ตร.จับมือโอเปอเรตแก๊งคอล รู้ทันสารพัดมุขก่อนตกเป็นเหยื่อ/บทความโล่เงิน

บทความโล่เงิน

 

ตร.จับมือโอเปอเรตแก๊งคอล

รู้ทันสารพัดมุขก่อนตกเป็นเหยื่อ

 

ถึงแม้มีการนำเสนอข่าวมีผู้ตกเป็นเหยื่อแก๊งคอลเซ็นเตอร์บ่อยๆ จนคนทั่วไปรู้ทัน แถมบางครั้งรับสายแล้วยังอำกลับ กลายเป็นเรื่องตลกขบขัน

แต่ปฏิเสธไม่ได้ ยังมีคนไม่น้อยที่ตกเป็นเหยื่ออยู่เป็นระยะๆ เพราะมีสารพัดกลอุบายหลอกให้โอนเงิน

ที่สำคัญยังใช้ความทันสมัยเทคโนโลยีที่ชาวบ้านตามไม่ทัน อย่างที่ “บิ๊กเด่น” พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รอง ผบ.ตร. ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปอส.ตร.) บอกว่า มีผู้เสียหายโดนแก๊งคอลเซ็นเตอร์โทร.มาอ้างว่าเป็นตำรวจ สภ.เชียงราย แจ้งว่ามิจฉาชีพได้ส่งของผิดกฎหมายมาให้ ให้ผู้เสียหายกดลิงก์แอพพ์ควบคุมมือถือระยะไกล เพื่อแจ้งความออนไลน์ เมื่อได้โหลดลิงก์ บอกรหัส 9 ตัวให้กับคนร้าย ซึ่งเชื่อว่าเป็นรหัสควบคุมเครื่อง จากนั้นคนร้ายให้คว่ำหน้าจอโทรศัพท์ 15 นาที ปรากฏว่าเงินหายไปจากบัญชีธนาคารรวม 4 บัญชี เป็นเงินทั้งสิ้น 2 ล้านกว่าบาท

ทาง ตร.ได้อัพเดตสารพัดมุขแก๊งคอลเซ็นเตอร์เพื่อให้ประชาชนรู้ทันไม่ตกเป็นเหยื่อ

ดังนี้

 

1.มีพัสดุจากบริษัทขนส่งพัสดุข้ามประเทศ เช่น DHL หรือ FedEx และถูกด่านกรมศุลกากรอายัดไว้และมีสิ่งของผิดกฎหมาย จากนั้นจะให้ติดต่อตำรวจ (ปลอม) ตรวจสอบบัญชี หรือให้โอนเงินในบัญชีธนาคารทั้งหมดมาตรวจสอบ

2. อ้างเป็นข้าราชการ เช่น ศาล อัยการ ตำรวจ ดีเอสไอ ปปง. กรมสรรพากร หรือกรมสรรพสามิต เป็นต้น แล้วบอกคนรับสายเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมร้ายแรง (เช่น ยาเสพติด ค้ามนุษย์ หรือฟอกเงิน)

3. อ้างค้างค่าปรับจราจร หลอกให้โอนเงินค่าปรับจราจร

4. อ้างว่าค้างชำระค่าบัตรเครดิต หากไม่รีบชำระจะถูกฟ้องร้องดำเนินคดี

5. อ้างว่าเปิดบัญชีธนาคาร (บัญชีม้า) ให้คนร้ายใช้ในการกระทำความผิด และให้โอนเงินในบัญชีธนาคารทั้งหมดมาตรวจสอบ

6. อ้างว่ามีการเคลมประกันโควิด-19 เป็นเท็จ และมีส่วนเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมร้ายแรง

7. อ้างเป็น กสทช.หลอกลวงหมายเลขมือถือของเหยื่อ ค้างค่าชำระ หรือมีผู้ร้องเรียนเป็นจำนวนมาก จะถูกปิดเบอร์ภายใน 2 ชั่วโมง อีกทั้งมีส่วนเกี่ยวข้องกับอาชญากรรม จากนั้นจะติดต่อกับเจ้าหน้าที่ตำรวจปลอมและให้โอนเงินในบัญชีธนาคารทั้งหมดมาตรวจสอบ

8. อ้างเป็นเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เจ้าหน้าที่ สปสช. หรือหน่วยงานทางการแพทย์ หลอกขอข้อมูลส่วนบุคคลผู้ป่วย หรือหลอกให้โอนเงินค่ารักษาพยาบาลให้คนร้าย

 

พบข้อมูลน่าตกใจว่า นับตั้งแต่ ตร.เปิดศูนย์รับแจ้งความออนไลน์ตั้งแต่ 1 มีนาคม-10 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา มีผู้เสียหายแจ้งความผ่านระบบ 22,426 คดี ความเสียหายเฉลี่ยกว่า 1,500 ล้านบาทต่อเดือน มีการแจ้งความเฉลี่ยวันละ 300 คดี ส่วนใหญ่เป็นการหลอกลวงด้านการเงิน มีคดีที่มีความเชื่อมโยงกันถึง 5,079 คดี ขออายัดเงินไปแล้ว 6,593 บัญชี จากยอดเงิน 2,069,440,817 บาท โดยอายัดเงินได้ทัน 76,363,871 บาท

พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร.ได้ประชุมร่วมตัวแทน กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือดีอีเอส, ปปง., สำนักงานศาลยุติธรรม, สำนักงานอัยการสูงสุด, กสทช., ก.ล.ต., กระทรวงการคลัง, ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.), สมาคมธนาคารไทย, สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ, ธนาคารกรุงไทย และผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ 4 เครือข่าย เมื่อ 12 พฤษภาคม หลังจากพบว่าคนร้ายเปลี่ยนรูปแบบวิธีการอยู่ตลอดเวลา เพื่อหลบเลี่ยงการตรวจสอบหรือสะกดรอยจากเจ้าหน้าที่ โดยคนร้ายโทร.ผ่านระบบอินเตอร์เน็ต (VOIP) ทำให้ยากต่อการสืบสวนติดตาม และมีการจ้างให้บุคคลอื่นเปิดบัญชี (บัญชีม้า) เพื่อใช้ในการรับโอนเงินจากผู้เสียหาย จากนั้นจะทำการโอนเงินต่อไปอีกหลายบัญชี โดยบัญชีสุดท้ายจะมีการโอนเงินซื้อเหรียญ “คริปโตเคอร์เรนซี แบบ peer-to-peer” จากแอพพ์แลกเปลี่ยนเงินดิจิตอลต่างประเทศ ทำให้ยากต่อการอายัดเงิน และระบุตัวผู้กระทำผิด

จึงได้ออกมาตรการแก้ปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ร่วมกันดังนี้

 

1.ธปท.จะทบทวนหลักเกณฑ์เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาบัญชีม้า เช่น การอายัดบัญชีม้า รวมถึงโมบายแบงกิ้งที่ผูกกับบัญชีม้า และจะพัฒนาปรับปรุงวิธีการอายัดบัญชีม้าแถว 1 และแถวถัดๆ ไปให้รวดเร็วยิ่งขึ้น โดยจะหารือ ตร. และ ปปง.อีกครั้งหนึ่ง นอกจากนั้นจะร่วมกับ ตร. เสนอแก้ไขกฎหมาย ให้บัญชีม้าอยู่ในมูลฐานความผิดฟอกเงิน เพื่อให้ ปปง.มีอำนาจในการอายัดเงินในบัญชี

2. ปปง.จะช่วยอายัดบัญชีม้า โดยให้ ตร.ส่งข้อมูลบัญชีม้าทั้งหมด เพื่อให้ ปปง.ใช้อำนาจในการอายัด นอกจากนี้จะรายงานให้ ตร.ทราบถึงการทำธุรกรรมต้องสงสัย เพื่อเป็นแนวทางในการสืบสวน

3. ก.ล.ต.จะทบทวนหลักเกณฑ์เพื่อให้เกิดความชัดเจนการดำเนินคดีผู้ค้าขายเหรียญแบบ peer-to-peer และการวางแนวทางยึดเหรียญคริปโตฯ จากผู้กระทำความผิด

4. ดีอีเอสร่วมกับ กสทช. กำหนดหลักเกณฑ์จำนวนซิมสูงสุดที่สามารถลงทะเบียน เช่น ต่อคนได้ไม่เกิน 5 ซิม ซึ่งอาจต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ โดยจะต้องมีการรับฟังความเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

5. การแจ้งเตือนและเสริมภูมิคุ้มกันให้ประชาชน ผ่านแอพพ์ธนาคาร, เป๋าตัง และข้อความสั้นจากผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ เช่น “ระวังถูกหลอก…ห้ามโอนเงินให้ทุกกรณี หากท่านยังไม่สามารถติดต่อกับผู้รับโอนเงินได้ด้วยการขอเบอร์โทรศัพท์แล้วโทร.ไปคุยด้วย”, “เมื่อได้รับสายจากโทรศัพท์อัตโนมัติ…ให้ตัดสายทิ้งทันที” เป็นต้น

โดยหลังจากนี้จะมีการตั้งคณะทำงานย่อยเพื่อมาแก้ปัญหาในเรื่องนี้โดยเฉพาะ

 

ผบ.ตร.บอกว่า ที่ผ่านมาคนร้ายมีพันธมิตรในการโยกเงินออกต่างประเทศ แต่ตำรวจต้องรอสืบสวนอย่างโดดเดี่ยว คนร้ายใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย แต่ตำรวจต้องอยู่บนพื้นฐานของระเบียบกฎหมาย ทำให้การทำงานเป็นไปด้วยความยากลำบาก แต่จากนี้ได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน

“ผมเชื่อว่าไม่มีหน่วยงานใดหน่วยงานเดียวแก้ปัญหานี้ได้ ต้องรวบรวมใช้อำนาจหน้าที่ที่แต่ละหน่วยงานมี เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการจัดการปัญหาอาชญากรรมทางเทคโนโลยีที่มีในปัจจุบัน เพราะถ้าเราไม่ทำวันนี้ มันจะขยายตัวมากขึ้น และเทคโนโลยีก็จะเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว แล้วเราก็จะตามไม่ทัน” พล.ต.อ.สุวัฒน์กล่าว

ถ้าเจ้าหน้าที่รัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องขยับตัวไวกว่านี้ ชาวบ้านไม่ต้องทนเดือดร้อนนานขนาดนี้!