ล้าง ‘โคลน’ ด้วย ‘น้ำ’ / ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ : หนุ่มเมืองจันท์

หนุ่มเมืองจันท์facebook.com/boycitychanFC

ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ

หนุ่มเมืองจันท์

www.facebook.com/boycitychanFC

 

ล้าง ‘โคลน’ ด้วย ‘น้ำ’

 

ตอนที่ผมเห็นกำหนดวันเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ครั้งแรก

นึกขำในใจ

ใครแกล้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือเปล่า?

เพราะ 22 พฤษภาคม คือวันที่ พล.อ.ประยุทธ์ทำรัฐประหาร

ยึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

พอยึดเสร็จก็แต่งเพลงหลอกประชาชน

“เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน”

ครับ ตั้งตัวเองเป็น “นายกรัฐมนตรี” ยาวนานถึง 5 ปีก่อนจะร่างรัฐธรรมนูญที่อัปลักษณ์ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย

พล.อ.ประยุทธ์เซ็นชื่อตั้ง “วุฒิสมาชิก” 250 คนให้มีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรี

แต่เพื่อให้ดูดี ว่ามีที่มาจากประชาชน

เขาก็ให้ประชาชนลงประชามติด้วยคำถามพ่วงที่คลุมเครือ

และห้ามใครแสดงความเห็นค้านเป็นอันขาด

จากนั้นก็ตั้งพรรคพลังประชารัฐขึ้นมา

ตอนแรกก็อายๆ เอาใครก็ไม่รู้มาก่อตั้งพรรครองรับไว้

“4 กุมาร” ที่มีภาพลักษณ์นักวิชาการก็ลาออกจากรัฐมนตรีมาเป็นหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรค

กวาดต้อน ส.ส.เข้าสังกัด

เสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี

ช่วงนั้น พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ปฏิเสธตลอดว่าไม่ได้ก่อตั้งพรรคพลังประชารัฐ

แต่พอมีปัญหาขัดแย้งกัน และ พล.อ.ประวิตรยึดพรรคคืนมา

เขาให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ว่า พรรคนี้เป็นของเขา เพราะตั้งมากับมือ

นี่คือกระบวนการยึดอำนาจและสืบทอดอำนาจของ คสช.

 

จากวันนั้นเป็นต้นมา ตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. ซึ่งมาจากการเลือกตั้งของประชาชาว กทม.ก็ถูกยึดอำนาจไปด้วย

พล.อ.ประยุทธ์ตั้ง พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ขึ้นเป็นผู้ว่าฯ กทม.แทน ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ที่มาจากการเลือกตั้ง

และตั้ง “สกลธี ภัททิยกุล” เป็นรองผู้ว่าฯ กทม.

ตอนนั้น “สกลธี” ยังสังกัดพรรคพลังประชารัฐ

“อัศวิน-สกลธี” จึงเป็นหนึ่งในกลไกของการสืบทอดอำนาจของ คสช.

หลังการเลือกตั้งใหญ่ผ่านพ้นไป พล.อ.ประยุทธ์ก็ยังยึดอำนาจการบริหาร กทม.ต่อไป

ไม่ยอมให้มีการเลือกตั้ง

จนทนแรงกดดันไม่ไหว เขาจึงยอมให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.

ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ยอมปล่อยมือตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้ง

ช่วงนั้น “3 ป.” ยังแข็งแกร่งและมากด้วยอำนาจบารมี

เขาอาจได้เปรียบในเกมการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.

แต่เมื่อดึงอำนาจนานเกินไป

การเลือกตั้งในปี 2565 คือช่วงเวลาที่อำนาจของ “3 ป.” อ่อนเปลี้ยที่สุด

ทั้งความแตกแยกภายใน “3 ป.” และความไม่พอใจของประชาชน

การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ครั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตรจึงไม่สามารถกำหนดเกมอะไรได้เลย

เป็นแต่ฝ่ายตั้งรับ รอรับ “ผลสะเทือน” จากผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.

ถามว่าทำไมการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ครั้งนี้จึงส่งผลสะเทือนกับอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์

เหตุผลสำคัญที่สุด ก็คือคน กทม.เป็นคนที่เสียงดังที่สุดในทางการเมือง

“เอนก เหล่าธรรมทัศน์” เคยบอกว่า “คนต่างจังหวัดเลือกรัฐบาล แต่คนกรุงเทพฯ ล้มรัฐบาล”

เหมือนคนที่อยู่ใกล้รัฐบาล

เสียงที่ตะโกนใส่หู พล.อ.ประยุทธ์จึงดังกว่าคนที่อยู่ไกล

ผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. จึงสะท้อนความคิดของคนกรุงได้ชัดที่สุดว่าคิดอย่างไรกับรัฐบาล

เพราะผู้สมัครกลุ่มหนึ่ง คือเครือข่าย พล.อ.ประยุทธ์ในการบริหาร กทม.

