‘นาค’ ให้สนุกต้องเชื่อครึ่ง-ไม่เชื่อครึ่ง | ธงทอง จันทรางศุ

ธงทอง จันทรางศุ

ชีวิตช่วงนี้หลายอย่างใกล้จะกลับมาเป็นปกติแล้วนะครับ เพียงแต่ว่าเป็นปกติแบบใหม่หรือที่เรียกกันจนคุ้นหูว่า New Normal

เป็นต้นว่า เด็กนักเรียนก็ไปโรงเรียนได้แล้วแต่ต้องระมัดระวังเรื่องอนามัยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหน้ากากอนามัย การล้างมือบ่อยๆ หรือการฉีดวัคซีนสำหรับผู้ที่อยู่ในเขตอายุที่สามารถฉีดวัคซีนได้

เห็นเขาว่ากันว่า อีกไม่นานนักโรคโควิด-19 อาจจะกลายเป็นโรคประจำถิ่น ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นคงจะทำให้อีกหลายอย่างปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์

ระหว่างเวลาหัวเลี้ยวหัวต่ออย่างนี้ ชีวิตประจำวันของผมก็เริ่มปรับตัวครับ

การประชุมจำนวนมากและบ่อยครั้งยังคงเป็นการประชุมในระบบออนไลน์

บางหน่วยงานก็ปรับขึ้นมาเป็นการประชุมแบบไฮบริด คือแล้วแต่ความสะดวกของกรรมการ จะประชุมออนไลน์ก็ได้ หรือไปประชุมที่สำนักงานก็ดี

การสอนหนังสือในชั้นเรียนก็เหมือนกัน ตอนนี้ส่วนใหญ่เป็นไฮบริดครับ

มีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัดคือ การบรรยายพิเศษในห้องประชุมตามหัวข้อต่างๆ ที่ผู้เชิญเป็นผู้กำหนด ส่วนมากแล้วผู้จัดอยากให้ผู้พูดไปอยู่ในสถานที่จริง จะได้เห็นตัวเป็นๆ กันบ้าง ส่วนผู้ฟังนั้นก็กำหนดจำนวนให้น้อยและนั่งห่างกันตามข้อกำหนดทางสาธารณสุข

เกินจำนวนกว่านั้นก็ฟังออนไลน์

 

ในช่วงเวลาประมาณหนึ่งเดือนที่ผ่านมา ผมรับเชิญไปพูดในกิจกรรมทางวิชาการแบบพูดจริงในสถานที่มาสองรอบ

หนึ่งในจำนวนนั้นพูดไม่ยากครับ รายการนี้เป็นการอบรมพระนักเทศน์ธรรมยุต ท่านผู้จัดบอกว่า ให้ผมพูดอะไรก็ได้ ความยาวประมาณหนึ่งชั่วโมงครึ่งถึงสองชั่วโมง

ถึงเวลาไปพูดจริงผมก็พูดพร่ำเพ้อไปเรื่องพระพุทธศาสนากับสังคมไทย โดยแถมประเด็นเรื่องการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ในเวลาต่างยุคต่างสมัย ที่ต้องปรับวิธีการนำเสนอและเนื้อหาไปให้เหมาะกับผู้ฟังและยุคสมัย

รายการนี้เอาตัวรอดมาได้แบบสบายๆ เรียกว่าพอสอบผ่านก็แล้วกัน

อีกรายการหนึ่งยากเย็นกว่าเป็นอันมาก ขึ้นต้นตั้งแต่ผู้จัดคือกรมศิลปากรก็ฟังดูน่าเกรงขามเสียแล้ว

หัวข้อที่กำหนดให้พูดคือเรื่องปริทรรศน์เรื่อง “นาค” ในวัฒนธรรมไทย

แถมที่น่ากลัวยิ่งขึ้นคือ รายการเดียวกันนั้นแต่ต่างเวลามีผู้ทรงคุณวุฒิอีกหลายท่านมาพูดเจาะลึกในแต่ละมุม เช่น เรื่องคติชนวิทยา วรรณคดี หรือสถาปัตยกรรม ที่มีนาคเข้าไปเกี่ยวข้องอยู่ในทุกวงการ

ขอทราบกำหนดการอย่างนี้ ผมก็ต้องทำการบ้านล่วงหน้ามากพอสมควร อ่านหนังสือเล่มโน้นเล่มนี้ พร้อมทั้งคิดฟุ้งซ่านไปต่างๆ

และถึงเวลาวันงานจริงก็หอบสมบัติบ้าเหล่านี้ติดตัวไปด้วยเพื่อความอุ่นใจ

 

จากการค้นคว้าอ่านตำรับตำราต่างๆ เรามาตกลงกันเสียก่อนว่า อะไรคือนาคในสายตาของคนไทยเรา จากการอ่านและการพูดคุยมาตลอดชีวิตเห็นจะพอสรุปได้ว่า นาคไม่ใช่สัตว์ธรรมดาสามัญที่เราพบเห็นได้ทั่วไป หากแต่เป็นสัตว์ที่อยู่ในความเชื่อหรือในตำนานต่างๆ

