‘หลวงปู่แสง’ เอฟเฟ็กต์ จากหมอปลา บทบาทสื่อมวลชน สถาบันสงฆ์ ถึงบทเรียนที่สังคมไทยเรียนรู้ แต่ผู้มีอำนาจซุกไว้ใต้พรม/บทความในประเทศ

บทความในประเทศ

 

‘หลวงปู่แสง’ เอฟเฟ็กต์

จากหมอปลา บทบาทสื่อมวลชน สถาบันสงฆ์

ถึงบทเรียนที่สังคมไทยเรียนรู้

แต่ผู้มีอำนาจซุกไว้ใต้พรม

 

คําถามรายล้อม ‘สถาบันพุทธศาสนา’ ในประเทศไทยเป็นประเด็นถกเถียงร้อนแรงในสังคมอย่างน้อยตั้งแต่ปลายปี 2564 ในกรณีอดีต ‘พระมหาไพรวัลย์’ และ ‘พระมหาสมปอง’ และอาจจะพูดได้ว่าหลังจากนั้นเป็นต้นมา ‘วงการผ้าเหลือง’ ยังไม่คลายไปจากประเด็นข่าว

และล่าสุดคือประเด็นที่ ‘หมอปลา’ หรือ ‘จีรพันธ์ เพชรขาว’ ผู้นิยามตนเองว่าเป็น ‘มือปราบสัมภเวสี’ ที่คอย ‘ช่วยเหลือผู้ที่ถูกเล่นงานเหนือธรรมชาติ’ อ้างว่าได้รับเบาะแสเรื่องพระสงฆ์ทำผิดพระธรรมวินัยและได้พยายามเข้าไปตรวจสอบ สำนักสงฆ์ป่าดงสว่างธรรม จังหวัดยโสธร และมี ‘หลวงปู่แสง’ จันดะโชโต (ญาณวโร) เกจิอาจารย์วัย 99 ปี เป็นคู่กรณีสำคัญ

เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม ที่ ‘หมอปลา’ พร้อมกับสื่อมวลชนเข้าไปในสำนักสงฆ์ดังกล่าวเพื่อซักถามพระเกจิอาจารย์รวมถึงศิษยานุศิษย์รายล้อม ถึงข้อกล่าวหาว่า ‘หลวงปู่แสง’ ละเมิดพระธรรมวินัยจากการที่จับหน้าอกและอวัยวะเพศของผู้หญิงนั้น ความจริงเป็นอย่างไร เหตุใดถึงเกิดขึ้น

ข้อเท็จจริงแรกที่เกิดขึ้นหลังเหตุการณ์ดังกล่าวคือ ทาง ‘หมอปลา’ เผยแพร่คลิปวิดีโอแสดงความใกล้ชิดของผู้หญิงกับหลวงปู่แสง แต่อีกด้านหนึ่งคือ ‘หลวงปู่แสง’ ในวัย 99 ปี เจ็บป่วยถึง 10 กลุ่มโรค และหนึ่งในนั้นเป็นโรคอัลไซเมอร์ที่ส่งผลต่อพฤติกรรมเกี่ยวกับอารมณ์และการแสดงออก ทั้งหมดนี้มีแพทย์แถลงข่าวยืนยันความเจ็บป่วย

ข้อเท็จจริงที่สอง ในวันเดียวกันที่ ‘หมอปลา’ เข้าไปในสำนักสงฆ์พร้อมกับสื่อมวลชนช่องใหญ่บางส่วนนั้นปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘สื่อมวลชน’ หลายสำนักมีส่วนสำคัญในการซักไซ้ไล่เลียงถามคำถาม ตั้งประเด็นต่อหลวงปู่แสง และลูกศิษย์ และภายหลังเมื่อมีผู้จับสังเกตได้ว่าผู้หญิงในคลิปวิดีโอที่หมอปลาอ้างว่าเป็นหลักฐานจับพฤติกรรมหลวงปู่นั้นมีลักษณะคล้ายคลึงกับผู้สื่อข่าวที่ซักไซ้หลวงปู่และลูกศิษย์อย่างขะมักเขม้น ภายหลังจึงยอมรับว่าเป็นคนเดียวกัน

และหมอปลาเองก็เผยว่านักข่าวคนดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งที่เข้าไปเพื่อบันทึกวิดีโอเป็นหลักฐาน

 

