‘เงา’ ของความศักดิ์สิทธิ์ / On History : ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

On History

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

 

‘เงา’ ของความศักดิ์สิทธิ์

 

ตัวหนังที่ถูกใช้ในการเชิด “หนังใหญ่” ซึ่งทำขึ้นจากการนำผิวหนังของสัตว์มาฉลุลวดลายให้เป็นตัวหนัง (ที่มักจะทำขึ้นจากหนังของวัวควายทั้งตัว จึงเรียกว่า หนังใหญ่) นั้น ดูจะมีความหมายใกล้เคียงกับการเล่นเงาในวัฒนธรรมเขมรที่เรียกว่า “สะแบกธม” เป็นอย่างมาก

คำว่า “สะแบก” เป็นภาษาเขมรแปลว่า “หนัง” ส่วน “ธม” ก็เป็นภาษาเขมรเช่นกัน แปลว่า “ใหญ่” คำว่า สะแบกธม จึงเป็นคำเขมรที่ตรงกับคำว่า “หนังใหญ่” ซึ่งก็คือการเล่นเงาที่เรียกเป็นภาษาไทยอย่างชัดเจน

ดังนั้น การเล่นเงาอย่างนี้จึงเป็นวัฒนธรรมร่วมในอุษาคเนย์ ไม่ใช่ของชนชาติใดเพียงชนชาติเดียว ที่สำคัญคือการเล่นเงาอย่างสะแบกธม หรือหนังใหญ่นี้ก็ไม่ได้มีอยู่แต่เฉพาะในประเทศไทย และกัมพูชา เท่านั้นนะครับ

เพราะยังพบอยู่ในอุษาคเนย์อีกหลายแห่ง ตัวอย่างที่ชัดๆ คือในบริเวณคาบสมุทรมลายูและหมู่เกาะ อย่างเช่น “หนังตะลุง” ในปักษ์ใต้ เป็นต้น

ร่องรอยของการเล่นเงาตามแนวคิดที่เก่าแก่ยังมีปรากฏอยู่ในอุษาคเนย์ภาคหมู่เกาะคือ “วาหยัง กุลิต” ซึ่งมักจะแสดงรูปร่างตัวละครให้ผิดปกติไม่เหมือนลักษณะของมนุษย์ธรรมดา คือเป็นอย่างเดียวกับที่ปรากฏในหนังตะลุงบ้านเรา

ลักษณะดังกล่าวอาจจะเรียกได้ว่าเป็นลักษณะเหนือมนุษย์ หรือเป็นอภิมนุษย์ (superman/superhuman) เพราะการที่มนุษย์จะมีรูปร่างหน้าตาเหมือนกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์เป็นเรื่องที่ไม่ถูกไม่ควร พูดง่ายๆ ว่าเสนียดจะกินกบาล

ความเหมือนจึงเป็นสิ่งต้องห้ามในประเพณีเก่าแก่

 

หน้าตาของหุ่นเชิดในวาหยัง กุลิต ที่มีลักษณะผิดมนุษย์ยังปรากฏอยู่บนภาพสลักประดับอยู่บนศาสนสถานของอาณาจักรต่างๆ ทางภาคตะวันออกของเกาะชวาที่รุ่งเรืองอยู่ในช่วงปลายศตวรรษของ พ.ศ.1700 เรื่อยไปจนถึงช่วงต้นศตวรรษของ พ.ศ.2000 อย่างสมัยสิงหะส่าหรี หรือราชวงศ์มัชฌปาหิต เป็นต้น

ภาพสลักบนตัวอาคารที่สร้างขึ้นในศาสนาที่เรียกว่า “จันทิ” เหล่านี้ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องเล่าที่เกี่ยวข้องกับความศักดิ์สิทธิ์หรือเทพเจ้าโดยเฉพาะเรื่องรามายณะ และมหาภารตะ ที่ยังมีการนำมาเล่นเป็นวาหยัง กุลิต อยู่แม้กระทั่งในปัจจุบัน

