สงครามมะกัน-จีน… ที่น่าจะหลีกเลี่ยงได้/กาแฟดำ สุทธิชัย หยุ่น

สุทธิชัย หยุ่น

กาแฟดำ

สุทธิชัย หยุ่น

 

สงครามมะกัน-จีน…

ที่น่าจะหลีกเลี่ยงได้

 

ในแวดวงวิชาการว่าด้วยกิจการระหว่างประเทศและนักยุทธศาสตร์ด้านการทหาร คำถามใหญ่ข้อหนึ่งคือ

สหรัฐกับจีนจะเปิดศึกกันหรือไม่?

ถ้าเกิดสงครามระหว่างสองยักษ์ใหญ่นี้ จะมาจากเหตุอันใด?

หากสงครามระเบิดระหว่างสองประเทศนี้ ใครจะแพ้ใครจะชนะ?

หรือมันจะเป็นสงครามนิวเคลียร์ที่ไม่มีใครชนะ เพราะทั้งสองยักษ์จะพังพินาศไปพร้อมๆ กัน?

พอผมเห็นหนังสือเล่มนี้จึงรีบหามาอ่านทันที เพราะคนเขียนบอกว่าสงครามระหว่างสหรัฐกับจีนไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้น

เป็น “สงครามที่ควรจะหลีกเลี่ยงได้”

เพราะจะว่าไปแล้ว หากเกิดการสู้รบระหว่างสองชาตินี้ทั้งโลกก็จะเสียหายไปหมด

ไม่มีใครได้ประโยชน์ทั้งสิ้น

แต่ก็ต้องไม่ลืมว่านักวิเคราะห์หลายสำนักเคยพยากรณ์เอาไว้ว่าประวัติศาสตร์การเมืองโลกบอกเราว่ายามใดที่มหาอำนาจเบอร์สองทำท่าว่าจะมาทดแทนเบอร์หนึ่ง เมื่อนั้นจะเกิดสงครามเพื่อชิงความเป็นแชมป์

เข้าข่ายทฤษฎี Thucydides Trap หรือ “กับดักทูซิดิเดส”

สาเหตุหนึ่งที่ผมสนใจข้อเสนอของหนังสือเล่มนี้เป็นเพราะคนเขียนคือ Kevin Rudd อดีตนายกรัฐมนตรีออสเตรเลียที่อ่านและเขียนภาษาจีนได้คล่องแคล่ว

วันนี้เขาเป็นประธานและซีอีโอของ Asia Society และเป็นประธานของ Asia Society Policy Institute ตั้งแต่มกราคม 2015

Kevin Rudd เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 26 ของออสเตรเลียตั้งแต่ปี 2007 ถึง 2010

จากนั้นไปรั้งตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศระหว่างปี 2010 ถึง 2012

ก่อนที่จะกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีในปี 2013

Rudd สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลียด้วยเกียรตินิยมด้านภาษาจีนศึกษา

เขาพูดภาษาจีนกลางคล่องแคล่วเพราะไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยครูแห่งชาติไต้หวันในไทเป

Rudd ใช้ประสบการณ์ทางการทูตที่กว้างขวางเขียนหนังสือเล่มนี้เพื่อวิเคราะห์แนวทางเชิงรุกของสี จิ้นผิง บนเวทีโลก

เนื้อหาหลักของแนวทางวิเคราะห์ของหนังสือเล่มนี้เป็นการเตือนถึงอันตรายของความไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกันระหว่างปักกิ่งกับวอชิงตัน

เขาไม่เชื่อทฤษฎี “โง่เขลา” ของ “กับดักทูซิดิเดส”

เป็นการเปรียบเปรยของ เกรแฮม แอลลิสัน นักประวัติศาสตร์คนดังของอเมริกาที่บอกว่า

“การหยุดชะงักตามธรรมชาติที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อการอำนาจรองทำท่าจะมาแทนที่ผู้ครองตำแหน่งหมายเลขหนึ่งอยู่” คนเขียนหนังสือเล่มนี้ชี้ให้เห็นว่าสี จิ้นผิง เป็น “เหมายุคใหม่” หรือ neo-Mao

