‘นวัตกรรมรัสเซีย’ ไม่แพ้ชาติใดในโลก/บทความพิเศษ จักรกฤษณ์ สิริริน

บทความพิเศษ

จักรกฤษณ์ สิริริน

 

‘นวัตกรรมรัสเซีย’

ไม่แพ้ชาติใดในโลก

 

ประเด็นหลักของหนังสือ Innovation is a State of Mind : Simple Strategies to be More Innovative in Everything You Do เขียนโดย James O’loghlin ซึ่งถือเป็นคำภีร์เล่มหนึ่งในแวดวงนวัตกรรมก็คือ ต้องสร้าง “นิสัยนวัตกรรม” ให้เกิดขึ้นใน “หัวใจ” ของทุกคน

ความข้อนี้ตรงกับกระบวนการสร้างนวัตกรรมของ “รัสเซีย” อยู่พอสมควร ในแง่ของการสร้าง “วัฒนธรรมนวัตกรรม” ใน “หัวใจ” ของ “ชาวรัสเซีย” และดึงความโดดเด่นที่แตกต่างในนวัตกรรมเหล่านั้นออกมา

เหมือนที่ผมเคยเขียนถึง “นวัตกรรมทางการทหาร” ของ “รัสเซีย” ใน “มติชนสุดสัปดาห์” แห่งนี้ ชื่อตอนว่า “จาก Zircon ถึง SSC-8 นวัตกรรมอาวุธไร้เทียมทานของรัสเซีย” ที่ชี้ให้เห็นถึงความล้ำหน้าด้านนวัตกรรมของ “รัสเซีย” อย่างแท้จริง

 

หากย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์ เราจะพบว่า “รัสเซีย” เป็นประเทศ “เจ้าแห่งนวัตกรรม” ชาติหนึ่งซึ่งไม่น้อยหน้าใคร

ตัวอย่างแรกที่ไม่เอ่ยถึงไม่ได้เลยก็คือ “ผู้คิดค้นตารางธาตุ” Dmitriy Mendeleyev “นักเคมีชาวรัสเซีย” ซึ่งสร้างคุณูปการอันใหญ่หลวงแก่วงการวิทยาศาสตร์ระดับสากล

นอกจากนี้ ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นคนประดิษฐ์คิดค้น “เฮลิคอปเตอร์” ลำแรกของโลก ก็เป็น “คนรัสเซีย” ที่มีชื่อว่า Igor Sikorsky รวมถึง Vladimir Zworykin “ชาวรัสเซีย” เช่นกัน ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับฉายาว่า “บิดาแห่งโทรทัศน์” เพราะเขาเป็นผู้สร้าง TV เครื่องแรกของโลกนั่นเอง

“รัสเซีย” ยังมี “นักวิทยาศาสตร์” ที่ได้รับ “รางวัลโนเบล” มากถึง 17 คน ทั้งสาขาฟิสิกส์ สาขาการแพทย์ และสาขาเคมี ยังไม่นับ “สาขาสังคมศาสตร์” อีก 10 คน (สาขาเศรษฐศาสตร์ สาขาสันติภาพ และสาขาวรรณกรรม)

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “แวดวงอวกาศ” ที่ต้องบอกว่า “รัสเซีย” นั้น ไม่เป็นสองรองใครในโลกนี้

นอกจากการส่ง “สุนัข Laika” ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ ซึ่งถือเป็น “หมารัสเซีย” หรือ “สุนัขตัวแรกของโลก” ที่ได้ออกท่องอวกาศแล้ว Yuri Gagarin “นักบินอวกาศชาวรัสเซีย” ก็ได้ชื่อว่าเป็น “มนุษย์คนแรกที่ขึ้นสู่อวกาศ” แถม “ดาวเทียมดวงแรกของโลก” ก็ยังเป็นของ “รัสเซีย” นั่นคือ Sputnik 1

ยังไม่นับ Alexei Leonov ซึ่งถือเป็น “นักบินอวกาศชาวรัสเซียคนแรก” ที่ได้ก้าวเท้าจากยานอวกาศออกสู่นอกโลก รวมถึง Lunokhod 1 ยานสำรวจ “ดวงจันทร์” ลำแรกที่ได้สัมผัสกับบนพื้นผิวของดวงดาวนอกโลก

อีกทั้ง Konstantin Tsiolkovsky “นักวิทยาศาสตร์รัสเซีย” ก็ได้รับฉายา “บิดาของนักบินอวกาศ” ผู้บุกเบิกศาสตร์ด้านวิศวกรรมอวกาศ และการสำรวจอวกาศ เป็นแรงบันดาลใจในการผลักดันโครงการสำรวจอวกาศของ “รัสเซีย”

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การประกาศเปิดตัวโครงการ ExoMars ที่ “รัสเซีย” มุ่งมั่นจะเดินทางไปยัง “ดาวอังคาร” ภายในปี 2022 นี้!