เมื่อข้อเท็จจริงแรกถึงความเจ็บไข้ของหลวงปู่มีน้ำหนักในความรับรู้ของสังคม และการตั้งคำถามถึง ‘ที่มา’ ของหลักฐานที่หมอปลาใช้เป็นตัวจุดประเด็น กระแสจึงตีกลับไปตั้งคำถามถึงตัวละคร 3 ฝ่าย ตั้งแต่ศิษยานุศิษย์รายล้อมหลวงปู่แสงว่าเหตุใดถึงปล่อยปละละเลยให้เกิดการละเมิดพระธรรมวินัย ไปจนถึงจรรยาบรรณของ ‘สื่อมวลชน’ ในการแสวงหาหลักฐานและบทบาทในกรณีนี้ จนตั้งคำถามถึง ‘หมอปลา’ เอง ว่าใช้อำนาจอะไรเข้าไปตรวจสอบวัด-องค์กรศาสนาพุทธ หรือเหตุใดจึงตั้งตนเป็นตำรวจตรวจตราเสียเอง ทั้งที่องค์กรรัฐก็มีหน้าที่นี้อยู่แล้ว

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นช่วงที่ ‘วงการผ้าเหลือง’ เป็นประเด็นร้อน (อีกแล้ว) ตั้งแต่ ‘อดีตพระกาโตะ’ ที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดพระธรรมวินัยเรื่องความสัมพันธ์กับฆราวาสหญิง และ ปัญหาเรื่องเงินทองของวัดที่สังกัดอยู่ ยังไม่นับกรณีที่เขาเคยออกมาวิจารณ์การเคลื่อนไหวของประชาชนและเยาวชนที่เรียกร้องประชาธิปไตยอีกด้วย จนถึงคลิปวิดีโอการร่วมรักของพระสงฆ์ หรือที่ในวงการเรียกกันว่า ‘หลวงเจ๊’ กับสามเณรรูปหนึ่ง ทำให้เจ้าคณะสงฆ์อำเภอมีมติขับออกจากวัดและความเป็นสงฆ์

จนถึงกรณีก่อนหน้าที่อาจไม่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนานักแต่เกี่ยวกับความเชื่อ-ความศรัทธาของสังคม คือ ‘ลัทธิพระบิดา’ ที่เชื่อว่าสิ่งปฏิกูลจากร่างกายของตนรักษาโรคภัยไข้เจ็บของผู้คนได้ กรณีนี้เกี่ยวข้องโดยตรงกับ ‘หมอปลา’ ผู้ประสานงานสื่อมวลชนและหน่วยงานภาครัฐเข้าไปตรวจสอบลัทธินี้

แต่กรณี ‘ลัทธิพระบิดา’ นี้ต่างไปจากกรณีหลวงปู่แสง ตรงที่กระแสสังคมยืนอยู่ข้าง ‘หมอปลา’ ในกรณีแรก ส่วนเรื่องหลังนั้น กระแสตีกลับมาตั้งคำถามถึงการกระทำของเขาเสียเอง

เมื่อพิจารณาถึงสิ่งที่หมอปลาทำอยู่ อาจจะมองได้ว่า ‘คุณูปการ’ (ในเครื่องหมายคำพูด) ของเขานั้นทำให้เกิดประเด็นการถกเถียงในสังคม รวมถึงมองได้ว่าเป็นผู้เปิดประเด็นหลายด้านที่ซุกอยู่ในวงการสงฆ์ และสิ่งที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อ-ความศรัทธาของสังคมไทย นี่ไม่ใช่การยกย่องหมอปลาเป็นผู้ยิ่งใหญ่-ผู้ปราบสัมภเวสีดังที่ตนเองกล่าวอ้าง แต่อีกด้านหนึ่งก็ไม่ใช่การตีตราว่าผิด-ถูก ขาว-ดำไปเสียทุกเรื่อง เพราะอีกด้านก็มีข้อวิพากษ์ถึงความเหมาะสมในท่าที การหาผลประโยชน์และทำเป็น ‘อาชีพ’ จากความเชื่อ-ศรัทธาของสังคม หรือประเด็น ‘ดราม่า’ แม้แต่ความผิด-ถูกด้านข้อกฎหมายเองก็ดี

แล้วสังคมควรจะเรียนรู้อะไรจากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมครั้งนี้?

