เซ็นทรัล ขยับเมือง / วิรัตน์ แสงทองคำ

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com
เตียง ผู้บุกเบิกรุ่นที่ 1 ถ่ายภาพกับ สัมฤทธิ์ บุตรชายคนโตและบุตรคนอื่น ๆ ในตระกูลจิราธิวัฒน์ ในวันเปิดห้างเซ็นทรัล สาขาราชประสงค์ พ.ศ. 2507 (ภาพจากหนังสือ จิราธิวัฒน์สัมฤทธิ์)

วิรัตน์ แสงทองคำ

www.viratts.com

 

เซ็นทรัล ขยับเมือง

 

ยุคหลังวิกฤตการณ์ COVID-19 พัฒนาการความสัมพันธ์ระหว่างกรุงเทพฯ กับหัวเมือง เป็นมิติที่น่าสนใจ

ความเป็นไปทางสังคมในบางมิติ สามารถเห็นภาพกว้างๆ เมื่อมองผ่านความเคลื่อนไหวทางธุรกิจสำคัญๆ บางครั้งมาจากข่าวพื้นๆ ชิ้นหนึ่ง

เช่นกรณีนี้ “เซ็นทรัลพัฒนา เดินหน้า Retail-Led Mixed-Use Development ปั้นรีเทลโตต่อเนื่อง ทุ่มงบฯ มากกว่า 20,000 ล้านบาทต่อปี…” (https://www.centralgroup.com/)

ในที่นี้ มักให้ความสำคัญมุมมองและความเป็นไปของธุรกิจใหญ่ไทย กลุ่มเซ็นทรัลเป็นเครือข่ายธุรกิจหนึ่งซึ่งได้ติดตามเฝ้ามองมากว่า 3 ทศวรรษ และศึกษาย้อนรอยไปยังจุดเริ่มต้น ด้วยเชื่อว่าเป็น “ชิ้นส่วน” ของภาพสะท้อน มีความสัมพันธ์กับสังคมวงกว้างไม่มากก็น้อย

จับภาพมาตั้งแต่สังคมไทยสมัยใหม่ ค่อยๆ ขยายตัว ปรากฏกลุ่มคนรุ่นใหม่ๆ เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ยุคการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ด้วยความเชื่อมโยงวิถีชีวิตให้มีความสัมพันธ์กับโลกตะวันตกมากขึ้น โดยเฉพาะพัฒนาการสังคมธุรกิจไทยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เปิดศักราชการก่อตั้งกิจการต่างๆ เริ่มต้นยุคธุรกิจครอบครัว เป็นจุดตั้งต้นการสร้างอาณาจักรธุรกิจไทยอย่างสำคัญ เป็นไปในวงกว้างมากขึ้นๆ ด้วยมีการเปิดพรมแดนความรู้ใหม่ๆ ส่วนหนึ่งมาจากหนังสือต่างประเทศ

ธุรกิจร้านขายหนังสือต่างประเทศเล็กๆ ที่สี่พระยา โดยต้นตระกูลจิราธิวัฒน์ ผู้สร้างอาณาจักรธุรกิจกลุ่มเซ็นทรัล เป็นภาพหนึ่งสะท้อนจุดหัวเลี้ยวหัวต่อการเปลี่ยนแปลงโฉมหน้ากรุงเทพฯ

จนมาถึงการกำเนิดห้างสรรพสินค้าแห่งแรกในประเทศไทย

 

ปี 2499 ห้างเซ็นทรัลแห่งแรกเปิดขึ้นในย่านวังบูรพา ศูนย์กลางธุรกิจในเมืองหลวงเวลานั้น

ผ่านมาอีกยุค อิทธิพลสหรัฐอเมริกา กับสงครามเวียดนาม (2507-2518) มีมิติกว้างขวาง จากการเมือง-การทหาร นโยบายเศรษฐกิจ จนถึงปะทุปะทะถึงการปรับโครงสร้างสังคม ธุรกิจ และวิถีชีวิตผู้คนด้วย

ธุรกิจค้าปลีกโมเดลห้างสรรพสินค้า ถือเป็นปรากฏการณ์ขยายตัวครั้งใหญ่หลายพื้นที่ในกรุงเทพฯ มีพลังและผลกระทบต่อวิถีชีวิตและโฉมหน้าเมือง

กลุ่มเซ็นทรัลแสดงบทบทนำ ไม่เพียงเพิ่มเครือข่ายให้มากกว่าใคร ที่สำคัญเข้ายึดทำเลที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของกรุงเทพฯ อ้างอิงกรณี เซ็นทรัล สีลม (2511) และเซ็นทรัล ชิดลม (2516)