 

พูดถึงเรื่องราวนวัตกรรมอวกาศของ “รัสเซีย” แล้ว คงต้องย้อนกลับไปอ้างถึงหนังสือของ James O’loghlin ที่กระบวนการสร้างนวัตกรรมของ “รัสเซีย” ที่มีหลักอยู่ที่ “นวัตกรรมความคิด” หรือการสร้าง “วัฒนธรรมนวัตกรรม” ใน “หัวใจ” ของ “ชาวรัสเซีย”

ตัวอย่างคลาสสิคที่สุดก็คือ ระหว่างที่ NASA เฝ้าเพียรค้นคิดประดิษฐ์ “นวัตกรรมปากกา” ที่จะนำขึ้นไปใช้ในห้วงอวกาศ ซึ่ง NASA ทุ่มงบประมาณในการสร้างสรรค์ “ปากกาอวกาศ” มากถึง 1,000,000 ดอลลาร์

ลองผิดลองถูกซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพื่อสร้าง “ปากกา” ที่สามารถใช้เขียนได้ในอวกาศ ซึ่งมีสภาพไร้แรงโน้มถ่วง ก็เป็นธรรมดาที่ไม่อาจควบคุม “น้ำหมึก” ของ “ปากกา” ให้ไหลออกมาได้อย่างสม่ำเสมอ แม้จะเป็น “หมึกแห้ง” ซึ่งต่างจากการใช้ “ปากกา” เขียนในสภาพแรงดึงดูดปกติบนโลก

ระหว่างที่ NASA กำลังสาละวนกับการคิดค้น “ปากกาอวกาศ” อยู่นั้น วงการอวกาศ “รัสเซีย” ได้ฉีกหน้า NASA ด้วยการประกาศนำ “ดินสอ” ไปใช้เขียนในห้วงอวกาศ!

นี่คือบทพิสูจน์สำคัญของ “หัวใจนวัตกรรม” ของ “รัสเซีย” ที่แม้จะดูเหมือนเป็นวิธีการ “สูงสุดคืนสู่สามัญ” แบบง่ายๆ ทว่า ในช่วงเวลานั้น ใครจะปฏิเสธได้ว่า มุมมองของคนทั่วไปได้พากันจดจ่อไปอยู่ที่ “เทคโนโลยีขั้นสูง”

ทว่า “รัสเซีย” กลับนำ “นวัตกรรมธรรมดา” อย่าง “ดินสอ” มาใช้ในการแก้ปัญหา “ปากกาอวกาศ” ชนิดที่เรียกว่า หลายฝ่ายในแวดวงอวกาศในยุคนั้น ได้พากันอ้าปากค้างกันเป็นทิวแถว กับ “วัฒนธรรมนวัตกรรม” ของ “รัสเซีย”

แม้ในเวลาต่อมา จะมีการพิสูจน์ถึง “จุดอ่อน” ของการใช้ “ดินสอ” สำหรับเขียนข้อความในอวกาศ ว่ามีอันตราย แม้ “รัสเซีย” จะกำหนดให้มีการติดตั้งแท่นกระดาษกับที่รัดหัวเข่า และผูก “ดินสอ” ไว้กับแท่นกระดาษ เพื่อไม่ให้ดินสอลอยเคว้งคว้างในอวกาศ

ทว่า อันตรายที่แท้จริง ไม่ใช่การคาดการณ์ว่า “ดินสอแหลมๆ” จะพุ่งใส่นักบินอวกาศ หรืออุปกรณ์ในห้องโดยสาร แต่เพราะมีการคาดการณ์ว่าเศษฝุ่น “ผงกราไฟต์” สีดำใน “แท่งดินสอ” อาจก่อให้เกิดอันตรายต่ออุปกรณ์จำพวกสวิตช์

ที่สำคัญที่สุดก็คือ “กราไฟต์” นั้น เป็น “วัสดุไวไฟ” ซึ่งไม่ควรนำไปใช้ในยานอวกาศ

แม้จะมีการเปิดเผยถึง “จุดอ่อน” ของการนำ “ดินสอ” ไปใช้ในอวกาศ ทว่า ประกายความคิดที่ต่อสู้กันระหว่าง “ปากกาอวกาศ” ของ NASA กับการใช้ “ดินสอ” ธรรมดาสามัญของ “รัสเซีย” ได้ถูกจดจำ ในฐานะ “นวัตกรรมความคิด” ที่ใช้ในการแก้ปัญหาที่ซับซ้อนด้วยความเรียบง่าย

