Accessibility เข้าถึงอย่างเท่าเทียม/Cool Tech จิตต์สุภา ฉิน

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

Cool Tech

จิตต์สุภา ฉิน

@Sue_Ching

Facebook.com/JitsupaChin

 

Accessibility เข้าถึงอย่างเท่าเทียม

 

การซื้ออุปกรณ์ไอทีที่ช่วยอำนวยความสะดวกสบายให้กับชีวิตสักหนึ่งชิ้นควรจะมาพร้อมกับคำสัญญาว่าอุปกรณ์ชิ้นนั้นๆ จะต้องถูกออกแบบมาให้ผู้ใช้งานทุกคนสามารถใช้ได้อย่างเท่าเทียมกัน

อุปกรณ์อย่างสมาร์ตโฟนหรือแท็บเล็ตควรจะมีฟีเจอร์ที่รองรับการใช้งานสำหรับทุกคนให้ได้มากที่สุดไม่ว่าคนคนนั้นจะเป็นคนตาดี ตาบอด หูดี หรือหูหนวกก็ตาม

Accessibility หรือการเข้าถึงเป็นฟีเจอร์ที่ติดตั้งมาพร้อมกับอุปกรณ์หลายอย่างที่เราใช้กันทุกวันนี้เพื่อช่วยให้ทุกคนใช้งานอุปกรณ์ของตัวเองได้ไม่ว่าจะมีข้อจำกัดทางร่างกายแบบไหน

คุณผู้อ่านอาจจะไม่เคยสังเกตเลยก็ได้ว่าในโทรศัพท์หรือแท็บเล็ตของเราจะมีเมนูชื่อ Acessiblity อยู่

และภายใต้เมนูนี้ก็มีฟีเจอร์มากมายที่ช่วยให้ผู้พิการใช้โทรศัพท์สมาร์ตโฟนได้แบบเดียวกับที่คนอื่นๆ ทั่วไปสามารถใช้ได้

ฉันรู้สึกทึ่งมากที่ได้รู้ว่าคนตาบอดสามารถใช้งาน iPhone iPad และนาฬิกา Apple Watch ได้อย่างคล่องแคล่วไม่แพ้คนตาดีเลย

ฟีเจอร์ที่ช่วยให้คนตาบอดสามารถใช้งานโทรศัพท์ได้แม้ว่าจะมองไม่เห็นหน้าจอก็คือฟีเจอร์เสียงบรรยายที่จะคอยอ่านออกเสียงให้ฟังว่ามีอะไรปรากฏอยู่บนหน้าจอบ้าง

ช่วยให้คนตาบอดสามารถใช้งานโทรศัพท์ได้เต็มที่

ทั้งหมดนี้เริ่มต้นได้ตั้งแต่แกะ iPhone ออกมาจากกล่องเพื่อติดตั้งเลยทีเดียว

การอ่านออกเสียงให้ฟังก็ต้องทำงานควบคู่กับการสั่งการด้วยเสียง เมื่อผู้ใช้งานที่เป็นคนตาบอดได้รู้แล้วว่ามีเมนูอะไรให้สามารถกดเลือกได้บ้างก็จะสั่งการด้วยเสียงกลับไปเพื่อให้ iPhone รับไปทำต่อให้ ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นได้อย่างเป็นธรรมชาติและใช้งานได้รวดเร็ว

นอกจากนี้ ก็ยังมีฟีเจอร์อีกหลายอย่างที่ออกแบบมาให้ไม่ใช่แค่สำหรับคนตาบอดเท่านั้น แต่คนที่มีปัญหาทางการได้ยิน มองเห็น หรือเคลื่อนไหวในอีกหลากหลายรูปแบบก็มีฟีเจอร์ที่ออกแบบและคิดค้นมาเพื่อรองรับโดยเฉพาะ

เริ่มตั้งแต่การเปลี่ยนให้กล้อง iPhone กลายเป็นแว่นขยายเพื่อช่วยให้ผู้ใช้งานที่สูงอายุหรือมีปัญหาด้านสายตาสามารถอ่านตัวอักษรเล็กๆ อย่างเช่น หนังสือพิมพ์หรือฉลากบนบรรจุภัณฑ์ได้ง่ายขึ้น

ฟีเจอร์ช่วยขยายเสียงเบาๆ ให้ดังขึ้นเพื่อให้คนที่มีปัญหาทางการได้ยินสามารถฟังได้ชัดเจนกว่าเดิม

ไปจนถึงตัวเลือกในการปรับแต่งให้ข้อความบนหน้าจอมีขนาดที่ใหญ่ขึ้นเพื่อให้อ่านได้ง่ายที่สุด

 

ล่าสุด เนื่องในโอกาสวันตระหนักการเข้าถึงสำหรับผู้พิการ หรือ Global Accessibility Awareness Day (GAAD) ประจำปีนี้ Apple ก็ได้เปิดตัวฟีเจอร์การเข้าถึงแบบใหม่ๆ ที่น่าสนใจหลายอย่างและทำให้ได้เห็นว่าทางแบรนด์ทุ่มเทและเอาจริงเอาจังกับการช่วยยกระดับชีวิตของผู้พิการมากขนาดไหน

ฟีเจอร์การตรวจจับประตู หรือ Door Detection เป็นการใช้ iPhone และ iPad ในรุ่นที่มีเทคโนโลยี LiDAR มาช่วยตรวจจับและบอกระยะห่างระหว่างผู้ใช้งานที่เป็นคนตาบอดหรือสายตาเลือนรางว่าประตูอยู่ห่างจากตัวเองแค่ไหน

iPhone หรือ iPad จะส่งเสียงเพื่อบอกให้ผู้ใช้งานได้รู้ระยะห่างระหว่างตัวเองกับประตู มันบอกได้แม้กระทั่งว่าประตูบานนั้นเปิดหรือปิดอยู่ อ่านข้อความบนประตูให้ฟัง ช่วยบอกว่าลักษณะประตูตรงหน้าเป็นประตูแบบไหนและจะต้องเปิดมันอย่างไร เช่น ต้องผลัก หมุนลูกบิด หรือดึงมือจับประตู เป็นต้น

