GANGUBAI KATHIAWADI ‘ราชินีมาเฟียแห่งมุมไบ’ / ภาพยนตร์ : นพมาส แววหงส์

นพมาส แววหงส์

ภาพยนตร์

นพมาส แววหงส์

 

GANGUBAI KATHIAWADI

‘ราชินีมาเฟียแห่งมุมไบ’

 

กำกับการแสดง

Sanjay Leela Bhansali

นำแสดง

Alia Bhatt

Shanranu Maheshwari

Vijay Raaz

Ajay Devgn

Sheema Pahwa

 

Gangubai Kathiawadi เป็นชื่อตัวละครเอกของหนังที่สร้างจากเรื่องราวของหนึ่งใน “ราชินีมาเฟีย” ในชีวิตจริงในหนังสือที่เขียนโดย Hussain Zaidi

หนังเรื่องนี้เปิดรอบปฐมทัศน์ของโลกในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติที่กรุงเบอร์ลิน เมื่อต้นปีที่ผ่านมานี้เอง และได้รับเสียงวิจารณ์อย่างแพร่หลายในเชิงบวก

โดยเฉพาะด้วยเนื้อหาของการต่อสู้เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมในสังคม รวมทั้งพลังอำนาจของสตรีที่ชวนให้เกิดกำลังใจในขบวนการสตรีนิยม ถ้าไม่นับถึงศิลปะของการเสนอภาพ การออกแบบโปรดักชั่น และการร่ายรำแบบ “บอลลีวูด”

บอลลีวูดเป็นศัพท์ที่ใช้เรียกวงการอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในอินเดีย ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองบอมเบย์ โดยใช้คำล้ออุตสาหกรรมภาพยนตร์ของโลกตะวันตกที่ฮอลลีวูด ในแคลิฟอร์เนีย

ฮอลลีวูดที่บอมเบย์ หรือ Bombay + Hollywood จึงกลายเป็น Bollywood ไปด้วยประการฉะนี้

และถึงแม้ในเวลาต่อมา ชื่อเรียกเมืองบอมเบย์ในภาษาอังกฤษจะเปลี่ยนเป็น “มุมไบ” อย่างเป็นทางการไปแล้ว แต่คำว่า “บอลลีวูด” ก็ยังติดอยู่ โดยไม่ได้พลอยบ้าจี้เปลี่ยนเป็น “มอลลีวูด” ไปด้วย

และเนื่องจากเป็นหนังบอลลีวูด ซึ่งมักจะถูกนิยามว่าเป็นหนังที่พูดภาษาฮินดี ซึ่งต้องยาวเกินมาตรฐานหนังทั่วไป น่าจะเป็นเพราะแขกอินตะระเดียมีเวลาเหลือเฟือ เลยต้องการความบันเทิงที่คุ้มค่ากับการจ่ายเงินดูหนังแต่ละครั้งๆ

 

หนังซึ่งเป็นเรื่องราวรันทดของหญิงสาวที่ต่อสู้ชีวิตและก้าวขึ้นมาครองอำนาจในอาณาจักรสีเทา จัดมาเต็มรูปแบบ ถึงพร้อมด้วยการร่ายรำยักย้ายด้วยเพลงจังหวะเร้าใจ ประกอบกับสีสันสดใสชวนตื่นใจของพัสตราภรณ์งดงามของสาวภารตะ

เพลงพร้อมระบำตระการตาแบบวิ่งไปทางโน้นที มาทางนี้ที มีอยู่ประปรายหลายเพลงตลอดความยาวสองชั่วโมงครึ่ง ซึ่งถือว่าออกจะสั้นสำหรับหนังบอลลีวูด แต่ว่ายาวเกินไปสำหรับมาตรฐานหนังทั่วไปสมัยนี้

การออกแบบโปรดักชั่น สำหรับเรื่องราวที่ย้อนยุคไปราวหกสิบปี ก็จับตาน่ามองไม่น้อย

เราได้เห็นภาพสวยงามของตึกรามบ้านช่องและแหล่งเสื่อมโทรมในบอมเบย์จากอดีตกาลอันล่วงพ้น โดยเฉพาะอาคารบ้านเรือนของเมือง “กามาธิปุระ” ซึ่งเป็นย่านธุรกิจค้าประเวณี หรือย่านโคมเขียวโคมแดง ในเมืองมุมไบ

