ศัลยา ประชาชาติ : ภาษีใหม่ค่ายเบียร์-เหล้าไม่สะเทือน บุหรี่ เหล้า เบียร์ ขึ้นยกแผง นักสูบ-นักดื่มรับภาระเต็มๆ

ในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนที่ พ.ร.บ.สรรพสามิต พ.ศ.2560 จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 16 กันยายน หลายคนคงใจจดใจจ่อกับการประกาศ “อัตรา” ภาษีที่จะมีผลต่อการจัดเก็บจริงๆ หลังจากกรมสรรพสามิตได้เปิดเผยตัวเลขของ “เพดาน” ภาษีที่สูงลิบ รองรับการบังคับใช้อีก 20 ปีข้างหน้า ซึ่งสร้างความอลหม่านไปทั่วในช่วงก่อนหน้านี้มาแล้ว

แม้ภาครัฐจะออกมาย้ำอย่างต่อเนื่องว่า การปฏิรูปภาษีครั้งนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการและผู้บริโภค เพื่อสยบข่าวลือหรือกระแสต่างๆ ที่หวั่นเกรงว่าภาษีจะปรับขึ้นสูงเหมือนเช่นทุกครั้งที่ผ่านมา กันไม่ให้ตลาดเกิดความปั่นป่วน บรรดาพ่อค้าแห่สต๊อกสินค้าไว้ทำกำไร

แต่เมื่อยิ่งใกล้วันประกาศ ความแตกตื่นและการฉวยโอกาสของผู้ประกอบการก็เห็นชัดยิ่งขึ้น โดยเฉพาะช่วงสัปดาห์สุดท้ายก่อนการประกาศอัตรา ร้านค้า ร้านโชห่วย เอเย่นต์ ซับเอเย่นต์ ร้านเหล้า ผับ บาร์ต่างๆ มีการสั่งสินค้าตุนเอาไว้จำนวนมาก ด้วยเหตุผลว่า หากปรับขึ้นจริงก็ได้กำไรส่วนต่างนี้ไป หากไม่ปรับขึ้นก็เสมอตัว ไม่มีอะไรจะต้องเสีย

บ้างร้านมีการติดป้ายว่าสินค้าหมด หรือบางร้านจำกัดจำนวนการขาย เช่น ร้านสะดวกซื้อแห่งหนึ่ง จำกัดการซื้อบุหรี่คนละไม่เกิน 2 ซอง

และเมื่ออัตราภาษีใหม่ถูกประกาศออกมาในคืนวันที่ 15 และมีผลบังคับใช้ในวันที่ 16 กันยายน ซึ่งก็เป็นไปตามคาดว่าสินค้าอย่างเหล้า เบียร์ ไวน์ บุหรี่ จะถูกเก็บภาษีเพิ่มขึ้น โดยเริ่มตั้งแต่ 50 สตางค์ ไปจนถึง 110 บาท

“สมชาย พูลสวัสดิ์” อธิบดีกรมสรรพสามิต ตั้งโต๊ะแถลงข่าวทันทีในเช้าวันที่ พ.ร.บ. ดังกล่าวมีผลบังคับใช้ พร้อมกับระบุถึงกลุ่มสินค้าที่มีภาระภาษีเพิ่มขึ้น เช่น เบียร์ เสียภาษีเพิ่มขึ้น 50 สตางค์ ถึง 2 บาท สุรากลั่นในประเทศ เสียภาษีเพิ่มขึ้น 8-30 บาท ไวน์นำเข้าที่ราคาสูงกว่า 1,000 บาท เสียภาษีเพิ่มขึ้น 110 บาท ขณะที่บุหรี่ราคาถูก เสียภาษีเพิ่มขึ้นซองละ 4-15 บาท ส่วนบุหรี่ราคาแพง เสียภาษีเพิ่มขึ้นซองละ 2-14 บาท

และยังรวมไปถึงกลุ่มเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ ที่จะต้องมีภาระภาษีเพิ่มขึ้นจากค่าของความหวาน ซึ่งน้ำอัดลมจะเสียเพิ่มขึ้น 0.13-0.50 บาท เครื่องดื่มชูกำลังเสียเพิ่ม 0.32-0.90 บาท น้ำพืชผักผลไม้ เสียเพิ่มขึ้น 0.06-0.54 บาท ชาเขียว เสียเพิ่มขึ้น 1.13-2.05 บาท กาแฟ เสียเพิ่มขึ้น 1.35 บาท เป็นต้น โดยการปรับภาษีครั้งนี้จะทำให้กรมมีรายได้เพิ่มขึ้นอีกปีละ 1.2 หมื่นล้านบาท

โดยกรมสรรพสามิตชี้ว่าสินค้าที่มีภาระในการเสียภาษีเพิ่มขึ้นหลักๆ จะอยู่ที่เหล้าและเบียร์ ซึ่งก็จะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการ 2 เจ้าใหญ่ในตลาด คือ ค่ายไทยเบฟ เจ้าของเหล้าแม่โขง หงส์ทอง เหล้าขาวอีกหลายตัว รวมไปถึงเบียร์ช้าง และต่อมาคือค่ายบุญรอดฯ เจ้าของเบียร์สิงห์ เบียร์ลีโอ และยูเบียร์