รูปร่างหน้าตาของนาคนั้นคืองูขนาดใหญ่ บ้างก็มีเพียงแค่หัวเดียวหรือเศียรเดียว ไปจนถึงพญานาคผู้เป็นใหญ่อาจจะมีได้ถึงเจ็ดเศียร

นาคมีฤทธิ์สามารถแปลงร่างเป็นมนุษย์ได้ และคนจำนวนไม่น้อยก็เชื่อว่านาคนั้นเป็นงูมีหงอน

ถ้านึกไม่ออกว่าหงอนของงูเป็นอย่างไร ให้ลองนึกถึงหงอนไก่ไว้เป็นตัวอย่างก่อนแล้วกันครับ

นาคนั้นมีทั้งนาคดีและนาคร้าย ข้างฝ่ายดีก็จะบันดาลให้เกิดความงอกงามสมบูรณ์พูนสุข และความเชื่อมโยงไปจนถึงเรื่องของน้ำซึ่งเป็นปัจจัยการเกษตรด้วย

ดังถ้อยคำที่เราได้ยินอยู่เสมอว่า ปีนี้มีนาคให้น้ำกี่ตัว นั่นหมายความว่า ปีนั้นมีนาคพ่นน้ำออกมาจากปากมากน้อยเท่าไหร่เพื่อประโยชน์ที่ชาวนาชาวไร่จะได้ใช้สอยน้ำนั้นทำกสิกรรม

ตรากระทรวงเกษตรและสหกรณ์มาจนทุกวันนี้ก็ยังใช้ตราพระวรุณทรงนาค พระวรุณองค์นี้ไม่ใช่ใครที่ไหนอื่นไกล ท่านเป็นเทพแห่งน้ำและฝนนั่นเอง

ถ้าจะให้ยกตัวอย่างเรื่องนาคฝ่ายร้าย ผมก็จะนึกถึงวรรณคดีสมัยปลายกรุงศรีอยุธยา เป็นงานพระนิพนธ์ของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร หรือเจ้าฟ้ากุ้ง เรื่องนันโทปนันทสูตรคำหลวง มีเนื้อหาว่าด้วยเรื่องพญานาคชื่อนันโทปนันทะ เป็นนาคเกกมะเหรกเกมะเร

สมเด็จพระบรมศาสดาต้องโปรดให้พระโมกคัลลานะ พระอัครสาวกฝ่ายซ้ายไปแสดงอิทธิฤทธิ์เพื่อทรมานและปราบพยศของพญานาค

จนในที่สุดพญานาคได้สดับพระธรรมมาเทศนาและกลับเนื้อกลับตัวมาอยู่ในสัมมาทิฏฐิ

 

เรื่องนาคนี้เมื่ออ่านหนังสือหลายเล่มและนำมาปะติดปะต่อกันเข้า ผมพบว่าที่มาของความเชื่อในเรื่องนาคมีหลายกระแส

กระแสหนึ่งมีเรื่องนาคปรากฏอยู่ในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาเป็นอันมาก เช่น ตั้งแต่ไตรภูมิกถา ซึ่งมีมาตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัย ให้คำอธิบายว่านาคเป็นสัตว์ชนิดหนึ่งในติรัจฉานภูมิ

หรืออีกเรื่องหนึ่งได้แก่ตำนานหรือที่มาของพระพุทธรูปปางนาคปรกซึ่งเป็นพระพุทธรูปประจำวันเสาร์

เรื่องเล่าในทางพระพุทธศาสนาที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งคือ ความเชื่อว่าพญานาคเคยแปลงร่างเป็นมนุษย์มาขอบรรพชาอุปสมบทกับสมเด็จพระบรมศาสดา

เมื่อบวชเป็นพระภิกษุแล้ว คืนหนึ่งขณะที่นอนหลับสนิท คาถาที่แปลงร่างคลายตัวลงจึงกลายเป็นพญางูใหญ่นอนอยู่ในกุฎิ พระภิกษุรูปอื่นก็ตกใจหนีเตลิดเปิดเปิง และไปกราบทูลพระพุทธเจ้าว่าเกิดเหตุใหญ่อย่างที่ว่า พญานาคจึงต้องสึกหาลาเพศไปโดยดีและได้กราบทูลขอพระเมตตาจากสมเด็จพระบรมศาสดาว่า แม้ตนเองไม่มีวาสนาจะได้บวชเป็นพระภิกษุแล้วก็ตาม แต่ในอนาคตเบื้องหน้า ใครก็ตามหากจะมาบวชเป็นพระ ขอให้เรียกผู้นั้นว่าเป็นนาคเสียก่อน เพื่อนาคตัวจริงจะได้พลอยชื่นใจและได้บุญกุศลไปด้วย