เทคโนโลยีเดียวกันนี้นอกจากจะใช้เพื่อตรวจจับประตูแล้วก็ยังช่วยตรวจจับคนอื่นๆ ที่อยู่ข้างหน้าได้ เช่นในกรณีที่คนตาบอดจะต้องต่อแถวก็จะรู้ระยะห่างระหว่างตัวเองกับคนข้างหน้า เมื่อแถวเริ่มขยับ โทรศัพท์ก็จะคอยส่งเสียงบอกให้ขยับตาม หรือจะใช้เพื่อประโยชน์ในการเว้นระยะห่างระหว่างคนอื่นๆ เพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัสด้วย

 

Live Caption หรือคำบรรยายสดเป็นอีกหนึ่งฟีเจอร์ที่เปิดตัวมาพร้อมๆ กับการตรวจจับประตู เป็นฟีเจอร์สำหรับคนหูหนวกหรือได้ยินไม่ชัด

คอนเซ็ปต์การทำงานของมันก็คือ iPhone และ iPad จะช่วยถอดเสียงและขึ้นคำบรรยายหรือที่เราเรียกว่าซับไตเติลของสิ่งที่ผู้พูดกำลังพูดอยู่ให้ตามเวลาจริง มีประโยชน์เป็นอย่างมากโดยเฉพาะเวลาที่ผู้ใช้งานที่เป็นคนหูหนวกกำลังวิดีโอคอล ก็จะสามารถอ่านคำบรรยายสดไปพร้อมๆ กันได้เลย หรือจะใช้เพื่อดูคอนเทนต์ที่สตรีมสดด้วยก็ได้ ทำให้ผู้ใช้งานกลุ่มนี้ติดต่อสื่อสารกับคนอื่นๆ ได้แบบไหลลื่นขึ้นและเข้าถึงคอนเทนต์ได้ดีกว่าเดิม

มีอีกหลายอย่างที่น่าสนใจอย่างความสามารถในการปรับให้ Siri ฟังคำสั่งนานขึ้น แม้กระทั่งตัวฉันเองก็ยังรู้สึกเลยว่าเวลาใช้เสียงสั่งการ Siri บางทีเราคิดคำพูดไม่ทัน Siri ก็ใจร้อนเลิกฟังไปเสียก่อน แล้วคนที่มีปัญหาทางด้านการพูด อย่างเช่น คนติดอ่างก็คงจะต้องใช้งานฟีเจอร์นี้ได้ทุลักทุเลแน่ๆ

Apple ก็เลยปรับให้ Siri ใจเย็นกว่าเดิม รอฟังให้นานกว่าเดิมก่อนที่จะตอบกลับไป

 

ผู้ใช้ Apple Watch ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมาน่าจะคุ้นเคยดีว่าเวลาเราล้างมือ ไมโครโฟนในนาฬิกาของเราจะทำหน้าที่ฟังเสียงน้ำที่ไหลออกมาจากก๊อกน้ำประกอบกับท่าทางในการถูสบู่เพื่อช่วยเราจับเวลาว่าเราล้างมือนานพอหรือเปล่า ความสามารถเดียวกันนี้ได้รับการปรับให้เก่งกาจขึ้นกว่าเดิม โดยที่ให้มันจำเสียงได้หลายรูปและคอยเตือนผู้ใช้งานได้ เช่น จำเสียงเตือน เสียงกริ่ง เสียงเด็กร้อง เสียงสัญญาณเตือนไฟไหม้ หรือเสียงเครื่องใช้ไฟฟ้าบางอย่างและเตือนให้ผู้ใช้รู้ตัวว่ากำลังมีเสียงๆ นั้นดังขึ้นอยู่ในขณะนี้ โดยที่แจ้งเตือนได้ทั้งวิธีสั่นหรือกะพริบแสงแฟลช LED ก็ได้

ทั้งหมดนี้เป็นแค่ตัวอย่างเล็กน้อยของสิ่งที่ Accessibility สามารถทำได้

และอันที่จริงแล้วก็ไม่ได้จำกัดอยู่แค่กับ Apple และอุปกรณ์ของ Apple เท่านั้น แต่ Google ที่เป็นเจ้าของระบบปฏิบัติการ Android เองก็มีฟีเจอร์เพื่อการเข้าถึงที่เก่งกาจเหมือนกัน

ผู้ใช้งานทั่วไปที่ไม่เคยได้ลองเข้ามาทำความรู้จักกับฟีเจอร์เหล่านี้ พอได้ลองเข้าไปศึกษาดูสักครั้งจะรู้สึกว่ามันเป็นโลกอีกใบเลยทีเดียว และเป็นโลกที่เราสนับสนุนให้ทุกค่ายแข่งขันกันพัฒนาความสามารถของตัวเองให้ล้ำที่สุดเพราะประโยชน์สูงสุดจะได้ตกอยู่ที่ผู้ใช้งานนั่นเอง

เสียงจากกลุ่มคนพิการบอกว่าหากใครกำลังพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการอะไรอยู่ก็อย่าลืมนึกถึงผู้ใช้งานที่เป็นคนพิการด้วย แม้พวกเขาจะไม่ได้เกิดมาพร้อมกับร่างกายที่เท่าเทียม

แต่ควรได้ใช้ชีวิตและเข้าถึงเทคโนโลยีได้อย่างเท่าเทียม