นั่นคือ “หัวใจนวัตกรรม” ของ “รัสเซีย” นั่นเอง

 

นอกจากเทคโนโลยีอวกาศ หากจะย้อนกลับไปพูดถึงภาพรวมของ “นวัตกรรมรัสเซีย” แล้ว ต้องเอ่ยถึง “ศูนย์นวัตกรรม Skolkovo” หรือ Skolkovo Institute of Science and Technology ในฐานะแห่งรวมของสถาบันวิจัยแขนงต่างๆ

ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ วิศวกรรม ปัญญาประดิษฐ์ การแพทย์ พลังงานสะอาด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ควอนตัม” ด้วยการจัดตั้ง The Russian Quantum Center เพื่อให้เป็นศูนย์วิจัยควอนตัมโดยเฉพาะ

พร้อมกับการจัดตั้ง Russian Science Foundation หรือ RSF เพื่อเป็นแหล่งรวบรวม และสนับสนุนงบประมาณในการทำวิจัยทั้งหมดของ “รัสเซีย”

โดยเฉพาะในช่วง COVID-19 เริ่มต้นใหม่ๆ ท่ามกลางความโหยหา “วัคซีน” ที่บรรดาประเทศชั้นนำของโลก หลายชาติกำลังเพียรพยายามค้นคิดประดิษฐ์ “วัคซีน COVID-19” อย่างขมีขมัน

ฉับพลัน “รัสเซีย” ได้ประกาศเปิดตัว “วัคซีน Sputnik V” ซึ่งเป็น “วัคซีน” ป้องกัน COVID-19 ที่พัฒนาขึ้นโดยสถาบัน Gamaleya ใน “กรุงมอสโก” ประเทศ “รัสเซีย”

ซึ่ง Sputnik V เป็น “วัคซีน” ป้องกัน COVID-19 ที่ผลิตขึ้นโดยใช้เทคโนโลยี Viral Vector เป็นตัวนำสารพันธุกรรมเข้าสู่เซลล์ร่างกายมนุษย์

โดยตัว V มีที่มาจากคำว่า Vaccine หรือบางคนอาจคิดว่าเป็นสัญลักษณ์เลข 5 ในการเรียกในแบบโรมัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ชื่อเสียงเรียงนามที่ “รัสเซีย” จงใจตั้งเอาไว้ว่า Sputnik นั้น

เป็นชื่อเดียวกันกับ “ดาวเทียมดวงแรกของโลก” ที่ถูกส่งไปโคจรในอวกาศ เมื่อปี ค.ศ.1957 นั่นคือ Sputnik 1 ที่เคยโลกได้ตื่นตะลึง และประจักษ์ถึงศักยภาพด้านนวัตกรรมของ “รัสเซีย” ดังที่ได้เขียนเอาไว้ในตอนต้น

โดยคำว่า Sputnik มาจากคำว่า Спутник ในภาษารัสเซีย ซึ่งมีหลากนัยหลายความหมาย เช่น “นักเดินทางตัวน้อย” หรือจะแปลว่า “ดาวเทียม” ก็ได้

ดังนั้น การตั้งชื่อ “วัคซีน COVID-19” ว่า Sputnik จะหมายความเป็นอื่นไปไม่ได้นอกจาก การส่งสารไปถึงชาวโลก ว่า “วัคซีน Sputnik V” คือตัวแทนแห่งความสำเร็จอย่างงดงามเมื่อ 60 ปีที่แล้วของ “รัสเซีย” นั่นเอง

และนี่คือสัญญาณอันชัดเจนที่บ่งบอกว่า นับตั้งแต่ “สหภาพโซเวียต” ล่มสลายไปในปี ค.ศ.1991 “รัสเซีย” กำลังกลับมาทวงบัลลังก์โลกแห่งวิทยาศาสตร์ โลกแห่งเทคโนโลยี และโลกแห่งนวัตกรรมอีกครั้ง

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การพัฒนา “วัคซีน COVID-19” แบบ “วัคซีนเข็มเดียว” ภายใต้รหัส Sputnik Light ผนึกกำลังกับ Mir-19 “ยาต้าน COVID” สัญชาติ “รัสเซีย” เป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์ ว่า “นวัตกรรมรัสเซีย” นั้น ไม่แพ้ชาติใดในโลก!