ผู้นำจีนวันนี้ต้องการจะปลุกกระแสชาตินิยมของจีนด้วยการประกาศศักดาและศักดิ์ศรีของการเป็นประเทศที่ตะวันตกไม่อาจจะมาขวางกั้นเส้นทางวิ่งไปข้างหน้าได้

หนังสือเล่มนี้วิเคราะห์ให้เห็นถึงรากเหง้าของความขัดแย้งที่เกิดจากความระแวงคลางแคลงของจีนที่มีต่อชาวต่างชาติที่มีวัฒนธรรมด้อยกว่าของจีนที่มีมายาวนานหลายพันปี

ในขณะที่สหรัฐมักมองข้ามจีนในฐานะคู่ค้าที่เท่าเทียมกัน และพยายามทุกวิถีทางที่จะสกัดการเติบใหญ่ของจีนในเวทีระหว่างประเทศ

คนเขียนนำเสนอว่าโอกาสที่ดีที่สุดของเราในการหลีกเลี่ยงสงครามคือการทำความเข้าใจการคิดเชิงกลยุทธ์ของอีกฝ่ายหนึ่งให้ดีขึ้น

และกำหนดแนวความคิดของโลกที่ทั้งสหรัฐและจีนสามารถอยู่ร่วมกันทางการแข่งขันได้

แม้ว่าจะอยู่ในสถานะการแข่งขันกันอย่างต่อเนื่องซึ่งเสริมด้วยการป้องปรามซึ่งกันและกัน

Kevin Rudd

รัดด์เขียนว่าในเมื่อการแข่งขันระหว่างสองประเทศมีความจำเป็นที่จะต้องให้ทั้งสองฝ่ายมีบทบาทร่วมกัน เขาจึงเสนอแนวคิดของ “การแข่งขันเชิงกลยุทธ์ที่มีการจัดการ” หรือ The case for “MANAGED STRATEGIC COMPETITION”

แปลว่าทั้งสองฝ่ายต้องยอมรับว่าอย่างไรเสียอเมริกาและจีนก็ต้องมีการแข่งขัน…และเป็นการแข่งขันในหลายๆ มิติด้วยซ้ำไป

แต่เป็นการแข่งขันเชิงกลยุทธ์ “ที่มีการจัดการ” จากระดับนโยบายจากทั้งสองฝ่าย

เพราะถ้าปล่อยให้มีการแข่งขันกันแบบไร้ข้อจำกัด ต่างฝ่ายต่างย่อมต้องการเอาชนะ และจะทำทุกอย่างเพื่อฟาดฟันอีกฝ่ายหนึ่ง นั่นย่อมจะนำไปสู่ความตึงเครียดที่อาจจะจบที่สงครามระดับโลก

แต่หากมีการ “แข่งขันเชิงกลยุทธ์ที่มีการจัดการ” นั่นก็จะ “อนุญาตให้วอชิงตันและปักกิ่งจัดการแข่งขันเชิงกลยุทธ์ในระดับสูง…”

ขณะเดียวกันก็ลดความเสี่ยงของการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงขึ้นสู่ความขัดแย้งแบบเปิด

อดีตนายกฯ ออสเตรเลียบอกว่าการจะมีการแข่งขันที่บริหารจัดการให้อยู่ในขอบเขตที่ควบคุมได้ก็ต้องมีชุดของ “กฎกติกามารยาท” ที่ตกลงร่วมกัน

และหนึ่งในกฎกติกานั้นก็ต้องมี “ระบบรั้วกั้น” (rail guards) หรือทางลาดเชิงยุทธศาสตร์เพื่อช่วยรักษาความสงบสุขระหว่างมหาอำนาจไม่ให้หลุดไปจากขอบเขตที่เหมาะสม

