‘เจ้าหญิงพิกุลทอง 2565’ : ‘จักรๆ วงศ์ๆ พ้นมนุษย์’ / คนมองหนัง

คนมองหนัง

คนมองหนัง

 

‘เจ้าหญิงพิกุลทอง 2565’

: ‘จักรๆ วงศ์ๆ พ้นมนุษย์’

 

ช่วงสองเดือนที่ผ่านมา นั่งดูละคร “เจ้าหญิงพิกุลทอง 2565” ด้วยความรู้สึกสนุกสนานมาก

ละครเวอร์ชั่นนี้มีการเขียนบท-เปลี่ยนแปลงรายละเอียดของเรื่องราวใหม่ โดย “วิลิศมาหรา” (ว่ากันว่าคือนามปากกาของ “อัศศิริ ธรรมโชติ” เจ้าของรางวัลซีไรต์และศิลปินแห่งชาติ ที่รับงานเขียนบทละครโทรทัศน์อยู่เนืองๆ)

ถ้าพูดภาษาวิชาการเว่อร์ๆ ตามสมัยนิยม ก็อาจจะนิยามได้ว่า “เจ้าหญิงพิกุลทอง 2565” นั้นเป็น “ละครจักรๆ วงศ์ๆ พ้นมนุษย์”

ล้อเลียนกับแนวคิดทางสังคมศาสตร์-มนุษยศาสตร์ยุคใหม่ ที่พยายามทำความเข้าใจโลกโดยไม่ได้ยึดมุมมองซึ่งใช้มนุษย์เป็นศูนย์กลาง และใส่ใจในความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิตอื่นๆ รายรอบพวกเขา

เอาเข้าจริง พื้นฐานดั้งเดิมของนิทาน/ละครจักรๆ วงศ์ๆ ก็มักเน้นหนักไปที่สายสัมพันธ์ระหว่างตัวละครที่เป็นมนุษย์กับตัวละครที่ไม่ใช่มนุษย์ ตั้งแต่อภิมนุษย์ (เทวดา) อมนุษย์ (ยักษ์) เรื่อยไปถึงพืชและสัตว์ต่างๆ อยู่แล้ว

แต่พอมาถึง “เจ้าหญิงพิกุลทอง” ฉบับล่าสุด ดูเหมือนผู้สร้าง-ผู้เขียนบทจะเล่นกับลักษณะเด่นดังกล่าวอย่างจริงจังมากขึ้น ผ่านการผูกโยงเรื่องราวในละคร ให้มีโลกหลายใบของสิ่งมีชีวิตหลายแบบที่ดำรงอยู่เหลื่อมซ้อนกันจนน่าทึ่ง

ไม่มีวิธีการใดจะอธิบายประเด็นข้างต้นได้ดีไปกว่าการสปอยล์เนื้อหาหรือเขียนเล่าเรื่องย่อของละครในช่วง 22 ตอนแรก ดังนี้

บทโทรทัศน์โดย วิลิศมาหรา

“เจ้าหญิงพิกุลทอง 2565” เริ่มต้นเรื่องราวด้วยการกำหนดให้นางเอก-พระเอก-นางรอง-พระรอง เป็นเทวดา-นางฟ้าที่ลงมาเกิดยังโลกมนุษย์ (ในกรณี “พิกุลทอง” และนางฟ้าอีกสององค์คือเพราะหมดอายุขัยบนสวรรค์)

แต่พอลงมาเกิดเป็นมนุษย์แล้ว สถานะความเป็นครึ่งคนครึ่งเทพ (หรือบทบาทการแทรกแซงโลกเบื้องล่างของเทวดาข้างบน) ดังที่มักปรากฏในละครจักรๆ วงศ์ๆ ส่วนใหญ่ กลับหายไปเสียเฉยๆ (จนอดสงสัยไม่ได้ว่าจะใส่ฉากแรกนั้นมาทำไม?)

เป็นความสัมพันธ์แนวระนาบระหว่างสรรพสิ่งต่างๆ ในระบบนิเวศตามธรรมชาติและพลังอำนาจเหนือธรรมชาติ บนโลกเบื้องล่างต่างหาก ที่เต็มไปด้วยความหลากหลายและสภาวะเหลื่อมซ้อนกันอย่างน่าสนใจ

“พิกุลทอง” นั้นเป็นธิดากษัตริย์ แต่พายุใหญ่และอุทกภัยที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ก็ส่งผลให้เธอต้องพลัดพรากจากพระบิดา-พระมารดา และกลายเป็นเด็กสาวชาวบ้านชื่อ “พิกุล”