 

คงปฏิเสธไม่ได้ว่า การกระทำของหมอปลาเข้าไปเปิดให้เราเห็นถึงปัญหามัวหมองในวงการสงฆ์ ตั้งแต่เรื่องเงินทอง-การปฏิบัติตามพระธรรมวินัย-จนถึงเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเมืองไทยภาพใหญ่

เราอาจเห็นตัวอย่างเปรียบเทียบมาตั้งแต่กรณีของอดีตพระมหาไพรวัลย์ และพระมหาสมปองที่ช่วงหนึ่งมีการเทศนาธรรมผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์และภายในก็สอดแทรกประเด็นทางการเมืองและสังคมอยู่เสมอ หรือการที่ทั้งสองคนจุดประเด็นการเมืองภายในวงการสงฆ์ และทั้งคู่มีจุดยืนอยู่ตรงข้ามกับขั้วที่อยู่ครองอำนาจ

ในที่สุดทั้งสองคนก็เจอปฏิกิริยากดดันจากภาครัฐทั้งทางตรงและทางอ้อมจนต้องลาสิกขา

หรือกรณีของ ‘สามเณรโฟล์ค’ สหรัฐ สุขคำหล้า ผู้ออกมาเคลื่อนไหว ร่วมชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย และตั้งคำถามต่อวงการสงฆ์ จนท้ายที่สุดต้องสึกออกไป

(ผู้มีอำนาจ ใน) สังคมไทยเคยชินกับการซุกปัญหาไว้ใต้พรม หรือแก้ปัญหาด้วยการ ‘ปิดปาก’ ‘ขับไล่’ ออกจากประชาคม (ไม่รักชาติ ก็ออกไป!) หรือยัดคดีความทางกฎหมายเพื่อบั่นทอนพลังงาน พลังทรัพย์และแรงใจของคนที่ออกมาตั้งคำถาม

จนในที่สุดหลายเรื่องที่สั่นคลอนสังคมก็เงียบหายไป ไม่ถูกแก้ไข

 

ภาพรวมของการซุกไว้ใต้พรม และแนวโน้มต่อการ ‘เลือกปฏิบัติ’ นี้เห็นได้ไม่เพียงแต่ในวงการสงฆ์ แต่รวมถึงวงการสื่อมวลชนเช่นกัน เมื่อสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ก็ได้ออกแถลงการณ์แสดงจุดยืนว่าการทำหน้าที่ของนักข่าวในกรณีหลวงปู่แสงผิดต่อจริยธรรมของวิชาชีพ ขณะที่มีผู้ยกมาเปรีบเทียบกับกรณีผู้สื่อข่าวช่องหนึ่งของภาครัฐนำเสนอข้อมูลผิดพลาดเกี่ยวกับสงครามในประเทศยูเครน แต่ผ่านมาเกือบ 2 เดือนหลังจากเรื่องแดงขึ้น ‘สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย’ ยังไม่แสดงจุดยืนใดๆ ต่อกรณีนี้ ในรายละเอียดอาจจะเปรียบเทียบกันได้ไม่ตรงนัก แต่สิ่งที่เห็นคือความกระตือรือร้นในการแสดงจุดยืนต่อกรณีที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพ

เรื่องสถาบันทางศาสนา หรือลัทธิที่เกี่ยวกับความเชื่อ-ศรัทธานี้ก็ไม่ได้เป็นประเด็นใหม่ในสังคม เพียงแต่เราไม่เคย (หรือถูกห้าม) เปิดพื้นที่ถกเถียงว่าศาสนาพุทธ คริสต์ อิสลาม หรือลัทธิความเชื่อต่างๆ ในรัฐสมัยใหม่นั้นควรมีที่ทางอยู่ตรงไหน กฎหมายที่มาควบคุมกำกับควรเป็นแบบใด รัฐควรจะอุปถัมภ์ศาสนา-ความเชื่อต่างๆ มากน้อยขนาดไหน กระบวนการเหล่านี้ถูกลดทอนภายใต้การเลือกปฏิบัติและความคับแคบในสังคมปัจจุบันเพราะกลัวว่าการตั้งคำถาม พูดคุยอย่างเปิดเผยจะนำไปสู่การลดทอนอำนาจ ทำลายภาพความศักดิ์สิทธิ์ที่พยายามสร้างขึ้นมา

ตั้งแต่เรื่องราวภายในวงการสงฆ์ ลัทธิทางความเชื่อ-ความศรัทธา ผู้ตั้งตนเป็นตำรวจตรวจสอบอย่างหมอปลา จริยธรรมและวงการสื่อ เหล่านี้ล้วนเชื่อมโยงกับโจทย์ของสังคม-การเมืองภาพใหญ่อย่างแยกจากกันไม่ออก

และเป็น ‘หลวงปู่แสง’ เอฟเฟ็กต์ที่ชวนสังคมไทยสรุปบทเรียนต่อไป