 

หนังสือเล่มนี้นำเสนอ 3 เสาหลักของแนวคิดของการแข่งขันเชิงกลยุทธ์ที่มีการจัดการ :

ประการแรก ร่วมกันกำหนดข้อจำกัดที่ชัดเจนเกี่ยวกับนโยบายและการดำเนินการด้านความปลอดภัยของแต่ละประเทศ (และพันธมิตร) เพื่อจัดการการเพิ่มระดับการแข่งขันไปสู่ความขัดแย้งในประเด็นที่มีอยู่

ประการที่สอง เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องต้องกันในข้อกำหนดต่างๆ โดยยอมรับว่าอีกฝ่ายหนึ่งยังคงพยายามเพิ่มข้อได้เปรียบสูงสุด จึงต้องตกลงที่จะไม่ละเมิดขีดจำกัดทางยุทธศาสตร์ของความสัมพันธ์

ในขณะเดียวกันก็ดำเนินตามอิทธิพลเชิงกลยุทธ์และเศรษฐกิจในระดับทวิภาคี พหุภาคี และภูมิภาคต่างๆ ทั่วทั้งประเทศ โลก

และสุดท้าย ให้ทั้งสองประเทศแสวงหาพื้นที่สำหรับความร่วมมือเชิงกลยุทธ์อย่างต่อเนื่องเพื่อร่วมกันแก้ปัญหาและความท้าทายระดับโลกที่สำคัญในหลายพื้นที่ที่กำหนดไว้

เช่น “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การต่อสู้กับโรคระบาดและการปรับปรุงด้านสาธารณสุข การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ความมั่นคงทางการเงิน และการควบคุมอาวุธนิวเคลียร์ รวมถึงข้อจำกัดเกี่ยวกับสงคราม AI”

 

หนังสือเล่มนี้ยังระบุถึง “เส้นสีแดงเชิงกลยุทธ์” ที่ต่างฝ่ายต่างต้องไม่ข้าม

เพราะถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งข้าม “เส้นแดง” ก็อาจส่งผลให้เกิดการยกระดับทางการทหาร (เช่น ปัญหาในไต้หวัน ทะเลจีนใต้ และการโจมตีทางไซเบอร์ต่อโครงสร้างพื้นฐาน)

นอกจากนี้ทั้งสองฝ่ายยังต้องยอมรับ “ข้อผูกมัดทางศีลธรรมและในทางปฏิบัติ”

นั่นคือการตระหนักถึงวิธีรักษาสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองที่เราได้รักษาไว้ตลอดเวลาตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สอง โดยยอมรับสภาพความเป็นจริงที่ว่าได้เกิดความเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างวอชิงตันและปักกิ่งแล้ว

เพราะหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งยังยึดหลักวิธีคิดแบบเดิม ก็ไม่มีวันที่จะสามารถก้าวผ่านความเสี่ยงที่จะเกิดความขัดแย้งที่รุนแรงที่อาจนำไปสู่สงครามได้

 

ตอนหนึ่งของหนังสือ รัดด์บอกว่า

“หากยักษ์ทั้งสองนี้หาทางอยู่ร่วมกันโดยไม่หักหลังผลประโยชน์หลักของกันและกัน… โลกจะน่าอยู่ขึ้น”

“แต่หากทั้งสองฝ่ายล้มเหลวในการบรรลุข้อตกลงที่จะอยู่ร่วมกัน เราก็อาจจะเจอกับอนาคตโลกในแบบที่เราแทบจะจินตนาการไม่ได้”

พูดง่ายๆ คือถ้ายอมประคับประคองกติกาเพื่ออยู่ร่วมกัน ก็จะได้ประโยชน์ทั้งคู่

แต่หากยังยึดมั่นถือมั่นแบบเดิม หนทางข้างหน้าอาจจะคือหายนะที่ไม่มีใครอยากเห็น