ทั้งนี้ทั้งนั้น งานออกแบบท่าเต้น การจัดฉาก แสงสี เสื้อผ้าหน้าผมของสาวอินเดียที่ยักย้ายส่ายสะโพก ยักหน้าแบบอินตะระเดีย ก็ดูเต็มตาเต็มสตีม งดงามเร้าอารมณ์ด้วยการกระเซ้าเย้าหยอกและยั่วยวนแบบถึงพริกถึงขิง

สาวน้อยนาม “คงคา” (Ganga) มาจากครอบครัวตระกูลดี มีฐานะ มีหน้ามีตาในสังคม พ่อเป็นทนายความ

คงคามีความฝันใฝ่จะได้เป็นดาราเจิดจรัสบนจอภาพยนตร์ และหนทางเดียวที่ก้าวเข้าสู่วงการคือเดินทางมาบอมเบย์ ซึ่งเป็นที่ตั้งของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ซึ่งพ่อแม่คงไม่ยอมอนุญาตให้เธอมาง่ายๆ

เธอจึง “หนีตามผู้ชาย” มา รามนิก แฟนหนุ่มรูปงาม กล่อมให้เธอเดินทางมาด้วย โดยบอกจะให้ไปฝึกการแสดงกับญาติของเขาก่อน เพื่อเป็นใบเบิกทางเข้าสู่วงการ

“ญาติ” คนที่เขาพาตัวเธอไปทิ้งไว้ คือสาวใหญ่หน้าตาถมึงทึง ซึ่งแนะนำตัวให้เรียกว่า ป้าชีลา (ซีมา ปาห์วา) และไม่ทันไร คงคาก็รู้ว่าถูกหลอกมาขายซ่องเสียแล้ว

เธอถูกกักขังไว้ และมิไยเธอจะขัดขืนเพียงไร ในที่สุดเธอก็ต้องเสียทีและยอมจำนนจนได้

 

ในวันที่ชีวิตของเธอพลิกไปอย่างไม่มีวันหวนคืน เธอเปลี่ยนชื่อที่เรียกตัวเองจาก “คงคา” เป็น “คงคุ” (Gangu) และยอมรับชะตากรรมที่ถูกกำหนดให้ โดยหมดหวังจะกลับคืนไปหาพ่อแม่ หรือหาสามีได้ เพราะสังคมอินเดียไม่ยอมรับผู้หญิงที่เสื่อมเสียไปแล้ว

เมื่อเธอโดนซ้อมอย่างไม่ปรานีปราศรัยจากลูกค้า ซึ่งเป็นแขกปาทานที่โหดเหี้ยม เธอก็มุ่งหน้าไปหาราฮิม ลาลา (อาเจย์ เดฟวิน) ผู้ทรงอิทธิพล เพื่อร้องขอ “ความเป็นธรรม”

อันเป็นเหตุให้เธอได้รับการยอมรับนับถือไปทั่วในฐานะน้องสาวของเจ้าพ่อ

นิสัยดื้อรั้นไม่ยอมลงให้ใครและต้องการช่วยผู้ที่เดือดร้อน ทำให้คงคุเป็นที่รักและนับถือในหมู่เพื่อนโสเภณี จนเมื่อ “ป้าชีลา” เสียชีวิตลง เธอก็ได้รับฉันทานุมัติให้รับกิจการในซ่องเป็นมรดกตกทอดแทนแม่เล้าผู้โลภมากและไร้มนุษยธรรม

นั่นคือหนทางก้าวขึ้นสู่อำนาจในวงการค้าประเวณี

เพื่อนฝูงพากันเรียกขานเธอด้วยความเคารพว่า “คงคุ-ไบ” หรือกังกุไบ

แต่กังกุไบก็ไม่ได้ใช้อำนาจในมืออย่างไร้ปรานี เธอเสนอทางเลือกแก่เด็กสาวที่ถูกล่อลวงมาโดยให้สมัครใจจะอยู่ หรือจะกินยาพิษตายก็ได้ และถ้าเลือกจะกินยาพิษ เธอก็จะใช้เงินไถ่ถอนเป็นค่าตัวเด็กสาวและส่งตัวกลับบ้านเกิดไปเผชิญชะตากรรมอีกแบบตามที่เลือก