นี่แหละครับคือเรื่องต้นสายปลายเหตุของคำว่าเรียกว่า บวชนาค ในบ้านเรา

และมีคำอธิบายต่อไปด้วยว่า เวลาบวชพระจึงต้องมีการถามอันตรายิกธรรมคือคุณสมบัติของความเป็นเพราะว่าครบถ้วนหรือไม่ สามารถบวชได้จริงตามกติกา

คำถามข้อหนึ่งที่พระคู่สวดต้องมาถามผู้ขออุปสมบท คือคำถามว่า มนุสโสสิ อันมีความหมายว่า เป็นมนุษย์หรือไม่ ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันมิให้นาคมาปลอมบวชนั่นเอง

 

ทางฝ่ายศาสนาพราหมณ์ฮินดู ก็ปรากฏเรื่องราวเกี่ยวกับนาคมากมายไม่แพ้กัน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องครุฑกับนาคไม่กินเส้นกัน เรื่องนี้เป็นเรื่องในครอบครัวครับ เพราะทั้งคู่มีพระกัศยปเป็นบิดาแต่ต่างมารดากัน

ครุฑมีนางวินตาเป็นแม่ ส่วนนาคมีนางกัทรุเป็นมารดา

ทั้งสองนางจะกินเส้นกันได้อย่างไรเล่า

ครั้งหนึ่งแม่ของครุฑไปขอพรพระกัศยปว่าขอให้ลูกของตนกินนาคเป็นอาหาร พระกัศยปก็ให้พรตามปรารถนา

ตั้งแต่นั้นครุฑกับนาคก็เป็นคู่อาฆาตกันมาจนทุกวันนี้

พระผู้เป็นเจ้าองค์ที่ผมเห็นว่าเก่งมาก คือพระนารายณ์ เพราะท่านสามารถใช้งานได้ทั้งครุฑและนาค โดยท่านมีครุฑเป็นเทพพาหนะ ขณะเดียวกันกับที่ท่านมีอนันตนาคราชเป็นบัลลังก์สำหรับบรรทมเหนือเกษียรสมุทร

เรียกว่าท่านมีฝีมือในทางบริหารจัดการดีจริงๆ

 

นอกจากที่มาของความเชื่อเรื่องนาคจากพระพุทธศาสนาและศาสนาพราหมณ์ฮินดูแล้ว ในทางวิชามานุษยวิทยาและคติชนวิทยา เราพบว่าความเชื่อเรื่องนาคนี้มีอยู่ทั่วไปในดินแดนสุวรรณภูมิ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามลุ่มน้ำต่างๆ และที่เป็นพิเศษคือลุ่มน้ำโขง

พอจำได้ใช่ไหมครับว่า บั้งไฟพญานาคที่เมืองโพนพิสัยในวันออกพรรษาพอดี งานบุญบั้งไฟที่ต้องตกแต่งบั้งไฟให้เป็นรูปพญานาคเพื่อขอให้ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาลก็ดี หรือประเพณีไหลเรือไฟก็ดี พิธีกรรมเหล่านี้มีพญานาคหรือนาคเป็นตัวชูโรงอยู่เสมอ

ความเชื่อเรื่องนาคนี้ เป็นที่นับถือขึ้นไปจนถึงดินแดนตอนใต้ของจีนและลงไปจนถึงภาคใต้ของประเทศไทยโน่น

ด้วยต้นทางหรือที่มาหลายกระแสอย่างนี้ ทำให้เรื่องราวของนาคอยู่ใกล้ชิดกับชีวิตของคนไทยเป็นอันมาก และสอดแทรกอยู่ในสิ่งที่เราพบเห็นเป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นงานประเพณี วิถีชีวิต งานศิลปกรรมสถาปัตยกรรมใหญ่น้อย วรรณคดี นิทานพื้นบ้าน ส่งเสริมการท่องเที่ยว การบนบานศาลกล่าว

เรื่อยไปจนถึงเรื่องการขอหวยขอเบอร์ล็อตเตอรี่

 

ถ้าจะมาคาดคั้นเพื่อพิสูจน์ว่าพญานาคอยู่ที่ไหนและมีตัวจริงหรือไม่

เกิดผลพิสูจน์ออกมาว่าพญานาคไม่มีตัวจริง

บ้านเมืองนี้คงเหงาหงอยเป็นอันมาก อย่างน้อยก็เดือนละสองครั้งล่ะครับที่เราจะพลาดโอกาสสื่อสารติดต่อกับพญานาคด้วยเรื่องสำคัญคอขาดบาทตาย คือเรื่องขอเบอร์ศักดิ์สิทธิ์ไปแทงหวย ชีวิตเสียศูนย์ไปตั้งเป็นกอง

รักษาเรื่องนี้ไว้ให้เป็นเรื่องเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่งแบบนี้ สนุกดีออกจะตายไป

จริงไหมครับ