ธุรกิจซึ่งมีอิทธิพลต่อวิถีเมือง มีการปรับตัว สร้างปะทะรุนแรงมากขึ้นๆ ด้วยปรากฏโครงการใหม่ แบบผสมผสาน (Mixed-Use) ขึ้นเป็นครั้งแรกๆ มีขนาดใหญ่ขึ้น ด้วยเงินลงทุนจำนวนมากขึ้น เกิดขึ้นอย่างครึกโครมหลายโครงการในโมเดลที่เรียกว่า ศูนย์การค้า (Shopping mall)

เซ็นทรัล ลาดพร้าว (2525) เป็นหนึ่งในนั้น เป็นไปตามพัฒนาการเมืองหลวง ซึ่งเริ่มขยายพื้นที่ออกสู่ชานเมืองทุกทิศทางกว้างมากขึ้นๆ ศูนย์การค้ากลายเป็นหมุดหมายสำคัญของผู้คน เป็นส่วนผสมสำคัญของชุมชนชานเมืองใหม่ บริษัทเซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ CPN ก่อตั้งขึ้นในช่วงนั้น กลายเป็นหัวขบวนนำร่องเครือข่ายธุรกิจใหม่ๆ กลุ่มเซ็นทรัลกลายเป็นโมเดลธุรกิจที่ตกผลึก เพื่อสร้างหมุดหมายสำคัญ สัมพันธ์กับการพลิกโฉมชุมชน อย่างที่ข่าวพื้นๆ ที่ว่าล่าสุดตอกย้ำไว้

“…วางแผนธุรกิจช่วง 5 ปี (2565-2569) ใช้งบฯ ลงทุนรวมประมาณ 120,000 ล้านบาท พัฒนาโครงการใหม่ๆ และปรับปรุงโครงการเก่า และอื่นๆ ให้ความสำคัญมากขึ้นกับ Mixed-Use Development …”

 

ย้อนไปในช่วงทศวรรษ 2530 เศรษฐกิจไทยเติบโต เฟื่องฟู เครือข่ายธุรกิจกรุงเทพฯ ได้เปิดฉากหน้าใหม่ ขยายอิทธิพลยึดครองให้ครอบคลุมระดับประเทศ เป็นการพลิกโฉมหัวเมืองไปจากแต่เดิม

จากธุรกิจท้องถิ่นเคยเป็นใหญ่ ในฐานะนายหน้า หรือตัวแทนจำหน่ายสินค้าสำคัญตามยุคสมัย จนกลายตำนานคลาสสิคกลุ่มธุรกิจอิทธิพลหัวเมือง เริ่มต้นจากการเป็น เอเย่นต์ปูนซีเมนต์ และเอเย่นต์สุรา ในยุคต้นๆ สงครามเวียดนาม จากนั้นขยายไปกว้างขึ้นๆ โดยเฉพาะตัวแทนจำหน่ายสินค้าคอนซูเมอร์ และรถยนต์ ฯลฯ

ธุรกิจหัวเมืองส่วนใหญ่ในเวลานั้น ดำเนินไปค่อนข้างอิสระจากเครือข่ายในเมืองหลวง สามารถเติบโตได้ ด้วยข้อจำกัดการพัฒนาเครือข่ายคมนาคม และระบบสื่อสาร เพื่อการเชื่อมโยงระหว่างเมืองใหญ่กับหัวเมือง

จนมาถึงจุดเปลี่ยนเป็นไปอย่างรวดเร็ว ด้วยแรงกระตุ้นใหม่ๆ ดังกรณีเซ็นทรัล ประหนึ่งยกโมเดลบางมิติจากกรุงเทพฯ ไปที่นั่น

กลุ่มเซ็นทรัลมุ่งสู่หัวเมืองสำคัญๆ โดยเฉพาะเมืองจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยว เป็นคลื่นระลอกแรกช่วงนั้น (2535-2539) จากเชียงใหม่ หาดใหญ่ และภูเก็ต ยังคงเป็นไปตามแนวทางนั้น ให้ครอบคลุมจากหัวเมืองใหญ่ สู่เมืองรองมากขึ้นๆ จนถึงทุกวันนี้ และจากนี้ไป

 

จับความจากถ้อยแถลง อ้างอิงหัวข้อข่าวข้างต้น ตามแผนพัฒนาโครงการใหม่ แค่เฉพาะของ CPN ที่เรียกว่า Retail-Led Mixed-Use Development (ครอบคลุมทั้ง 4 กลุ่มธุรกิจ ศูนย์การค้า ที่อยู่อาศัย อาคารสำนักงาน และโรงแรม) จากปัจจุบันมีอยู่แล้ว 36 โครงการใน 24 จังหวัด จะลงทุนใหม่ภายในปี 2569 ในอีก 14 โครงการ รวมเป็น 50 โครงการ ครอบคลุมกว่า 30 จังหวัดทั่วประเทศ