กังกุไบตัดสินใจลงสมัครเลือกตั้งผู้แทนเขต เพื่อเป็นตัวแทนของคนร่วมอาชีพร่วมสี่พันคนในเขตเลือกตั้งของเธอ คู่แข่งคนสำคัญที่ตามราวีประหัตประหารเธอ คือราเซีย-ไบ (วิเจย์ ราซ)

ซึ่งกังกุไบต้องใช้เงินสนับสนุนที่ได้จากการค้าเหล้าภายใต้อิทธิพลของราฮิม ลาลา รวมทั้งยอมสละชายที่เธอรักให้แต่งงานไปกับเด็กสาวในปกครอง เพื่อจัดงานเลี้ยงยิ่งใหญ่ที่ผู้คนจะมาร่วมงาน โดยปล่อยให้การหาเสียงของราเซีย-ไบ กลายเป็นโมฆะไป

ก้าวต่อไปของกังกุไบคือ การก้าวขึ้นสู่วงการเมืองระดับชาติ และโอกาสที่จะได้เข้าพบนายกรัฐมนตรีคนแรกของอินเดีย คือ เยาวหราล เนห์รู เพื่อเรียกร้องให้ออกกฎหมายให้การค้าประเวณีเป็นเรื่องถูกกฎหมาย

ในหนัง เนห์รูไม่ได้เห็นชอบด้วยหรือตอบตกลงหรอกค่ะ แต่ก็รับปากจะตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาเรื่องนี้โดยเฉพาะ

และนี่คือเรื่องราวชีวิตอันน่าทึ่งของผู้หญิงเล็กๆ คนหนึ่ง ซึ่งผงาดขึ้นในโลกมืด ก้าวเข้าสู่วงการเมืองระดับท้องถิ่น และระดับชาติ จนได้ฉายาว่า “ราชินีมาเฟียแห่งมุมไบ”

 

หนังดูสนุกดีอยู่หรอกค่ะ เสียแต่ว่ามีความเป็นเมโลดราม่า หรือเป็นเรื่องหวือหวาประโลมโลกเกินไป ทำให้เรื่องราวชวนรันทดกลายเป็น “โลกสวย” เกินไป มองปัญหาสังคมจากแง่มุมแคบเกินไป และเล่าเรื่องแบบให้ปิดฉากจบไปทีละเรื่องๆ (episodic) จนเกินไป

อย่างเช่น เรื่องของรามนิก ซึ่งเมื่อพาคงคามาขายซ่องแล้ว ก็หายหน้าไปเลย แม้จะมีการพูดถึงอีก ก็ดูเหมือนแค่เปรยๆ ไม่อยากให้กังกุไบได้ไปเจอะเจออีก เพราะถ้าได้เจอะเจออีก กังกุไบก็จะกลับกลายไปสู่ “คงคา” อีกครั้ง

ตัวละครที่น่าสนใจอย่างป่าชีลา ราเซียไบ ราฮิม ลาลา อัฟซาน ฯลฯ ก็ไม่ได้รับการพัฒนาต่อ ทั้งทีเป็นแคแร็กเตอร์ที่น่าสนใจทั้งนั้น รวมทั้งเพื่อนสนิทคู่ใจ และคนรับใช้ส่วนตัวที่กังกุไบเรียกใช้อยู่ประจำ ก็ไม่ได้ถักทอเข้ามาจนทำให้เรื่องราวแน่นขึ้น

พูดง่ายๆ คือเราไม่เห็นพัฒนาการของตัวละครหลัก เราเห็นแต่เพียงการที่เธอพลิกผันจากจุดหนึ่งไปสู่อีกจุดหนึ่ง และการวางท่าก๋ากั่น ยโสโอหังของนักแสดง (เช่น ยกเท้าวางพาดบนกระจกรถโดยไม่มีปี่มีขลุ่ย เป็นต้น) ก็ดูจะไม่เป็นเนื้อเดียวกับตัวละคร เหมือนจะถูกผู้กำกับสั่งให้ทำ โดยไม่ได้ผุดขึ้นจากความต้องการของตัวละครเอง

แต่จะยังไงก็ตาม ก็เป็นหนังบอลลีวูดที่น่าดูและไม่ไร้แก่นสารจนเกินไปค่ะ •

 

ชมตัวอย่างภาพยนตร์ GANGUBAI KATHIAWADI ได้ที่นี่