‘เคย’ / หลังเลนส์ในดงลึก : ปริญญากร วรวรรณ

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ

หลังเลนส์ในดงลึก

ปริญญากร วรวรรณ

 

‘เคย’

 

คนทำงานในป่าซึ่งยังต้องพึ่งพาวิทยุสื่อสาร จำเป็นต้องใช้สถานีแม่ข่ายซึ่งอยู่ในตำแหน่งสูงๆ บางแห่งอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลปานกลางระดับร่วมพันเมตร

สถานีแม่ข่ายนี้แหละ ทำให้งานของคนทำงานในป่ามีความคล่องตัวมากขึ้น มีกลุ่มคนช่วยพัฒนาอุปกรณ์การสื่อสารที่ดูคล้ายจะไร้ความจำเป็น ราวกับเป็นวัตถุโบราณ หากเทียบกับความก้าวหน้าของการสื่อสารในทุกวันนี้

ป่าบางแห่งเคร่งครัดกับการใช้วิทยุ เพราะการสื่อสารแบบนี้จะได้ยินไปทั่ว การพูดต้องใช้รหัส วอ.

บางแห่งไม่เคร่งครัดนัก

มีรหัสไม่กี่คำหรอกที่ใช้กันแบบติดปาก เช่น วอ.สอง, วอ.หกหนึ่ง หรือ วอ.สองวอ.แปด อันหมายถึงรับทราบข้อความที่อีกฝ่ายส่งมา

 

มีคำหนึ่งที่ใช้กันบ่อยๆ คือ ห้า-หนึ่ง ซึ่งหมายถึง กินข้าว

การทักทายว่า ห้าหนึ่ง หรือยัง เป็นการทักทายตามปกติ

แต่ในป่าที่ผมใช้เคยเวลาอยู่นานหลายปี ห้าหนึ่ง ไม่ได้หมายถึงกินข้าวเท่านั้น แต่หมายถึงหน่วยพิทักษ์ป่าหน่วยหนึ่งด้วย

หน่วยพิทักษ์ป่าแห่งนี้ ผมคุ้นเคยดี มีเพื่อนๆ หลายคนประจำการที่นี่ ไม่ได้คุ้นเคยเพราะอยู่ที่นี่

แต่ผมคุ้นเคยเพราะเป็นทางผ่าน อยู่ระหว่างทางทุกครั้งที่เข้า-ออกเมือง

 

ในตอนเริ่มแรก เมื่อป่าแห่งนี้ได้รับการประกาศให้เป็นพื้นที่อนุรักษ์ ที่นี่ใช้เป็นสำนักงานเขตระยะเวลาหนึ่ง มีบ้านพัก อาคารสำนักงาน อาคารไม้รูปทรงเดิมๆ มีห้องวิทยุสื่อสาร มีเจ้าหน้าที่ประจำ 8-9 คน ภารกิจหลักคืองานลาดตระเวน ในระบบลาดตระเวนเชิงคุณภาพ

ผ่านที่นี่ นานๆ ครั้งจึงจะพบว่ามีคนคึกคัก ส่วนใหญ่มักจะเงียบ มีพนักงานวิทยุเฝ้าหน่วยคนสองคน ชะเง้อมองรถที่แล่นผ่านด้วยท่าทีเหงาๆ

คนเฝ้าหน่วย คอยรับฟังข่าวจากวิทยุ ข่าวจากชุดลาดตระเวน

พวกเขารับรู้ว่า เดินลาดตระเวนทุกวันนี้ ในวันที่ดูเหมือนขบวนการค้าสัตว์ป่ามีเครือข่ายใหญ่โตทวีความซับซ้อน

คนล่าสัตว์ คือด่านหน้าที่พวกเขาจะต้องพบ

ไม่ผิดนักหากจะพูดว่า ราวกับเดินเข้าสนามรบ คนที่รับจ้างฆ่าสัตว์ ส่วนใหญ่ทำเป็นอาชีพ จะไม่ยอมให้จับกุม จะต่อสู้ด้วยอาวุธที่มีประสิทธิภาพ

