ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 27 พฤษภาคม - 2 มิถุนายน 2565 |
---|---|
คอลัมน์ | My Country Thailand |
ผู้เขียน | ณัฐพล ใจจริง |
เผยแพร่ |
My Country Thailand
ณัฐพล ใจจริง
หมดสมัยกับคำว่า ‘แล้วแต่ท่านจะกรุณาเถิด’
: ครูเปลื้องกับเรียงความงานวันชาติ 2483
“เราอยู่ในประเทศเดียวกัน ภายใต้รัฐธรรมนูญเดียวกัน เราย่อมมีโชคชะตาอย่างเดียวกัน เราและลูกหลานของเราซึ่งเกิดภายหลังวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ย่อมได้รับมรดก คือ เสรีภาพและสมภาพ อันคณะราษฎรได้สร้างสรรค์ไว้ให้ทั่วทุกคน”
(เปลื้อง ณ นคร, 2483, 20)
นับแต่ปี 2482 เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน ถูกประกาศให้เป็นวันชาติ รัฐบาลประสงค์ให้พลเมืองภูมิใจในฐานะเจ้าของประเทศและรำลึกถึงวันปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบอัตตาธิปไตยมาเป็นประชาธิปไตยและความก้าวหน้าของประชาชาติ จึงมีงานฉลองวันชาติขึ้น
ในงานมีกิจกรรมมากมาย รวมทั้งการประกวดเรียงความเพื่อให้ประชาชนแสดงทัศนทางการเมืองออกสู่สังคมด้วย
ผลการการตัดสินเรียงความปี 2483 ในหัวข้อ “ความสำคัญของวันชาติ” นั้น เรียงความของเปลื้อง ณ นคร ครูโรงเรียนฝึกหัดครูประถม ชนะรางวัลที่ 1 ในปีนั้น

ครูเปลื้อง ณ นคร
เปลื้อง ณ นคร ( 2552-2541) นามปากกา “นายตำรา ณ เมืองใต้” เป็นชาวพัทลุง เรียนโรงเรียนเบญจมราชูทิศ โรงเรียนมัธยมวัดเทพศิรินทร์ เข้าศึกษาต่อในคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ประกาศนียบัตรประโยคครูมัธยม (ป.ม.) (2473) บรรจุเป็นครูหลายโรงเรียน สอนภาษาไทย เมื่อรัฐบาลตั้งกองการศึกษาผู้ใหญ่ (2483) จึงโอนมากองดังกล่าว
ลาออกจากราชการลงสมัครผู้แทนฯ ที่พัทลุง แต่ไม่ได้รับเลือก (2489) กลับเข้ารับราชการและลาออกหลายครั้งในช่วง 2490-2503 ได้รับเลือกเป็นผู้แทนฯ กรุงเทพฯ (2518) และทำงานด้านการศึกษา การส่งเสริมการอ่าน การประพันธ์ และวัฒนธรรมจำนวนมาก
จากเรียงความ เปลื้อง ครูโรงเรียนฝึกหัดครูประถมได้ประเมินคุณค่าการปฏิวัติ 24 มิถุนายน 2475 ว่า
“เมื่อนายพลตรี พระยาพหลพลหยุเสนา ได้ประกาศเปลี่ยนแปลงการปกครองณลานพระบรมรูปทรงม้านั้น พี่น้องชาวไทยก็ได้เปล่งเสียงชโยร้องรับด้วยความหฤหรรษ์ ชาวไทยถ้วนทั่วอาณาจักรพร้อมเพรียงกันต้อนรับการปกครองแบบใหม่ด้วยความปลื้มปีติ” (เปลื้อง, 2483, 13)
ควรบันทึกด้วยว่า ในช่วงเวลาภายหลังการปฏิวัติ คณะราษฎรต้องเผชิญหน้ากับการต่อต้านจากกลุ่มอนุรักษนิยมที่สร้างภยันตรายให้กับเหล่าสมาชิกคณะราษฎร ระบอบการปกครองและประชาชนไทย นับแต่รัฐบาลพระยามโนปกรณ์ฯ และกลุ่มอนุรักษนิยมร่วมกันปิดสภา งดใช้รัฐธรรมนูญ (เมษายน 2476) โยกย้ายกำลังทหาร พร้อมปล่อยข่าวโจมตีระบอบประชาธิปไตย การยุบสมาคมคณะราษฎร ขัดขวางการตราพระราชบัญญัติโครงการเศรษฐกิจของปรีดี พนมยงค์ เนรเทศปรีดีออกนอกประเทศ และติดตามด้วยการเกิดกบฏบวรเดช (ต.ค.2476) ในท้ายที่สุด แต่รัฐบาลและประชาชนมีชัยเหนือการต่อต้านเหล่านั้น
แต่เปลื้องยืนยันเจตนารมณ์ที่ดีของการปฏิวัติ 2475 ว่า “การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จึงไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงของคณะชนส่วนหนึ่งส่วนใดซึ่งมีความจงใจประหัตประหารราชาธิปไตย แต่เวลาอันล่วงมาได้แปดปีย่อมชี้ให้เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 เป็นการเปลี่ยนแปลงเพื่อพี่น้องชาวไทย” (เปลื้อง, 2483,13-14.)

