ชบา มีดีมากกว่าไม้ประดับ / สมุนไพรเพื่อสุขภาพ

สมุนไพรเพื่อสุขภาพ

โครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งพาตนเอง

มูลนิธิสุขภาพไทย

www.thaihof.org

 

ชบา

มีดีมากกว่าไม้ประดับ

 

คนทั่วไปรู้จักดอกชบากันเป็นอย่างดี โดยเฉพาะบทเรียนตั้งแต่ประถมปลายใครที่เรียนสายวิทยาศาสตร์จะได้พบความรู้กายวิภาคของดอกไม้ที่ใช้โครงสร้างของดอกชบาเป็นบทเรียนอย่างดี

ฐานข้อมูลของสวนพฤกษศาสตร์หลวงเมืองคิว (Royal Botanic Gardens, Kew) หรือที่รู้จักกันในชื่อ สวนคิว (Kew Gardens) ที่ตั้งอยู่ในสหราชอาณาจักรนั้น กล่าวว่าชบามีถิ่นกำเนิดในประเทศวานูอาตู (Vanuatu) ซึ่งเป็นหมู่เกาะที่อยู่ระหว่างอินโดนีเซียและออสเตรเลีย

แต่ก็มีเอกสารหลายชิ้นที่กล่าวว่าชบามีถิ่นกำเนิดในจีน อินเดีย และฮาวาย

และในสมมุติฐานของ Ross Gast ในหนังสือ Genetic History of Hibibiscus rosasinensis บันทึกว่า ชบามีการกระจายพันธุ์เริ่มจากอินเดีย มีหลักฐานการนำชบามาใช้ประโยชน์ในกลุ่มชาวโพลินีเซียน ต่อมาจึงแพร่หลายไปสู่จีน

ในประเทศไทยน่าจะมีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย เนื่องจากพบการเอ่ยถึงชบาในหนังสือไตรภูมิพระร่วง

แต่เอกสารบางชิ้นกล่าวว่าเป็นดอกพุดตานไม่ใช่ชบาที่ใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ซึ่งใช้เป็นสัญลักษณ์ของการผลัดแผ่นดินเพราะดอกพุดตานจะเปลี่ยนสีไปตามอุณหภูมิของวันนั่นเอง

แต่อย่างไรก็ตาม ดอกพุดตานเป็นพืชที่อยู่ในสกุลเดียวกับชบา มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Hibiscus mutabilis L.

 

การเข้ามาของชบาในไทยนั้นมีการตั้งสมมุติฐานไว้ 2 ทาง ได้แก่

1) สมัยสุโขทัยมีการค้าขายกับจีน จึงอาจนำชบาเข้ามาในยุคนั้น ประกอบกับชบามีชื่อสามัญว่า Rose of China หรือกุหลาบแห่งจีน จึงคาดว่าน่าจะเป็นการนำเข้ามาจากจีน

สมมุติฐานที่ 2) ไทยน่าจะรับชบามาจากอินเดีย เพราะคำว่า “ชบา” เป็นคำมาจากภาษาสันสกฤตว่า “ชปา” หมายถึง กุหลาบ ในอินเดียนิยมนำเอาดอกชบามาเป็นเครื่องบูชา โดยเฉพาะการบูชาเจ้าแม่กาลีซึ่งคนไทยส่วนหนึ่งเชื่อว่าเป็นเทพที่รูปร่างน่ากลัว ทำให้คนโบราณในบ้านเรามีอคติกับดอกชบา

ข้อสังเกตหนึ่งคือ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชจะใช้ดอกชบาไว้สำหรับลงโทษและประจานผู้หญิงร้ายหรือผู้หญิงแพศยาด้วยการนำดอกชบาดอกแดงมาทัดหูทั้ง 2 ข้าง และทำเป็นมาลัยใส่ศีรษะและใส่คอ

นอกจากนี้ชื่อสามัญของชบาอีกชื่อหนึ่งคือ shoe-black plant เพราะในอินเดียใช้ดอกชบาขัดรองเท้าให้แวววาว ทำให้ภาพลักษณ์ชบาใช้กับรองเท้าที่เป็นของชั้นต่ำ

ด้วยเหตุเหล่านี้น่าจะทำให้คนโบราณมีอคติกับดอกชบานั่นเอง

 

ในขณะที่ชบาเป็นไม้ที่นิยมนำไปปลูกเป็นไม้ประดับทั่วโลก มีการพัฒนาสายพันธุ์เพื่อสร้างลักษณะและสีของดอกออกมามากมายไม่น้อยกว่า 400 สายพันธุ์

ความสวยงามของดอกชบานั้น ในต่างประเทศให้สมญานามดอกชบาว่าเป็น ราชินีแห่งไม้ดอกเมืองร้อน (Queen of tropic flower) และยังจัดเป็นดอกไม้ประจำชาติของประเทศมาเลเซีย จาไมกา รวมไปถึงรัฐฮาวายอีกด้วย ยังนิยมนำมาทัดหูหรือแซมผม

ชบามีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Hisbiscus rosa-sinensis L. ชื่อในท้องถิ่นอื่นๆ ว่า ใหม่แดง ใหม่ (ภาคเหนือ) ชุมบา ชบาขาว ชุมมา (ปัตตานี) บา ชะมา (ภาคใต้) บูงารายา (มลายู-นราธิวาส)