กลุ่มตัวละครที่คอยช่วยเหลือ “พิกุล” อยู่ตลอดเวลา คือ พระภูมิเจ้าที่และสัมภเวสีผีเร่ร่อน (พวกเขาเรียกตัวเองว่าตีนโรงตีนศาล) ซึ่งอาศัยอยู่ในศาลเพียงตาใกล้ๆ บ้านของเธอ แม้แต่ “ดอกพิกุลทอง” ที่ร่วงจากปาก “พิกุล” เวลาพูดสิ่งดีๆ ออกมาจากใจจริง นั้นก็เป็นพรซึ่งพระภูมิข้างบ้านดลบันดาลให้

ในอีกด้านหนึ่ง “พิกุล” ก็มีแม่เลี้ยง น้องสาวบุญธรรม และเพื่อนน้องสาว ที่ถูกวาดภาพให้เป็น “คนเลวบริสุทธิ์” โดยละครบอกภูมิหลังว่าสองคนหลังนั้นเพิ่งหมดเวรหมดกรรมจากนรก ทว่า ครั้นได้ขึ้นมาเกิดเป็นมนุษย์ก็ยังมุ่งประพฤติชั่วต่อ ต้องยอมรับว่า นี่คือเส้นเรื่องที่ผมไม่ชอบและไม่ค่อยเห็นด้วยเท่าใดนัก

แต่จุดที่น่าสนุกกว่าก็คือ กลุ่มแม่เลี้ยง-น้องบุญธรรม-เพื่อนน้องนี้จะถูกตามติดสอดส่องพฤติกรรมโดยยมบาล-ยมทูต

บ่อยครั้ง ผู้ชมจะตระหนักได้ทันทีว่า พระภูมิเจ้าที่และบริวารผีเร่ร่อนกับยมบาล-ยมทูตนั้นทำงานสอดรับกัน (โดยไม่เคยได้ปรึกษาหารือกันตรงๆ) เช่น ในฉากหนึ่ง ตัวละครกลุ่มแรกก็จะคอยช่วยเหลือ “พิกุล” และขัดขวางไม่ให้แม่เลี้ยง-น้องสาวบุญธรรมกลั่นแกล้งนางเอก แล้วในฉากต่อไป ตัวละครกลุ่มหลังก็จะคอยจดบันทึกกรรมของเหล่านางอิจฉา

 

โลกใน “เจ้าหญิงพิกุลทอง 2565” ทวีความซับซ้อนขึ้น เมื่อมีการเปิดตัว “พิชัยมงกุฎ” ผู้เป็นพระเอก แล้วก็มีนางยักษ์ “กานิล-กาขาว” สองพี่น้องมาแอบหลงรักเจ้าชายผู้นี้

นางยักษ์ทั้งสองตนมีลักษณะเป็น “ผีเสื้อสมุทร” หรือยักษ์ที่อาศัยอยู่ใต้บาดาล โดยมีศักดิ์ฐานะต่ำกว่าพญานาคราช ทั้งคู่จึงหวั่นเกรงอำนาจของพญานาค ไปพร้อมๆ กับที่ราชันแห่งมหาสมุทรได้คอยออกหน้าปกป้องพวกนาง

เช่น ตอนที่ “พิชัยมงกุฎ” และบริวารจะลงทะเลไปปราบยักษ์ แต่พวกเขากลับถูกพญานาคปรากฏกายขึ้นข่มขู่ ในทำนองว่าพื้นที่ข้า พวกเอ็งอย่ามายุ่งนะเว้ย!

ความวุ่นวายยังไม่จบ เมื่อ “สุบรรณ” พญาแร้งที่มีชื่อเป็นครุฑพาเหล่าบริวารออกตระเวนหากิน แล้วบังเอิญได้ยินนางกำนัลของ “พิกุลทอง” (เธอได้กลับมาเป็นเจ้าหญิงเรียบร้อยแล้ว เพราะพระบิดา-พระมารดาไปตามตัวจนเจอ) หลุดปากด่าพวกอีแร้งว่ามีกลิ่นเน่าเหม็นเพราะกินซากศพ

พญาแร้งจึงคั่งแค้นจัด กระทั่งต้องปลอมตัวมาเป็นมนุษย์ แล้วออกอุบายขอแต่งงานกับ “เจ้าหญิงพิกุลทอง”

ระหว่างพา “พิกุลทอง” เดินทางบนเรือสำเภากลางทะเล พญาแร้งก็หมายจะสังหารเจ้าหญิงผู้นี้เป็นการล้างแค้น ที่คนใกล้ตัวเธอเคยมาพูดจาเหยียดหยามศักดิ์ศรีของเผ่าพันธุ์ตนเอง

ทว่า ตัวละครที่เข้ามาขัดขวางพญาแร้งก็คือแม่ย่านาง พญานกจึงต้องประลองกำลังกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำเรืออยู่พักใหญ่ ก่อนที่ฝ่ายหลังจะป้องกัน “พิกุลทอง” เอาไว้ได้ ทั้งยังดลบันดาลให้เธอมีโอกาสพบรักกับ “พิชัยมงกุฎ”

 