ชาติ คือ ประชาชน
สําหรับความแตกต่างของความหมายของชาติจากระบอบเก่ามาสู่ใหม่นั้น เปลื้องเห็นว่า “แต่ก่อนมาเรายังไม่มีวันที่ร้องเรียกเพื่อนไทยทั้งมวลให้ระลึกถึงชาติ ดูคล้ายกับว่า ชาติไม่มีความสำคัญใดเลย…วันชาติ (24 มิถุนายน) เป็นวันที่เตือนให้เราแลไปในอดีตว่า ชาติของเราได้เจริญก้าวหน้ามาอย่างไรหรือมีข้อบกพร่องควรแก้ไขอย่างไรบ้าง ทั้งให้เรานึกถึงอนาคตเพื่อจะได้ร่วมแรงช่วยกันสร้างชาติให้เจริญรุ่งเรืองอานุภาพยิ่งๆ ขึ้น” (เปลื้อง, 2483, 9-10) และเขาสรุปว่า ความหมายของชาติที่แท้จริงเกิดขึ้นภายหลังการปฏิวัติ ดังนั้น วันที่ 24 มิถุนายน จึงเป็นวันชาติ เพราะวันก่อกำเนิดความเป็นชาติของคนไทยทั้งมวลอย่างแท้จริง
ในทัศนะของเขา คุณูปการของการปฏิวัติครั้งนั้นคือ “การเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งได้ปรากฏเด่นชัดในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 คือ การเปลี่ยนแปลงทางสังคม พี่น้องชาวไทยเริ่มตื่นตัวคำนึงถึงสิทธิอิสสรภาพ เริ่มนึกถึงความก้าวหน้าแห่งประเทศชาติของตน” (เปลื้อง,2483,11)
การปฏิวัติของคณะราษฎรส่งผลให้ประชาชาติไทยมีความเจริญก้าวหน้าในด้านการทหาร รัฐบาลมีอาวุธสมัยใหม่ เรือรบ เรือดำน้ำ เรือตอร์ปิโด เครื่องบินทะเลด้วยการสนับสนุนจากพลเมืองไทย ในด้านการสร้างความเจริญนั้น รัฐบาลก่อสร้างถนนเชื่อมโยงจังหวัดต่างๆ เข้าหากัน มีการปรับปรุงสถานที่สาธารณะให้สะอาดสวยงาม ในด้านการค้าที่เคยอยู่ในมือของคนต่างชาตินั้น รัฐบาลส่งเสริมให้คนไทยประกอบการค้ามากขึ้นด้วยการตั้งบริษัทของชาติขึ้น (เปลื้อง, 2483, 16-18)
นอกจากนี้ เขาชักชวนผู้อ่านเรียงความชิ้นนี้ว่า “เรามองไปรอบๆ ตัว จะพบความเปลี่ยนแปลงและความก้าวหน้า เหล่านี้คือผลอันเกิดแต่วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 เป็นต้นมา วันอันเป็นปฐมฤกษ์แห่งความวัฒนาถาวรของชาติไทยเรานี้ เราถือเป็นวันชาติ เราจะปล่อยให้ผ่านไปโดยมิคำนึงถึง โดยมีประกอบกรณียกิจอันเป็นเครื่องแสดงความระลึกถึงหาได้ไม่” (เปลื้อง, 2483, 28-29)