แต่เรื่องราวในศาสนาที่รับเอามาจากอินเดียเหล่านี้ก็สอดแทรกเรื่องเล่าอย่างพื้นเมืองที่ไม่มีกล่าวถึงอยู่ในอินเดียเลยเป็นจำนวนมาก เช่นเดียวกับรูปร่างของหุ่นเชิดในวาหยัง กุลิต และตัวละครบนภาพสลักในศาสนสถานจึงเป็นร่องรอยความคิดพื้นเมืองที่เก่าแก่ของอุษาคเนย์ และไม่มีอยู่ในชมพูทวีปเช่นกัน

“การเล่นเงา” หรือ “วาหยัง กุลิต” ในภาษาบาฮาซาของอินโดนีเซีย จึงมีร่องรอยว่าเคยเป็นพิธีกรรมที่เชื่อมโยงมนุษย์เข้ากับสิ่งศักดิ์สิทธิ์มาก่อน มากกว่าจะเป็นการละเล่นมาแต่แรกเริ่ม การเล่นเงาในพื้นที่อื่นของอุษาคเนย์ที่ถูกเรียกในชื่อที่แตกต่างกันไปในแต่ละชาติภาษา ไม่ว่าจะเป็นสะแบกธม หนังใหญ่ หรือหนังตะลุง ก็คงมีความคิดเริ่มแรกที่ไม่ต่างกันนัก

 

จารึกบนใบลาน “ไศวาคม” ที่พบทางภาคตะวันออกของเกาะชวาช่วยตอกย้ำให้เห็นว่าการเล่นเงา มีหน้าที่เชื่อมโยงมนุษย์เข้ากับสิ่งศักดิ์สิทธิ์มาก่อน ดังมีตำนานเล่าถึง “วาหยัง กุลิต” ไว้ว่า

พระศิวะกับพระอุมาต้องคำสาปจนถูกเนรเทศลงมายังโลกมนุษย์ในรูปของปีศาจ โดยที่พระอุมากลายเป็นปีศาจที่ชื่อว่า “ทุรคา” และให้กำเนิดบุตรอีกหลายตนที่ล้วนแล้วแต่มีรูปร่างผิดปกติและผิดสัดส่วน (ไม่ต่างอะไรกับตัวละครของวาหยัง) พระพรหม พระวิษณุ และพระอิศวร (ในคัมภีร์นี้ดูเหมือนว่าพระศิวะ กับพระอิศวร จะเป็นเทพคนละองค์กัน) ต้องการที่จะช่วยพระศิวะ และพระแม่อุมาให้พ้นคำสาปจึงสร้าง “วาหยัง กุลิต” ขึ้นมาบนโลก โดยเทพทั้งสามองค์ เป็นองค์ประกอบหลักของการแสดง

พระอิศวรทำหน้าที่เป็นผู้เชิดหุ่น หรือที่มีศัพท์เรียกเป็นการเฉพาะว่า “ดาหลัง” พระพรหมเป็นตะเกียงให้แสงสว่างขณะแสดง ส่วนพระวิษณุเป็นดนตรี ในการแสดงจะต้องมีการเซ่นสังเวยให้แก่ปีศาจด้วย

ตำนานเล่าต่อไปว่าเทพทั้งสามไม่ประสบความสำเร็จในการแสดงครั้งแรก พระศิวะและพระแม่อุมายังคงต้องคำสาปอยู่ไม่คลาย เทพทั้งสามจึงต้องทำการแสดงใหม่อีกรอบ

คราวนี้มีการแสดง “ระบำ” กับ “หน้ากาก” เพิ่มเติมเข้าไปด้วย พระศิวะและพระอุมาจึงได้รับสาส์นจากเทพทั้งสามจนพ้นคำสาปในที่สุด

ตำนานเรื่องนี้ไม่ปรากฏในอินเดีย แต่มีการนำเอาความศักดิ์สิทธิ์ของเทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์-ฮินดูเข้ามาผนวกเข้ากับเรื่องผีพื้นเมืองดังจะเห็นได้จากการที่ต้องทำการเซ่นสรวงเหล่าปีศาจไปด้วย

ในกรณีนี้การเล่นเงาจึงเป็นพิธีกรรมที่เชื่อมโยงตัวเองเข้ากับสิ่งศักดิ์สิทธิ์อย่างชัดเจน และก็ไม่ใช่การเล่นเงาเพียงชนิดเดียวเท่านั้น ทั้งระบำ การละเล่นหน้ากาก (ที่จะพัฒนาต่อมาเป็นโขนซึ่งสวมครอบทับทั้งหัวอย่างในสยาม) เองก็เป็นพิธีกรรมมาก่อนที่จะกลายเป็นการละเล่นอย่างที่เข้าใจกันในปัจจุบัน

