ถอดบทเรียน 30 ปี พฤษภามหาโหด ก้าวฝันยังไงให้ประชาธิปไตยยั่งยืน/รายงานพิเศษ

รายงานพิเศษ

อิสราชัย จงภัทรนิชพันธ์

 

ถอดบทเรียน

30 ปี พฤษภามหาโหด

ก้าวฝันยังไงให้ประชาธิปไตยยั่งยืน

 

เข้าสู่ทศวรรษที่ 3 ของเหตุการณ์พฤษภา 2535 ซึ่งบ้างเรียก “พฤษภาทมิฬ” หรือ “พฤษภาประชาธรรม” การเรียกร้องประชาธิปไตย ขับไล่รัฐบาลเผด็จการและนายพลที่กลายเป็นนายกรัฐมนตรีคนนอก สู่การปราบปรามประชาชนจนบาดเจ็บ ล้มตาย และสูญหายไปมาก

แม้เหตุการณ์ดังกล่าวจะนำไปสู่การปฏิรูปการเมืองครั้งใหญ่สู่รัฐธรรมนูญ 2540 เหตุใดเส้นทางกลับไม่ราบรื่นและจบลงด้วยการรัฐประหาร 2549 สู่วิกฤตการเมืองไทยกว่าทศวรรษ และกระทำซ้ำด้วยรัฐประหาร 2557

เหตุใดประชาธิปไตยไทยตลอดเส้นทางที่กรุยมา 9 ทศวรรษ จึงดูยากเย็น ผู้คนที่เคยร่วมขับไล่เผด็จการทำไมถึงกลายเป็นฝ่ายสนับสนุนการรัฐประหารในเวลาต่อมา และทำยังไงเพื่อให้ประเทศมีความประชาธิปไตย ไม่มีทหารแทรกแซงการเมืองได้จริงๆ?

ในเวทีเสวนา 3 ทศวรรษ พฤษภามหาโหด People Power ฝันไกลที่ไปไม่ถึง? ที่จัดโดยมติชนสุดสัปดาห์ ศูนย์ข้อมูลมติชน ที่ห้องประชุมข่าวสด เมื่อ 19 พฤษภาคม 2565 โดยได้เชิญบุคคลที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นี้โดยตรงอย่างปริญญา เทวานฤมิตรกุล อดีตรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยในเวลานั้น พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์ นายทหารเกษียณและคอลัมนิสต์ และนายสมบัติ บุญงามอนงค์ นักเคลื่อนไหวทางสังคม และอดีตนักแสดงละครใบ้คณะมะขามป้อมในเวลานั้น ร่วมถ่ายทอดพร้อมแบ่งปันมุมมองจากวันนั้นถึงวันนี้ สามารถตกผลึกเป็นบทเรียนอะไรกับสังคมไทยบ้าง

ปริญญากล่าวว่า ในปลายปี 2533 หนังสือวิเคราะห์รายสัปดาห์ มีสำนักหนึ่งที่ดังมากคือ “ข่าวพิเศษ” ทุกคนต้องอ่าน ไม่ว่านักวิชาการ นักการเมือง นักกิจกรรมต้องอ่าน ฉบับธันวาคม 2533 ระบุว่า “ลาที รัฐประหาร” นี่่เป็นความรู้สึกร่วมของสังคม เชื่อว่ามีการเลือกตั้งในปี 2529 หลัง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ วางมือ จากนี้ไปการแก้ไขปัญหาอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญแล้ว ไม่มีรถถังยึดอำนาจอีก แต่เพียง 2 เดือนต่อมา ได้มีการรัฐประหาร ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534

เราคิดว่า รัฐธรรมนูญออกมาสงสัยแย่ แต่คนในสังคมค่อนข้างสบายใจ เพราะสุจินดา คราประยูร สัมภาษณ์อย่างยิ้มแย้มว่า บ้านเมืองจะถอยหลังเพียงก้าวเดียว แต่เดินหน้าเป็นสิบก้าวแล้วจะมีการเลือกตั้ง

ตอนนั้นมีองค์กรนักศึกษา 24 มหาวิทยาลัยของรัฐรวมตัวกัน เราติดตามการร่างรัฐธรรมนูญ แต่คำพูดของสุจินดาไม่จริง เพราะรัฐธรรมนูญต้องตั้ง ส.ว.ชุดแรก และมีอำนาจแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี เราไม่ยอมจึงไปประท้วงที่สภา

จนเขาถอยและเอาอำนาจ ส.ว.ออกจากร่างฯ แต่พอ 7 เมษายน 2535 สุจินดามาเป็นนายกฯ คนนอก ก็ลุกลามกลายเป็นการประท้วง

สิ่งที่มีประโยชน์พูดกันคือ ทำยังไงไม่ให้เกิดขึ้นอีก ถามตัวท่านเองว่าบ้านเมืองดีกว่า 30 ปีก่อนไหม ธันวาคม 2533 สังคมไทยเห็นตรงกันว่ารัฐประหารจบแล้ว แต่ถึงตอนนี้เรากลับไม่เชื่อ จาก รสช. มาถึง คสช. แล้วใช้บริการอย่าง มีชัย ฤชุพันธุ์ เขียนรัฐธรรมนูญ ซึ่งเจ้าตัวคงได้บทเรียนแล้ว ถ้าไม่ใส่อำนาจ ส.ว.ในร่างตั้งแต่แรกก็ไม่มีการประท้วง