ว่าเฉพาะ CPN นับตั้งแต่เข้าตลาดหุ้นในช่วงขาขึ้นครั้งสำคัญ (ปี 2538) มีบทบาทเป็นหัวหอกในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้าง “พื้นที่” รองรับธุรกิจหลักของกลุ่มเซ็นทรัล ในระยะใกล้ๆ มีแนวทางโดดเด่น เปิดกว้างและยืดหยุ่น อย่างน่าสังเกตมาสักพัก โดยเฉพาะในช่วงคาบเกี่ยววิกฤตการณ์ COVID-19

แผนการในช่วงนั้น ผ่านดีลสำคัญบางดีล ดูเหมือนโฟกัสในเมืองหลวงและเมืองบริวาร

มีดีลสำคัญ ในปี 2558 ร่วมมือกับ IKEA เครือข่ายร้านเฟอร์นิเจอร์ชื่อดังระดับโลก เปิดสาขาที่ 2 ในไทย ณ Central Plaza Westgate แทนที่แผนการเดิมจะเป็น Mega Bangyai ตามยุทธศาสตร์เปลี่ยนคู่แข่งให้เป็นพันธมิตร เพื่อการขยายอิทธิพลในชุมชนชานเมืองและเมืองบริวารให้เร็วขึ้น

ตามด้วยปี 2560 ร่วมมือกับกลุ่มดุสิตธานี ร่วมลงทุนโครงการ Mix-Used มูลค่าหลายหมื่นล้านบาท ปรับโฉมโรงแรมดุสิตธานีเดิม โดยมีห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเข้ามาอยู่ด้วย เป็นแผนยึดทำเลสำคัญเพื่อสร้างพลังของเครือข่ายในกรุงเทพฯ ให้เข้มแข็ง ตามกระแสและแผนการเผชิญหน้ากับบรรดายักษ์ใหญ่ ซึ่งพากันเจาะทะลวงยึดใจกลางกรุงเทพฯ กันครั้งใหญ่ แผนการซึ่งกระชับกระชั้นขึ้นได้ด้วยความร่วมมือบางระดับกับคู่แข่งเช่นกัน เป็นที่รู้กันอยู่แล้ว ดุสิตธานี มีฐานะเป็นคู่แข่งกับเครือข่ายโรงแรมของกลุ่มเซ็นทรัล

 

สัมพันธ์กับอีกดีล ท่ามกลางวิกฤตโรคระบาดร้ายแรง CPN คงมองหาโอกาสไม่ลดละ ปลายปี 2564 เข้าซื้อกิจการบริษัทสยามฟิวเจอร์ดีเวลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ SF เข้ายึดครองเครือข่ายค้าปลีกโมเดลที่แตกต่าง สามารถเข้าถึงชุมชนเมืองหลวงมากขึ้นอีก มีถึง 18 แห่ง อย่างที่เรียกว่า ชุมชน (Neighborhood Center) และศูนย์ไลฟ์สไตล์ (Lifestyle Center) ที่สำคัญขณะเดียวกัน ได้ก้าวไปมีบทบาทกับโมเดลค้าปลีกใหม่ซึ่งไม่เคยมีการร่วมทุนในศูนย์การค้าขนาดใหญ่ (Super Regional Mail) ได้แก่ Mega Bangna ด้วย

ถ้อยแถลงล่าสุด มีขึ้นเมื่อวิกฤตการณ์ COVID-19 คลี่คลายไปมาก ให้ภาพที่กว้างขึ้น สะท้อนบทวิเคราะห์ CPN ซึ่งขยับปรับเปลี่ยนมุมมองไปบ้าง อย่างที่ระบุว่า “…พร้อมเชื่อมต่อออฟฟิศให้เป็นสถานที่ทำงานที่ดีที่สุด เพราะใกล้ศูนย์การค้าและโรงแรม…” เชื่อว่ามีความสัมพันธ์กับปรากฏการณ์ใหม่ มาจากแรงกระตุ้นอันเข้มข้น เกี่ยวกับ “การทำงานที่บ้าน (Work from Home)” ขณะเชื่อว่าสถานการณ์สำคัญบางอย่างกลับคืน ไม่ช้าก็เร็ว เป็นไปตามกัน เป็นกระแสหลักของธุรกิจใหญ่ๆ ไทยทั่วไป อ้างอิงกับการท่องเที่ยว

จากยุคแรก เครือข่ายเซ็นทรัล บุกสู่เมืองท่องเที่ยวสำคัญๆ ของไทย เมื่อ3 ทศวรรษที่แล้ว จนมาถึงปัจจุบัน มีความเชื่อในพลังตนเองอย่างเหลือล้น ถึงขํนที่ว่า โครงการใหญ่ที่ไปถึงที่ไหน จะสร้างการเปลี่ยนแปลงที่นั่น

“…เพื่อยกระดับทำให้ทุกเมืองเป็นเมืองท่องเที่ยว” •