ระหว่างเดินทางอยู่กลางทะเล “พิกุลทอง” ก็ถูกนางยักษ์ “กาขาว” ลักพาตัวไปคุมขังไว้ใต้บาดาล ปรากฏว่ากลุ่มตัวละครที่ลงน้ำไปช่วยเหลือเธอได้สำเร็จ ก็ไม่ใช่ใครที่ไหนนอกจากจะเป็นแก๊งสัมภเวสีตีนโรงตีนศาล ที่พระภูมิเจ้าเก่าส่งมานั่นเอง

“พิกุลทอง” และ “พิชัยมงกุฎ” จึงได้พบกัน และมุ่งหน้ากลับไปยังนครของฝ่ายชาย แต่ความสุขสงบก็ดำรงอยู่เพียงชั่วครู่ เมื่อพญาแร้ง “สุบรรณ” บุกมาจับตัวพระบิดาของ “พิกุลทอง” เป็นตัวประกัน

“พิชัยมงกุฎ” พา “พิกุลทอง” บุกไปช่วยเหลือเสด็จพ่อที่ถิ่นพญาแร้ง ก่อนจะพลาดท่าเสียทีถูกควบคุมตัวเอาไว้ทั้งหมด นางยักษ์ “กานิล” ที่แอบสังเกตการณ์อยู่ห่างๆ แต่ไม่อยากไฟต์กับพวกแร้งตรงๆ จึงตัดสินใจร่ายมนต์ให้ทุกฝ่ายหลับใหลหมดสติลง แล้วค่อยลักตัว “พิชัยมงกุฎ” ไปเก็บไว้ใต้ทะเล (อย่างไรก็ตาม พระเอกของเราสามารถหลบหนีขึ้นบกได้โดยง่ายดายอีกเช่นเคย)

ที่กล้าปะทะพุ่งชนกับพญาแร้งตรงๆ คือ พระภูมิเจ้าที่และบริวาร (ที่ไม่ได้อยู่ติดศาลแต่อย่างใด) ซึ่งบุกมาชิงตัว “พิกุลทอง” กับพระบิดาได้แบบสบายๆ

ในแง่หนึ่ง เหตุการณ์นี้แสดงให้เห็นว่าคู่ต่อสู้ของพญาแร้งนั้นมีทั้งแม่ย่านางเรือและพระภูมิ อีกแง่หนึ่ง ก็ชวนให้ตั้งข้อสังเกตว่าเจ้าที่และสัมภเวสีตัวจิ๋วๆ ในละครนั้นมีฤทธิ์ยิ่งใหญ่เกินตัว แถมยังมิได้เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ข้างบ้านธรรมดาๆ แต่สามารถเข้าไปแทรกแซงขอบเขตอำนาจอื่นๆ ได้บ่อยๆ

กานิล

ล่าสุดในละครตอนที่ 22 พญาแร้งได้ถึงแก่ชีวิตไปเรียบร้อย หลังต่อสู้กับ “พิชัยมงกุฎ” ยิ่งกว่านั้น พวกแร้งยังแทบสิ้นเผ่าพันธุ์เพราะถูกฟ้าดิน (ซึ่งดูจะหมายถึงอำนาจธรรมชาติมากกว่าอำนาจเหนือธรรมชาติ) ลงโทษ หลังจากนกกลุ่มนี้เที่ยวบินไปล่าสังหารผู้คนเพื่อกินเนื้อ แทนที่จะกินแค่ซากศพที่ตายอยู่ก่อนแล้วตามห่วงโซ่อาหารในระบบนิเวศ

ถัดจากนี้ เรื่องราวของ “เจ้าหญิงพิกุลทอง 2565” ก็จะดำเนินเรื่องเข้าสู่ครึ่งหลังหรือช่วงสุดท้ายแบบเต็มตัว เมื่อนางยักษ์ (ไม่ “กานิล” ก็ “กาขาว”) มาสาป “พิกุลทอง” ให้กลายเป็นชะนี แล้วปลอมตัวเป็นเจ้าหญิงเสียเอง

เรื่องเซอร์ไพรส์ซึ่งแอบปล่อยมานิดหน่อยในตัวอย่างละครที่จะออนแอร์ในตอนที่ 23-24 ก็คือ แม่เลี้ยง น้องสาวบุญธรรม และเพื่อนน้องสาวของ “พิกุลทอง” ที่ถูกพญาแร้งควักไส้ตายไปตั้งแต่ตอนกลางเรื่อง จนต้องตกนรกอีกรอบ จะปรากฏตัวเป็นวิญญาณ เพื่อเข้ามาเตือนให้นางเอกระวังภัยจากพวกนางยักษ์เอาไว้

สปอยล์มาประมาณนี้ หลายท่านคงรับรู้ได้แล้วว่าเนื้อหาของ “เจ้าหญิงพิกุลทอง” นั้นเป็น “จักรๆ วงศ์ๆ พ้นมนุษย์” ขนาดไหน •