“เราต้องกลับสู่วิถีทางที่เจ้าของประเทศเคารพกติกา เลือกตั้งจบ รัฐบาลอยู่ภายใต้การตรวจสอบถ่วงดุล ฟังเสียงประชาชน เราต้องกลับสู่จุดหนึ่ง” ปริญญากล่าวสรุป และว่า

เรามีต้นไม้ประชาธิปไตยที่พยายามแผ่กิ่งแต่ถูกโค่นลงหลายครั้ง ผมเชื่อว่าความขัดแย้งแตกต่างไม่ใช่ปัญหาอีกต่อไป

ด้านสมบัติกล่าวว่า เหตุการณ์หลังปี 2535 นพ.ประดิษฐ์ ไทยเชิญทวี ผู้สอบสวนเหตุการณ์ สรุปว่าเหตุการณ์เกิดขึ้นจากการรัฐประหาร 2534 นั้นเป็นบทเรียนของเอ็นจีโออย่างผมหรือรสนา โตสิตระกูล ถอดบทเรียนหมด เพราะข้างหลังเวทีชุมนุมเต็มไปด้วยเอ็นจีโอและอดีตฝ่ายซ้าย คนสำคัญๆ ไปประท้วงกันในมหาวิทยาลัยรามคำแหง แล้วโดนจับทั้ง 15 คน ที่จำได้เพราะต้องรวบรวมเงินไปประกันตัว

นอกจากนั้น ยังมี YT เครือข่ายเยาวชนในฐานะองค์กรจัดตั้งของหนุ่มสาวในมหาวิทยาลัย เป็นขุมกำลังในภาคประชาชน พวกนี้สนับสนุนเครือข่าย เดินสายหลายมหาวิทยาลัย ต้องเกาะกลุ่มให้เคลื่อนไหวต่อต้านการยึดอำนาจของ รสช. ต้องชื่นชมรามคำแหง เราจะเห็นจตุพร พรหมพันธุ์ และเด็กหลายคนตอนนั้นเป็นการ์ด ชนกับทหาร-ตำรวจ พวกเขาเป็นกำลังหลักและพัฒนาจนมาเป็นพฤษภา 2535

ผมจะบอกว่า บทเรียนที่ได้จากหมอประดิษฐ์ ตอนเกิดรัฐประหาร 2549 ผมตั้งกลุ่ม 19 กันยาต่อต้านรัฐประหาร สิ่งที่ผมจำได้ ที่เป็นชุดความคิดในปี 2535 นั้นคือ อย่าให้การรัฐประหารสำเร็จ

แต่ที่น่าเสียใจปี 2549 แม้แต่ 2557 คือ พวกเขาที่เป็นประชาชนและได้บทเรียน กลับแตกแยกกัน พี่ๆ ส่วนใหญ่อยู่ฝ่ายสนับสนุนหรือนิ่งเฉยกับฝ่ายยึดอำนาจ ภาคประชาสังคมอ่อนแอ

ขณะที่ พล.อ.บัญชรกล่าวว่า พฤษภา 2535 เป็นผลพวงจากการต่อสู้ 2 แนวทางในกองทัพ ตามงานเขียนของชัยอนันต์ สมุทวณิช ที่เสนอแนวคิด คุณค่าเดิมกับคุณค่าใหม่ในกองทัพ

คุณค่าเดิมในทหารนั้นคือ เชื่อฟังคำสั่งผู้บังคับบัญชาการ สายการบังคับบัญชาและระบบอาวุโส เป็นเรื่องธรรมดาของทหารที่ต้องเชื่อฟัง

ส่วนคุณค่าแบบใหม่ ความมีอิสระในการแสดงความคิดเห็น การผลักดันความคิด การกระทำเพื่อก่อเกิดความเปลี่ยนแปลง การยึดเหตุผลและความถูกต้อง มากกว่าระบบอาวุโสที่ตั้งอยู่บนความไม่สงสัยหรือตั้งคำถาม

นายทหารประชาธิปไตยแบบอุดมคติก่อตั้งหลังการปฏิวัติสยาม 2475 แต่แล้วเมื่อจอมพล ป.พิบูลสงคราม สมาชิกคณะราษฎรสายทหาร ได้กลายเป็นนายกรัฐมนตรี ท่ามกลางสถานการณ์โลกที่เกิดสงคราม จึงคิดว่าต้องเตรียมประเทศให้เข้มแข็ง นี่เป็นด้านหลัก แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปคือจอมพล ป.ใช้อำนาจมากขึ้นจนเกิดระบอบอำนาจนิยมทหาร

