เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ : ยึดมั่นถือมั่นแหละคือทุกข์

ปิเยหิวิปโยโคทุกโข อัปปิเยหิ สัมปโยโคทุกโข

ยัมปิจฉัง นะละภะติตัมปิ สังขิตเตนะ ปัญจุปาทานักขันธา ทุกขา

การพลัดพรากจากสิ่งที่รักเป็นทุกข์

การประสบกับสิ่งที่ไม่รักเป็นทุกข์

ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้น นั่นก็เป็นทุกข์

กล่าวโดยย่อ ความยึดมั่นในขันธ์ทั้งห้า เป็นตัวทุกข์

ท่านอาจารย์พุทธทาสเขียนบทความเรื่อง “ใครทุกข์ ใครสุข” ในหนังสือ “พุทธสาสนา” ฉบับตีพิมพ์ พ.ศ.2480 ซึ่งคณะธรรมทานกำลังจัดรวบรวมทยอยตีพิมพ์ใหม่เผยแพร่แก่สมาชิกและผู้สนใจทั่วไป ผู้สนใจติดต่อไปยังคณะธรรมทาน อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี ได้เลย

อาจารย์พุทธทาสขึ้นต้นบทความนี้ว่า

“พระพุทธองค์ตรัสว่า “เมื่อกล่าวสรุปให้สั้นที่สุดแล้ว เบ็ญจขันธ์ที่ยังมีอุปาทานเป็นตัวขันธ์ เมื่อเป็นเช่นนี้ ย่อมทำให้เกิดความสงสัยว่า ถ้าขันธ์เป็นทุกข์ก็ช่างมันเป็นไร เราอย่าทุกข์ก็แล้วกัน มิใช่หรือ”

“บาลีแห่งอื่นก็มีอีกว่า “ตัวทุกข์นั้นมีอยู่แท้ แต่บุคคลผู้เป็นทุกข์หามีไม่” นี่ก็เช่นเดียวกันอีก แสดงว่าตัวตนของเราไม่มี ทุกข์อยู่ที่รูปและนาม ก่อให้เกิดคำถามว่า เราจะพยายามทำที่สุด ทุกข์ไปทำไม เมื่อเราผู้เป็นเจ้าทุกข์ก็ไม่มีเสียแล้ว พยายามให้ใคร ใครจะเป็นผู้รับสุข ทำบุญกุศลเพื่ออะไรกัน”

ก่อนคลายสงสัยดังท่านอาจารย์ยกขึ้นตั้งเป็นคำถามข้างต้นนั้น ขอทำความเข้าใจเรื่อง “ขันธ์ห้า” ให้ตรงกันก่อนว่า มิใช่รู้เพียงที่จำกันมาว่า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เท่านั้น

หากพึงทำความเข้าใจถึงความหมายเป็นจริงของคำเหล่านี้ว่า ทั้งหมดนี้แหละคือสิ่งที่เรียกว่า “คน” นี่เอง

คนเป็นๆ นี่แหละ

ขันธ์ห้า ก็คือ กายกับจิต สองอย่างนี้เท่านั้น ซึ่งคนทุกคนก็จำแนกเป็นสองอย่างคือ กายกับจิต อาจเรียกเป็น กายกับใจ ก็ได้ เพราะจิตก็คือใจ

ศัพท์ “วิทยาศาสตร์สังคม” เขาเรียกว่า วัตถุกับจิต คือเขาจำแนกว่า กายเป็นวัตถุ ซึ่งรวมทั้งองคาพยพทั้งหลายจนถึงเซลล์ต่างๆ ในกายนี้เอง

อาจเรียกต่างกัน แต่ความหมายไม่ต่างกัน

ศัพท์ในขันธ์ห้า เรียกว่า “รูป” ซึ่งก็คือ กายหรือวัตถุ นี้

ส่วนจิตนั้น ในขันธ์ห้าจำแนกละเอียดพิสดารออกไปเป็นสี่ส่วน ดังเรียกว่า เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นั้น รวมเรียกว่า “นาม”

ความหมายโดยพิสดาร ดังนี้

วิญญาณ คือ ตัวจิต ด้วยหมายถึง ธรรมชาติรู้ยิ่ง (วิ=ยิ่ง ญาณ=รู้)

