เชื้ออย่างระมัดระวัง

การเปิดเมืองและการดำเนินการต่างๆ ได้ตามปกติ แต่การ์ดอาจจะต้องยังคงอยู่ อย่างน้อยก็จนกว่าจะรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น เพราะตราบใดที่ปริศนานี้ยังไม่มีใครไขออก ก็ไม่รู้ว่าฝีดาษลิงอุบัติขึ้นมาอีกเมื่อไรและที่ไหน…