แต่จุดเปลี่ยนสำคัญคือ รัฐประหาร 2490 ทหารที่รู้จักแต่เงินเดือนจากทางการ ได้รับผลประโยชน์อื่น มีรายได้พิเศษ ในด้านหนึ่ง ก็เกิดความหวงแหน มั่นใจในกรอบโครงสร้างอำนาจในกองทัพ สร้างวัฒนธรรมทหารแบบเดิมในยุคสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จนถึงถนอม กิตติขจร

แต่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ได้ทำลายระบบเดิมนี้ลง และสร้างโครงสร้างซ้อนขึ้น นั่นคือ พล.อ.กฤษณ์ ศรีวรา กับกลุ่มทหาร จปร.7 ซึ่งต่อมาจะรู้จักในนามทหารยังเติร์กและมีส่วนต่อการร่างรัฐธรรมนูญปี 2521 แต่ก็อยู่ไม่นานและสิ้นอำนาจลงหลังกบฏเมษาฮาวายในปี 2526 กองทัพไทยก็กลับสู่ความคิดแบบเก่า แล้วเกิดเหตุการณ์พฤษภา 2535

พล.อ.บัญชรเสนอว่า ถึงตอนนี้มีตัวละครที่ไม่รู้จักมากขึ้น หลายชั้น เพราะฉะนั้น ง่ายแต่ทำยาก ถ้าทหารถอนมือจากการเมือง อย่างน้อยลดตัวแปรทางการเมืองลงสักตัว เพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ แต่ว่าจะทำสำเร็จหรือไม่

ประชาธิปไตยไม่ไปไหน

จาก คมช. 2549 ถึง คสช. 2557

ปริญญากล่าวว่า ปี 2535 ประชาชนไม่ได้แตกแยกกัน และทหารมีอยู่กลุ่มเดียวคือ อภิรักษ์จักรี ถามว่าวันที่ 7 พฤษภาคม ทำไมจำลอง ศรีเมือง พาเดินไป แม้ไม่เห็นด้วยแต่เป็นเรื่องภายใน แล้วก็ดำเนินต่อ ไม่แตกแยกกัน ทำให้สุจินดาอยู่ได้เพียง 47 วันก็ลาออก แต่กับกรณีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำไมถึงยังอยู่ได้และจะมุ่งอยู่ต่อ ทำไมถึงอยู่นาน ก็เพราะเราแตกแยกกัน

แต่ในทางสำคัญ เครื่องมือของประชาชนในการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจมีมากขึ้นอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

ด้านสมบัติกล่าวว่า ตลอดเกือบสิบปี หลังพฤษภา 2535 จนถึงรัฐประหาร 2549 ผมเป็นเสียงส่วนน้อยในขบวนการ เชื่อว่าทหารไม่ทำแบบนั้นอีก ไม่ว่ารัฐประหารหรือปราบปรามประชาชน แต่ผมคิดผิดหมด มีคนตำหนิผมว่า ผมไม่สามารถเข้าใจความคิดผู้มีอำนาจเพราะคิดแบบไพร่

ผมเคยนอนในค่ายทหารครั้งล่าสุด นายทหารที่มาคุยกับผม ผมสังเกตว่าเขาเป็นทหารหนุ่ม แต่เขากลับแสดงความมีอำนาจสูงกว่าผม สิ่งที่ผมกังวล หากมีรัฐประหาร อาจทำให้ทหารหนุ่มคิดเชื่อว่า วันหนึ่งเขาจะถูกหวยขึ้นมา อาจมีโอกาสได้เป็นนายกรัฐมนตรี

รัฐประหาร 2549 จนถึง 2557 ในขณะที่โลกก้าวไปข้างหน้า ทหารกลับมีความคิดเรื่องการไต่อำนาจสูงสุดคือต้องมีกำลัง

ทั้งนี้ ปริญญากล่าวว่า ผมเป็นห่วงว่ากองทัพเรียนรู้อะไรบ้าง รายงานทางราชการควรได้เวลาเปิดเผย ทำให้จบในแง่ข้อเท็จจริงและช่วยกันป้องกัน แม้เห็นต่างยังไงก็ไม่ฆ่ากันอีก นี่เป็นสิ่งที่เราต้องช่วยกันบอก ทั้งทหาร ประชาชน และฝ่ายตุลาการ สิ่งใดก็แล้วแต่ทำให้ประชาธิปไตยวนเวียนอย่างนี้ ต้องหยุดลง

พ.อ.บัญชรกล่าวว่า จะยกภาระมาให้ทหารถอนตัวยังไม่พอ ยังมีตัวแปรอื่นที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมือง แต่ถ้าทหารถอนตัว โจทย์การเมืองจะหายไป

สมบัติกล่าวว่า ผมได้สรุปอันหนึ่งว่า อย่ายึดติดตัวบุคคล คนที่ผมเคยเดินตามในอดีต แต่ปี 2549 กลายเป็นอีกคน 2557 ก็เช่นกัน ฉะนั้น จงยึดมั่นหลักการ ไม่ใช่บุคคล

แม้ถูกตำหนิเป็นพวกลัทธิคัมภีร์ แต่พอเวลาผ่านไป หลักการจะเป็นสิ่งที่ดีกว่า