 

ขณะที่ความเคลื่อนไหวของตลาด หลังจากประกาศอัตราใหม่ในช่วง 1 อาทิตย์ที่ผ่านมา ยังไม่มีความวุ่นวายเกิดขึ้นมากนัก เนื่องจากจำนวนภาษีที่เพิ่มขึ้นต่อสินค้า ไม่ได้เป็นตัวเลขที่สูงจนน่าตกใจจนเกิดความกังวลต่อกำลังซื้อ บรรยากาศการจับจ่าย

อาจเป็นเพราะในด้านของร้านค้าเชนใหญ่ในโมเดิร์นเทรด ไม่ว่าจะเป็นเซเว่นอีเลฟเว่น บิ๊กซี โลตัส ก็ยังไม่มีการปรับราคาสินค้าในสต๊อกเก่าขึ้น แม้จะมีร้านค้าปลีกย่อย โชห่วย รายเล็กชิงปรับราคาขึ้นทันทีหลังวันประกาศเพื่อทำกำไรจากส่วนต่างราคาก็ตาม

แหล่งข่าวระดับสูงจากบริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ฉายภาพว่า เมื่อเซเว่นฯ ยังขายในราคาเดิม คงไม่มีผู้เล่นในตลาดรายใดกล้าขายแพงกว่านั้น ระหว่างนี้ในช่วงที่ร้านค้ายังจำหน่ายสต๊อกเดิม มองว่าตลาดยังนิ่งและไม่ส่งผลกระทบอะไร

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่บริษัทเตรียมยื่นราคาขายปลีกแนะนำให้กรม ซึ่งจะมีผลต่อการปรับราคาขายใหม่ ที่คาดว่าจะทำให้เบียร์มีราคาเพิ่มขึ้น 1-2 บาทนั้น อาจจะเกิดผลกระทบ ทำให้ตลาดสะดุดในช่วงแรก เป็นระยะเวลาสั้นๆ ก่อนที่จะปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติในไม่ช้า เพราะราคาที่ปรับเพิ่มไม่ได้เป็นจำนวนที่สูงมากนัก

เช่นเดียวกับ “ปริญ มาลากุล ณ อยุธยา” ผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมายและองค์กรสัมพันธ์ กลุ่มบริษัท ไทยเอเชีย แปซิฟิค บริวเวอรี่ จำกัด (ทีเอพี) ผู้ผลิตและทำตลาดเบียร์ไฮเนเก้น ที่มองว่ากลุ่มเบียร์เมนสตรีม หรือเบียร์ที่เจาะตลาดแมส เช่น ลีโอ ช้าง เชียร์ ฯลฯ จะมีภาระภาษีเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย จึงมีผลกระทบต่อผู้บริโภคและตลาดไม่มาก ขณะที่การปรับราคาขึ้นยังต้องพิจารณาทั้งภาระภาษี กลยุทธ์ทางธุรกิจ และการแข่งขันไปพร้อมๆ กัน

 

ด้านของผู้ประกอบการเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ที่ถูกจัดเก็บภาษีความหวาน ซึ่งเป็นอัตราใหม่ที่ไม่เคยถูกเรียกเก็บมาก่อน ก็มีภาพการปรับตัวให้เห็นเป็นระยะ ไม่ว่าจะเป็นค่ายน้ำดำ ทั้งโค้กและเป๊ปซี่ ที่นำเอาตัว 0 แคลอรี ไม่มีน้ำตาล กลับมาปัดฝุ่น และเพิ่มน้ำหนักการสื่อสารมากขึ้น

หรือค่ายน้ำผักผลไม้ อย่างยูนิฟ ที่ออกโปรดักต์ สลัดเดย์ บาย ยูนิฟ น้ำผักผลไม้ 100% ไม่ผสมน้ำตาล และชาพร้อมดื่ม เดลี่เมท สูตรไม่มีน้ำตาล ฯลฯ

เนื่องจากสินค้าที่มีค่าความหวานต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด นอกจากจะไม่ต้องเสียภาษีส่วนนี้แล้ว ยังได้รับสิทธิ์ในการลดหย่อนภาษี (Incentive) ในช่วง 2 ปีแรกอีกด้วย

โดยน้ำอัดลมที่ไม่มีน้ำตาลจะมีราคาลดลง 0.25-0.36 บาท

 

ไม่ว่าผู้ผลิต หรือผู้ประกอบการ ในแต่ละสินค้าจะปรับราคาขึ้นเท่าไหร่ ก็ต้องผลักภาระดังกล่าวมาให้กับ “ผู้บริโภค” ในที่สุด

เพราะจุดมุ่งหมายหลักของภาษีสรรพสามิต คือการเก็บภาษี “ทางอ้อม” จากสินค้าและบริการที่มีเหตุสมควรต้องมีภาระภาษีสูงกว่าปกติ

เช่น ก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพ หรือเป็นสินค้าและบริการที่ฟุ่มเฟือย

ซึ่งผู้ที่จะรับภาระภาษีดังกล่าวนี้ก็คือผู้ที่ใช้บริการ หรือซื้อสินค้าเหล่านั้นนั่นเอง