‘ผู้ช่วย’ / หลังเลนส์ในดงลึก : ปริญญากร วรวรรณ

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ

หลังเลนส์ในดงลึก

ปริญญากร วรวรรณ

 

‘ผู้ช่วย’

 

เหล่านกเงือกมีลักษณะความเป็นครอบครัวสูงมาก โดยเฉพาะนกเงือกสีน้ำตาล และนกเงือกดำ

ในช่วงเวลาเลี้ยงลูก แม่นกเข้าไปขังตัวเองในโพรง ผู้ที่จะนำอาหารเข้ามาป้อน ไม่เพียงเป็นหน้าที่ของพ่อนก แต่พี่น้องนกหนุ่มสาวในครอบครัวจะมาช่วยด้วย

นอกจากพ่อนกไม่เหนื่อยลำพัง แต่เหล่าผู้ช่วยนั้น ได้ฝึกฝนเรียนรู้ไปด้วย

การนำอาหารมาให้ลูกนก ไม่ใช่เรื่องง่ายหรอก ใช่ว่าจะนำแต่ผลไม้อย่างลูกไทร ลูกตาเสือ หรืออื่นๆ ต้องรู้จังหวะช่วงเวลาที่ลูกนกต้องการอาหารพวกโปรตีน นำอาหารซ้ำๆ มา อาจถูกแม่นกรับไปแล้วโยนทิ้งต่อหน้าต่อตา

ผู้ช่วยใช้โอกาสนี้เรียน เป็นวิถีซึ่งดำเนินมาเนิ่นนาน

 

ทํางานในป่า สำหรับผม มีสิ่งหนึ่งที่ดูเหมือนเกิดขึ้นบ่อยๆ นั่นคือมีโอกาสได้ร่วมทำงานกับคนผู้ใช้กล้องเป็นเครื่องมือจากต่างประเทศ

มีช่างภาพหลายคนที่ผมเห็นผลงานพวกเขาในหนังสือ มีบางคนที่ผมติดตาม ได้เรียนรู้ รับรู้ประสบการณ์จากพวกเขา

ทำงานในป่าเมืองไทย ป่าอันไม่คุ้นเคย ไม่ง่ายนัก อุปสรรคต่างๆ ที่เราพบ ทำให้ผมได้เห็นว่า “มืออาชีพ” เป็นเช่นไร

ไม่เพียงช่างภาพ แต่คนผู้ทำหน้าที่ผู้ช่วยก็ทำให้ผมเห็น

 

โจ ชายหนุ่มวัย 20 ปลายๆ บ้านเกิดอยู่แถบเทือกเขาร็อกกี้ เรียนจบภาควิชาชีววิทยา ทำหัวข้อวิทยานิพนธ์เรื่องการอพยพของกวางบริเวณเทือกเขา และเป็นช่างภาพสัตว์ป่า

ผมพบเขาตอนมาในฐานะเป็นผู้ช่วยช่างภาพสัตว์ป่าอาวุโส ที่เข้ามาบันทึกภาพเรื่องราวการศึกษา และปกป้องดูแลเสือโคร่ง

ช่างภาพอาวุโส เดินทางทำงานมาแล้วทั่วโลกกว่า 20 ปี

ส่วนโจ นี่เป็นครั้งแรกที่เดินทางออกนอกประเทศ และเป็นครั้งแรกที่เขาเข้ามาในป่าเขตร้อน

 

พวกเขาเข้ามาร่วมทีมนักวิจัย ผมรับหน้าที่ผู้ช่วยพวกเขา

เครื่องมือหลายกระเป๋า รวมทั้งกล้องดักถ่าย เช้ามืดเราไปทำงาน ค่ำๆ ตรวจสอบภาพ นั่นเป็นช่วงเวลาที่ได้พูดคุยซักถาม เรียนรู้ความเป็นช่างภาพจากคนผู้มีประสบการณ์ นับเป็นโอกาสที่ดียิ่ง

เป็นช่วงที่นักวิจัยเฝ้ารอเสือตัวที่เป็นเป้าหมาย และทุกวันจะเข้าไปตรวจสอบตำแหน่งที่เสืออยู่

