วันอัฏฐมีบูชา กับหินใหญ่ ในพิธีถวายพระเพลิงพระพุทธเจ้าในไทย / On History : ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ
“พระไสยา” พระพุทธรูปปางปรินิพพาน ศิลปะสุโขทัย ประดิษฐานภายในห้องด้านทิศตะวันตก พระวิหารพระศาสดา วัดบวรนิเวศวิหาร (ภาพถ่ายโดย Kessarin Sae-be)

On History

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

 

วันอัฏฐมีบูชา กับหินใหญ่

ในพิธีถวายพระเพลิงพระพุทธเจ้าในไทย

 

ตามความเชื่อในพุทธศาสนา แบบเถรวาท ซึ่งก็คือแบบที่พี่ไทยเราเคลมว่าเป็นศาสนาพุทธกระแสหลักในสังคมไทยนับถือเป็นหลักนั้น เชื่อว่าวันถวายพระเพลิงพระสรีระของพระพุทธเจ้านั้น ตรงกับวันแรม 8 ค่ำ เดือนวิสาขะ (ตรงกับเดือน 6 หากนับตามปฏิทินจันทรคติของไทย) หรือนับเป็นเวลา 8 วัน หลังจากที่พระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานไปแล้ว โดยมีชื่อเรียกเป็นศัพท์เฉพาะว่า “วันอัฏฐมีบูชา” หรือถ้าจะสะกดว่า “อัฐมีบูชา” ก็ไม่ผิด

และหากนับตามปฏิทินสุริยคติแบบสากลในปัจจุบันแล้ว วันอัฏฐมีบูชาประจำเรือน พ.ศ.นี้ก็จะตรงกับวันที่ 3 มิถุนายน

โดยแม้จะไม่ได้ถูกนับเป็นวันพระใหญ่ของไทย ในระดับเดียวกับวันมาฆบูชา, วิสาขบูชา, อาสาฬหบูชา และเข้าพรรษา แต่ก็น่าสนใจว่า ในบางพื้นที่นั้น มีการจัดงาน “พิธีถวายพระเพลิงพระพุทธเจ้า” ซึ่งก็คือการจำลองเหตุการณ์ดังกล่าว

นัยว่าเป็นการให้ชาวบ้านประชาชนทั่วไปได้เข้าไปทำบุญด้วยการมีส่วนร่วมในการถวายพระเพลิงพระพุทธเจ้านั่นแหละ

 

ส่วนบางพื้นที่ที่ผมหมายถึงนั้น ทุกวันนี้ที่ยังมีการจัดงานอยู่ก็ได้แก่ บางวัดในเขต อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม และ อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์

ซึ่งก็น่าสนใจด้วยว่า ในบริเวณพื้นที่ใกล้เคียงกับจังหวัดทั้งสองแห่งดังกล่าวนั้น ก็มีตำนานพื้นบ้านผูกโยงเรื่องราวว่า พระพุทธเจ้าได้เสด็จปรินิพพานในบริเวณนั้นเสียด้วย

ในกรณีของ จ.อุตรดิตถ์นั้นมีพระแท่นศิลาอาสน์ อยู่ที่วัดพระแท่นศิลาอาสน์ ต.ทุ่งยั้ง อ.ลับแล ซึ่งคนพื้นที่ในสมัยโบราณเชื่อกันว่า พระพุทธเจ้าได้เสด็จปรินิพพานบนแท่นหินนั้น

ไม่ต่างอะไรกับพื้นที่ที่แม้จะเหมือนว่าอยู่ห่างไกลจากเมืองนครชัยศรีอย่างพระแท่นดงรัง ซึ่งตั้งอยู่ในเขตพื้นที่วัดพระแท่นดงรังวรวิหาร อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี แต่หากพิจารณาจากความเป็นกลุ่มก้อนทางวัฒนธรรมแล้ว ก็ถือได้ว่าเป็นกลุ่มวัฒนธรรมลุ่มน้ำท่าจีน-แม่กลอง (แม่น้ำนครชัยศรี คือชื่อเรียกแม่น้ำท่าจีน เมื่อไหลผ่าน จ.นครปฐม) เช่นเดียวกัน

ดังนั้น ถ้าหากจะมีความเชื่อว่า พระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานเหนือพระแท่นดงรังนั้นก็ไม่น่าที่จะแปลกอะไรนัก

สิ่งที่น่าสนใจยิ่งไปกว่านั้นก็คือ หินทั้งสองก้อนที่เชื่อกันว่าเป็นพระแท่นบรรทมเมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพาน ไม่ว่าจะเป็นพระแท่นศิลาอาสน์ หรือพระแท่นดงรังนั้น ต่างก็มีร่องรอยว่าเป็นสิ่งที่เฮี้ยน (หรือที่เรียกตามศัพท์ของศาสนาพุทธ หรือพราหมณ์-ฮินดู จากชมพูทวีปว่า ศักดิ์สิทธิ์) คือ เป็น “หินใหญ่” (Megalith) ของศาสนาผีพื้นเมืองอุษาคเนย์มาก่อนที่จะถูกจับบวชเข้าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาพุทธไปในภายหลัง

 

วัฒนธรรมการนับถือ “หินใหญ่” อย่างนี้พบได้ทั่วไปในศาสนาดั้งเดิมทั่วโลก ซึ่งก็ไม่ได้นับถือกันเฉพาะหินก้อนใหญ่ๆ นะครับ หินที่มีรูปทรงแปลกตานั่นก็ใช่ หลายทีก็จับเอาหินมาตั้งเดี่ยวๆ อย่างที่ฝรั่งเรียกรวมๆ กันว่า “standing stone” และมีคำศัพท์โบราณในเอกสารเก่าของไทยว่า “หินตั้ง”

หลายทีก็จัดหินหลายก้อนเป็นรูปทรงต่างๆ บางทีก็ใช้หินก้อนไม่ใหญ่นัก หรือบางครั้งก็ใช้เป็นสะเก็ดหินก้อนเล็กเลย มาสร้างเป็นลาน หรือก่อเป็นรูปทรงต่างๆ

ดังนั้น ถ้าจะบอกว่า นับถือหินใหญ่อย่างเดียวจึงไม่ค่อยจะถูกต้องนัก

การนับถือหินในศาสนาผีอย่างนี้ เมื่อมีศาสนาใหญ่ๆ ที่มีความเป็นสากลกว่าแพร่อิทธิพลเข้ามา (ในกรณีของอุษาคเนย์คือศาสนาจากอินเดียอย่าง พุทธ หรือพราหมณ์-ฮินดู) ก็มักจะถูกจับบวชเข้าในศาสนาใหม่ ที่เห็นชัดๆ ก็คือ ความเชื่อ “หลักเมือง” ทุกวันนี้ ซึ่งก็มีทั้งที่ทำด้วยไม้ และที่ทำด้วยหินนั่นเอง

และเมื่อพูดถึงหลักเมืองก็จะเห็นได้ว่า มักจะมีตำนานที่เกี่ยวข้องกับความตายอยู่เสมอ โดยเฉพาะความเชื่อที่ว่ามีการบูชายัญด้วยชีวิตของมนุษย์ตอนที่สร้างหลักเมือง

ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่า ตำนานพวกนี้เป็นความจริงหรือเปล่า?

แต่ก็แสดงให้เห็นถึงร่องรอยของการนับถือหินใหญ่ หรือหินตั้งนั้นเกี่ยวข้องกับความตาย

และอันที่จริงแล้วศาสนาผีดั้งเดิมของอุษาคเนย์นั้นก็นับถือ “บรรพชน” คือคนที่ตายไปแล้ว ซึ่งสามารถให้คุณ ให้โทษ คนที่ยังมีชีวิตอยู่นั่นแหละ

คติการนับถือ “หิน” โดยเฉพาะหินใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับ “ความตาย” ในศาสนาผีพื้นเมืองนั้น จึงดูจะเข้ากันกับพุทธประวัติการ “ปรินิพพาน” ของพระพุทธเจ้า ในพุทธศาสนา จากชมพูทวีป ที่เข้ามาใหม่เป็นอย่างดีเลยทีเดียว

 

ที่สำคัญก็คือ ในบริเวณปริมณฑลของพระแท่นดงรังนั้น ยังมีเขาลูกเตี้ยๆ ที่เรียกกันว่า “เขาถวายพระเพลิง” เพราะเชื่อกันว่าการถวายพระเพลิงพระพุทธเจ้าเมื่อ “วันอัฏฐมีบูชา” คือ 8 วันหลังพระพุทธเจ้าปรินิพพานนั้น จัดขึ้นบนยอดเขาลูกนี้อีกด้วย

แถมยังเป็นที่น่าสนใจว่า บนเขาถวายพระเพลิงยังมี “บันไดแก้ว” ที่เป็นลานลาดเป็นทางขึ้นสู่ยอดเขา อันเป็นที่ตั้งของหินตั้ง และหินใหญ่ ลานลาดดังกล่าวมีร่องรอยว่าเคยถูกปูลาดไว้ด้วยหิน ในทำนองเดียวกับที่วัดตะพานหิน จ.สุโขทัย ซึ่งนักมานุษยวิทยาระดับปรมาจารย์ของไทยอย่าง รศ.ศรีศักร วัลลิโภดม เคยอธิบายไว้ว่า เป็นร่องรอยของวัฒนธรรมหินตั้งเช่นกัน

ที่เรียกว่า “บันไดแก้ว” ก็เพราะมีการเรียงอิฐ ซึ่งเป็นอิฐรุ่นก่อนอยุธยา เป็นขั้นบันได แล้วกรุขอบด้านข้างด้วยหินควอตซ์ (Quartz) ซึ่งก็มีแหล่งอยู่บนเขาถวายพระเพลิง