เวทนา คือความรู้สึก (อันปรากฏทางประสาทสัมผัสทั้งหมด มี ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ)

สัญญา คือ ความจำได้หมายรู้

สังขาร คือ ความปรุงแต่ง

สั้นๆ เพื่อจำง่าย คือ ความรู้สึก (เวทนา) นึก (สัญญา) สังขาร (คิด)

รู้สึก นึก คิด นี่แหละเป็นภาวะที่จิต (วิญญาณ) กระทำอยู่ หรือทรงอยู่

ลองตั้งสติตามดู ภาวะจิต เราเองเถิด ก็จะรู้ว่ามันกำลังดำรงอยู่ในสามกระบวนการนี้เท่านั้น คือ รู้สึก นึก คิด

รู้สึก เป็นปัจจุบัน

นึก เป็นอดีต

คิด เป็นอนาคต

ใจเราก็มีเท่านี้ นี่แหละจิต ซึ่งอาศัยและเป็นไปอยู่ในกายนี้ คำพระเรียก รูป (กาย) กับ นาม (จิต)

ขันธ์ห้าก็คือ กายกับใจ เพราะฉะนั้น ความเข้าใจเรื่องขันธ์ห้าให้ถูกต้องตรงกันจึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง มิใช่รู้สักว่ารู้ดังท่องบ่นเป็น รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เพียงเท่านั้น

กลับมาเรื่อง “ใครทุกข์ ใครสุข” ของท่านอาจารย์พุทธทาส

คำบาลีท้ายบทวรรคข้างต้นนี้แหละคือหัวใจหรือกุญแจแก้ปัญหาให้คลายสงสัย ดังที่ท่านอาจารย์ตั้งไว้ข้างต้นได้จริง

สังขิตเตนะ ปัญจุปาทานักขันธา ทุกขา

กล่าวโดยย่อ ความยึดมั่นในขันธ์ห้า เป็นตัวทุกข์

ความยึดมั่น ศัพท์คือ “อุปาทาน” (ปัญจะ + อุปาทานักขันธา) ยึดมั่นในขันธ์ทั้งห้านี่แหละเป็นตัวทุกข์

ท่านอาจารย์เฉลย ดังนี้

“ร่างกายและจิตใจสองอย่างนี้ รวมกันเข้าเรียกว่า นามรูป หรือ เบ็ญจขันธ์ (เมื่อแยกเป็นห้าส่วน) ในร่างกายและจิตใจนี้ ถ้ายังมีอุปาทาน กล่าวคือ ความยึดถือว่า “ของฉัน” ว่า “ฉัน” อยู่เพียงใดแล้ว ความทุกข์นานัปการ ตั้งแต่ความเกิด แก่ เจ็บ ตาย จนถึงความหม่นหมองร้ายแรงอย่างอื่น เช่น อยากแล้วไม่ได้สมอยาก เป็นต้น ก็ยังมีอยู่ และออกฤทธิ์แผดเผาทรมานร่างกายและจิตใจอันนั้นเอง แต่เมื่อใดอุปาทานอันนี้หมดไปจากจิต ผู้นั้นไม่มีความสำคัญตนหรือรู้สึกตนว่า “ฉันมี” “นี่เป็นของฉัน” เป็นต้นแล้ว ทุกข์ทั้งมวลดังกล่าวมาแล้ว ก็ตกไปจากจิตอย่างไม่มีเหลือ”

ท่านพุทธทาสอธิบายด้วยว่า ความยึดมั่นในความมี “เรา” นี่เกิดจาก อวิชชา (ความโง่หลง)

“เราหาอาจมีความรู้ได้ไม่ว่า “ตัวเราไม่มี” เรายังโง่เหมือนคนบ้าที่ยังไม่หายบ้า ก็ไม่รู้สึกเลยว่าตนบ้า”

“นามรูปมันพยายาม (STRUGGLE) เพื่อตัวมันเองตลอดเวลา มันสร้าง “เรา” ขึ้นใส่ตัวมันเอง ด้วยความโง่ของมัน เราที่มันสร้างขึ้น

ก็คือเราที่กำลังอ่านหนังสือเล่มนี้อยู่นี่แหละ”