การเข้าไปตรวจสอบเหยื่อที่เสือล่าได้สำคัญ นักวิจัยได้ข้อมูลอันบอกให้รู้ว่าสัตว์ประเภทใดที่เสือโคร่งล่า รวมทั้งแต่ละวันมันกินเหยื่อในปริมาณเท่าใด

ล่าเหยื่ออย่างกระทิงได้ เสือโคร่งจะใช้เวลากินราวหนึ่งสัปดาห์ มันกินจนกระทั่งเหยื่อเหลือเพียงกระดูกท่อนโตๆ

รอบๆ เหยื่อจะมีรอยขีดข่วนต้นไม้ และกลิ่นฉี่ ที่เราเรียกว่าสเปรย์ เพื่อแจ้งเตือนสัตว์ตัวอื่นให้รู้ว่า เหยื่อนี้ใครเป็นเจ้าของ

กลางวันเราตามผู้ช่วยนักวิจัยเข้าไปตรวจสอบ ปกติเสือจะเข้ามากินเหยื่อช่วงหัวค่ำ และก่อนรุ่งสาง กลางวันมันมักไปอยู่ใกล้ๆ แหล่งน้ำ

 

เราถูกกำชับว่า ให้ระวังอย่างสูง หากขยับเขยื้อนซาก ต้องจัดวางไว้ในตำแหน่งเดิม ความผิดปกติอาจทำให้เสือระแวงไม่กลับมากินอีก

เสือมีความสามารถสูงได้รับการออกแบบมาอย่างเหมาะสม แต่กระนั้น นักวิจัยรู้ดีว่า การล่าแต่ละครั้งต้องใช้พละกำลังมาก และใช่ว่าทุกครั้งของการล่าจะประสบผล

การรบกวนซาก กระทั่งเสือทิ้งซาก ย่อมไม่ใช่เรื่องดี

นกเงือกปากดำ – ช่วงเวลาที่นกผู้ใหญ่มีหน้าที่ต้องหาอาหารมาเลี้ยงลูกในโพรง การช่วยนำอาหารมา เป็นเวลาที่นกวัยรุ่นได้ฝึกฝนเรียนรู้

ช่างภาพทำงานทั้งวัน รูปถ่ายนับพันจะถูกเลือกใช้ไม่เกิน 20 รูป

ผู้ช่วยช่างภาพทำงานหนักทั้งวันเช่นกัน นอกจากจัดเตรียมกล้อง เขายังเป็นลูกมือทุกอย่าง ตั้งแต่แบกขาตั้ง ถือกล้องสำรอง ประคองตัวช่างภาพตอนเขาขึ้นไปยืนบนที่สูง

“คุณเอากล้องมาไหมครับ” เย็นวันหนึ่งขณะรอแสงดวงอาทิตย์ตอนเย็นอยู่ ริมหน้าผาเหนือโค้งลำห้วย ผมชวนโจคุย

“ไม่ได้เอามาครับ เพราะผมมาที่นี่ในฐานะผู้ช่วยช่างภาพ”

ผมมองหน้าเขา ที่เห็นคือ ผู้ช่วยช่างภาพที่เป็นมืออาชีพ

 

ช่างภาพได้งานที่ดี ได้พบกับเสือและลูกวัยรุ่นที่อายุยังไม่ครบสองปี เป็นช่วงเวลาที่ต้องเรียนรู้ทุกอย่างจากแม่ ทักษะการล่าและดำรงชีวิต ลูกเสือจะได้รับการถ่ายทอด

คุยกับโจ เห็นวิธีที่เขาทำงาน ผมนึกถึงนกเงือก นึกถึงสัตว์ป่า การเป็น “ผู้ช่วย” ที่ดีนั้นสำคัญ

เป็นผู้ช่วย คือการเรียน ยามเมื่อเติบโต ต้องใช้ชีวิตด้วยตัวเอง

จะพบว่า ช่วงเวลาขณะเป็นผู้ช่วย ไม่ได้สูญเปล่าแต่อย่างใด… •