หินควอตซ์เหล่านี้มีความแวววาวและงดงาม โดยเฉพาะเวลาเมื่อต้องแสงจันทร์ จนถึงกับถูกพรรณนาไว้ใน “นิราศพระแท่นดงรัง” สองฉบับ คือของสามเณรกลั่น ผู้เป็นลูกศิษย์ของสุนทรภู่ (แถมตอนที่สามเณรรูปนี้เดินทางมายังพระแท่นดงรัง ในคราวเดียวกับที่แต่งนิราศเอาไว้ ยังมากับสุนทรภู่อีกด้วย) และเสมียนมี (หมื่นพรหมสมพัตสร) กวีผู้มีชื่อเสียงในยุครัชกาลที่ 3 และคงถือกันว่าเป็นวัตถุที่ขลังหรือศักดิ์สิทธิ์ จึงมีการนำเอาหินประเภทนี้มาใช้ก่อเป็นหินตั้ง และบันไดแก้วบนเขาถวายพระเพลิงนั่นเอง

(น่าสนใจด้วยว่า ทั้งสามเณรกลั่นและเสมียนมีนั้นเรียกชื่อพื้นที่บริเวณลุ่มน้ำแม่น้ำกลอง โดยมีพระแท่นดงรังเป็นจุดศูนย์กลางว่า “โกสินราย” ซึ่งควรจะเพี้ยนมาจากคำว่า “กุสินารา” อันเป็นชื่อเมืองที่พระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพาน ตามที่เล่าไว้ในพุทธประวัติ โดยเนื้อหาในนิราศพระแท่นดงรังทั้งสองฉบับนี้ยังแสดงให้เห็นว่าทั้งเสมียนมีและสามเณรกลั่น [แน่นอนว่า ย่อมรวมถึงสุนทรภู่ด้วย] นั้น ไปนมัสการพระแท่นดงรังด้วยความเคารพในความศักดิ์สิทธิ์ของพระแท่นดงรัง จากตำนานว่า พระพุทธเจ้าได้เสด็จปรินิพพานลงที่นี่ ไม่ว่าพวกท่านจะเชื่อว่าเป็นเรื่องจริงหรือไม่ก็ตาม)

 

นักโบราณคดีแห่งมหาวิทยาลัยคอร์แนล ประเทศสหรัฐอเมริกา ในยุคสงครามเย็นอย่าง ทอม แฮร์ริสสัน (Tom Harrisson) และสแตนลีย์ เจ. โอคอนเนอร์ (Stanley J. O’Connor) ได้เคยทำการสำรวจวัฒนธรรมหินใหญ่ในอุษาคเนย์ ภาคหมู่เกาะ และได้พบกลุ่มหินตั้งที่มีการนำหินก้อนเล็กมาใช้ประดับประดารอบหินใหญ่ หรือหินตั้งประเภทต่างๆ บางทีก็นำหินเหล่านี้มาพรมรอบพื้นดินจนเป็นเนินกว้าง หินเหล่านี้มักจะเป็นหินที่สวยงาม

ในกรณีของที่อินโดนีเซียมักเป็นหินกรวดแม่น้ำ (pebble) โดยทั้งคู่ได้เสนอให้เรียกการนำเศษหินเหล่านี้มาใช้ในวัฒนธรรมหินตั้ง-หินใหญ่ประเภทนี้ว่า micro-megalith แต่ยังไม่มีผู้ควงศัพท์เป็นคำไทย

ลักษณะเช่นนี้พอจะเปรียบเทียบได้กับการนำหินควอตซ์มาประดับไว้ที่บันไดแก้ว บนเขาถวายพระเพลิง ซึ่งก็แสดงให้เห็นว่าบริเวณพื้นที่พระแท่นดงรัง-เขาถวายพระเพลิง ซึ่งเป็นศูนย์กลางของบริเวณที่เป็นเมืองกุสินาราจำลอง ในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่กลอง-ท่าจีนนั้น นอกจากจะมีหินก้อนใหญ่ที่ในปัจจุบันนับถือกันว่าเป็นพระแท่นปรินิพพานของพระพุทธเจ้าแล้ว ก็ยังมีร่องรอยของการสร้างหินตั้งประเภทอื่นๆ ทั้งประเภทเนินหิน และหินตั้งประเภทที่แฮร์ริสสัน กับโอคอนเนอร์เสนอให้เรียกว่า micro-megalith อีกด้วย

จึงอาจจะกล่าวได้ว่า พื้นที่บริเวณนี้ควรจะเป็นแหล่งวัฒนธรรมหินใหญ่ที่สำคัญในอดีต ก่อนที่จะถูกกลืนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของความศักดิ์สิทธิ์ในปริมณฑลของศาสนาพุทธ

เอาเข้าจริงแล้ว การจัดพิธีการถวายพระเพลิงพระพุทธเจ้าในวันอัฏฐมีบูชา บนพื้นที่ใกล้เคียงกับมีการแพร่หลายของตำนานเรื่องการปรินิพพานของพระพุทธเจ้าบนหินใหญ่ จึงเป็นร่องรอยที่แสดงให้เห็นถึงความเห็นความเฮี้ยน-ศักดิ์สิทธิ์ ของหินใหญ่ในศาสนาผี ที่มีอยู่ในพื้นที่มาก่อนนั้นด้วย •