คนเดินลาดตระเวนได้รับการฝึกมาอย่างดี แต่บางครั้งก็พลาด

คนอยู่หน่วย เฝ้าฟังข่าวอยู่หน้าวิทยุ ใจเป็นห่วง ได้แต่หวังว่าเพื่อนๆ จะปลอดภัย

สำหรับคนเฝ้ารอ ไม่ว่าจะรอสิ่งใด คล้ายจะต้องใช้ความอดทนมากกว่าเสมอ

ในวันที่สภาวะอากาศไม่เป็นไปอย่างที่เคยเป็นมา นกขุนแผนยังคงใช้ชีวิตร่วมกับกวางอย่างได้ประโยชน์ซึ่งกันและกัน อย่างที่เคยเป็นมา

ห้าหนึ่ง ได้ยินบ่อยๆ จากวิทยุ คำนี้ถูกใช้มาก อยู่ในป่าลึก การได้ติดต่อสื่อสารกับคนอื่นๆ บ้าง ก็ราวกับความเปียกชื้นที่กำลังเจอ ไม่ทำให้หนาวเหน็บเกินไป

เวลาทักทายการถามว่า “กินข้าวหรือยัง” กับคนเฝ้าหน่วยเมื่อได้รับคำตอบว่า กำลังห้าหนึ่ง นั่นหมายความว่าเพื่อนๆ กำลังนั่งล้อมวงบนพื้นแฉะๆ ยุงตอมหึ่ง กับข้าวมีน้ำพริกกับผักที่หาได้แถวๆ นั้น

หากฝนตก วงข้าวก็จะย้ายไปอยู่ใต้ผ้ายาง ที่ไม่ป้องกันละอองฝน มีคนหนึ่งคอยดันผ้ายางให้น้ำที่ขังไหลลง

กลางเดือนมีนาคมปีนี้ ไม่ค่อยมีรถผ่านนัก เพราะคนในสถานีวิจัยส่วนใหญ่ติดภารกิจวางกล้องดักถ่ายสำรวจประชากรเสือโคร่งในผืนป่าใกล้เคียง

 

ผมใช้เวลาที่นี่นานกว่าหนึ่งสัปดาห์ เป็นการเข้ามาทำงานในบริเวณที่เคยผ่านไปมา ไม่มีเพื่อนๆ ที่คุ้นเคย มีเพียงเจ้าหน้าที่รุ่นใหม่ๆ ท่าทางทะมัดทะแมง

การแวะที่นี่ สำหรับผมในครั้งนั้น เป็นการแวะหาเพื่อนกินข้าว หรือเพื่อเอาเหล้าขาวที่ซื้อมาฝากให้

ผ่านหน่วย ห้าหนึ่ง ทักทายด้วยคำว่า ห้าหนึ่งหรือยัง

มันไม่ใช่คำถาม แต่คือแสดงความห่วงใยให้เพื่อนรู้

 

ทํางานในป่ามาระยะเวลาหนึ่ง เรียกได้ว่านานพอควร ไม่แปลกอะไรที่จะมีเพื่อนๆ ทำงานในป่า

ทำงานมานาน ข้อดีคือ คุ้นเคยกับสถานที่ คุ้นเคยกับคน ในข้อดีมีข้อเสียบ้าง มันทำให้คิดว่า บางสิ่งบางอย่างนั้นเป็นเช่นเดิม ทั้งที่สิ่งนั้นเปลี่ยนแปลงไปแล้ว

กลับมาใช้เวลากับสถานที่ “เคย” คุ้นเคย เราได้งานที่ดี บริเวณนี้เป็นพื้นที่ซึ่งมีแหล่งอาหารเสริมของสัตว์มาก

ผมไม่รู้หรอกว่า เหล่าสัตว์ป่ามีความทรงจำเกี่ยวกับสถานที่ซึ่งมันคุ้นเคยไหม

แต่ผมเชื่อว่า พวกมันรู้สึกได้ถึงความเปลี่ยนแปลง และพวกมันเลือกที่จะปรับตัวเพื่อรับความเปลี่ยนแปลงนั้น

 

ดูเหมือนว่าสัตว์ป่าจะใช้ชีวิตไปตามปกติ พวกมันสอนโดยการกระทำว่า ปรับตัวไปตามฤดูกาล ตามความเปลี่ยนแปลงคือเรื่องจำเป็น

ผมเลือกที่จะเชื่อในบทเรียน เริ่มจากยอมรับว่า ไม่มีสิ่งใดเหมือนเดิมแล้ว

อีกทั้งคำว่า “เคย” เป็นคำแรกที่ต้องลืม… •