ด้วยเหตุนี้ เขาเห็นว่า “ในวันชาติ เราได้จัดให้มีสิ่งใหม่เกิดขึ้น ซึ่งบางอย่างจะคงทนถาวรไปชั่วกาลนาน รัฐบาลได้จัดดวงตราไปรษณียากรที่ระลึกวันชาติ เริ่มวางแผนการสร้างอนุสาวรีย์ไทย เริ่มก่อฤกษ์สร้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และมีการประกวดบทเพลง ประกวดศิลปะต่างๆ เป็นอาทิ ทุกๆ วันชาติที่จะมีมา ถาวรวัตถุเหล่านี้จะเป็นสมบัติของเราและลูกหลานของเราต่อไป” (เปลื้อง, 2483, 22-23)

หมดสมัยแล้วกับความคิดที่ว่า
“แล้วแต่ท่านจะกรุณาเกิด”
เปลื้องมีความเข้าใจในระบอบประชาธิปไตยเป็นอย่างดี ดังที่เขาอธิบายในเรียงความว่า
“การปกครองนั้น ย่อมประกอบด้วยผู้ปกครองฝ่ายหนึ่ง และผู้อยู่ในปกครองอีกฝ่ายหนึ่ง การปกครองระบอบประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญนั้นผู้ปกครองหรือคณะรัฐบาลย่อมตั้งขึ้นจากประชาราษฎรและเลือกจากราษฎร ทั้งมีอำนาจปกครองได้ก็โดยความยินยอมของผู้ที่อยู่ในความปกครอง ถ้าแม้ว่าผู้ปกครองปฏิบัติไม่ชอบธรรม ไม่อำนวยความสวัสดีให้แก่ประเทศชาติไซร้ ประชาราษฎรก็ย่อมเปลี่ยนคณะปกครองนั้นเสียได้ ทั้งนี้เพราะคณะปกครองมีอำนาจปกคครองโดยความยินยอมของราษฎรทั้งหลาย หามีอาญาสิทธิ์แต่คนเดียวคณะเดียวไม่ ดังนี้เป็นหัวใจแห่งการปกครองระบอบประชาธิปไตย” (เปลื้อง, 2483, 11-12)
ดังนั้น จึงไม่แปลกใจว่า เขามีความใฝ่ฝันในการเป็นผู้แทนราษฎรเขาก็ได้สมหวังในท้ายที่สุด
สุดท้ายนี้ ความเด็ดขาดของเรียงความของเปลื้องนั้น คือ เขาเขียนไว้ว่า “สิ่งสำคัญที่วันที่ 24 มิถุนายนได้ให้แก่ชาวไทยทุกคนคือ เสรีภาพ เสมอภาคและภราดรภาพ สิทธิใดที่เรายังขาดอยู่ เราอาจเรียกร้องเอาได้อย่างเต็มเสียง เราไม่ต้องเกรงอำนาจอิทธิพลใดๆ และไม่มีใครจะมาขัดขวางเราได้ เราจะต้องเลิกนึกถึงความคิดแบบเก่าที่ว่า ‘แล้วแต่ท่านจะกรุณาเถิด’ ในการปกครองแบบประชาธิปไตยเราจะนึกเช่นนี้ไม่ได้เป็นอันขาด” (เปลื้อง, 2483, 20)
เรียงความข้างต้นคือ ตัวอย่างความรู้สึกนึกคิดแบบใหม่ของคนหนุ่มที่ได้เขียนสะท้อนความคิดแห่งยุคสมัยออกมาในครั้งนั้น