ลักษณะทรงเป็นไม้พุ่ม ลำต้นสูงประมาณ 1-1.5 เมตร ลำต้นสีเทา ผิวลำต้นขรุขระ

ใบเดี่ยว ใบรูปไข่ ปลายใบแหลม โคนใบมน ขอบใบหยักหรือมน

ดอกเป็นช่อกระจะ กลีบดอกในตาดอกเรียงซ้อนเหลื่อมกัน ดอกสมมาตรตามรัศมี วงกลีบดอกเชื่อมติดกันรูปดอกเข็ม กลีบดอกสีแดง กลีบดอก 5 กลีบ กลีบเลี้ยง 5 กลีบ เกสรตัวผู้จำนวนมาก เกสรตัวเมีย 5 อัน

ผลสดเมล็ดแข็ง ผลอ่อนสีเขียว ผลแก่สีน้ำตาล เมล็ดรูปร่างกลม มี 1 เมล็ด สีน้ำตาลแก่ ขยายพันธุ์โดยการปักชำ การเสียบยอด การติดตา

ชบา (Hisbiscus rosa-sinensis L.) เป็นคนละสายพันธุ์กับพู่ระหง (Hibiscus schizopetalus (Mast.) Hook.f.) และชบาหนู (Malvaviscus arboreus Dill. ex Cav.) แต่ละชนิดใช้เป็นสมุนไพรแตกต่างกันไป (จะทยอยมานำเสนอ)

คนพื้นเมืองในหลายประเทศ ใช้ชบาเป็นทั้งอาหารและยา

ใบอ่อนกินเป็นผัก ดอกกินได้ทั้งสดหรือนำมาปรุงให้สุกหรือนำมาดองกินได้

น้ำคั้นจากดอกทำเป็นสีย้อมอาหาร

สรรพคุณทางยากล่าวว่า ชบามีรสหวาน ฝาด เย็น สรรพคุณในคัมภีร์อายุรเวทและการใช้ยาของอินเดีย ดอกชบา ช่วยลดไข้ หลอดลมอักเสบ แก้ไอ ช่วยฟอกโลหิต โรคเกี่ยวกับระบบสืบพันธุ์ของผู้หญิง เช่น เสียเลือดประจำเดือนมากเกินไป ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ รวมทั้งปัญหาเรื่องระดูขาว และโรคเกี่ยวกับไต

ดอกชบายังช่วยบำรุงจิตใจให้แช่มชื่น บำรุงผิวพรรณด้วย

ในอินเดียยังใช้ส่วนอื่นๆ ของชบาเป็นยาดีด้วย เช่น เปลือกต้นใช้แก้โรคผิวหนังที่เกิดจากเชื้อรา ช่วยลดอาการคัน และอาการกระตุกของกล้ามเนื้อ

ใบใช้แก้แผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก บำรุงผม

ดอกและใบใช้แก้ไข้ตัวร้อนในเด็กและผู้ใหญ่ นำใบหรือดอกชบามาขยำกับน้ำให้เข้ากันจนเป็นเมือกเหนียวออกมา นำผ้าขนหนูผืนเล็กมาแช่ในน้ำชบาแล้วนำมาวางหรือแปะไว้ที่หน้าผากคนไข้ พร้อมทั้งชโลมศีรษะให้เปียกชุ่มอยู่ตลอดเวลา ช่วยลดไข้

และยังมียาต้มจากรากใช้รักษาอาการเจ็บตา

ในประเทศจีนใช้กลีบดอกเป็นยาขัดรองเท้าให้มีสีดำ และใช้เป็นส่วนผสมของมาสคารา (mascara) เป็นเครื่องสำอางให้สีดำ

กลีบดอกยังใช้ย้อมกระดาษเพื่อใช้เป็นกระดาษทดสอบกรดและด่างหรือที่เรียกว่ากระดาษลิตมัส (litmus)

ลำต้นให้เส้นใยมีคุณภาพดีเหมาะในการทำกระดาษ ผ้าและตาข่าย

ในปัจจุบันผงที่ได้จากดอกแห้งและสารสกัดจากดอกใช้เป็นส่วนผสมในการเตรียมเครื่องสำอางเชิงพาณิชย์ เช่น สารให้ความชุ่มชื้น ครีมนวดผม ครีมบำรุงผิว และยาชูกำลัง

แต่ก็มีข้อควรระวังไม่ควรใช้กับหญิงมีครรภ์และคนที่มีแผนจะตั้งครรภ์

 

ชบา เป็นไม้ประดับที่มีประโยชน์อื่นๆ มากมาย ที่ควรส่งเสริมให้มีผลิตภัณฑ์ทั้งอาหารและยา

แต่น่าแปลกที่พบการใช้ชบาในตำรับยาไทยและในตำรับยาของหมอพื้นบ้านน้อยมาก

แต่จากการลงพื้นที่เก็บข้อมูลในช่วงปี พ.ศ.2563-2564 พบหมอพื้นบ้านภาคใต้ใช้ใบชบาดอกแดงในตำรับยาแก้ไข้ทับระดู

จะนำมาเล่าในฉบับหน้าต่อไป •