อย่างปฏิเสธไม่ได้

 

แม้ว่าพรรคพลังประชารัฐจะไม่ส่งผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ก็ตาม

แต่คน กทม.รู้ดีว่าใครบ้างอยู่ใต้ร่มเงาของรัฐบาล

พล.ต.อ.อัศวินชัดเจนที่สุด เพราะเป็นผู้ว่าฯ กทม.ที่มาจากการแต่งตั้งของ พล.อ.ประยุทธ์

“สกลธี” ก็เช่นกัน เป็นทั้งแกนนำ กปปส. ที่ทำหน้าที่ “ชง” เครื่องดื่มแห่งอำนาจ

ให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นคน “ดื่ม”

และยังเป็นรองผู้ว่าฯ กทม.ที่รัฐบาล คสช.แต่งตั้ง

ส่วน “พี่เอ้” สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ของพรรคประชาธิปัตย์ แม้จะดูกลางๆ ไม่เกี่ยวกับการรัฐประหาร

แต่เมื่อพรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคร่วมรัฐบาล

ในทางการเมือง เขาจึงไม่อาจหลุดพ้นจากการถูกมองว่าเป็นกลุ่มเดียวกับรัฐบาล

ในขณะที่อีกฝั่งหนึ่ง “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ที่คะแนนของโพลนำโด่งมาตลาด คือหนึ่งในแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา

แม้จะลาออกมาสมัครอิสระ

แต่เขาก็มีกลิ่นอายของพรรคเพื่อไทย และคนที่ยืนอยู่คนละฝั่งกับการรัฐประหารอย่างชัดเจน

ส่วนนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร จากพรรคก้าวไกลชัดเจนที่สุด

ทั้งจุดยืนส่วนตัวและจุดยืนของพรรค

น.ต.ศิธา ธิวารี ก็เช่นกัน เขามีรากฐานมาจากพรรคเพื่อไทยที่อยู่ตรงข้ามกับ พล.อ.ประยุทธ์

เช่นเดียวกับคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคที่แม้จะแยกตัวออกจากพรรคเพื่อไทยมาตั้งพรรคไทยสร้างไทย

แต่จุดยืนเรื่องประชาธิปไตยก็ชัดเจน

ดังนั้น ผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.จึงส่งผลสะเทือนทางการเมืองต่อ พล.อ.ประยุทธ์อย่างปฏิเสธไม่ได้

ถ้า “พล.ต.อ.อัศวิน” หรือ “สกลธี” ชนะเลือกตั้ง

ก็เหมือน พล.อ.ประยุทธ์ชนะไปด้วย

เพราะแสดงว่าคนกรุงพึงพอใจกับการบริหารงานของทีมผู้ว่าฯ กทม.ชุดก่อนที่ พล.อ.ประยุทธ์แต่งตั้ง

ถ้า “สุชัชวีร์” ชนะ

พล.อ.ประยุทธ์ไม่ชนะ แต่ไม่แพ้

ในมุมกลับ หาก “ชัชชาติ-วิโรจน์” หรือ “ศิธา” ได้รับเลือกเป็นผู้ว่าฯ กทม.

ในทางการเมือง คือ “ความพ่ายแพ้” ของ พล.อ.ประยุทธ์

เพราะแสดงให้เห็นว่าคนกรุงไม่ยอมรับการบริหารงานของเครือข่าย พล.อ.ประยุทธ์

และถ้าผู้สมัครในกลุ่มนี้ได้เสียงรวมกันเกิน 60%

แรงสะเทือนจะยิ่งรุนแรงยิ่งขึ้น

 

22 พฤษภาคม 2557

คือ วันรัฐประหาร ฉีกรัฐธรรมนูญ ใช้อำนาจจากปากกระบอกปืนยึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

เปรียบเสมือน “โคลน” ที่สาดใส่ระบอบประชาธิปไตย

22 พฤษภาคม 2565

คือ วันเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.

วันที่เสียงของประชาชนเป็นใหญ่ที่สุดในแผ่นดิน

เปรียบเสมือน “น้ำสะอาด” ของระบอบประชาธิปไตย

วันอาทิตย์ที่ 22 นี้ ถ้าอยากให้ “ประชาธิปไตย” พ้นจากโคลนตม

เราต้องสาด “น้ำ” ล้าง “โคลน” •