 

นอกเหนือไปจากความศักดิ์สิทธิ์ของพิธีกรรมที่ความหมายเคลื่อนคล้อยเปลี่ยนมาเป็นการละเล่นแล้ว ผมคิดว่าสิ่งที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งคือการที่ “เงา” ของ “วาหยัง กุลิต” ก็ศักดิ์สิทธิ์ด้วยเช่นกัน

ลองคิดเปรียบเทียบดูนะครับ เมื่อครั้งที่กล้องถ่ายรูปถูกนำเข้ามาในประเทศสยามเป็นครั้งแรกไม่มีใครกล้าถ่ายรูปของตนเองเลยเพราะกลัววิญญาณจะถูกดูดเข้าไปในภาพ นี่ก็เป็นเพราะความแนวคิดเกี่ยวกับความเหมือนนี่เอง

ในกรณีนี้ “เงา” จึงเป็นภาพแสดงแทนของ “ความเหมือน” นั่นแหละครับ

และนี่ก็ทำให้ “ความเหมือน” ที่ว่านี้ ไม่ต้องเหมือนไปหมดทุกกระเบียดนิ้วเสียทีเดียว แค่คลับคล้ายคลับคลา หรือเป็นเพียงภาพแสดงแทน ที่ทำให้เราระลึกถึงความศักดิ์สิทธิ์หรือปัจเจกบุคคลอื่นๆ ได้เท่านั้นก็พอแล้ว

ภาพของเสด็จพ่อ ร.5 ไม่จำเป็นต้องเป็นภาพที่ใกล้เคียงกับปัจจุบันที่สุด แต่เป็นภาพที่ทำให้คนที่เห็นสามารถระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ หรือบุญบารมีอย่างที่ผู้นำเสนอต้องการสื่อออกมาให้เห็น ภาพที่พระองค์ทรงประชวรจึงไม่เคยปรากฏแก่สายตาของเรา ไม่ต่างอะไรกับอีกหลายๆ ภาพของหลายๆ บุคคล ที่นำเสนอภาพที่ทำให้เราเคลิ้มฝันไปถึงคุณงามความดีของคนคนนั้น

โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาถึงโลกในสมัยที่ยังไม่มีรูปถ่าย ความเหมือนยิ่งไม่มีข้อแม้มากำกับอย่างละเอียดลออเหมือนในปัจจุบัน

พระพุทธรูปองค์ต่างๆ ที่รูปร่างหน้าตาไม่เหมือนกัน แต่เราก็สามารถระลึกได้ว่านี่คือตัวแทนของพระพุทธเจ้า พระแก้วมรกตกับพระพุทธชินราชรูปร่างหน้าตาไม่ได้เหมือนกันเลย แต่ก็ไม่มีใครสามารถปฏิเสธได้ว่าต่างก็เป็นรูปแสดงแทนของพระพุทธเจ้า (แม้ว่าในทางปฏิบัติบารมี หรือความศักดิ์สิทธิ์ของพระพุทธรูปทั้งสององค์จะทำให้กลายเป็น “ผี” หรือพระพุทธเจ้าคนละองค์กันก็ตาม)

เงาที่เคลื่อนไหววับๆ แวมๆ อยู่ในฉากการเล่นเงา ไม่ว่าจะเป็นวาหยัง กุลิต, หนังตะลุง, สะแบกธม หรือหนังใหญ่ ตามแต่ชื่อที่ใช้เรียกกันในแต่ละวัฒนธรรม จึงไม่ได้เป็นเพียงการเคลื่อนไหวของตัวหนัง โดยผู้เชิด ซึ่งเป็นเพียงมนุษย์ปุถุชนเท่านั้น แต่เป็นเงาที่เคลื่อนไหวจากฤทธิ์ หรืออำนาจของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างหาก

ก็อย่างที่ตำนานในหนังสือไศวาคมระบุไว้ว่า พระอิศวรเป็นผู้เชิดหุ่นเงา หรือความศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้นั่นแหละครับ •